15 May 2005

ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ จะพบว่ารอบๆ ตัวของท่านจะมีเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้องที่มีลักษณะที่หลากหลาย บางคนก็เป็นพวกที่ทำงานด้วยแล้วสบายใจ ไม่เคยมีปัญหากับใคร ไม่เคยก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะทำให้งานสำเร็จ ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านแวดล้อมตัวท่านด้วยบุคคลประเภทนั้นก็ถือว่าท่านโชคดีไป แต่ในขณะเดียวกันเราก็อาจจะพบเจอบุคคลที่ก่อแต่ความเดือดร้อน รำคาญใจให้กับผู้อื่น แถมมีพฤติกรรมหรือนิสัยในการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อความสำเร็จขององค์กร ถ้าท่านผู้อ่านเจอบุคคลข้างต้นเพียงแค่คนเดียวในทีมของท่านก็คงจะก่อความปวดหัวให้กับท่านได้อย่างไม่รู้จบ

ประเด็นสำคัญก็คือเรามักจะโชคร้ายที่มีเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่องานอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ จนดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นสำคัญก็คือท่านเองจะบริหารและจัดการกับคนประเภทนี้อย่างไรไม่ให้ทัศนคติหรือพฤติกรรมของเขาส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของงานเป็นส่วนรวม ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ ถ้าท่านมีเพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องเพียงแค่หนึ่งคนที่มีลักษณะดังกล่าว ทัศนคติในด้านลบของบุคคลผู้นั้นก็จะส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานข้างเคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นว่าพนักงานที่ไม่ดีเพียงแค่หนึ่งคนอาจจะทำให้บรรยากาศและสภาวะแวดล้อมในการทำงานแย่ตามไปด้วย ดังนั้นท่านผู้อ่านเองคงจะต้องเรียนรู้วิธีการที่จะบริหารจัดการคนเหล่านี้อย่างเหมาะสม เพื่อความสำเร็จของงานเป็นหลัก

ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่า รอบๆ ตัวท่านมี “บุคคลที่มีปัญหา” อยู่หรือไม่ ท่านอาจจะมองไปรอบๆ ตัวท่านแล้วลองดูซิครับว่ามีบุคคลที่มีลักษณะเหล่านี้อยู่หรือไม่?

