27 March 2005

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วนำเสนอเรื่องของสุดยอดผู้นำจากองค์กรที่สามารปรับเปลี่ยนตนเองจากองค์กรที่ดีเป็นองค์กรที่สุดยอดได้ สัปดาห์นี้เราลงมาดูที่ผู้บริหารอีกระดับกันนะครับ นั้นคือแท้ที่จะมุ่งเน้นแต่ผู้นำสูงสุด เรามาดูผู้นำที่เป็นเจ้านายของเราดูบ้าง ท่านผู้อ่านเคยคิดหรือฝันไหมครับว่าเจ้านายที่ดีควรจะเป็นอย่างไร? ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะเจ้านายที่มีจิตใจดีงาม เมตตากรุณา มุทิตา อุเบกขา นะครับ แต่จะต้องเป็นเจ้านายที่สามารถบริหารลูกน้องได้ดี และสามารถนำความสามารถที่มีอยู่ของลูกน้องมาใช้เพื่อทำให้งานสำเร็จด้วย

ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคม 2548 นี้มีบทความหนึ่ง เขียนโดย Marcus Buckingham (ผู้เขียนหนังสือ The One Thing You Need to Know ซึ่งเพิ่งออกและมีวางขายอยู่ทั้งที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และเอเชียบุคส์) ชื่อ What Great Managers Do ซึ่งในบทความดังกล่าวได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนเลยครับว่าคนที่จะเป็นเจ้านายที่ดีได้นั้นจะต้องมีความรู้จักในตัวผู้ที่เป็นลูกน้องได้ดีพอสมควร ในอันที่จะบริหารลูกน้อง เพื่อให้งานสำเร็จ แนวคิดข้างต้นนั้นชี้ให้เห็นครับว่าลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคนเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะ บุคลิกภาพ ความสามารถ สมรรถนะ ที่แตกต่างกัน การที่จะรู้จักบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาเหล่านั้น เพื่อให้งานสำเร็จออกมาได้ จะต้องมีความรู้จักในตัวลูกน้องอย่างดีพอสมควร และจะต้องมองลูกน้องแต่ละคนเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความแตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าท่านผู้อ่านมีลูกน้องอยู่สิบคน ท่านผู้อ่านก็ใช้วิธีการในการบริหาร การจูงใจ การสั่งการ การมอบหมายงาน ที่เหมือนกันหมดสำหรับลูกน้องทั้งสิบคน

ท่านผู้อ่านอาจจะสามารถตัดเสื้อโหลให้ลูกน้องทุกคนใส่ได้ และทุกคนก็ยอมใส่ (เนื่องจากเจ้านายตัดให้) แต่ท่านผู้อ่านจะพบว่าลูกน้องบางคนใส่ได้พอดี บางคนหลวมไป หรือบางคนคับไป อุปมาก็เหมือนกับการบริหารจัดการผู้ใต้บังคับบัญชาเหมือนกันครับ ถ้าเราใช้วิธีเดียวกันหมดสำหรับลูกน้องทุกคน ก็จะได้ผลที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะทำงานได้ดี บางคนอาจจะพอเอาตัวรอด และบางคนอาจจะไม่รอดเลย ในบทความของ Buckingham เขาระบุเลยครับว่าการที่จะบริหารงานลูกน้องให้ประสบผลสำเร็จนั้น คนที่เป็นเจ้านายจะต้องรู้จักและเข้าใจในลูกน้องแต่ละคนแยกเป็นรายบุคคล (เหมือนกับเสื้อสั่งตัด ไม่ใช่เสื้อโหล) และสิ่งที่เจ้านายที่ดีจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับลูกน้องแต่ละคน ประกอบด้วยปัจจัยสามประการ ได้แก่ 1) จุดแข็ง ของบุคคลผู้นั้น 2) ปัจจัยที่กระตุ้นหรือจูงใจให้เกิดจุดแข็งนั้น และ 3) วิธีการที่ลูกน้องแต่ละคนใช้ในการเรียนรู้ เรามาดูแต่ละประเด็นโดยละเอียดนะครับ

