29 April 2005

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของนาฬิกาในตัวเรา (Biological Clock) ซึ่งเป็นสิ่งที่กำกับการทำงานของร่างกายเราโดยที่เราไม่รู้ตัว และนาฬิกาดังกล่าวก็จะมีความใกล้เคียงกับช่วงเวลา 24 ชั่วโมงตามนาฬิกาปกติ ดังนั้นถ้าจะทำงานให้ดีและมีประสิทธิภาพแล้ว เราจะต้องวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับการเดินของนาฬิกาในร่างกายเรา 

สัปดาห์นี้ก็ยังคงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ แต่อยากจะนำเสนอข้อมูลในอีกมุมมองหนึ่ง ถ้าตามหลักที่ผมได้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คนเราแต่ละคนจะมีนาฬิกาที่จะบ่งบอกว่าช่วงไหนเหมาะที่จะทำอะไรมากที่สุด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คนแต่ละคนก็ควรที่จะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมแต่ละอย่างเหมือนๆ กัน แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าทำไมเพื่อนร่วมงานของท่านบางคนถึงเป็นพวกชอบตื่นและมาทำงานแต่เช้า แต่พอค่ำๆ หน่อยแล้วร่างกายเริ่มจะไม่ทำงาน จะต้องรีบนอนแต่หัวค่ำ แต่บางคนนั้น ถ้าบังคับให้ตื่นหรือเข้างานแต่เช้า ในช่วงเช้านั้นสมองของเขาจะไม่ทำงานเลย แต่พอสายๆ เย็นๆ หรือแม้กระทั่งค่ำๆ แล้วคนพวกหลังนั้นกลับกระฉับกระเฉง ตื่นตัว พร้อมที่จะทำงาน ซึ่งถ้าเอาแนวคิดเกี่ยวกับนาฬิกาในร่างกายเราเข้ามาจับแล้ว ก็จะไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ที่แตกต่างระหวางคนสองประเภทนี้ได้ เนื่องจากตามวงจรแล้ว พอเลยสามทุ่มอุณหภูมิในร่างกายเราจะเริ่มลดต่ำลง และเป็นช่วงที่เราจะต้องพักผ่อน หลังจากนั้นอุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงเช้า หัวใจจะเริ่มเต้นเร็วขึ้น และเริ่มกระฉับกระเฉงขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับพฤติกรรมของพวกที่ตอนเช้าเฉื่อย พอตอนค่ำๆ แล้วค่อยกระฉับกระเฉง

พวกหมอๆ เขาก็เลยไปทำวิจัยอีกครับ แล้วเขาพบครับว่าลักษณะหรือรอบการเดินของนาฬิกาแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยได้รับผลกระทบจากความแตกต่างกันตามพันธุกรรมของแต่ละคน มีพวกหมอและนักวิจัยใน Stanford University และมหาวิทยาลัย Wisconsin ได้ร่วมกันทำวิจัยเพื่อหาสาเหตุว่าทำไมคนแต่ละคนถึงมีเวลา “โปรด” ที่แตกต่างกันในการทำกิจกรรมต่างๆ พวกหมอและนักวิจัยเหล่านี้ได้แจกแบบสอบถามไปยังผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 400 คน เพื่อดูว่าแต่ละคนชอบทำกิจกรรมลักษณะใด ในแต่ละช่วงเวลา และขณะเดียวกันก็ศึกษายีนตัวหนึ่งในทั้ง 400 กว่าคน โดยยีนตัวนี้ชื่อ Clock Gene (ชื่อแปลกมากครับ) และนำผลจากทั้งแบบสอบถามและการวิเคราะห์ยีนมาเปรียบเทียบกัน ผลที่ได้น่าสนใจมากครับ นั้นคือ โดยปกติแล้วเจ้า “ยีนนาฬิกา” ของแต่ละคนจะมีลักษณะที่เหมือนๆ กัน แต่ในบางคนที่ยีนนาฬิกา ไม่เหมือนมาตรฐานทั่วๆ ไปนั้น จะเป็นพวกที่ถนัดและชอบทำงานตอนเย็นๆ ค่ำๆ

