24 April 2005
สัปดาห์นี้จะขอนำเสนอเรื่องเบาๆ แต่น่าสนใจบ้างนะครับ ถูกท่านผู้อ่านบางท่านวิจารณ์ว่าช่วงหลังจะหนักวิชาการไปหน่อย ทำให้ไม่ค่อยอยากจะติดตามอ่าน เลยขอนำเสนอเรื่องเบาๆ บ้าง แต่ก็ยังโยงเข้ากับด้านการบริหารจัดการนะครับ เรื่องที่จะนำเสนอในสัปดาห์นี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาในร่างกายเราที่เป็นตัวควบคุมหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและถ้าเรารู้จักเจ้านาฬิกาในร่างกายเราพอสมควร ก็อาจจะช่วยทำให้เราสามารถบริหารตัวเราเองและการทำงานของเราได้ดีขึ้นบ้าง แต่จะต้องขอย้ำกับท่านผู้อ่านอีกครั้งนะครับว่าผมไม่ใช่แพทย์ (เคยมีท่านผู้อ่านบางท่านเข้าใจผิดแล้วอีเมลมาหาผม โดยนึกว่าผมเป็นหมอ) และที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพนั้นก็เป็นการรวบรวมและนำมาจากงานวิชาการต่างๆ เท่านั้นเอง
ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าทำไมในช่วงบ่ายๆ เราถึงได้รู้สึกง่วงนอน หรือในบางช่วงเวลาของวันเราจะสามารถทำงานได้ดีกว่าช่วงเวลาอื่นๆ หรือในบางช่วงเวลาของวันจะรู้สึกว่าเหมาะกับการออกกำลังกายมากกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ทั้งๆ ที่เราเองก็ไม่เคยกำหนดไว้เลยว่าช่วงเวลาไหนของวันที่เหมาะที่จะนอน ทำงาน หรือออกกำลังกาย แต่เนื่องจากในร่างกายของเรามีนาฬิกาเดินอยู่ตลอดเวลา (Biological Clock) โดยที่เราไม่รู้ตัว และเจ้านาฬิกาดังกล่าวก็จะบอกเวลาไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายเรา รวมทั้งควบคุมการทำงานของร่างกายเรา ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิร่างกาย ระบบการย่อย ความดันโลหิต การหลั่งของฮอร์โมน ฯลฯ
การที่ร่างกายของเรามีการดำเนินไปตามจังหวะต่างๆ ของนาฬิกาในร่างกายของเรานั้น ศัพท์ทางวิชาการเขาเรียกว่า Circadian Rythms ซึ่งวงจรหรือจังหวะต่างๆ เหล่านี้ถึงแม้จะไม่ตรงกับเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเช่นนาฬิกาปกติ แต่ก็มีความใกล้เคียงกันมากครับ ซึ่งจังหวะหรือวงจรเหล่านี้จะเป็นไปตามธรรมชาติและนักวิชาการเขาก็พบว่าจะมีลักษณะของวงจรหรือจังหวะที่แตกต่างกันมากกว่า 100 รูปแบบ ดังนั้นท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าถ้าเรารู้จังหวะของนาฬิกาในร่างกายเราว่าช่วงเวลาไหนเหมาะสำหรับงานหรือกิจกรรมประเภทไหน เราก็จะสามารถที่จะวางแผนการทำงานของเราให้สอดคล้องกับนาฬิกาที่อยู่ในร่างกายของเรา
ตัวอย่างที่ง่ายๆ ที่สุดนะครับก็คือความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิในร่างกายของเรากับพฤติกรรมในการนอน เรามักจะคิดว่าเรานอนเมื่อเราง่วงและตื่นเมื่อเราพักผ่อนอย่างเพียงพอ แต่จริงๆ แล้วพฤติกรรมในการนอนของเราสัมพันธ์กับอุณหภูมิในร่างกาย ซึ่งเป็นผลมาจากนาฬิกาในร่างกายเรา นักวิทยาศาสตร์และแพทย์พบว่าเราจะหลับอย่างสนิทเมื่ออุณหภูมิในร่างกายของเราลดลงต่ำสุด และจะตื่นเมื่ออุณหภูมิในร่างกายเราเริ่มสูงขึ้น กราฟที่แสดงถึงอุณหภูมิร่างกายกับความตื่นตัวของเรานั้นสัมพันธ์จนคล้ายๆ จะเป็นเส้นเดียวกัน อุณหภูมิเราจะลดต่ำลงในช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงตอนเช้า (ประมาณ 6 – 8 โมงเช้า) แล้วหลังจากนั้นอุณหภูมิร่างกายก็จะเริ่มสูงขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราจะหลับสนิทจริงๆ ช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป แล้วนาฬิกาในร่างกายเราก็จะปลุกให้เราตื่นในช่วงเช้า หลังจากนั้นอุณหภูมิร่างกายเราก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดเวลา สามทุ่ม แล้วจะค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งระดับความตื่นตัวในการทำงานของเราก็จะเพิ่มขึ้นตามระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นของร่างกายเรา
ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วนะครับว่า ที่นำเสนอมาทั้งหมดข้างต้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับการบริหารจัดการ การที่จังหวะการทำงานของร่างกายเราเป็นไปในลักษณะข้างต้น และเราทำงานตอนกลางวันและนอนตอนกลางคืน ก็จะไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ แต่เมื่อใดที่เราทำงานและนอนในทางที่ตรงกันข้ามกับจังหวะและวงจรการทำงานของร่างกายเรา เมื่อนั้นแหละครับจะกลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมา ดังนั้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารจัดการ กับ Circadian Rythms จึงมักจะเกี่ยวข้องกับพวกที่ต้องทำงานกะกลางคืน หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเดินทางข้ามเส้นแบ่งเวลา และก่อให้เกิดอาการที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ Jetlag ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าถ้าเราทำงานตอนกลางคืน และนอนตอนกลางวัน จะทำให้เวลาภายนอกของเรา ไม่ตรงกับเวลาในร่างกายของเรา ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงาน และถ้าเราพยายามที่จะนอนหลังจากทำงานเสร็จ (นั้นคือ นอนตอนกลางวัน) ก็จะเป็นการนอนตอนที่อุณหภูมิร่างกายเราสูง ระบบการย่อยและการทำงานของอวัยวะภายในเราก็จะอยู่ในช่วงเวลาของการทำงาน ไม่ใช่ช่วงของการพักผ่อนอย่างที่ควรจะเป็น
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนเวลาในร่างกายของเรานะครับ ถึงแม้เราจะมีนาฬิกาที่เดินอยู่ตลอดเวลาในสมองของเรา แต่เจ้านาฬิกาภายในนี้ก็ยังต้องอาศัยตัวกระตุ้นหรือปัจจัยภายนอก (ศัพท์วิชาการเขาเรียกว่า Zeitgebers) เพื่อให้นาฬิกาในร่างกายเราเดินรอบหนึ่งในเวลา 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกับนาฬิกาภายนอก ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือแสงอาทิตย์ ที่เมื่อเราเห็นแสงอาทิตย์ ก็จะมีการส่งสัญญาณจากประสาทตาไปยังสมอง เพื่อให้ปรับนาฬิกาในร่างกายเราให้เท่ากับเวลาภายนอก (ทำให้เข้าใจแล้วครับว่าทำไมเวลานั่งเครื่องบินข้ามทวีป เขาจะให้ปิดหน้าต่างทั้งๆ ที่สว่าง ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นสมองเราว่าถึงเวลานอน เพื่อให้นาฬิกาในร่างกายเราค่อยๆ ปรับตัวให้ตรงกับนาฬิกาภายนอก) ตัวอย่างอื่นๆ ของ Zeitgebersก็เช่น การรับทานอาหารที่ตรงเวลา หรือ การพบปะพูดคุยกับผู้อื่น หรือ แม้กระทั่งการนอน อาจจะเรียกได้ว่าเจ้า Zeitgebers นั้นเป็นตัวกระตุ้นจากภายนอกที่โดยปกติเราทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นาฬิกาในร่างกายเราปรับเวลาให้เข้ากับนาฬิกาจริงๆ ดังนั้นเราก็สามารถที่จะปรับเวลาของนาฬิกาในร่างกายเราได้จากการปรับ Zeitgebers อย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้นเอง (เคยอ่านเจอว่าส่วนใหญ่จะค่อยๆ ปรับได้วันละชั่วโมงเท่านั้นเองครับ ดังนั้นถ้าจะปรับเวลา 7 ชั่วโมง อาจจะต้องใช้เวลา 7 วันถึงจะเข้าที่เข้าทาง)
สัปดาห์นี้ขอนำเสนอในตอนแรกก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าจะนำเสนอต่อ หวังว่าคงจะพอเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านนะครับ ก่อนจบขออนุญาตประชาสัมพันธ์งานของตัวเองหน่อยนะครับ ผมได้รวบรวมงานที่เขียนที่กรุงเทพธุรกิจและที่อื่น นำมาเรียบเรียงเป็นหนังสือได้ออกมาเป็นเล่มที่ 3 แล้วนะครับ ชื่อ “คู่มือผู้บริหาร” ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองหาตามร้านหนังสือทั่วไปได้นะครับ ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านมาตลอดนะครับ