24 December 2004

สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เป็นอย่างไรบ้างครับโฉมใหม่ของผู้จัดการรายสัปดาห์และที่อยู่ใหม่ของคอลัมภ์นี้ บทความในฉบับนี้ก็ถือเป็นการขึ้นปีที่สามที่ผมได้มาพบกับท่านผู้อ่านผ่านทางหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ถ้าท่านผู้อ่านมีข้อเสนอแนะหรือความคิดเห็นอย่างไรก็เชิญแจ้งมาได้ทางอีเมลนะครับ และเนื่องจากในสัปดาห์นี้เป็นฉบับแรกของปี 2547 ผมเลยขออนุญาตนำเสนอถึงแนวโน้มของแนวคิดทางด้านการบริหารจัดการที่น่าจะเป็นไปในปีใหม่นี้

ในปี 2546 ที่ผ่านมาต้องถือว่าในบ้านเรามีความตื่นตัวกันในเรื่องของศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการอย่างมาก โดยความตื่นตัวดังกล่าวเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน อาทิเช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันภาวะการแข่งขันก็รุนแรงและรวดเร็วขึ้น ทำให้ผู้บริหารองค์กรจำนวนมากที่ต้องเริ่มหันกลับมามองในสองประเด็นที่ขัดแย้งกันพอสมควร นั้นคือทำอย่างไรองค์กรถึงจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ ในขณะที่องค์กรเติบโตนั้นองค์กรก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ทั้งรุนแรง แปลกใหม่ และรวดเร็วขึ้นทุกขณะ การที่องค์กรจะเติบโตต่อไปในภาวะปัจจุบันไม่ได้เป็นสิ่งที่ง่ายดายเหมือนในอดีต เนื่องจากทุกคนในอุตสาหกรรมก็อยากที่จะเติบโตเช่นเดียวกัน ความท้าทายที่ผู้บริหารเผชิญดังกล่าวทำให้ผู้บริหารเริ่มจะต้องหาผู้ช่วย ซึ่งก็หนีไม่พ้นแนวคิดและเครื่องมือทางด้านการบริหารจัดการใหม่ๆ ที่ผู้บริหารสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรและช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้วความตื่นตัวในศาสตร์ทางด้านการจัดการยังเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่กระตุ้นให้มีผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมเหล่านี้ก็ต่างพยายามเสาะแสวงหาระบบในการบริหารจัดการที่ดีและเหมาะสมต่อตนเองมาใช้ ก็เลยกลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการ นอกจากนี้นโยบายการปฏิรูประบบราชการที่ต้องการให้ราชการไทยมีลักษณะการบริหารงานที่คล้ายกับภาคเอกชนมากขึ้น ทำให้ข้าราชการเองต้องขวนขวายหาความรู้ทางด้านการบริหารจัดการมากขึ้น และสาเหตุประการสุดท้ายน่าจะเกิดจากนายกรัฐมนตรีของไทยเราเอง ที่ในช่วงหลังได้ทำหน้าที่ในการแนะนำหนังสือทางด้านการจัดการที่ดีให้คณะครม.ได้อ่าน ซึ่งรายชื่อหนังสือเหล่านี้ก็เลยกลายเป็นหนังสือที่ผู้บริหารและประชาชนทั่วไปอยากจะอ่านด้วย ท่านผู้อ่านลองเดินเข้าไปที่ร้านขายหนังสือทางด้านการบริหารจัดการเกือบทุกร้าน ก็จะมีเนื้อที่ส่วนหนึ่งที่อุทิศให้หนังสือที่ท่านนายกฯ แนะนำอยู่เสมอ และรู้สึกว่าท่านจะขยันอ่านและอ่านได้เร็วมากนะครับ เนื่องจากมีหนังสือใหม่ๆ แนะนำอยู่ตลอดเวลา

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าผมเอาข้อมูลจากไหนที่มาพูดถึงความตื่นตัวในศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการในปีที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านลองเข้าไปในร้านหรือแผงหนังสือทั่วๆ ไปดูนะครับ ท่านผู้อ่านจะพบว่าในปัจจุบันมีวารสารทางด้านการบริหารจัดการวางจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก และถ้าลองนับดูแล้ว ท่านผู้อ่านจะพบว่าในปี 2546 ที่ผ่านมาจำนวนนิตยสารทางด้านการบริหารจัดการเหล่านี้มีมากกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านลองสำรวจพวกหนังสือ Pocket Book ทางด้านการบริหารจัดการดูซิครับ ออกมากันอย่างมากมายมหาศาลจริงๆ ทั้งที่เขียนขึ้นเอง ไม่ว่าจะโดยนักวิชาการ ผู้บริหาร หรือเหล่าที่ปรึกษาทั้งหลาย หรือแปลมาจากหนังสือต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มหนังสือที่แปลมาจากต่างประเทศที่ออกมาแทบจะเรียกได้ว่ารายวันเลยทีเดียว นอกจากนี้เมื่อเปิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจดูก็จะพบโฆษณาหรือประกาศงานสัมมนาหรืออบรมทางด้านการจัดการเป็นจำนวนมาก ทั้งที่จัดโดยสถาบันหรือหน่วยงานที่มีชื่อเสียง หรือจัดโดยบริษัทรับจัดสัมมนาที่เพิ่งเปิดขึ้นมาในช่วงปีสองปีนี้ ผมเชื่อว่าถ้าสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน ความตื่นตัวในศาสตร์ด้านการบริหารจัดการก็ยังคงตื่นตัวกันต่อไป

