17 July 2005
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมนำเสนอถึงแนวทางในการพัฒนาให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กร โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของบริษัท SAS ซึ่งเป็นบริษัทผลิตซอฟแวร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกว่าเขามีแนวทางและวิธีการอย่างไรบ้าง โดยเริ่มต้นจากการสร้างความท้าทายในการทำงานและการลดขั้นตอน อุปสรรค ความยุ่งยากต่างๆ ให้กับพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลชีวิตพนักงานให้มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการมีสถานรับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน มีหน่วยอนามัยที่สมบูรณ์อยู่ภายในบริเวณสำนักงานใหญ่ หรือมีสถานออกกำลังกายขนาดใหญ่ ฯลฯ ซึ่งท่านผู้อ่านที่อ่านเนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้วคงจะสงสัยนะครับว่าบริษัทจะได้ประโยชน์อะไรจากการนำเสนอสวัสดิการชั้นเลิศเหล่านั้นให้กับพนักงาน และจะนำไปสู่การสร้างความคิดสร้างสรรค์ภายในองค์กรได้อย่างไร?
แรกสุดคงจะเป็นเรื่องของความคุ้มค่าครับ บางท่านอาจจะบอกว่าสวัสดิการชั้นเลิศขนาดนั้นไม่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่ทาง SAS ได้รับกลับมานั้นมันมากกว่าสิ่งที่ลงทุนไปครับ ตั้งแต่การทำให้บุคลากรของบริษัทมีผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มขึ้น การรักษาบุคลากรที่มีค่าให้อยู่กับบริษัทนานๆ และช่วยในการลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาและคัดเลือกพนักงานอีกด้วย ประมาณว่าทาง SAS สามารถประหยัดต้นทุนได้ $85 ล้านเหรียญในการนำเสนอสวัสดิการและการดูแลชั้นเลิศเหล่านั้น มีการกล่าวกันว่าเมื่อพนักงานเข้าใหม่เข้ามาทำงานแล้วจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการเรียนรู้ถึงเทคนิค ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน และเวลาประมาณ 1 ปี เพื่อให้พนักงานสามารถซึมซาบวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างแท้จริง รวมทั้งสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานได้ และการที่ SAS สามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานระหว่างแผนกเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ก็จะเป็นบ่อเกิดที่สำคัญสำหรับการเกิดความคิดสร้างสรรค์ภายในบริษัท
นอกเหนือจากสวัสดิการชั้นเลิศแล้วบริษัทยังพยายามที่จะลดอุปสรรคขวากหนามต่างๆ ในการทำงานที่จะส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานด้วย เริ่มตั้งแต่การลดการประชุม “ประจำ” ทั้งหลายให้น้อยลง เชื่อว่าตารางนัดหมายของท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะเต็มไปด้วยตารางประชุม “ประจำสัปดาห์” ที่กำหนดไว้ในทุกช่วงเวลาหนึ่งของทุกสัปดาห์ แต่ที่ SAS นั้นการประชุมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องประชุม ไม่ใช่เพราะว่าถึงเวลาที่ต้องประชุม และในขณะเดียวกันผู้บริหารสูงสุดก็พร้อมที่จะยุติและเดินออกจากห้องประชุม ถ้าพบว่าการประชุมเริ่มเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ (ประเด็นเหล่านี้ไม่ค่อยเหมือนเมืองไทยนะครับ เราส่วนใหญ่จะต้องประชุมเพราะถึงเวลา และก็ประชุมยาวไปจนกระทั่งหมดหรือเลยเวลา)
นอกเหนือจากเรื่องของการประชุมแล้ว ที่ SAS ยังพยายามที่จะขจัดหรือลดความเชื่อเดิมๆ ที่เคยมีเกี่ยวกับการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น เวลาในการทำงาน แทนที่ SAS จะไปยึดมั่นหรือยึดติดกับเวลาในการทำงานแบบเดิมๆ SAS ถือว่าความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมอาจจะเกิดขึ้นในช่วงใดที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเวลาในการทำงานปกติก็ได้ ดังนั้นแทนที่จะยึดมั่นอยู่กับเวลาทำงานแบบเดิมๆ ตามมาตรฐานทั่วๆ ไป รวมทั้งการสนับสนุนพนักงานในการดูแลและให้เวลากับครอบครัว SAS อนุญาตให้พนักงานสามารถเริ่มและเลิกการทำงานเมื่อใดก็ได้ที่พนักงานแต่ละคนคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าถ้าปล่อยให้อิสระในลักษณะดังกล่าวแล้วพนักงานจะทุ่มเทกับงานหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าที่ SAS เองพนักงานจะทุ่มเทเวลาและความพยายามให้กับงาน เพื่อให้งานที่ตนเองรับผิดชอบประสบความสำเร็จ และผู้บริหารของ SAS เองก็มักจะพูดอยู่เสมอว่าถ้าทำงานเกิน 8 ชั่วโมงเมื่อใด ในช่วงเวลาที่เกินนั้นมักจะก่อให้เกิดความผิดพลาดมากกว่าประโยชน์ ดังนั้นแนวคิดของ SAS คือเมื่อพนักงานทำงานหนักหรือต่อเนื่องกันระยะเวลาหนึ่ง พนักงาน ควรจะได้พักหรือหยุดจากงานซักระยะหนึ่ง (เปรียบเสมือนกับชาร์จแบต) แล้วค่อยกลับมาทำงานใหม่
การให้ความยืดหยุ่นและอิสระต่อการทำงานของ SAS นั้นตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเป็นผู้ที่สามารถรับผิดชอบต่อการทำงานของตนเองให้สำเร็จ คนเหล่านี้จะมีแรงขับเคลื่อนจากภายในที่จะทำให้งานที่รับผิดชอบสำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องไปคอยกำหนดกฎเกณฑ์มากำกับ คนเหล่านี้จะรับผิดชอบต่อความสำเร็จของงาน ทั้งเพื่อต่อตนเอง องค์กร และเพื่อนร่วมงาน ตัวผมเองก็เห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้นนะครับ ปัจจุบันผมมีทีมผู้ช่วยอยู่ด้วยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็นำหลักความยืดหยุ่นและอิสระในการทำงานข้างต้นมาใช้ แทนที่จะใช้หลักการในการควบคุม แต่จะเน้นให้แต่ละคนได้รับงานที่ท้าทาย เหมาะสมกับตนเอง และมุ่งเน้นให้แต่ละคนรับผิดชอบงานของตนเอง ซึ่งผลก็ปรากฏว่าถึงแม้จะไม่เคร่งครัดเรื่องเวลา แต่ผลงานก็ออกมาดีเสมอ และทุกคนก็รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นในหลายๆ ครั้งที่ทีมของผมจะต้องทำงานนานกว่าเวลาทำงานปกติ แต่ก็ไม่ได้เกิดจากกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ แต่เกิดขึ้นเนื่องจากความรู้สึกรับผิดชอบต่อความสำเร็จของงาน และหลายๆ สถานการณ์ก็มีความคิดสร้างสรรค์หรือสิ่งใหม่ๆ ในการทำงานที่โผล่ขึ้นแบบที่ผมไม่คาดคิดด้วย ซึ่งก็คิดว่าตรงกับแนวทางที่ SAS ใช้ในการบริหารงานบริษัทของเขาด้วย
ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นแนวทางที่ไม่ยากในการปฏิบัตินะครับ อาจจะต้องเริ่มจากความตั้งใจจริงของผู้บริหารก่อน ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองหาอ่านได้จากบทความชื่อ Managing for Creativity ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกรกฎาคม 2548 นี้นะครับ