19 December 2004

ใกล้เทศกาลปีใหม่เข้ามาทุกทีนะครับ เราลองย้อนกลับมาดูและทบทวนความเชื่อเดิมๆ บางประการกันดูดีกว่านะครับ แล้วอาจจะพบว่าสิ่งที่เราคิดหรือเชื่อมาตลอดนั้นอาจจะไม่เป็นจริง วันนี้ผมจะขอนำเสนอในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรที่มีความสุขในการทำงานกับบุคลากรที่มีผลผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงานที่ดี ท่านผู้อ่านมีความเชื่อหรือสมมติฐานในเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ? ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะเหมือนกับผมนะครับที่คิดมาตลอดว่าถ้าเราสามารถทำให้พนักงานในองค์กรของเรามีความสุขแล้ว ผลตอบแทนที่เราจะได้รับก็คือพนักงานเหล่านั้นจะมีผลการทำงานที่ดีหรืออีกนัยหนึ่งก็คือมีผลิตภาพหรือProductivity ในการทำงานที่ดี

เมื่อเรามีความเชื่อในลักษณะดังกล่าวแล้ว เราก็มักจะหาหนทางหรือวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้พนักงานในองค์กรของเรารู้สึกมีความสุขในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นชั่วโมงในการทำงานที่ยืดหยุ่น สวัสดิการที่เพียบพร้อม พอสิ้นปีทีก็พาพนักงานไปเที่ยวที หรือความพยายามในการทำให้ที่ทำงานเป็นที่ๆ น่าอยู่และน่าทำงาน ผมเชื่อว่าองค์กรต่างๆ ในบ้านเราคงจะใช้เงินกันไปไม่น้อยในปีหนึ่งๆ ที่จะทำให้พนักงานของตนมีความสุข ยิ่งพอใกล้สิ้นปีก็ยิ่งจะต้องหาทางส่งความสุขกันใหญ่ครับ เพราะเราเชื่อกันเสมอว่าถ้าพนักงานมีความสุขแล้วไซร้ ผลการทำงานย่อมจะดีขึ้น

ทีนี้ท่านผู้อ่านเคยเกิดรู้สึกผิดหวังบ้างไหมครับว่าทำไมในหลายๆ ครั้งที่เราอุตส่าห์ลงทุนและเสียเงินเพื่อสร้างความสุขให้กับพนักงาน แล้วทำไมผลตอบแทนที่บริษัทได้รับกลับไม่คุ้มกับที่ลงทุนไป โดยเฉพาะในหลายบริษัทที่พยายามสร้างความสุขให้พนักงานอย่างมากมาย แต่ผลที่ได้รับก็คือพนักงานจำนวนมากกลับลาออก แถมผลิตภาพในการทำงานกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่หวัง ผมไปเจอผลการวิจัยชิ้นหนึ่งที่เขาพบความสัมพันธ์ระหว่างความพอใจในการทำงานกับผลิตภาพของพนักงาน แต่ระดับความสัมพันธ์นั้นน้อยมากครับ นั้นคือถ้าผลิตภาพของพนักงานเพิ่มขึ้น จะมีเพียงแค่ไม่เกินร้อยละ 2 เท่านั้นที่มาจากการที่พนักงานมีความสุขในการทำงาน แสดงให้เห็นว่าความเชื่อเดิมๆ ของเราก็ไม่ถูกต้องทั้งหมดนะครับ

ในขณะเดียวกันในงานวิจัยดังกล่าวกลับชี้กลับอีกทางครับ นั้นคือถ้าพนักงานมีผลการทำงานที่ดีหรือมีผลิตภาพในการทำงานที่ดีย่อมจะทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน ท่านผู้อ่านลองทบทวนดูนะครับว่าจะเห็นด้วยกับข้างไหน ความสุขนำไปสู่ผลิตภาพที่ดี หรือ ผลิตภาพที่ดีนำไปสู่ความสุข อ่านแล้วก็ดูเหมือนเป็นเหตุการณ์ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกันอีกแล้วนะครับ พวกที่สนับสนุนแนวคิดที่สองหรือผลิตภาพที่ดีนำไปสู่ความสุขในการทำงานนั้น ให้เหตุผลสนับสนุนว่าถ้าพนักงานทำงานได้ผลลัพธ์ออกมาดีแล้ว พนักงานย่อมจะมีความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับงานที่ทำ และในขณะเดียวกันถ้าองค์กรให้ผลตอบแทนที่สะท้อนถึงผลิตภาพในการทำงานแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นคำยกย่องชมเชย หรือ รางวัลในรูปของตัวเงิน) ก็ย่อมจะทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกในการทำงานขึ้นมาได้