ประการแรกคือการทำความใจในจุดแข็งของลูกน้อง ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงสิ่งที่ลูกน้องแต่ละคนมีความโดดเด่นเท่านั้นนะครับ แต่จะต้องเข้าใจในจุดด้อยหรือจุดอ่อนของลูกน้องแต่ละคนด้วย ซึ่งอาจจะพูดง่ายแต่ทำยากนะครับ เนื่องจากจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการรู้จักและทำความเข้าใจต่อจุดแข็งและจุดอ่อนของลูกน้องแต่ละคน เจ้านายจะต้องใช้เวลาคลุกคลีและใกล้ชิดกับลูกน้องพอสมควรกว่าที่จะทำความเข้าใจถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละคนได้ บางคนชอบใช้วิธีที่เรียกว่า MBWA (Management by Walking Around) หรือการเดินไป เดินมา เพื่อสำรวจพฤติกรรม ปฏิกิริยา และวิธีการในการทำงานของลูกน้องแต่ละคน พูดง่ายๆ ก็คือเจ้านายจะต้องช่างสังเกตพอสมควร ถึงจะสามารถเข้าใจต่อจุดแข็งและจุดอ่อนของลูกน้องแต่ละคนได้ แต่ถ้าท่านผู้อ่านไม่มีโอกาสหรือเวลาที่เอื้ออำนวย ก็อาจจะพูดคุยกับลูกน้องของท่าน และลองถามคำถามเข้าดู และจากคำตอบเหล่านั้นก็พอที่จะวิเคราะห์ออกมาเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนของลูกน้องได้ ตัวอย่างคำถามเช่น “ลักษณะงานที่ชอบทำ หรือ ทำได้ดีคืออะไร?”หรือ “ในรอบสามเดือนที่ผ่านมา วันไหนเป็นวันที่เลวร้ายที่สุด เพราะอะไร?” 

ท่านผู้อ่านจะต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าเวลาเราพูดถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของลูกน้องแต่ละคน เราไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งที่เขามีความโดดเด่น หรือ อ่อนด้อยนะครับ จุดแข็งอาจจะเป็นสิ่งที่ลูกน้องคนนั้นยังไม่เก่งก็ได้ แต่จะต้องเป็นสิ่งที่เขามีความพึงพอใจหรือชอบที่จะทำ พร้อมทั้งอยากจะทำอีกเรื่อยๆ และเขาเองก็จะเก่งขึ้นทุกครั้งที่ได้ทำงานดังกล่าว เพราะฉะนั้นคำถามที่ถามอาจจะเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับความสนใจหรือสิ่งที่ลูกน้องชอบ เช่นเดียวกัน จุดอ่อนก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาทำได้ไม่ได้ดีนะครับ แต่อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่อยากจะทำ หรือไม่สนใจจะทำ และเมื่อจะต้องทำแล้วก็จะไม่คิดอะไรนอกจากเมื่อไหร่จะไม่ต้องทำงานนั้นอีก

ทีนี้สาเหตุสำคัญที่เจ้านายจะต้องมุ่งที่จุดแข็งของลูกน้องเป็นหลัก เนื่องจากจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานของลูกน้อง ทั้งนี้หน้าที่ประการหนึ่งของเจ้านายคือการทำให้ลูกน้องเกิดความมั่นใจในตนเอง (Self-Assurance) จากงานวิจัยต่างๆ พบว่าความมั่นในตนเองเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การทำให้พนักงานตั้งเป้าหมายในการทำงานที่สูง การฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ การลุกขึ้นมายืนเมื่อล้ม และการบรรลุเป้าหมาย (ในที่สุด) ดังนั้นจึงกลายเป็นหน้าที่สำคัญของเจ้านายในการสร้างความมั่นใจในตนเองให้กับลูกน้อง แต่การจะทำแบบนั้นได้ก็จะต้องย้อนกลับมาสิ่งที่ลูกน้องชอบ มั่นใจ และสนใจอยากจะทำ ซึ่งก็คือจุดแข็งของลูกน้องนั้นเอง

โดยสรุปเจ้านายจะต้องเข้าใจต่อจุดแข็ง สิ่งที่ลูกน้องชื่นชอบ และสนใจที่จะทำ และหาหนทางในการบริหารจัดการ เพื่อทำให้ลูกน้องเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้น (จากการทำสิ่งที่ตนเองชอบ และทำได้ดี) แต่เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงแค่ปัจจัยประการแรกของการเป็นเจ้านายที่ดีและเข้าใจต่อลูกน้องแต่ละคนนะครับ สัปดาห์เราจะมาต่อกันในปัจจัยประการที่สองและสามต่อครับ