9 July 2005
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าทรัพยากรที่สำคัญในทุกๆ องค์กร ได้เปลี่ยนไปจากทรัพยากรต่างๆ แบบที่เรารู้จักและคุ้นเคย เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในด้านนวัตกรรมมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ กลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขันและการประสบความสำเร็จขององค์กร ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะเห็นพ้องถึงความสำคัญของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ แต่คำถามที่มีอยู่ในใจทุกท่านก็คือ จะบริหารองค์กรเพื่อก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารองค์กรให้บรรลุประสิทธิผล ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และในขณะเดียวกันก็มีกระตุ้นและจูงใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กรด้วย
นักวิชาการส่วนใหญ่พยายามที่จะศึกษาถึงสาเหตุและแรงจูงใจสำคัญที่ผลักดันให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงจูงใจต่างๆ เป็นระบบในการขับเคลื่อน หรือการสร้างบริบทและสภาพแล้วล้อมให้เหมาะสมต่อการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือความพร้อมขององค์กรในการที่จะเปิดรับความรู้จากภายนอกองค์กร เพื่อเป็นแหล่งกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของคนในองค์กร
มีแนวคิดที่น่าสนใจและน่าจะใช้ได้ผลมาแล้วที่บริษัท SAS Institute ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและขายซอฟแวร์ชื่อดังระดับโลก บริษัทแห่งนี้มีชื่อมากในการรักษาบุคลากรให้อยู่กับองค์กรนานๆ รวมทั้งเป็นบริษัทที่บุคลากรมีแรงจูงใจในการทำงานที่ดี รวมทั้งมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์ใหม่ๆ เรามาลองดูแนวคิดหรือวิธีการดูว่าทาง SAS เขามีแนวทางอย่างไรในการส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์กันนะครับ โดยเนื้อหาในส่วนนี้ผมเรียบเรียงมาจากข้อเขียนของ Richard Florida (อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย George Mason) และ Jim Goodnight (ผู้บริหารสูงสุดของ SAS) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกรกฎาคม 2548
เป็นที่ทราบกันว่าบุคลากรที่เก่งในด้านของความคิดสร้างสรรค์จะชอบงานที่ท้าทาย คนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกภูมิใจหรือดีใจที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือทำงานที่ยากและท้าทายให้ประสบความสำเร็จได้ บุคลากรเหล่านี้จะไม่ชอบงานที่เป็นลักษณะมีขั้นตอน ลำดับขั้นที่มากและล่าช้า และนอกจากจะไม่ชอบแล้วยังมองว่าขั้นตอนต่างๆ ที่มากมายเป็นอุปสรรคที่สำคัญของงานที่สร้างสรรค์และท้าทาย ดังนั้นหน้าที่ที่สำคัญของผู้บริหารก็คือการทำให้คนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสทำงานที่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขจัดปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้การทำงานล่าช้า หรือยุ่งยาก ที่ SAS ผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยข้างต้น ดังนั้นที่ SAS เขาจะไม่จูงใจบุคลากรด้วยหุ้นหรือเงินรางวัลใดๆ (SAS ไม่มีโปรแกรมในลักษณะของ Stock Options) แต่จะขอบคุณพนักงานด้วยการมอบหมายงานที่ท้าทายยิ่งขึ้น ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าถ้านำแนวคิดนี้มาใช้ที่หน่วยงานของท่าน จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด แต่ต้องตระหนักไว้เสมอนะครับว่าแนวทางในการจูงใจบุคลากรด้วยลักษณะนี้เหมาะกับกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็น Creative People นะครับ
จริงๆ แล้วสิ่งที่ทาง SAS ทำก็ไม่ใช่สิ่งใหม่นะครับ ทฤษฎีทางด้านการจูงใจของนักวิชาการชื่อดังอย่าง Frederick Herzberg ก็ระบุไว้เลยว่าโอกาสในการเรียนรู้และความท้าทาย เป็นปัจจัยสำคัญในการจูงใจบุคลากรมากยิ่งกว่าความหวาดกลัวต่อเจ้านายที่ดุและเข้มงวด การสำรวจของวารสาร Information Week ที่สอบถามไปยังบุคลากรด้าน IT จำนวนนับพันๆ คนระบุว่าความท้าทายในงานที่ทำเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการจูงใจมากกว่าการจูงใจด้วยปัจจัยทางด้านการเงิน
ท่านผู้อ่านอาจจะนึกว่าการจูงใจด้วยงานที่ท้าทายนั้น เหมาะกับพนักงานเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่จริงๆ แล้วผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในบุคลากรทุกฝ่ายทุกหน่วยงาน ในกรณีของ SAS นั้น แม้กระทั่งฝ่ายขายก็ถูกจูงใจด้วยความท้าทายของงาน นอกจากนี้ที่ SAS ยังสนับสนุนให้พนักงานของตนเองได้เขียนเอกสารทางวิชาการ และสนับสนุนให้มีการตีพิมพ์และเผยแพร่ให้พนักงานคนอื่นๆ ได้ทราบ ทั้งนี้เพื่อทำให้เป็นเวทีสำหรับพนักงานในการแสดงความรู้ ความสามารถของตน
นอกจากนี้ที่ SAS ยังพยายามหาทางลดขั้นตอนและข้อจำกัดต่างๆ สำหรับพนักงานของตนเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเวลา ที่ SAS จะมีการทำแบบสอบถามทุกๆ ปีถึงสิ่งที่บุคลากรต้องการ หลังจากนั้นทางผู้บริหารก็จะพิจารณาว่าสามารถที่จะตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานได้หรือไม่ โดยแทนที่จะคิดในแง่ของความคุ้มค่าในการลงทุน จะพิจารณาว่าถ้าดำเนินการตามข้อเสนอแนะแล้ว จะช่วยประหยัดเวลาสำหรับพนักงานหรือไม่? ถ้าสิ่งที่จะทำสามารถช่วยประหยัดเวลาให้พนักงานได้ SAS ก็จะทำโดยทันที ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น สถานดูแลสุขภาพและพยาบาลในบริเวณสำนักงานใหญ่ (เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทางออกไปพบแพทย์) หรือสถานดูแลเด็กเล็กในบริเวณสำนักงาน (ประหยัดเวลาการรับส่งลูก) การอนุญาตให้สามารถนำเด็กๆ เข้ามในบริเวณร้านอาหารของบริษัทได้ (เพื่อที่ครอบครัวจะได้มีโอกาสทานข้าวกันอย่างพร้อมหน้า)
นอกจากนั้นในบริเวณสำนักงานใหญ่ของ SAS ก็จะมีสถานที่ออกกำลังกายอย่างครบครัน (เพื่อให้พนักงานสามารถเลือกเวลาในการออกกำลังกายได้อย่างสะดวก) หรือ มีหน่วยงานที่ช่วยในการเลือกและหาสถานศึกษาที่เหมาะสมสำหรับบุตรหลายของพนักงาน บริการนวด ซักแห้ง ตัดผม ล้วนแล้วแต่มีให้บริการในบริเวณของบริษัทด้วยราคาที่ถูกกว่าการออกไปภายนอก
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นถึงความพยายามและสิ่งที่ SAS ตั้งใจทำให้พนักงานแล้ว คงจะเห็นภาพนะครับว่าสิ่งที่ SAS มุ่งเน้นคือการทำให้พนักงานมีความสะดวกสบายที่สุดในการทำงาน เป็นการลดอุปสรรคในเรื่องของเวลา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร สัปดาห์หน้าเรามาดูเนื้อหาในเรื่องนี้กันต่อนะครับ