20 February 2005

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมนำเสนอถึงโรคอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสุภาพสตรีในปัจจุบันมากขึ้นทุกที มีหมอเรียกโรคนั้นว่า Hurried Woman Syndrome (HWS) ซึ่งก็สังเกตอาการได้ไม่ยากครับ ถ้าท่านผู้อ่าน (ที่เป็นสุภาพสตรี) รู้สึกว่าตนเองจะต้องรีบเร่งอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่างานที่ต้องทำไม่สิ้นสุด รู้สึกว่าต้องตอบสนองต่อความต้องการของบุคคลรอบข้างตลอดเวลา (ทั้งเรื่องของครอบครัวและการทำงาน) รู้สึกว่าไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ไม่มีเวลานั่งพักและทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ฯลฯ อาการข้างต้นเหล่านี้ถือเป็นอาการเบื้องต้นของ HWS ที่มักจะเป็นในสุภาพสตรีเป็นหลัก เนื่องจากบทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบที่ทวีมากขึ้นทุกขณะ และสุดท้ายแล้วผลของอาการเหล่านี้ก็จะนำไปสู่ความอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ น้ำหนักตัวอาจจะเพิ่มขึ้น อารมณ์เสียและหงุดหงิดบ่อยขึ้น มีปัญหาในการนอน และนำไปสู่ปัญหาด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานและการทำกิจกรรมต่างๆ โดย HWS นี้ได้รับการเปิดเผยจากนรีแพทย์ชื่อดังของอเมริกา ที่ชื่อ Brent W. Bost โดยคุณหมอท่านนี้ได้เขียนเป็นหนังสือออกมาในชื่อ The Hurried Woman Syndrome ครับ สัปดาห์นี้เรามาดูรายละเอียดของ HWS กันต่อนะครับ

จริงๆ แล้วถ้าพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่า HWS ไม่ใช่สิ่งใหม่หรอกครับ ถ้าเรานั่งวิเคราะห์พิจารณากันดีๆ ก็จะพบว่าเป็นผลที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับความเครียด โดยความเครียดดังกล่าวก็เป็นผลที่มาจากการที่สุภาพสตรีจะต้องสวมบทบาทและหน้าที่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องพยายามที่จะต้องตอบสนองต่อความต้องการของคนรอบข้าง ทั้งคนในครอบครัวและในที่ทำงาน ถ้าวิเคราะห์กันต่อก็จะพบว่าโรค HWS นี้น่าจะมีแนวโน้มที่จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านพ้นไป เนื่องจากในปัจจุบันภาวะที่สุภาพสตรีออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น และแนวโน้มที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือสุภาพสตรีจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงและผู้นำองค์กรเพิ่มขึ้น  

ท่านผู้อ่านลองคิดดูซิครับว่าเพียงแค่รับผิดชอบในฐานะเป็นผู้นำขององค์กร เจ้าความเครียดดังกล่าวก็มากพออยู่แล้ว เมื่อกลับไปถึงบ้านบรรดาสุภาพสตรีเหล่านั้นยังต้องทำหน้าที่ของแม่บ้าน ภรรยา แม่ ที่ดีด้วย ซึ่งสาเหตุของการทำหน้าที่เหล่านั้นก็หนีไม่พ้นจากความคาดหวังของสังคมที่มีต่อบทบาทของสุภาพสตรีที่มีมาตั้งแต่โบราณ ดังนั้นเมื่อความเครียดและภาระจากที่ทำงานที่มีเข้ามาในแต่ละวัน ผสมผสานกับภาระและความรับผิดชอบในชีวิตส่วนตัว ก็คงจะไม่แปลกนะครับที่ทำให้สุภาพสตรีเกิดอาการเครียดได้ง่ายกว่าผู้ชาย บางท่านอาจจะไม่มีครอบครัวต้องดูแล แต่ก็อาจจะต้องดูแลญาติสูงอายุหรือความรับผิดชอบและภาระอย่างอื่น ก็สามารถที่จะเป็น HWS ได้เช่นกันนะครับ 

