27 December 2004

สวัสดีปีใหม่ 2548 ครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เรามาเจอกันครั้งแรกของปีใหม่นี้ในวันเปิดทำงานวันแรกเลยนะครับ ขึ้นปีใหม่ก็เลยขอนำเสนอสิ่งที่เข้ากับเทศกาลหน่อยนะครับ ในช่วงปีใหม่นี้มีหนังสือทางด้านการจัดการออกมาในลักษณะที่คล้ายๆ กันสามเล่มครับ ซึ่งเข้าใจว่าคงออกมาต้อนรับเทศกาลปีใหม่พอ (เหมาะจะเป็นของขวัญ ของกำนัลครับ) หนังสือทั้งสามเล่มเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ไม่หนาและรวบรวม คำคม แนวคิด และประสบการณ์ทางการจัดการที่น่าสนใจไว้ สัปดาห์นี้เรามาดูเนื้อหาที่น่าสนใจบางส่วนจากทั้งสามเล่มกันนะครับ เริ่มจากบางสุดก่อนนะครับ เล่มนี้ชื่อ The 101 Greatest Business Principles of All Time รวมรวมโดย Leslie Pockell แค่ฟังชื่อก็พอทราบแล้วนะครับว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมแนวคิดหรือคำคมที่น่าสนใจทางด้านธุรกิจไว้ ซึ่งเขาก็นำข้อคิดเหล่านี้มาจากทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ นักบวช นักการทหาร เราลองมาดูตัวอย่างบางประการที่น่าสนใจจากหนังสือเล่มนี้นะครับ เช่น Warren Bennis นักวิชาการทางด้านภาวะผู้นำคนหนึ่งของโลก ระบุไว้ว่า ‘Failing Organizations are usually overmanaged and underled’ หรือจาก Bill Gates ที่ระบุไว้ว่า ‘As we look ahead into the next century,  leaders will be those who empower others’ ขอยกตัวอย่างมาให้ดูแค่สองหน้านะครับ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มนี้จริงๆ ไม่ได้ไม่ได้รวบรวมหลักการทางการจัดการไว้เท่าไหร่หรอกครับ แต่เป็นการรวบรวมประโยคหรือคำคมที่น่าสนใจไว้มากกว่า

หนังสือเล่มที่สองรวมรวมโดย Donald Trump มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่เรารู้จักกันดี ชื่อ The Way to the Top: The Best Business Advice I Ever Received หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาโดย Trump หรอกนะครับ แต่เกิดขึ้นจากการที่ Trump สอบถามไปยังบรรดาผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการต่างๆ ว่าอะไรคือคำแนะนำทางธุรกิจที่ดีที่สุดที่เคยได้รับ จากนั้นก็นำมารวบรวมเป็นหนังสือ โดย Trump มองว่าวิธีการที่จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงรวบรวมประสบการณ์และข้อแนะนำที่น่าสนใจไว้หลายประการครับ เรามาลองดูกันนะครับ

ข้อแนะนำที่เตะตาผมประการแรกเลยมาจาก Adam M. Aron ซึ่งเป็น Chairman และ CEO ของ Vail Resorts ครับ เขาแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ให้ทำธุรกิจกับคนที่ดี และที่มีเกียรติเท่านั้น เพราะถ้าทำธุรกิจกับคนดีแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องมีหรือทำสัญญาแต่ประการใด แต่ถ้าทำธุรกิจกับคนที่ไม่ดีแล้ว ไม่ว่าสัญญาใดๆ ก็จะปกป้องเราไว้ไม่ได้ (คำแนะนำข้อนี้ค่อนข้างตรงใจผมครับ เพราะช่วงที่ผ่านมาเพิ่งเจอหน่วยงานที่คิดว่าน่าจะทรงเกียรติแต่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้) หรือ ข้อแนะนำของ Christie Hefner ซึ่งเป็น Chairman และ CEO ของ Playboy Enterprises ที่ให้ข้อแนะนำไว้ว่า ให้คิดเหมือนกับนักข่าว อย่ากลัวที่จะถามคำถามหรือบอกว่าไม่รู้ เวลาประชุมก็ให้ถามความคิดเห็นของสมาชิกแต่ละคนในที่ประชุมเสมอ หรือข้อแนะนำของ Barbara G. Berger ซึ่งเป็น President ของ Food City Market ซึ่งเคยได้รับคำแนะนำจากพ่อของเขาว่า พระอาทิตย์ไม่ได้ส่องสว่างตลอดไป ถึงแม้การเติบโตและขยายตัว จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ก็ต้องวางแผนและเตรียมตัวต่อภาวะตกต่ำและการแข่งขันใหม่ๆ ที่จะทำให้ธุรกิจประสบปัญหาได้