จากผลการวิจัยในครั้งนี้ ทำให้ได้ข้อสรุปว่านาฬิกาในร่างกายของแต่ละคนนั้นอาจจะเดินไม่ตรงกัน นั้นคือถึงแม้จะมี 24 ชั่วโมงเหมือนกัน แต่ผลจากนาฬิกาต่ออวัยวะและร่างกายต่างๆ ของเรา ในแต่ละช่วงเวลาจะไม่เหมือนกัน ทำให้ในแต่ละช่วงเวลาคนแต่ละอาจจะมีความพร้อมสำหรับงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มียีนนาฬิกา (Clock Gene) ที่แตกต่างจากผู้อื่นนั้น นาฬิกาในร่างกายของเขาจะทำงานไม่เหมือนผู้อื่น ดังนั้นคงจะยากนะครับที่จะบอกให้คนบางคนเข้านอนเหมือนกับคนอื่นๆ โดยที่นาฬิกาในร่างกายของเขาบอกว่าถึงเวลารื่นเริงสังสรรค์

ผลพวงจากงานวิจัยนี้ทำให้เกิดประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมานะครับว่า ถ้าคนเราแต่ละคนสามารถที่จะรู้ถึงลักษณะทางพันธุกรรมของเรา โดยเฉพาะเจ้ายีนนาฬิกา เราก็สามารถที่จะปรับเวลาและพฤติกรรมในการทำกิจกรรมต่างๆ ของเราให้เหมาะสมกับสอดคล้องกับนาฬิกาในร่างกายของเรา และผู้ที่เป็นผู้บริหารเองก็จะต้องเข้าใจความแตกต่างจากพันธุกรรมดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลทางพันธุกรรมอาจจะเป็นเหตุผลที่สำคัญที่ทำให้พนักงานบางคนขยันและชอบทำงานช่วงเช้า ในขณะที่พนักงานอีกคนหนึ่งนั้นจะทำงานได้ดีในช่วงเย็น อาจจะเป็นไปได้นะครับที่ในอนาคตพนักงานแต่ละคนจะสามารถปรับตารางเวลาในการทำงานให้สอดคล้องกับพันธุกรรมของแต่ละคน และนาฬิกาที่อยู่ในร่างกายของเรา

นอกจากนี้ผลจากงานวิจัยชิ้นนี้ยังโยงไปถึงเรื่องของโรคนอนไม่หลับอีกนะครับ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะมีปัญหาในการนอน ซึ่งสาเหตุนั้นอาจจะมาจากนาฬิกาในร่างกายเรา แทนที่จะมาจากสาเหตุอื่นไม่ได้ ผมรู้จักคนหลายคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับจนต้องพึ่งยานอนหลับ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากการทำงานของนาฬิกาในร่างกายของเราก็ได้นะครับ ถ้านาฬิกาเราบอกว่าให้นอนตีหนึ่ง ก็คงไม่น่าแปลกใจหรอกนะครับว่าทำไมเราเข้านอนตั้งแต่สี่ทุ่มกว่าแล้วนอนไม่หลับเสียที แต่ท่านผู้อ่านก็จะต้องอ่านแบบฟังหูไว้หูนะครับ เนื่องจากที่ผมนำเสนอนั้นเป็นเพียงแค่ผลการวิจัยเบื้องต้นเท่านั้นเอง คิดว่าพวกหมอๆ คงจะมีคำอธิบายที่ดีและชัดเจนกว่านี้ครับ

อย่างไรก็ดีผมคิดว่าเรื่องของพันธุกรรมและนาฬิกาในร่างกายเรา เป็นเรื่องที่เราควรจะรับทราบไว้ เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และตรวจสอบตัวเราเอง เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจต่อพฤติกรรมและรูปแบบในการทำงานของเรามากขึ้น ถ้าท่านเป็นประเภททำงานได้ดีในตอนเช้า (จากนาฬิกาในร่างกายเรา) เราก็จะต้องจัดสรรเวลาให้ดีที่จะให้ช่วงเช้าได้เป็นเวลาที่ทำงานที่มีคุณค่ามากที่สุด แต่ถ้ายีนนาฬิกาของท่านไม่เหมือนผู้อื่น และทำงานได้ดีช่วงค่ำๆ ท่านก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานของท่าน และนอกจากเป็นข้อมูลที่จะใช้บริหารตนเองแล้ว ผู้ที่เป็นผู้บริหารก็อาจจะต้องเข้าใจในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากสุดท้ายแล้วเราจะพบถึงความแตกต่างของพฤติกรรมในการทำงานของลูกน้องแต่ละคน

ขอจบเนื้อหาในสัปดาห์นี้ก่อนนะครับ ก่อนจบขออนุญาตประชาสัมพันธ์งานของตัวเองหน่อยนะครับ ผมได้รวบรวมงานที่เขียนที่กรุงเทพธุรกิจและที่อื่น นำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือได้ออกมาเป็นเล่มที่ 3 แล้วนะครับ ชื่อ “คู่มือผู้บริหาร” ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองหาตามร้านหนังสือทั่วไปได้นะครับ ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านมาตลอดนะครับ