7 August 2005

ท่านผู้อ่านได้เคยพิจารณาถึงภาพลักษณ์ของตัวท่านเองในที่ทำงานบ้างไหมครับ? เรื่องของภาพลักษณ์ในที่ทำงานเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ก็เป็นเรื่องที่เรามักจะละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้อ่านสังเกตบ้างไหมครับว่าในหลายๆ ครั้งภาพลักษณ์ของท่านที่เกิดขึ้นในที่ทำงานนั้นไม่ได้เป็นภาพลักษณ์ที่ท่านต้องการให้เกิด แต่เป็นภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นใส่ไปให้กับท่าน ผมเชื่อว่ามีท่านผู้อ่านจำนวนมากที่มีภาพลักษณ์ในที่ทำงานในลักษณะที่ท่านไม่อยากและไม่ตั้งใจจะให้เกิดขึ้น แต่เป็นภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นจากคนอื่นเขาคอยสังเกตตัวท่าน พฤติกรรมของท่าน สร้างทฤษฎีหรือสมมติฐานเกี่ยวกับตัวท่านขึ้นมา แล้วแปลงข้อสมมติฐานเหล่านั้นออกเป็นภาพลักษณ์ของท่าน  (อาจจะถูกหรือผิดก็ได้) แล้วสร้างภาพนั้นให้เป็นที่รับทราบทั่วทั้งองค์กร เช่น ท่านอาจจะมีภาพว่าเป็นคนช่างกินและกินเก่ง (กินอาหารนะครับ) ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย เพียงแต่เมื่อเพื่อนร่วมงานเจอท่านทีไร มักจะอยู่ใกล้ๆ อาหารทุกที ภาพลักษณ์ดังกล่าวก็จะติดตัวท่านไปเรื่อยๆ

ประเด็นคำถามสำคัญก็คือท่านผู้อ่านจะทำอย่างไรถึงจะสร้างภาพลักษณ์ในที่ทำงานที่ท่านต้องการ ก่อนที่คนอื่นเขาจะสร้างให้ท่าน และถ้าภาพลักษณ์ของท่านในปัจจุบันไม่ได้เป็นไปตามที่

ท่านต้องการ ท่านจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ดังกล่าวได้อย่างไร? สัปดาห์นี้ผมจะนำเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างและเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่อ่านมาจากผลการวิจัยของ Laura Morgan Roberts เรื่อง “Changing Faces: Professional Image Construction in Diverse Organizational Settings” มานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้ลองนำไปปรับใช้นะครับ

 อย่างแรกเรามาดูคำนิยามของภาพลักษณ์ในที่ทำงาน (Professtional Image) กันก่อนนะครับ ภาพลักษณ์ในที่ทำงานนั้นเป็นคุณลักษณะ และคุณสมบัติที่สะท้อนภาพที่บุคคลรอบๆ ตัวท่าน(ลูกค้า เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง) รับรู้และมองตัวท่าน ทีนี้เราต้องแยกกันให้ออกก่อนนะครับถึงความแตกต่างระหว่างภาพลักษณ์ที่เราต้องการให้คนอื่นมอง กับภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองเรา ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าอะไรคือสิ่งที่ท่านอยากจะให้บุคคลรอบๆ ตัวท่านในที่ทำงานพูดถึงท่าน เมื่อท่านเดินออกจากห้อง สิ่งที่ท่านต้องการให้ผู้อื่นพูดถึงท่านคือภาพลักษณ์ที่ท่านต้องการให้เกิดขึ้นที่ทำงาน (Desired Professional Image) ซึ่งผลจากการวิจัยแล้วพบว่า ภาพลักษณ์ที่ท่านต้องการให้เกิดขึ้นนั้น เป็นผู้ที่มีความสามารถในการทำงาน เป็นผู้ที่เข้าสังคมเก่ง มีบุคลิกภาพที่ดี มีความซื่อสัตย์ ทำงานเป็นทีม เป็นที่ไว้วางใจ มีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น มุ่งมั่นต่อความสำเร็จของทีม ของบริษัท ฯลฯ (อ่านดูแล้วเหมือนกับเป็นภาพลักษณ์ในฝันของหลายๆ คนนะครับ)

