19 June 2005

สัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มต้นแนวทางให้คิดเหมือนปราชญ์อิตาลีชื่อดังอย่าง Leonardo da Vinci ซึ่งเรียบเรียงมาจากหนังสือ How to Think Like Leonardo da Vinci เขียนโดย Michael J. Gelb ซึ่งเนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้วได้เกริ่นนำในเรื่องเกี่ยวกับการเรียนรู้และการทำงานของสมองเรา สัปดาห์นี้ผมขอเข้าสู่เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มดังกล่าว นั้นคือหลักในการคิดเจ็ดประการของดาวินชี ที่ Michael Gelb เขาได้รวบรวมข้อมูลจากบันทึกของดาวินชีและจากแหล่งต่างๆ โดย Michael Gelb ได้ตั้งชื่อแนวทางต่างๆ เป็นภาษาอิตาเลียน เพื่อเป็นเกียรติแก่ดาวินชี และเรียกแนวทางทั้งเจ็ดว่า Seven Da Vincian Principles เราลองมาดูหลักแนวคิดของดาวินชีทีละประการกันนะครับ

หลักประการแรกคือ Curiosita หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Curious หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าความอยากรู้ อยากเห็นนั้นเองครับ แต่ความอยากรู้อยากเห็นตามแนวทางของดาวินชีนั้นเป็นสิ่งที่ดีนะครับ และเป็นธรรมชาติที่อยู่คู่มนุษย์ ไม่อย่างงั้นท่านผู้อ่านคงไม่ทนอ่านบทความผมถึงจุดนี้หรอกครับ ถ้าท่านไม่มีความอยากรู้อยากเห็น อาจจะบอกได้ว่ามนุษย์ทุกคนมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่กับตัวทุกคน เพียงแต่เราจะนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าใช้ในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ก็จะเป็นกึ่งๆ การ “สอดรู้สอดเห็น” แต่ถ้าใช้ในทางที่ดีก็จะเป็นความอยากจะแสวงหาและพัฒนาความรู้ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเวลา ดาวินชีเองเป็นผู้ที่มีความสนใจใคร่อยากจะรู้ในสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเขาตลอดเวลา ดาวินชีเองจะคอยถามคำถามต่างๆ ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาถนัดหรือแม้กระทั่งสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวของเขา

ความอยากรู้อยากเห็น อยากจะทำความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ทำให้ดาวินชีเองไม่หยุดที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ใส่ตัวตลอดเวลา ดาวินชีเองจะคอยตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวของเขา ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าการตั้งคำถามที่ดี จะช่วยพัฒนากระบวนการในการคิดของเรา ซึ่งถ้าเรานำหลักประการนี้ของ ดาวินชีมาใช้ในการบริหารจัดการแล้ว เราก็จะพบว่านวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่จะมีจุดเริ่มต้นมาจากคำถามที่ผู้บริหารอยากจะรู้ โดยเฉพาะคำถามที่ฝรั่งเขาเรียกว่า ‘What if……..?’ ซึ่งคำถามนี้เองได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากมาย ท่านผู้อ่านลองใช้คำถามดังกล่าวมาตั้งในการทำงานของท่านดูซิครับ มันจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นกระบวนการในการคิดของท่าน และทำให้ท่านได้มองสิ่งรอบๆ ตัวในมุมมองใหม่ๆ ครับ

หลักประการที่สองคือ Dimostrazione หรือการนำความรู้ที่มีอยู่ไปลองใช้จริง เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์และความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่าประสบการณ์เป็นบ่อเกิดที่สำคัญต่อปัญญาและความฉลาดของคนเรา ดาวินชีเองเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์เป็นอย่างมากครับ เขาเองจะเป็นเหมือนพวกหัวแข็งในสมัยนั้นที่ไม่ค่อยจะยอมรับต่อหลักการหรือทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เขาไม่ได้มีโอกาสประสบด้วยตนเอง ดาวินชีเองก็ยอมรับว่าการที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์นั้นก็มักจะหนีไม่พ้นการเรียนรู้จากความผิดพลาด ดาวินชีเองก็ผิดพลาดในหลายๆ ครั้ง หลายๆ โอกาส แต่เขาเองก็ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้ เสาะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ และทดลองในสิ่งต่างๆ 

หลักประการที่สามคือ Sensazione หรือการปรับปรุงและพัฒนาประสาทสัมผัสทั้งห้าอย่างต่อเนื่อง ดาวินชีเองเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสทั้งห้า (การมองเห็น ได้ยิน สัมผัส รสชาติ และกลิ่น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองเห็น (ผ่านทางการวาดภาพ) ตามมาด้วยการได้ยิน (ดนตรี) นอกจากนี้ดาวินชีเองก็ยังให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าที่ดีที่สุด ในห้องทำงานของดาวินชีจะอบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้และน้ำหอมตลอดเวลา ส่วนในด้านอาหารนั้นดาวินชีเองเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการออกแบบและรสชาติของอาหาร  เราอาจจะไม่ทราบว่าดาวินชีเป็นคนแรกๆ ที่สร้างสรรค์แนวคิดของการนำเสนออาหารที่คำไม่ใหญ่ แต่อุดมด้วยสุขภาพสำหรับงานเลี้ยงต่างๆ (ท่านผู้อ่านนึกถึงพวกอาหารจิ้มๆ หรือ เวลาไปงานเลี้ยงแต่งงานดูก็ได้ครับ) 

ดาวินชีระบุไว้เลยครับว่าคนเราโดยส่วนใหญ่แล้ว มองโดยไม่เห็น ฟังโดยไม่ได้ยิน สัมผัสโดยไม่รู้สึก กินโดยไม่รู้รสชาติ หายใจเข้าโดยไม่ตระหนักถึงกลิ่นหอม และที่สำคัญที่สุดครับ คือ พูดโดยไม่คิด (ขอนำมาภาษาอังกฤษมาลงนะครับ ผมว่ากินใจดี – looks without seeing, listens without hearing, touches without feeling, eats without tasting, inhales without awareness of odour or fragrance and talks without thinking) ดาวินชีให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมต่อประสาทสัมผัสของเรา และดาวินชีเองก็ยอมรับว่าสิ่งที่ประสาทสัมผัสเราได้รับรู้นั้นเปรียบเสมือนกับเป็นอาหารให้กับสมองของเราด้วย

หลักการข้อนี้ของดาวินชีสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารได้เช่นกันครับ ปัจจุบันเราเรียกร้องให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น รวมทั้งการบอกให้พนักงานต้องช่วยกันคิดนอกกรอบ แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ได้สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมต่อความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ ในอดีตเป็นที่ยอมรับว่าในตอนที่เราเป็นเด็กนั้นถ้าเราได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมจากสภาวะแวดล้อม ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง แต่ในปัจจุบันมีการค้นพบอีกแล้วครับว่าการกระตุ้นจากสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมก็มีผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการของสมองผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน ท่านผู้อ่านลองมองไปที่พวกอโรมา (การบำบัดด้วยกลิ่น) ที่เป็นที่นิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างใกล้ๆ ตัวก็ได้นะครับ

สัปดาห์นี้ขอจบที่หลักการของดาวินชี สามประการแรกก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าจะพยายามต่อให้จบในอีกสี่ประการที่เหลือนะครับ