11 December 2004
ปัจจุบันเราตื่นตัวและให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพกันค่อนข้างมากนะครับ และในขณะเดียวกันองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ดูแลบุคลากรของตนเองในเรื่องสุขภาพกันอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีการตรวจร่างกายประจำปี หรือการเบิกค่ารักษาพยาบาลต่างๆ แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้คิดนะครับว่าในปัจจุบันผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ได้ดูแลสุขภาพของบุคลากรตนเองดีพอหรือยัง ผมไม่ได้หมายถึงแค่การตรวจสุขภาพประจำปี หรือการเบิกค่ารักษาพยาบาลนะครับ แต่เป็นการดูแลสุขภาพของบุคลากรในเชิงรุก เพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บป่วยในด้านต่างๆ เนื่องจากสุดท้ายแล้วความเจ็บป่วยของบุคลากรจะส่งผลต่อผลประกอบการขององค์กรด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยปกติเราก็มักจะนึกถึงแต่ค่ารักษาพยาบาลที่องค์กรจะต้องจ่ายให้กับบุคลากรเมื่อป่วย หรือต้นทุนที่เกิดขึ้นเมื่อบุคลากรลาป่วย แต่จริงๆ แล้วแม้บุคลากรจะมาทำงานทั้งๆ ที่ยังป่วยก็ส่งผลต่อต้นทุนขององค์กรเช่นเดียวกันครับ
เริ่มง่ายๆ ก่อนครับ ถ้าเราไม่สบายแต่ยังมาทำงานอยู่ ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าอาจจะทำให้องค์กรของท่านประสบความสูญเสียมากกว่าที่คิดก็ได้ เมื่อเราป่วย เราขาดงาน เราเรียกว่า Absenteeism แต่เมื่อเราป่วย แล้วยังมาทำงานอีก เราเรียกว่า Presenteeism ครับ ได้มีงานวิจัยโดยนักวิชาการจาก Tufts-New Englang Medical Center ที่ทำกับบริษัทLockheed Martin ที่ประเมินถึงผลกระทบของอาการเจ็บป่วยต่างๆ ต่อความสามารถในการทำงานของบุคลากร (Worker’s Productivity) และพบว่าแม้กระทั่งอาการป่วยที่เล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถส่งผลต่อความสามารถในการทำงานของบุคลากรได้ โดยทางทีมวิจัยเขาได้มีการคำนวณออกมาเลยครับว่าอาการต่างๆ เช่น โรคไมเกรน จะทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงานของบุคลากรลดลง 4.9% ซึ่งทำให้บริษัทสูญเงินโดยเฉลี่ยทั้งปีกว่าสี่แสนเหรียญ (เป็นตัวเลขประมาณการณ์จากเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานของบริษัทครับ) หรือ อาการปวดหลังจะลดผลิตภาพในการทำงาน 5.5% หรือ การเป็นไข้หวัดในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาจะลดผลิตภาพของพนักงานลง 4.7% หรือ แม้กระทั่งโรคผิวหนังต่างๆ จะส่งผลต่อผลิตภาพ 4.7% และ อาการหดหู่ จะส่งผลต่อผลิตภาพ 7.6%
เป็นอย่างไรบ้างครับดูแล้วไม่น่าเชื่อนะครับ แต่ถ้าคิดดูดีๆ ก็ไม่แปลกนะครับ เพราะถ้าเราไม่สบายและยังมาทำงาน ความสามารถในการทำงานของเราก็ย่อมไม่เท่ากับตอนปกติอยู่แล้ว แต่ที่เขียนมาตรงนี้ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ขาดงานนะครับ เพราะอาการบางประการข้างต้นก็ไม่ได้หนักหนาถึงขั้นต้องลาป่วย
