9 January 2005
ท่านผู้อ่านเป็นผู้หนึ่งที่ชอบทำงานในลักษณะของ Multitasking หรือไม่ครับ? คนกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่สามารถหรือชอบที่จะทำงานหลายๆ อย่างไปในขณะเดียวกัน เช่นในขณะที่กำลังเช็คอีเมลทางคอมพิวเตอร์ ก็กำลังคุยโทรศัพท์สั่งงานกับลูกน้อง พร้อมทั้งดื่มกาแฟไปพร้อมๆ กัน หรือ ในขณะที่กำลังนั่งประชุมก็สั่งงานพร้อมทั้งหาข้อมูล และตัดสินใจผ่านทางเครื่องโน้ตบุคที่ตั้งอยู่ข้างหน้า ในอดีตผมก็เคยชื่นชมคนพวกนี้นะครับว่ามีความสามารถมาก สามารถทำงานได้หลายอย่างในขณะเดียวกัน สามารถทำงานได้ออกมาเยอะ และดูยังสงบไม่ตื่นเต้นโวยวายเท่าใด แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าการทำงานในลักษณะ Multitasking นั้นกลับเป็นสาเหตุประการหนึ่งของโรคร้ายใหม่ในที่ทำงานที่เราเรียก Attention Deficit Trait หรือ ADT โรคนี้เป็นโรคที่เราจะเจอมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะแวดล้อมที่บังคับให้คนทำงานจะต้องทำงานด้วยความรวดเร็วมากขึ้น ทำงานหลายอย่างพร้อมๆ กัน จะต้องตื่นตัวตลอดเวลา ไม่มีเวลาหรือโอกาสได้สงบพัก ท่านผู้อ่านลองพิจารณาตัวท่านเองหรือบุคคลรอบข้างนะครับว่าเป็นโรคนี้หรือไม่?
ผมอ่านพบเจอโรคนี้จากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคม2548 ในบทความชื่อ Why Smart People Underperform เขียนโดย Edward M. Hallowell ซึ่งเป็นจิตแพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรคที่เกี่ยวกับสมองและสมาธิทั้งหลาย คุณหมอท่านนี้ทำการรักษาอาการ Attention Deficit Disorder หรือ ADD มากว่า 25 ปี และโรค ADD นี้เราเริ่มรู้จักกันมากขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน เรามักจะเรียกโรคนี้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ผู้เขียนบทความนี้เขาพบว่าในช่วงหลังๆ เริ่มมีผู้ใหญ่เข้ามารับการรักษาในอาการที่คล้ายกับโรคสมาธิสั้นกันมากขึ้น แต่เมื่อวินิจฉัยดูก็ไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น แต่เป็นโรคอีกชนิดหนึ่งที่มีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้น คุณหมอท่านนี้เลยตั้งชื่อใหม่ว่าเป็น Attention Deficit Trait หรือ ADT โดยสาเหตุของ ADT จะต่างจากโรคสมาธิสั้น เนื่องจากโรคสมาธิสั้นจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมและสภาวะแวดล้อม แต่ ADT นั้นจะมาจากสภาวะแวดล้อมเป็นหลัก
ผู้ที่เป็นโรค ADT นั้นมักจะมีอาการสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่งได้นานๆ ก็จะถูกดึงดูดด้วยงานอย่างอื่น มีความวุ่นวายอยู่ข้างใน (แต่มักจะไม่แสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็น) ไม่ค่อยอดทน มีปัญหาในการจัดระบบต่างๆ (Unorganized) การจัดลำดับความสำคัญ และการบริหารเวลา โรค ADT นี้มักจะเริ่มก่อเกิดขึ้นเมื่อเราก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ การที่มีความรู้สึกว่ามีงานด่วน หรือสิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องทำเข้ามาเรื่อยๆ และท่านพยายามที่จะจัดการกับงานด่วนเหล่านั้นให้สำเร็จ จะเป็นบ่อเกิดที่สำคัญของโรค ADT เพราะเมื่อเรามีงานที่เร่งด่วนหรือจำเป็นเข้ามาเรื่อยๆ เราก็มักจะรับภาระ ความรับผิดชอบต่องานเหล่านั้น อีกทั้งไม่บ่นไม่โวยวายต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้น เราจะก้มหน้าก้มตาพยายามทำให้งานสำเร็จ ทั้งๆ ที่กำลังความสามารถ และเวลาของเราไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณของงานที่เข้ามา ดังนั้นเมื่อเจอกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและเร่งด่วนขึ้น เราก็มักจะอยู่ในอาการของความรีบร้อนตลอดเวลา พยายามทำงานให้เสร็จโดยเร็ว โดยการทำงานหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน และขาดสมาธิต่อการทำงานๆ หนึ่ง (Unfocused) แต่ในขณะเดียวกันบุคคลเหล่านี้ก็จะไม่บ่นไม่โวยวาย ดูจากภายนอกแล้วเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
ทีนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยครับว่าโรค ADT จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้น? ง่ายๆ ก็คือ ทำให้สมองเราสูญเสียความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และทำงานอย่างละเอียดลึกซึ้ง จะส่งผลให้งานที่ออกมาเป็นงานที่เร็วแต่ไม่ลึก จะทำให้ความสามารถในการทำงานของเราลดน้อยลง การที่สมองเราจะต้องรับ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ก็ลดลง อีกทั้งความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้มากขึ้น
โรคนี้ถือเป็นโรคใหม่ในที่ทำงานอย่างหนึ่งครับ เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่ต้องการความรวดเร็ว และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สมองเราจะต้องรับและประมวลผลข้อมูลต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิม วัฒนธรรมในการทำงานในปัจจุบันก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเกิดโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของความเร็วในการทำสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันดูเหมือนว่าเราต้องการความเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ (เรามักจะคิดว่าในเมื่อคนทุกคนมีเวลาเท่ากัน ดังนั้นผู้ที่มีความเร็วมากกว่าจะทำงานได้มากกว่า) ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับเวลาท่านขึ้นลิฟท์ ปุ่มไหนที่ท่านจะกดบ่อยที่สุด ปุ่มนั้นก็คือปุ่ม “ปิดประตู” เนื่องเพราะทุกคนเป็นทาสของความเร็ว ไม่สามารถรอให้ลิฟท์ปิดได้เอง
ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเป็นโรค ADT กันบ้างไหมครับ ผมลองสังเกตตัวเองก็รู้สึกว่าเป็นเหมือนกันครับ ทั้งสาเหตุและอาการก็เหมือนกับที่คุณหมอเขาเขียนไว้ในบทความของเขาเลยครับ เพียงแต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจนะครับถ้ารู้สึกว่าตนเองเป็น ADT เนื่องจากคนแต่ละคนจะมีวิธีการในการบริหารและจัดการกับโรค ADT ที่ต่างกัน (เนื่องจากสมองของคนแต่ละคนต่างกัน) ในสัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันนะครับว่าจิตแพทย์ท่านนี้จะมีคำแนะนำอย่างไรสำหรับการจัดการกับโรค ADT ทั้งในแง่ของการบริหารตนเอง และในฐานะผู้บริหารที่จะสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ลูกน้องตนเองเป็นโรค ADT