ในมุมกลับกัน อะไรคือสิ่งที่ท่านจะกังวลหรือไม่อยากจะให้จะให้คนพูดถึงเมื่อท่านอยู่ในห้อง สิ่งนั้นคือภาพลักษณ์ที่ท่านไม่ต้องการให้เกิด (Undesired Professional Image) ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วยากที่เราจะทราบว่าคนอื่นเขาพูดถึงเราอย่างไรเมื่อเราไม่อยู่ในห้อง แต่ท่านพอจะคาดเดาหรือสันนิษฐานได้ จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างท่านกับบุคคลอื่น หรือจากลักษณะของงานที่ท่านได้รับมอบหมาย หรือแม้กระทั่งการบอกโดยตรงจากบุคคลรอบข้างที่แสดงให้ท่านทราบถึงสิ่งที่คนอื่นเขาตั้งสมมติฐานหรือคิดว่าท่านเป็น สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ ภาพลักษณ์ของท่านที่เกิดขึ้นโดยการรับรู้ของบุคคลอื่นๆ (Perceived Professional Image) 

ทีนี้สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นกับเราก็คือภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นรับรู้เกี่ยวกับตัวเรานั้น มักจะไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่เราต้องการให้เกิดขึ้น เช่น ท่านอยากจะให้คนมองท่านว่าเป็นพวกที่ทำงานหนักเพื่อองค์กร แต่พอดีมีช่วงเวลาหนึ่งที่ท่านต้องกลับบ้านเร็วเนื่องจากลูกไม่สบาย ภาพลักษณ์ที่จะติดตัวท่านไปตลอดก็คือ “พวกชอบกลับบ้านเร็ว” สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองท่านนั้นมักจะใกล้เคียงกับภาพลักษณ์ที่ท่านไม่ต้องการให้เกิด (Undesired Professional Image) ทีนี้เรามาลองดูกันนะครับว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นเขารับรู้ท่าน มักจะไม่เป็นไปตามที่ท่านต้องการและมักจะโน้มเอียงไปทางภาพลักษณ์ที่ท่านไม่ต้องการให้เกิด

สาเหตุประการแรกก็คือเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความผิดพลาดหรือจุดอ่อนในความสามารถ บุคลิกภาพ หรือ ความมุ่งมั่นที่นานๆ จะเกิดขึ้นซักครั้ง และความผิดพลาดดังกล่าวก็จะเป็นที่กล่าวขวัญและรับรู้ของคนโดยทั่วไป ลักษณะนี้ก็คล้ายๆ กับที่เราชอบพูดกันนะครับว่า “ทำงานดีมาทั้งชีวิต ทำผิดพลาดแค่ครั้งเดียว ชื่อเสียงเสียหายเลย” ซึ่งจริงๆ แล้วความผิดพลาดดังกล่าวเป็นเรื่องที่นานๆ จะเกิดขึ้นทีหรือเกิดขึ้นเนื่องจากการขาดความรู้ ทักษะ ความสามารถจริงๆ

สาเหตุประการที่สองก็คือท่านถูกจัดอยู่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งและภาพลักษณ์ที่คนมีต่อกลุ่มนั้นจะถูกใส่เข้ามาที่ตัวท่านด้วย ซึ่งศัพท์ทางด้านการจัดการเราเรียกว่า Stereotyping เช่นถ้าท่านจบปริญญาตรีมาด้วยเกรดที่ดี ฐานะทางการบ้านที่ดี คนในที่ทำงานของท่านจะสร้างภาพเกี่ยวกับตัวท่านเลยว่า คงจะไม่ภักดีต่อองค์กร อยู่ไม่นาน อีกซักพักก็คงจะไปเรียนต่อ หรือ ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคุณแม่ที่มีลูกเด็ก ภาพของท่านที่คนอื่นจะมองก็คือจะต้องกลับบ้านเร็ว ไม่ชอบทำงานเสาร์อาทิตย์ ไม่ทุ่มเทกับงานเท่าที่ควร

ท่านผู้อ่านลองย้อนคิดถึงภาพลักษณ์ของตัวท่านเองในองค์กรดูนะครับ ว่าเป็นอย่างไร และเป็นภาพลักษณ์ที่ท่านต้องการหรือไม่? และถ้าไม่แล้ว คำถามต่อมาก็คือถ้าไม่เป็นไปตามที่ท่านต้องการแล้ว เป็นเพราะสาเหตุใด? สัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันต่อนะครับว่า ถ้าภาพลักษณ์ของท่านไม่เป็นไปตามที่ท่านคาดหวังแล้ว ท่านจะมีแนวทางในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์อย่างไร?