3 July 2005

สัปดาห์นี้คงจะเป็นตอนสุดท้ายของเรื่องแนวคิดของดาวินชีนะครับ หวังว่าท่านผู้อ่านคงยังไม่เบื่อนะครับ ขอท้าวความหน่อยนะครับว่าเนื้อหาในสามสัปดาห์และสัปดาห์นี้ผมเรียบเรียงมจากหนังสือ How to Think Like Leonardo da Vinci เขียนโดย Michael J. Gelb ซึ่งเป็นการนำเสนอหลักคิดและวิธีการคิดของดาวินชี สองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเนื้อแนวคิดของดาวินชีไปทั้งหมดห้าประการแล้วสัปดาห์นี้มาดูในอีกสองประเด็นที่เหลือนะครับ

แนวคิดประการที่หก (จริงๆ แล้วเป็นหลักประการที่ห้าครับ แต่ผมสลับเอาหลักประการที่หกขึ้นมาก่อน เนื่องจากเหตุผลของหน้ากระดาษ) ที่จะนำเสนอเรียกว่า Arte / Secienza (เป็นภาษาอิตาเลียนนะครับ) ที่หมายความว่าการสร้างความสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์ ศิลปะ เหตุผล และจินตนาการ หรืออีกนัยหนึ่งคือการคิดโดยใช้สมองทั้งหมด พวกเราคงทราบอยู่แล้วว่าสมองเรามีสองด้าน พวกที่ชอบใช้สมองด้านขวามักจะเป็นพวกที่ออกแนวศิลป์ เน้นสัญชาติญาณในการตัดสินใจ ส่วนพวกที่ใช้สมองด้านซ้ายจะเป็นพวกที่ชอบหลักการ การคิดเชิงวิเคราะห์ และการตัดสินใจที่เป็นเหตุเป็นผล และคนเราส่วนใหญ่มักจะใช้สมองเพียงข้างใดข้างหนึ่งในการคิดการตัดสินใจ ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นสมองด้านซ้าย (พวกชอบใช้เหตุผล) ส่งผลให้พวกที่ชอบใช้สมองข้างซ้ายจะเรียนหนังสือดี มีหลักการ แต่ขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ในขณะพวกที่ใช้สมองข้างขวาก็มักจะรู้สึกว่าตนเองชอบคิดเพ้อเจ้อฟุ้งซ่าน ขาดหลักเหตุผล

ดาวินชีเองถือเป็นอัจฉริยะที่ใช้สมองทั้งซีกซ้ายและขวาในการคิด สังเกตได้ครับว่าดาวินชีเป็นทั้งนักคิด นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก และในขณะเดียวกันก็เป็นศิลปินเอกของโลก (หาได้ไม่กี่คนครับที่จะใช้สมองทั้งสองข้างได้เก่งเท่าดาวินชี) ประเด็นที่น่าสนใจก็คือดาวินชีไม่ได้แยกวิทยาศาสตร์และศิลปะออกจากกันอย่างชัดเจน ดาวินชีเองยอมรับในหลายๆ โอกาสว่าในการสร้างสรรค์งานศิลปะของเขานั้น เขาได้นำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาผสมผสาน ทำให้ดาวินชีเป็นคนที่สามารถมองเห็นทั้งภาพรวม (ใช้สมองข้างขวาเป็นหลัก) และรายละเอียดของสิ่งต่างๆ (ใช้สมองข้างซ้ายเป็นหลัก) ได้พร้อมๆ กัน

ปัญหาที่มักจะพบเจอในที่ทำงานก็คือเรามักจะยึดติดกับสิ่งที่เราเป็นและมี พวกที่ชอบใช้สมองฝั่งซ้ายก็มักจะคิดตลอดว่าตนเองขาดความคิดสร้างสรรค์ ส่วนพวกที่ใช้สมองฝั่งขวาก็มักจะคิดว่าตนเองขาดวินัยและคิดเชิงเหตุผลไม่เป็น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราต้องรู้จักที่จะพัฒนาการใช้งานสมองทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน นั้นคือให้เกิดความสมดุลระหว่างศิลป์และวิทยาศาสตร์ ระหว่างสัญชาติญาณและเหตุผล ระหว่างการเล่นและการเอาจริงเอาจัง และ ระหว่างการวางแผนกับการทำตามใจตนเอง

มรดกในการคิดของดาวินชีได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นแนวคิดที่นิยมใช้กันในปัจจุบันในเรื่องของ Mindmapping (ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Tony Buzan) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสมุดบันทึกต่างๆ ของดาวินชี กล่าวกันว่าการใช้ Mindmapping อย่างสม่ำเสมอจะเป็นการฝึกหัดให้ใช้สมองทั้งสมองคิด และทำให้เป็นนักคิดอย่างสมดุลเฉกเช่นเดียวกับดาวินชี ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการคิดแบบเดิมของเราที่คิดเป็นข้อๆ จะทำให้กระบวนการในการคิดขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้นก็รู้สึกเหมือนกับมีสิ่งปิดกั้นหรือขวางความคิดของเราอยู่ ทำให้เปรียบเหมือนเราใช้ประโยชน์จากเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของสมองเราในการคิด แต่การใช้Mindmap ผสมผสานด้วยศิลปะและรูปภาพใน Mindmap จะเป็นการฝึกหัดให้เราใช้ทั้งสมองข้างซ้ายและข้างขวาไปพร้อมๆ กัน

หลักการประการสุดท้ายของดาวินชีคือเรื่องของ Connessione หรือการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ หรือในอีกนัยหนึ่งคือการคิดเชิงระบบหรือคิดเชิงองค์รวม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ Syetems Thinking ดาวินชีเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามแนวคิดนี้มาตลอด งานหลายๆ ชิ้นของดาวินชีแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเขาในการคิดเชิงองค์กรรวม หรือความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ รูปภาพหลายๆ รูปของดาวินชีก็เป็นผลจากความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปของสัตว์ในเทพนิยายหลายๆ รูป) แนวคิดในประเด็นสุดท้ายของดาวินชีนี้สอดคล้องกับหนึ่งในแนวคิดในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ก่อนจบ

ขอทบทวนหลักของดาวินชีทั้งเจ็ดประการอีกครั้งหนึ่งเผื่อท่านผู้อ่านจะลืมไปแล้ว หลักทั้งเจ็ดข้อประกอบด้วยเรื่องของการตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบอยู่เสมอ การพร้อมที่จะพัฒนาตนเองจากการเรียนรู้ในข้อผิดพลาดและประสบการณ์ การใช้พัฒนาและใช้ประโยชน์จากประสาทสัมผัสทั้งห้า การดำรงตนเองอยู่ท่ามกลางคลุมเครือ ไม่แน่นอน ความสับสน การสร้างความสมดุลระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ การสร้างความสมดุลระหว่างร่างกายและจิตใจ และประการสุดท้ายการมองภาพความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยต่างๆ

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยนะครับว่าหลักทั้งเจ็ดประการเราจะพบเห็นอยู่เป็นประจำไม่ว่าตามหลักด้านการจัดการ หลักพระพุทธศาสนา หลักจิตวิทยา หลักการดูแลสุขภาพ ฯลฯ เพียงแต่ในกรณีของดาวินชีนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้นำหลักทั้งเจ็ดประการไปใช้ปฏิบัติจนเห็นผลสำเร็จ ซึ่งก็คงจะไม่สามารถทำได้ง่ายๆ นะครับ ไม่งั้นเราคงได้เป็นดาวินชีกันหมดทั้งโลกแล้ว แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นแนวทางสำหรับท่านผู้อ่านในการพัฒนาตนเองบ้าง