19 February 2004
สัปดาห์นี้เรามาดูกันถึงเทคโนโลยีสำคัญๆ สิบประการที่จะก่อส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราและสังคมที่เราอยู่กันบ้างนะครับ โดยผมนำเนื้อหาในสัปดาห์นี้มาจากบทความในวารสาร Technology Review ฉบับเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเนื้อหาในสัปดาห์นี้อาจจะแตกต่างจากสัปดาห์อื่นๆ ไปบ้าง เนื่องจากไม่ได้เน้นในเรื่องของการบริหารเท่าไรนะครับ แต่ท่านผู้อ่านก็อย่าลืมว่าพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเหล่านี้ต่างส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรเช่นกัน เพียงแต่ผลกระทบของเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นในปีหน้าหรืออีกสิบปีข้างหน้าก็คงจะยังไม่สามารถบอกได้เท่านั้นเอง ผมคงไม่สามารถนำเสนอเทคโนโลยีทั้งสิบประการได้หมดนะครับ ขอคัดเลือกมาเฉพาะอันที่พอจะเห็นภาพได้ชัดเจน ส่วนท่านผู้อ่านที่สนใจลองไปหาบทความดังกล่าวได้จากวารสาร Technology Review นะครับ
1. Universal Translation หรือเครื่องแปลภาษาแบบอเนกประสงค์ หรือถ้าท่านผู้อ่านนึกไม่ออกก็ลองนึกถึงของวิเศษในกระเป๋าของโดราเอมอนดูนะครับ (ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นฟองน้ำหรือวุ้นแปลภาษาครับ) เจ้า Universal Translation นั้นเป็นโปรแกรมที่สามารถบรรจุลงในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องPDA และเมื่อเราพูดหรือเอ่ยประโยคอะไรเข้าไป เจ้าโปรแกรมดังกล่าวก็จะแปลออกมาเป็นอีกภาษาที่เราต้องการ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเถียงว่าปัจจุบันก็มีโปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถแปลเว็บหรือเอกสารจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งอยู่แล้ว แต่เจ้า Universal Translation นั้นทำในสิ่งที่เรียกว่า Semantic Analysis นั้นคือแทนที่จะแปลในลักษณะของคำต่อคำเช่นในปัจจุบัน แต่จะแปลถึงความหมายที่แท้จริงของประโยคนั้นด้วย ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าคำบางคำที่มีความหมายอย่างหนึ่ง แต่เมื่อรวมเป็นประโยคแล้วความหมายของคำนั้นอาจจะผิดเพี้ยนไป ซึ่งโปรแกรม Universal Translation จะจับความหมายที่แท้จริงของประโยคมากกว่าที่ดูเป็นคำต่อคำ โปรแกรมนี้ทำงานโดยอาศัยสูตรทางคณิตศาสตร์และ ขั้นตอนทางสถิติที่จะทำให้คอมพิวเตอร์เกิดการเรียนรู้ในรูปแบบของความหมายของประโยคต่างๆ นักวิจัยคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2004 เทคโนโลยีดังกล่าวน่าจะอยู่ในรูปแบบที่พอจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ยักษ์ใหญ่อย่าง IBM เองก็กำลังอยู่ในขั้นของการเตรียมหาพันธมิตรในการพัฒนาโปรแกรมนี้แล้ว เจ้าโปรแกรมนี้จะช่วยทำให้การประชุม สืบค้นข้อมูล การท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ในอีกสิบปีข้างหน้าพวกเราทุกคนอาจจะมีโปรแกรมนี้อยู่ในโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาก็ได้นะครับ