ทีนี้เราลองมาดูแนวโน้มทางด้านการจัดการในปีใหม่ 2547 กันนะครับ ในความคิดเห็นของผมแล้ว แนวโน้มของศาสตร์ทางด้านการจัดการในปีใหม่นี้ คงไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนไปมาก และเชื่อว่าคงไม่ได้มีแนวคิดใหม่ๆ ที่สะท้านฟ้าสะเทือนดินออกมา เพียงแต่คิดว่าในปีนี้พัฒนาการของศาสตร์ทางด้านการจัดการน่าจะเป็นในเรื่องของการต่อยอดจากของเดิมมากกว่า ผมขอสรุปประเด็นในศาสตร์ทางด้านการจัดการที่คิดว่าน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับปีใหม่ 2547 นี้นะครับ

  • ความสำคัญของ Execution จะเพิ่มมากขึ้นในขณะที่กลยุทธ์จะลดบทบาทลง – จริงๆ แล้วประเด็นนี้ได้เริ่มพูดกันมากเมื่อสองสามปีที่ผ่านมาแล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ แต่ที่เขียนมาลักษณะนี้ไม่ได้หมายความกลยุทธ์จะไม่มีความสำคัญอีกต่อไปนะครับ เพียงแต่มองว่าแนวคิดในเรื่องของกลยุทธ์ได้ซึมลึกเข้าไปในสายเลือดของผู้บริหารทุกท่านอยู่แล้ว และในสถานการณ์ปัจจุบันยากที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะมีกลยุทธ์ที่ก่อให้เกิดความแตกต่างแล้วไม่ถูกลอกเลียนแบบภายในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะเดียวกันหลายองค์กรที่มีกลยุทธ์ที่ดี แต่ไม่สามารถนำกลยุทธ์นั้นไปปฏิบัติให้เห็นผลได้ก็เหมือนกับไม่มีกลยุทธ์อยู่ดี สำหรับในเรื่องของ Execution นั้นเองก็ไม่ได้มีทฤษฎีหรือหลักปฏิบัติที่มีกรอบแนวคิดที่ชัดเจน ส่วนใหญ่แล้วมักจะขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารเสียมากกว่า ปัจจุบันมีหนังสือดีๆ ที่เกี่ยวกับ Execution ออกมาหลายเล่มนะครับ ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้ทั่วไป
  • ความพยายามที่จะทำความเข้าใจต่อกลยุทธ์กับการประสบความสำเร็จขององค์กร – จากข้อที่แล้วท่านผู้อ่านอาจจะเข้าใจผิดว่ากลยุทธ์จะลดบทบาท หรือความสำคัญลง แต่ผมมองว่าในปีหน้าและปีต่อๆ ไปน่าจะเป็นช่วงเวลาที่นักวิชาการและผู้บริหารขององค์กรต่างๆ จะได้หันกลับมาทบทวนต่อบทบาท ความสำคัญ และแก่นที่แท้จริงของกลยุทธ์มากขึ้น การทบทวนในบทบาทของกลยุทธ์นี้น่าจะเกิดขึ้นจากความสงสัยของเหล่านักวิชาการหรือผู้บริหารองค์กรต่างๆ ถึงความสำคัญและจำเป็นของกลยุทธ์ต่อการประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน ความสงสัยที่เกิดขึ้นนั้น มักจะเป็นในประเด็นที่ว่ากลยุทธ์เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรจริงหรือไม่? ทำไมองค์กรที่มีกลยุทธ์ที่ดีและการปฏิบัติที่ดี ถึงได้ประสบความล้มเหลว? และ ถ้าองค์กรต้องการที่จะเติบโตและขยายตัวขึ้น อะไรคือกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่ควรจะใช้? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นว่าองค์กรควรจะเติบโตอยู่ในธุรกิจเดิม (Core Business) หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิมมากน้อยเพียงใด? จริงๆ แล้วคำถามเหล่านี้เป็นคำถามโบราณที่ผู้บริหารได้ถามตัวเองมานานแล้ว แต่ดูเหมือนว่าคำถามเหล่านี้จะยิ่งมีมากขึ้นในช่วงหลังที่ผ่านมา
