26 June 2005

เนื้อหาสัปดาห์นี้ยังคงต่อเนื่องจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยังเป็นเรื่องของแนวคิดของ Leonardo da Vinci ซึ่งเรียบเรียงมาจากหนังสือ How to Think Like Leonardo da Vinci เขียนโดย Michael J. Gelb ซึ่งเนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอหลักการคิดของดาวินชี สามประการแรกจากทั้งหมดเจ็ดประเด็นนะครับ สัปดาห์นี้เรามาดูกันต่อเลยนะครับ

หลักการประการที่สี่เรียกว่า Sfumato หรือความพร้อมที่จะยอมรับต่อความคลุมเครือ ความขัดแย้ง และความไม่แน่นอน (Ambiguity, Paradox, Uncertainty) คงต้องมองย้อนกลับไปที่หลักการทั้งสามประการแรกของดาวินชี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสืบเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ การพร้อมที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์และจากประสาทสัมผัส ทำให้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ดาวินชีจะต้องเผชิญกับความคลุมเครือ ความไม่แน่นอน รวมถึงความขัดแย้งในแนวคิดต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้ดาวินชีเองจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างมากมายในการยอมรับและเผชิญต่อความไม่แน่นอนดังกล่าว และถ้ามองย้อนมาที่ปัจจุบันเราก็คงยอมรับว่าความไม่แน่นอน คลุมเครือ ความขัดแย้งต่างๆ เป็นสิ่งที่เราจะต้องเผชิญมากขึ้น 

ดาวินชีเองมีความสามารถที่จะคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในสิ่งใหม่ๆ ภายใต้ความไม่แน่นอนได้จากการไม่หมกมุ่นอยู่กับงานมากเกินไป ดาวินชีเคยพูดไว้ว่า “อัจฉริยะที่แท้จริงนั้นในบางครั้งสามารถทำงานให้สำเร็จได้มากขึ้น โดยการทำงานที่น้อยลง” ดาวินชีจะมีการสลับระหว่างการทำงานและการพักผ่อนอยู่ตลอดเวลา และในหลายๆ ครั้งความคิดชั้นเยี่ยมจะออกมาจากสมองของดาวินชีในช่วงที่เขาพักผ่อนจากงาน ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ จะพบว่าในหลายๆ สถานการณ์เราจะคิดสิ่งที่ดีๆ หรือสร้างสรรค์ออกมาได้ในช่วงที่เราผ่อนคลายหรือพักผ่อน ตัวผมเองนั้นสังเกตมาหลายครั้งแล้วว่าจะคิดอะไรออกในช่วงอาบน้ำ (ฝักบัวนะครับ ไม่ได้หมายถึง “อ่าง”) ท่านผู้อ่านต้องลองสังเกตตัวท่านเองแล้วครับว่าช่วงเวลาไหนที่ความคิดของท่านแล่นหรือบรรเจิดที่สุด อาจจะเป็นช่วงที่นอนเล่นอยู่บนเตียง หรือ ขับรถฟังเพลง หรือ อาบน้ำ แล้วท่านผู้อ่านลองดูนะครับว่าท่านผู้อ่านเคยได้ความคิดที่ดีๆ ในช่วงเวลาทำงานหรือไม่? คงจะพบสรุปได้ว่าคนเราส่วนใหญ่จะคิดสิ่งดีๆ ออกมาได้ในช่วงที่เราพักผ่อนและอยู่กับตัวเอง

 เราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานใหม่นะครับ คนทำงานจำนวนหนึ่งมักจะใช้เวลาตลอดวันนั่งทำงานอย่างเคร่งเครียดและหมกมุ่นจนเกินพอดี เราสามารถเพิ่มประสิทธิผลในการทำงานและความสนุกในการทำงานได้ด้วยการทำงานติดต่อกันประมาณชั่วโมงหนึ่ง จากนั้นจะต้องพักผ่อนซักระยะ งานวิจัยทางด้านจิตวิทยาระบุว่าเมื่อเราทำงานประมาณชั่วโมงหนึ่งและหลังจากนั้นให้พักผ่อนอย่างจริงจังประมาณสิบนาที เราจะสามารถจดจำงานหรือสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าทำงานติดต่อกันไปเรื่อยๆ นักจิตวิทยาเรียกปรากฎการณ์ดังกล่าวว่าเป็น Reminiscence Effect ดาวินชีเองระบุไว้เลยครับ “จะเป็นการดีถ้าเราหยุดพักจากการทำงานเป็นระยะๆ เนื่องจากเมื่อกลับมาแล้วจะทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น” ดังนั้นท่านผู้อ่านคงจะต้องหาโอกาสและเวลาพักจากการทำงานบ้างนะครับ