2. Synthetic Biology เทคโนโลยีนี้เมื่ออ่านดูแล้วมีความรู้สึกเหมือนอยู่ในหนังวิทยาศาสตร์เลยครับ โดยสาระสำคัญแล้วเทคโนโลยีนี้ทำให้เราสามารถโปรแกรมหรือสั่งการเซลของสิ่งมีชีวิตให้ทำในสิ่งที่เราต้องการเหมือนกับที่เราทำกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เลยครับ พวกที่ศึกษาในเรื่องนี้ไม่ใช่แพทย์หรือนักชีววิทยานะครับ แต่เป็นพวกวิศวคอมพิวเตอร์มากกว่า โดยนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้พยายามที่จะศึกษาวิธีการในการควบคุมพฤติกรรมของเซลของสิ่งมีชีวิต สิ่งหนึ่งที่ทำได้แล้วก็คือการโปรแกรมให้หน้าที่บางประการของเซลบางชนิดสามารถที่จะ “เปิด-ปิด” ได้ตามที่ต้องการ หรือการทำให้เซลแบคทีเรียสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่าสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นอยู่ห่างเท่าใด และสามารถแสดงปฏิกิริยาที่แตกต่างกันออกไปสำหรับระยะห่างแต่ละระยะ นักวิทยาศาสตร์ฝันกันว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยทำให้มีเครื่องมือในการตรวจจับผิดปกติที่มีชีวิต (Living Sensor) เช่น ในสนามรบ ทหารสามารถปล่อยเจ้าแบคทีเรียเหล่านี้ออกไปได้และถ้าเข้าไปใกล้กับกับระเบิดหรือสารเคมีที่เป็นพิษ แบคทีเรียเหล่านี้ก็จะเรืองแสงออกมาเป็นสีเขียว ถ้าอยู่ห่างหน่อยก็จะเป็นสีแดง เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการทำให้เซลเหล่านี้กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายและโปรแกรมให้ซ่อมแซมในส่วนที่สึกหรอต่างๆ ของร่างกายเรา เป็นอย่างไรครับรู้สึกว่ายิ่งอ่านก็เหมือนกับนิยายวิทยาศาสตร์นะครับ ยังไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นจริงได้เมื่อใด
3. Personal Genomics หรือจีโนมส่วนตัวของแต่ละคน (คำว่า Genome ไม่ได้มีการแปลเป็นภาษาไทยนะครับเปิดดูศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตฯ แล้วก็เห็นใช้คำว่าจีโนมทับศัพท์) ท่านผู้อ่านคงทราบว่าภายใต้ยีน (หรือที่เขาเรียกกันว่า “สิ่งสืบต่อทางพันธุกรรม”) ประกอบด้วย DNA กว่าสามพันล้านตัวอักษร (DNA Letters) ถึงแม้ว่าโครงการถอดรหัสทางพันธุกรรมของมนุษย์จะสำเร็จเสร็จสิ้นกันไป และทำให้เราได้ทราบถึงรหัสทางพันธุกรรมของมนุษย์ แต่ความฝันที่เราจะไปพบแพทย์แล้วให้แพทย์วินิจฉัยว่าร่างกายของเราประกอบด้วยรหัสทางพันธุกรรมอย่างไรบ้างนะครับ คงยังจะเป็นความฝันที่ไกลอยู่นะครับ เนื่องจากด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันการถอดรหัสทางพันธุกรรมที่มีมากกว่าสามพันล้านตัวของแต่ละคนยังเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ดีในปัจจุบันเริ่มที่จะมีนักวิทยาศาสตร์หาทางลัดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยพยายามศึกษาว่าองค์ประกอบทางพันธุกรรมของแต่ละคนมีโอกาสเกิดโรคอะไรบ้าง และมีผลกระทบจากการใช้ยาอะไรบ้าง วิธีการของเขาก็ง่ายๆ ครับนั้นคือการรูปแบบของยีนที่ก่อให้เกิดโรคบางชนิดหรือการแพ้ยาบางอย่างจากกลุ่มตัวอย่าง แล้วพยายามดูว่าผู้ป่วยแต่ละคนมีรูปแบบของยีนในลักษณะดังกล่าวอยู่หรือไม่ พูดง่ายๆ ก็คือพยายามหารูปแบบของยีนจากคนที่เป็นโรคโดยการเปรียบเทียบกับคนที่ไม่เป็น แล้วนำรูปแบบดังกล่าวมาใช้ในการวิเคราะห์ผู้ป่วยแต่ละราย ฟังดูอาจจะง่ายนะครับ แต่ในทางปฏิบัติไม่ง่ายเหมือนที่เขียนเลย อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ต่างคาดว่าในอนาคตอันใกล้การทดสอบพันธุกรรมของคนไข้ด้วยวิธีการดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