  • ความสำคัญของเวลา (Speed) – ถือเป็นแนวโน้มที่มาแรงมากประการหนึ่ง โดยเฉพาะในเหล่าผู้บริหารของไทย ซึ่งในช่วงหลังผมจะได้ยินผู้บริหารขององค์กรใหญ่ๆ พูดกันถึงเรื่อง Speed เป็นจำนวนมาก กระทั่งผู้บริหารบางท่านยังระบุว่ากลยุทธ์อาจจะไม่มีความสำคัญอีกต่อไปในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญคือในเรื่องของ Speed เนื่องจากถ้าองค์กรสามารถทำในสิ่งต่างๆ ได้ในเวลาที่รวดเร็วและเหมาะสมกว่าคู่แข่ง องค์กรนั้นย่อมมีโอกาสที่จะชนะการแข่งขันได้มากกว่า คำว่า Speed ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ความเร็วเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่ยังหมายถึงความเหมาะสมของเวลาด้วย ไม่ได้หมายความว่าองค์กรที่จะชนะต้องทำในสิ่งที่เร็วเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แต่เวลาดังกล่าวควรจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย องค์กรบางแห่งออกสินค้าหรือบริการออกมาด้วยความรวดเร็ว แต่ผู้บริโภคอาจจะยังไม่มีความต้องการเกิดขึ้น (เช่นกรณีที่ Apple ออกเครื่อง Newton ที่เป็น PDA เครื่องแรกๆ ของโลก และไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร) ดังนั้นในเรื่องของเวลานี้จะต้องพิจารณาทั้งในด้านของความเร็วและความเหมาะสมของเวลาด้วย จริงๆ แล้วเรื่องของเวลาหรือความเร็วกับการได้เปรียบทางการแข่งขันก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ผมเองยังจำได้เลยว่าเคยมีหนังสือเล่มหนึ่งออกมาเมื่อประมาณกลางทศวรรษที่ 1990 ที่ชื่อพูดถึงเรื่องของเวลากับการแข่งขัน ซึ่งผู้เขียนได้พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าเวลาจะช่วยให้องค์กรเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างไร (ถ้ามีโอกาสจะนำมาเสนอในโอกาสต่อๆ ไปนะครับ)
  • ความตื่นตัวในเรื่องของปัจจัยที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Factors) – ก็ไม่ได้เป็นประเด็นที่ใหม่แต่เป็นประเด็นที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริหารและนักวิชาการต่างๆ ได้ตระหนักพบแล้วว่าการที่องค์กรจะเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันได้นั้นปัจจัยหรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุด แนวคิดของ Balanced Scorecard เองก็ได้มีการพัฒนาที่ต่อเนื่องมาจากเครื่องมือในการวัดและประเมินผล จนมาเป็นเครื่องมือในการนำกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ และล่าสุดในต้นปีนี้ผู้ที่คิดค้น BSC ทั้งสองท่านจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับ BSC อีกเล่มหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าจะสามารถสื่อสารและอธิบายปัจจัยที่จับต้องไม่ได้ขององค์กรให้เป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างไร ในช่วงหลังๆ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจะได้ยินแนวคิดของปัจจัยหรือสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นศัพท์ว่า Human Capital, Intellectual Capital, Knowledge Management, Intangible Value หรือแม้กระทั่งแนวคิดในเรื่องของ Brand Management เองก็สืบเนื่องมาจากปัจจัยที่ไม่สามารถจับต้องได้เช่นกัน

เป็นอย่างไรบ้างครับแนวโน้มทางด้านการจัดการที่ผมคาดว่าจะมีความสำคัญในปีใหม่ 2547 นี้ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะรู้สึกว่าไม่ได้มีอะไรใหม่ๆ ซึ่งผมก็เห็นด้วย เนื่องจากสิ่งที่จะเรียกว่าใหม่ๆ จริงๆ นั้นค่อนข้างจะเกิดขึ้นยากแล้วในปัจจุบัน หรือถ้าจะมีใหม่ๆ จริงๆ ผมก็คงไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ เพียงแต่แนวคิดต่างๆ ข้างต้นเป็นแนวคิดที่ต่อยอดจากในอดีต ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะมีความสำคัญมากขึ้นในปีปัจจุบัน ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ ส่งอีเมลมาพูดคุยกันได้นะครับ ขอส่งความสุขในโอกาสปีใหม่ไปยังท่านผู้อ่านทุกท่านนะครับ