ผมขอนำหลักประการที่หกขึ้นมาก่อนประการที่ห้านะครับ เนื่องจากเหตุผลในความสมดุลของเนื้อหาและพื้นที่ของบทความ หลักประการที่หกของดาวินชีเรียกว่า Corporalita หรือเรื่องของความสมบูรณ์ของร่างกายเราในเชิงกายภาพ ในหลักประการที่หกนี้ถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็หนีไม่พ้นเรื่องของการมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ ท่านผู้อ่านลองสำรวจตัวเองดูนะครับแล้วจะพบว่าเรามักจะไม่ค่อยเชื่อมโยงระหว่างบุคคลที่ฉลาดกับบุคคลที่มีร่างกายที่สมบูรณ์ (สมบูรณ์ในที่นี้ไม่ใช่อ้วนนะครับ แต่เป็นร่างกายที่ perfect) เรามักจะคิดตลอดครับว่าพวกที่มีรูปร่าง ร่างกายที่เป็นนักกีฬามักจะมีโอกาสยากที่จะเป็นอัจฉริยะ และในทางกลับกันผู้ที่มีสมองที่เป็นเลิศก็มักจะไม่ใช่ผู้ที่มีร่างกายของนักกีฬา

แต่เรื่องนี้ดาวินชีคงจะไม่เห็นด้วยครับ เนื่องจากดาวินชีเองถึงแม้จะเป็นอัจฉริยะ แต่ก็ไม่ใช่อัจฉริยะที่มีลักษณะตัวเล็ก หัวโต ใส่แว่นหนาเตอะ แต่ดาวินชีเองถือว่าเป็นผู้ที่มีร่างกายที่สมบูรณ์ผู้หนึ่ง คนในยุคเขาเรียกดาวินชีว่าเป็นผู้ที่มีร่างกายที่สวยงาม (Great physical beauty) ในยุคนั้นดาวินชีมีชื่อมากในเรื่องของความสมบูรณ์ แข็งแรงของร่างกาย มีพยานรู้เห็นที่ระบุว่าดาวินชีเคยหยุดม้าที่วิ่งอย่างรวดเร็วด้วยการใช้มือดึงบังเหียนไว้ (ดาวินชีคงจะยืนอยู่ที่พื้นครับ) หรือแม้กระทั่งนักวิชาการจำนวนมากก็ระบุว่าการที่ดาวินชีให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อร่างกายของมนุษย์นั้นก็เนื่องมากจากความสมบูรณ์ในร่างกายของเขาเอง

ดาวินชีจะบอกไว้เสมอครับให้รักษาสุขภาพร่างกายของตนเองให้ดี เนื่องจากความพร้อมของร่างกายจะส่งผลกระทบต่อความพร้อมของสมองเรา ถ้าร่างกายเราอ่อนแอหรือเจ็บป่วย ก็ย่อมส่งผลต่อจิตใจและความคิดของเราด้วย คิดว่าท่านผู้อ่านก็คงจะเป็นนะครับ นั่งประชุมอยู่ในท่าเดิมๆ เป็นชั่วโมงๆ สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นนอกจากร่างกายที่เหนื่อยล้าแล้วก็จะหนีไม่พ้นสมองที่เริ่มตันคิดอะไรไม่ค่อยออก

สัปดาห์นี้สามารถนำเสนอหลักการของดาวินชีได้แค่สองประการเองครับ สัปดาห์หน้าสัญญาว่าจะนำเสนอหลักการที่เหลืออีกสองประการให้จบครับ