4. RNAi Therapy เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับทางด้านพันธุกรรมอีกประการหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เหมือนกับเทคโนโลยีข้อที่แล้ว คือการหยุดยั้งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่เทคโนโลยีทีใช้ไม่เหมือนกัน ตามแนวคิดของเทคโนโลยีนี้โรคภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เอดส์ เกิดขึ้นจากยีนบางตัวในร่างกายเราที่เกิดความผิดปกติ ดังนั้นถ้าเราสามารถหาวิธีที่จะหยุดยั้งหรือปิดกั้นยีนตัวนั้นๆ โรคร้ายดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น เทคโนโลยี RNAi เป็นการพัฒนาโมเลกุลบางชนิดเพื่อให้เข้าไปในร่างกายเราเพื่อหยุดยั้งต่อยีนที่ก่อให้เกิดโรคร้าย ในขณะนี้บริษัทยาจำนวนมากกำลังใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อพัฒนายาที่จะเข้าไปหยุดยั้งการทำงานของยีนบางตัว แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็ต้องค้นพบให้ได้ก่อนว่ายีนที่ก่อให้เกิดโรคร้ายคือยีนอะไรบ้าง และถ้าเราทราบแล้วบริษัทยาเหล่านี้ก็จะสามารถพัฒนยาที่เหมาะสมเพื่อเข้าไปหยุดยั้งการทำงานของยีนดังกล่าว อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังเพียงทำได้ในเฉพาะสัตว์เซลเดียวในห้องทดลองเท่านั้น ปัญหายังอยู่ที่การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับมนุษย์ที่มีหลายเซล แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายาที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี RNAi จะสามารถออกสู่ตลาดได้ภายในเวลา 3 – 4 ปีข้างหน้า แต่ก็ยังไม่แน่นะครับ นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มยังเชื่อว่าเทคโนโลยีดังกล่าวยังจะต้องใช้เวลากว่า 10 ปีในการพัฒนาเพื่อให้สามารถเข้าไปในร่างกายเราได้อย่างกลมกลืน
5. T-Rays หรือ Terahertz Radiation ซึ่งเป็นรังสีที่อยู่ลึกกว่ารังสี Infared แต่ยังลึกไม่ถึงMicrowave โดยไม่มีอันตรายเหมือนกับรังสี X-Rays โดยเจ้ารังสี T-Rays นี้สามารถที่จะทะลุทะลวงเข้าไปสำรวจวัสดุและสิ่งต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหรือองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของหรือแม้กระทั่งเจ้าก้อนมะเร็งร้ายในร่างกายเรา ประโยชน์ของ T-Rays มีด้วยกันหลายอย่างครับ ตั้งแต่ใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพของโรงงานต่างๆ ท่านผู้อ่านนึกภาพดูนะครับในสินค้าที่ผลิตและปิดผนึกเรียบร้อยแล้ว เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าสินค้าดังกล่าวมีความเสียหายเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่เพียงฉาย T-Rays ผ่าน ก็จะทำให้เราทราบทันทีถึงรูปร่างและส่วนประกอบของสินค้า ว่ามีความบุบสลายหรือตำหนิตรงไหนบ้าง เทคโนโลยีนี้ไม่ได้ใช้กับสินค้าเพียงอย่างเดียวนะครับอุตสาหกรรมผลิตอาหารก็ใช้ได้ โดยฉายรังสี T-Rays ผ่านก็จะทำให้ทราบว่าอาหารในห่อบรรจุยังคงความสดไว้ได้หรือไม่ ในอนาคตโรงงานต่างๆ ที่มีการปิดผนึกสินค้าของตนเองคงจะต้องใช้เทคโนโลยีนี้เป็นหลักในการตรวจสอบคุณภาพของสินค้านะครับ นอกจากนี้ T-Rays ยังสามารถใช้ในการมองเห็นวัตถุที่ถูกซุกซ่อนไว้ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความปลอดภัยต่างๆ หรือแม้กระทั่งใช้ในการวิเคราะห์เนื้อที่เป็นมะเร็งได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ปัจจุบันผู้ผลิตใหญ่ๆ หลายเจ้าเช่น Nikon ก็เริ่มที่จะหาทางนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กันมากขึ้น
เป็นอย่างไรกันบ้างครับเทคโนโลยีห้าประการที่คาดว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนต่อการดำเนินชีวิตและธุรกิจของเราในอนาคต เทคโนโลยีบางอย่างก็ดูง่ายนะครับ แต่บางอย่างก็ดูเหมือนในนิยายวิทยาศาสตร์เลย สิ่งที่ผมนำมาเสนอนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีทั้งหมดสิบประการนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจเพิ่มเติมก็ลองเข้าไปหาในอินเตอร์เน็ตดูได้