อย่างไรก็ดีความดังกล่าวก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นกับสุภาพสตรีทุกท่านนะครับ ผมมองว่าขึ้นอยู่กับบุคลิกและพื้นฐานของแต่ละคนด้วย ผมเจอผู้บริหารระดับสูงที่เป็นสุภาพสตรีบางท่านที่ก้าวหน้าทั้งหน้าที่การงาน และมีครอบครัวที่ต้องดูแล แต่ก็ไม่ได้มีอาการของ HWS ซึ่งก็คงจะเนื่องจากผู้บริหารท่านนั้นรู้จักที่จะปล่อยวางต่อสิ่งที่จะต้องทำ และไม่ได้ทะเยอทะยานที่จะปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาองค์กรมาก เป็นผู้บริหารในลักษณะที่ปล่อยวางให้งานผ่านเข้ามาและไหลไปตามงานมากกว่า ซึ่งอาจจะไม่ทำให้องค์กรก้าวหน้าเท่าที่ควร แต่ก็หลีกเลี่ยงจากการเป็น HWS ได้

สำหรับท่านที่คิดว่าตนเองเป็น HWS ก็สามารถที่จะป้องกันและรักษาตนเองจากการเป็น HWS ได้ โดยจะต้องเริ่มจากการจัดตารางเวลาของตนเองเสียใหม่ พร้อมทั้งการเลือกที่จะเปลี่ยนวิถีในการดำรงชีวิตของตนเอง ผมคิดว่าคงยากนะครับที่เราจะทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความอบอุ่นในครอบครัว สุขภาพร่างกายที่ดี และความสุขในชีวิต ส่วนใหญ่แล้วเราอาจจะทำให้สมบูรณ์ได้สองหรือสามประการ แต่หาสุภาพสตรีได้น้อยท่านมากครับที่ปัจจัยทั้งสี่ประการจะสมบูรณ์พร้อมกันหมดในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นจะเริ่มต้นรักษา HWS ท่านผู้อ่านก็คงจะต้องเลือกเองนะครับว่าจะดำรงชีวิตในแบบใด

พอจะมีแนวทางในการรักษาและป้องกัน HWS ได้ดังนี้ครับ 1) ท่านผู้อ่านจะต้องเริ่มต้นจากการมานั่งทบทวนตนเองก่อน ทั้งในแง่ของข้อจำกัดและจุดแข็งของตนเอง ท่านผู้อ่านจะต้องอย่าลืมนะครับว่าทุกคนไม่มีจุดสมบูรณ์ ทุกคนมีข้อจำกัดและจุดอ่อนทั้งสิ้น ดังนั้นเริ่มต้นจากการหาเวลาสงบมานั่งทบทวนตัวเองก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดและจุดแข็งที่ตนเองมี2)  จากสิ่งที่ได้ในข้อที่หนึ่ง ให้ท่านกลับมานั่งทบทวนเป้าหมายของท่าน รวมทั้งลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องทำ ถึงตรงนี้อาจจะยากสำหรับบางท่านนะครับ แต่ก็จะต้องเป็นสิ่งที่จะต้องทำ บางท่านอาจจะต้องเผชิญกับทางเลือกว่าจะตั้งเป้าหมายในด้านไหน ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือ ความสุขในครอบครัว อย่างที่เรียนไว้ตอนต้นครับ เราคงยากที่จะเลือกทุกทางให้สมบูรณ์ได้นะครับ 3) พยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ง่ายเข้าไว้ อย่าทำให้งานหรือสิ่งต่างๆ จะต้องดูยุ่งยากหรือสลับซับซ้อนเกินเหตุ งานและกิจกรรมหลายๆ อย่างสามารถทำให้ง่ายได้ เพียงแต่บางครั้งเราชอบทำเรื่องง่ายให้สลับซับซ้อนขึ้นเท่านั้นเอง การทำให้สิ่งต่างๆ ง่าย ไม่สลับซับซ้อน ก็เพื่อเป็นการลดความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้น 4) จัดการชีวิตให้มีระบบและระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าให้งานหรือสิ่งที่จะต้องเป็นตัวควบคุมและบงการชีวิตเรา แต่เราควรจะต้องเป็นผู้ควบคุมในสิ่งที่จะต้องทำ และ 5) ทบทวนทั้งสี่ขั้นตอนข้างต้นอย่างสม่ำเสมอครับ ไม่อย่างงั้นเราจะลืมและตกเป็นทาสของความเครียดอีกครั้ง เนื่องจากเราต้องอย่าลืมว่าสภาวะแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

หวังว่าเนื้อหาเกี่ยวกับ HWS คงจะช่วยท่านผู้อ่านบ้างนะครับ แต่ก็อย่างที่เรียนไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ HWS เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาและเราเริ่มเห็นความสำคัญของมันมากขึ้น เนื่องจากความกดดันและภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นทุกที