มาถึงเล่มที่สุดท้ายซึ่งหนาที่สุดครับ เป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานของปรมาจารย์ทางการจัดการอย่าง Peter Drucker ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีหนังสือที่รวบรวมงานเขียนของนักวิชาการท่านนี้ออกมาหลายเล่มมากแล้ว เพียงแต่ในเล่มนี้เขาทำออกมาในลักษณะของไดอารี่ตั้งแต่ 1 ม.ค. จนกระทั่งถึง 31 ธ.ค. โดยที่ในแต่ละวันจะมีเนื้อหาทางด้านการจัดการที่น่าสนใจของ Peter Drucker มาบรรจุไว้ประมาณหนึ่งหน้า ซึ่งเนื้อหาเหล่านั้นก็รวบรวมมาจากทั้งหนังสือ บทความ คำบรรยาย ฯลฯ หนังสือเล่มนี้ได้ถูกรวบรวมขึ้นมาโดย Joseph A. Maciariello ซึ่งเป็นอาจารย์ในสถาบันเดียวกันกับ Peter Drucker เรียกได้ว่าในหนังสือเล่มนี้เอาไว้ที่หัวเตียงและอ่านวันละหน้าก็จบครับ 

อย่างในวันที่ 20 มีนาคม นั้น ได้พูดถึงเรื่องของการประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งDrucker ระบุไว้เลยว่าผลการดำเนินงานขององค์กรในปัจจุบันเป็นผลที่เกิดขึ้นการดำเนินงานในอดีต ดังนั้นทางด้านการจัดการแล้ว การประเมินผลการดำเนินงาน ย่อมเป็นการประเมินว่าผู้บริหารได้เตรียมพร้อมองค์กรสำหรับอนาคตหรือไม่ ซึ่ง Drucker ได้แบ่งออกเป็นสี่ด้าน ได้แก่ การประเมินว่าได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเปรียบเทียบกับที่คาดหวัง การประเมินว่าการที่เราบรรจุบุคลากรลงไปทำงานแล้ว บุคลากรดังกล่าวสามารถทำงานได้ตามที่เราคาดหวังหรือไม่ การประเมินในด้านความสามารถทางนวัตกรรมขององค์กร และประเมินว่ากลยุทธ์ที่วางไว้เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้หรือไม่

ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงแค่เนื้อหาในวันเดียวจากหนังสือเล่มดังกล่าวนะครับ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นนะครับว่าเนื้อหาของหนังสือทั้งสามเล่มที่ผมนำมาเสนอในสัปดาห์นี้เป็นหนังสือที่ออกมาได้เหมาะกับเทศกาลครับ คือเหมาะที่จะเป็นหนังสือที่เราจะซื้อเป็นของกำนัลให้ผู้อื่น เนื่องจากเนื้อหาค่อนข้างกว้าง อ่านได้ง่าย และไม่วิชาการเกินไป ผมคิดว่าในปีหน้าช่วงเทศกาล เราก็คงเห็นหนังสือในลักษณะนี้มากขึ้นครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองหาตามร้านหนังสือชั้นนำอย่างเอเซียบุคส์ ดูนะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