  • พวกที่เห็นแก่ตัวเป็นส่วนใหญ่ และไม่ค่อยคำนึงถึงความต้องการของผู้อื่น
  • พวกที่มองโลกในแง่ร้ายเป็นหลัก ไม่เคยคิดว่างานต่างๆ จะสำเร็จ แม้กระทั่งเมื่อตนเองต้องรับผิดชอบต่องานนั้น คนพวกนี้จะมีทัศนคติว่า “ไม่สามารถ” อยู่ตลอดเวลา แทนที่จะเป็นพวกที่คิดว่า “สามารถ”
  • พวกที่เอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ ให้ความเห็นต่อผู้อื่นๆ แต่ไม่เคยลงมือทำอะไรเอง จะขออธิบายเพิ่มหน่อยนะครับ คนพวกนี้จะเป็นพวกที่ดูเหมือนมีหลักการ มีเหตุผล และชอบที่จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือจับผิดต่องานที่บุคคลอื่นทำหรือเสนอเข้ามา เวลาประชุมทีไรคนกลุ่มนี้จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทุกครั้ง แต่ถ้าถามว่าคนกลุ่มนี้เคยทำอะไรบ้างไหม จะพบว่าแทบไม่มีเลย แต่กลับมีความสามารถในการวิพากษ์คนอื่นได้ เรียกได้ว่าในการประชุมครั้งใดถ้าคนกลุ่มนี้ไม่ได้แสดงความคิดเห็น ก็หมายความได้อย่างเดียวครับว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าประชุม แถมพอวิพากษ์เสร็จกลับทำให้คนที่ทำงานแต่ได้รับการวิจารณ์หมดกำลังใจที่จะทำต่อไปเลย ถ้าองค์กรไหนมีคนประเภทนี้เยอะๆ ก็ระวังไว้แล้วกันนะครับว่างานจะไม่เดินหรือไม่มีสิ่งใดใหม่ออกมา
  • พวกที่ไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำสิ่งใดใหม่ๆ ลองให้คนกลุ่มนี้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือนอกกรอบที่เคยทำดูซิครับ จะพบว่าคนกลุ่มนี้จะปฏิเสธทันที พวกนี้มักจะยึดกฎระเบียบ หรือการกระทำในอดีตเป็นที่ตั้ง พอพบเจอสิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะดีกว่า แต่ไม่เหมือนเก่า พวกนี้ก็จะตั้งท่าปฏิเสธอย่างเดียว
  • พวกที่อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย พวกนี้อารมณ์จะขึ้นลงทุกๆ นาทีเลย 
  • พวกที่ถ้ามีโอกาสเป็นได้เสนอหน้าหรือชอบที่จะรับผิดชอบงาน ซึ่งถ้าทำงานออกมาได้สำเร็จก็คงจะไม่มีปัญหาหรอกครับ แต่บุคคลบางประเภท ชอบเสนอหน้าหรืออยากทำงานที่มีความรับผิดชอบสูง แต่พอได้ทำแล้วกลับทำให้งานนั้นเละเทะทุกที แถมคนกลุ่มนี้ยังสามารถหาหนทางที่จะโยนความผิดดังกล่าวไปให้ผู้อื่นได้ทุกที
  • พวกกองหน้าที่เอาแต่รุกอย่างเดียว โดยไม่สนใจกองกลางและกองหลัง คนกลุ่มนี้ชอบที่จะริเริ่มโครงการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ความสุขของคนกลุ่มนี้คือการได้ริเริ่มโครงการใหม่ และเห็นโครงการหรืองานนั้นได้เกิดขึ้น แต่เมื่อโครงการใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว คนกลุ่มนี้ก็จะทิ้งงานดังกล่าวและโผออกไปหาโครงการหรืองานใหม่ๆ ต่อทันที เรียกว่าเริ่มงานแล้วแต่ไม่ทำให้สำเร็จและกลายเป็นการทิ้งภาระให้ผู้อยู่เบื้องหลังต่อ จริงๆ แล้วผมไม่อยากจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่ามีปัญหาหรอกครับ เพราะในทุกองค์กรก็ต้องการบุคคลในลักษณะนี้ แต่จะมีปัญหาต่อเมื่อองค์กรนั้นขาดบุคคลอีกกลุ่มที่จะมารองรับงานไปทำให้สำเร็จ เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้ริเริ่มโครงการได้แล้วก็จะโผไปโครงการถัดไป ดังนั้นองค์กรคงจะต้องหาอีกทีมที่จะมารับช่วงต่อและทำให้งานสำเร็จ
  • พวกที่คิดอยู่ตลอดเวลาว่าคนอื่นโง่หมด มีตัวเองฉลาดอยู่คนเดียว เคยเจอคนประเภทนี้แล้วก็กลัวเหมือนกันครับ เพราะพอเริ่มต้นพูด เขาก็จะด่าว่าเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องหมดในเชิงของการดูถูกว่าไม่มีความรู้ ความสามารถ ฟังไปฟังมาก็สรุปได้ว่าทุกคนโง่หมด นอกจากเขาคนเดียวที่ฉลาดกว่าเพื่อน ผมแค่นั่งฟังเขาอยู่ก็เลยพลอยคิดว่าตัวเองโง่ไปด้วยเลย

เป็นไงครับแนวทางข้างต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างไม่กี่ข้อที่พบเจอนะครับ แต่ท่านผู้อ่านลองดูแล้วกันนะครับว่าสามารถพบเจอในองค์กรหรือหน่วยงานของท่านหรือไม่ แล้วถ้าพบเจอท่านผู้อ่านมีวิธีการอย่างไรที่จะจัดการกับบุคคลเหล่านี้ คำว่า “จัดการ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงให้ออกนะครับ แต่ทำอย่างไรถึงจะให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และทำให้งานส่วนรวมสำเร็จด้วย สัปดาห์หน้าเราลองมาแยกประเภทของคนเหล่านี้ดูกันนะครับว่ามีทั้งหมดกี่ประเภท และแต่ละประเภทจะต้องมีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไร

สุดท้ายขอฝากประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ตอนนี้วิชาที่ผมสอนในระดับ MBA ที่คณะบัญชี จุฬา (จะเปิดเทอมในเดือนมิ.ย.นี้) มีนโยบายให้นิสิตไปช่วยให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเรื่องของการจัดทำ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจก็อีเมลเข้ามาถามรายละเอียดกับผมได้ที่ pasu@acc.chula.ac.th นะครับ โครงการนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 5 แล้วนะครับ