ดังนั้นโจทย์หลักน่าจะอยู่ที่ผู้บริหารขององค์กรมากกว่าครับว่า ถ้าต้องการให้บุคลากรของตนทำงานอย่างเต็มความสามารถแล้ว ทำอย่างไรถึงจะป้องกันไม่ให้บุคลากรของตนเองป่วยในอาการต่างๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด กว่าจะมานั่งคอยจ่ายหรือเบิกค่ารักษาพยาบาลและสูญเสียผลิตภาพในการทำงานของบุคลากร ดังนั้นการเพียงแค่ตรวจร่างกายประจำปีหรือการให้เบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจึงไม่น่าเพียงพอนะครับ ผู้บริหารควรจะต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพของบุคลากรในเชิงรุกมากขึ้น และเป็นเชิงรุกในลักษณะของการป้องกันมากกว่าการแก้ไข (ป้องกันไม่ให้ป่วยดีกว่ารักษาเมื่อป่วยนะครับ)
มีตัวอย่างงานวิจัยหลายชิ้นเลยครับที่แสดงให้เห็นว่าการป้องกันนั้นดีกว่าปล่อยให้ไม่สบายและแก้ไข โดยเฉพาะงานที่แสดงให้เห็นว่าการที่องค์กรมีการให้บริการฉีดยาป้องกันโรคไข้หวัดให้กับบุคลากรโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายนั้น ประหยัดกว่าค่าใช้จ่ายและผลิตภาพที่องค์กรจะต้องสูญเสียไปเมื่อบุคลากรของตนเองไม่สบาย เป็นหวัด และต้องหยุดงาน หรือมาทำงานในลักษณะของ Presenteeism (มาทำงานทั้งๆ ที่ยังป่วย) หรือลองดูอีกตัวอย่างหนึ่งก็ได้นะครับ ผู้บริหารขององค์กรแห่งหนึ่งที่เป็นธุรกิจให้บริการ ระบุเลยว่าที่องค์กรของเขานั้นบุคลากรส่วนใหญ่เป็นสุภาพสตรี และกำไรของบริษัทนั้นมาจากการให้บริการ ในขณะเดียวกันสตรีมีโอกาสมากกว่าผู้ชายสำหรับอาการซึมเศร้า (Depression) และภาวะซึมเศร้าดังกล่าวก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วย ดังนั้นที่องค์กรแห่งนี้ก็เลยต้องมีกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันบุคลากรของตนเองจากภาวะซึมเศร้า
กิจกรรมในเชิงรุกที่ผู้บริหารสามารถใช้ในการป้องกันอาการเจ็บป่วยต่างๆ สามารถทำได้หลายแบบครับ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้กับพนักงานในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หรือ บางองค์กรก็จัดให้มีจิตแพทย์มาให้คำปรึกษากับบุคลากรและครอบครัวในเรื่องต่างๆ หรือ การจัดให้มี Health Risk Assessments หรือการประเมินความเสี่ยงในด้านสุขภาพ (ปัจจุบันเราตื่นตัวในเรื่องของความเสี่ยงกันมาก ลองประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพดูซิครับ) ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคลากร อาทิเช่น ความดันโลหิต เพื่อไปประเมินและคาดการณ์ถึงโอกาสในการเกิดปัญหาในด้านสุขภาพในอนาคต หรือ บางองค์กรก็จะให้มี Wellness Programs ที่สนับสนุนให้มีการดูแลสุขภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายร่วมกัน หรือ การจัดเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ
ท่านผู้อ่านลองเอาโปรแกรมหรือกิจกรรมเหล่านี้ไปจัดดูซิครับ แล้วอาจจะพบว่าต้นทุนในการจัดกิจกรรมเพื่อสุขภาพต่างๆ เหล่านี้ ถ้านำไปเปรียบเทียบกับต้นทุนในการรักษาพยาบาล ต้นทุนจากการขาดงานเนื่องจากเจ็บป่วย (Absenteeism) และต้นทุนจากการมาทำงานทั้งที่ไม่สบาย (Presenteeism) ต้นทุนในกิจกรรมเพื่อสุขภาพจะน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด คิดว่าน่าจะถึงเวลาที่ผู้บริหารจะหันมาให้ความใส่ใจในสุขภาพของบุคลากรท่านในเชิงรุกกันได้แล้วนะครับ