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเห็นพ้องกับแนวคิดนี้เหมือนกันนะครับ เคยมีผู้บริหารบางท่านบ่นให้ผมฟังว่าพยายามที่จะสร้างความสุขในการทำงานให้กับพนักงานตลอด แต่พอให้มากไป และพนักงานมีความสุขมากเกินไป พนักงานก็เกิดอาการเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น และมัวแต่มุ่งที่จะรอรับสิ่งต่างๆ จากบริษัทตลอดเวลา ไม่ได้เป็นผู้ให้เท่าใด หรือผมเองก็มองเหมือนกันครับว่าสำหรับตัวเองแล้ว หลายๆ ครั้งที่ทำงานใดแล้วออกมาดี เราก็จะรู้สึกดี และยิ่งถ้าได้รับคำชมเชยหรือกำลังใจก็ยิ่งรู้สึกดีและมีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปดูตัวของท่านเองด้วยนะครับว่าเห็นด้วยหรือไม่?

ถ้าเป็นตามสมมติฐานว่าผลิตภาพหรือผลการทำงานที่ดี ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน ผู้บริหารในหลายๆ องค์กรอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการในการจูงใจพนักงานเสียใหม่นะครับ จากที่เคยให้สิ่งต่างๆ เพื่อให้พนักงานมีความสุข อาจจะต้องคอยสนับสนุน ผลักดันเครื่องมือและกลไกต่างๆ ที่จะทำให้พนักงานทำงานได้ออกมาดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมในเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ การอบรมพนักงาน หรือ การขจัดอุปสรรค สิ่งกีดขวางที่จะทำให้พนักงานทำงานได้ดี องค์กรบางแห่งเขาจะไม่เสียดายเงินในการซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือการอบรมพนักงานเลยครับ เนื่องจากเขามองว่าการให้สิ่งเหล่านี้อย่างไม่จำกัดจะทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีผลิตภาพยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งตัวพนักงานและองค์กรเองก็จะได้รับประโยชน์กลับมาทั้งคู่

นอกจากแนวคิดข้างต้นแล้ว ผมยังเคยไปอ่านเจอหนังสือเล่มหนึ่งครับที่เขาเสนอแนวคิดที่ยิ่งแหวกสมมติฐานที่เรามีอีกประการหนึ่ง นั้นคือขวัญและกำลังใจของพนักงานก็ไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์กับผลิตภาพในการทำงาน จริงๆ แล้วเรื่องนี้คล้ายๆ กับเรื่องของความพอใจนะครับ แต่มองลึกลงไปอีกครับ นั้นคือแทนที่จะมองแค่ผิวนอกคือความพอใจอย่างเดียว กลับมองลึกลงไปอีกถึงขวัญและกำลังใจของพนักงาน เราเคยเชื่อมมาตลอดว่าหน้าที่หนึ่งของผู้บริหารคือการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน เพราะจะนำไปสู่การทำงานที่ดี แต่แนวคิดนี้โต้แย้งว่าการที่พนักงานจะทำงานได้ดีหรือไม่ดีนั้นไม่ได้เกิดจากขวัญและกำลังใจอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู หรือประสบการณ์ หรืออุปนิสัยและบุคลิกภาพ พอดีแนวคิดเรื่องขวัญ กำลังใจนี้ยังไม่ได้มีผลงานวิจัยมารองรับครับ ไม่เหมือนเรื่องของความพอใจกับผลิตภาพ แต่ถ้ามีเมื่อไร ก็คงทำให้แนวคิดการบริหารจัดการของเราเปลี่ยนไปเหมือนกันนะครับ