14 November 2004
ท่านผู้อ่านเคยประสบกับภาวะที่อยากจะทำงานให้สำเร็จลุล่วงที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัท แต่ก็รู้สึกว่ามองไปทางไหนก็มีแต่ปัญหาหรืออุปสรรคไปหมด พร้อมกันนั้นก็รู้สึกว่าไม่มีทางเลือกหรือทางออกสำหรับปัญหาที่เผชิญหรืองานที่ต้องการทำบ้างไหมครับ? ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเจอภาวะแบบนี้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ ที่มีความรู้สึกว่าในการทำงานนั้นช่างไม่มีทางเลือกหรือทางออกสำหรับงานที่ต้องการทำหรือปัญหาที่เกิดขึ้นเลย สัปดาห์นี้เรามาลองดูกันนะครับว่ามีแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง
เราต้องมาดูถึงสาเหตุของปัญหากันก่อนนะครับ เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาบอกว่าเมื่อเราเริ่มเข้าทำงานที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราก็มักจะสร้างความผูกพันกับองค์กรดังกล่าว จนกระทั่งกลายเป็นการพึ่งพาองค์กรนั่นทางจิตใจอย่างไม่รู้ตัว ท่านผู้อ่านลองนึกดูซิครับว่าถ้าท่านเข้าสู่องค์กรใดแล้ว และท่านทำงานด้วยดี เป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรนั้น ตัวองค์กรก็ย่อมที่จะดูแลท่านอย่างดีทั้งในแง่ของแนวทางในการทำงาน การพัฒนาความรู้ในการทำงาน ผลตอบแทน สวัสดิการ หรือแม้กระทั่งการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทีนี้เมื่อองค์กรที่เราทำงาน ได้ดูแลเราอย่างดีแล้ว ก็มักจะทำให้เราได้รับการดูแลอย่างดีจนสุดท้ายอาจจะเกิดความเคยตัว และสุดท้ายก็จะทำให้บุคลากรในองค์กรปฏิบัติและคิดตามกรอบที่องค์กรวางไว้ให้ จนไม่สามารถที่จะหาทางเลือกหรือแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เหมือนกับองค์กรได้สร้างกรอบหรือแนวทางในการทำงานให้กับสมาชิกทุกคน และสมาชิกทุกคนเมื่อตัดสินใจและปฏิบัติตามกรอบนั้นก็จะได้รับการดูแลอย่างดีและประสบผลสำเร็จ ทีนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือถ้าเราเจอสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแนวทางหรือกรอบที่ได้ถูกวางไว้ก็จะไม่สามารถตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ จะหาทางเลือกหรือทางออกที่เหมาะสมไม่ได้ ผมเจอมาในหลายองค์กรแล้วครับที่บุคลากรในองค์กรนั้นได้ถูกหล่อหลอมกรอบและวิธีการในการคิดและการทำงานมาในลักษณะหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์และบริบทในการทำงานเปลี่ยนไปกรอบและวิธีการคิดเหล่านั้นก็จะไม่เหมาะสมอีกต่อไป ซึ่งบุคลากรก็ไม่สามารถที่จะหาทางออกหรือแนวทางอื่นๆ ในการคิดและทำงานได้ เนื่องจากตนเองคุ้นเคยต่อวิธีการในการทำงานแบบเดิมๆ ทำให้สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้สำเร็จภายใต้สภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป
การที่จะแก้ไขปัญหาข้างต้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายนะครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มจากการใช้บทสนทนาให้เป็นประโยชน์ครับ ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าโดยปกติแล้วเวลาท่านพูดคุยกับผู้อื่น เราส่วนใหญ่มักจะคุยกันแต่เรื่องงานทั่วๆ ไป ทีนี้เมื่อท่านผู้อ่านเผชิญปัญหาหรืองานที่หาทางออกไม่เจอ (ภายใต้กรอบแนวคิดแบบเดิมๆ) ท่านผู้อ่านลองนำประเด็นหรือปัญหาเหล่านั้นไปเป็นบทสนทนากับผู้อื่นดูซิครับ (แต่ก็ต้องเลือกด้วยนะครับว่าจะคุยกับใคร) แล้วท่านผู้อ่านจะพบว่าอาจจะได้ความคิดและแนวทางดีๆ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านสามารถคิดนอกกรอบได้ ตัวผมเองก็ใช้วิธีนี้อยู่เรื่อยๆ ครับ นั่นคือพอมีประเด็นหรือปัญหาอะไรที่คิดหรือหาทางออกไม่เจอ เวลาพบเจอใครที่คิดว่ามีความเหมาะสมก็จะนำเรื่องนั้นไปปรึกษาหารือด้วย ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่มีค่าอยู่เสมอครับ แถมผู้ที่เราเข้าไปปรึกษาก็ยินดีที่จะให้คำแนะนำด้วย เนื่องจากการถามคำถามเหล่านั้นก็เป็นการแสดงว่าเราให้ความสำคัญกับผู้ที่เราถาม ถึงแม้ว่าคำตอบที่ได้รับจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เจอ แต่ก็เป็นการเปิดโลกความคิดเราให้มองในแง่มุมใหม่ๆ เสมอครับ
นอกจากการคุยแล้วอีกวิธีหนึ่งก็คือการเพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถ และมุมมองของตนเองให้มากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านทางการอบรม การสัมมนา หรือการอ่านหนังสือ การเพิ่มทั้งความรู้ในด้านทั่วๆ ไป (General skills) และทักษะเฉพาะด้านที่ตัวท่านเองมีความเชี่ยวชาญ สามารถช่วยเพิ่มความสามารถของท่านในการแสวงหาทางเลือกและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้นอย่างไม่รู้ตัวเลยครับ ความรู้ประด็นหนึ่งที่เรามักจะละเลยก็คือความรู้เกี่ยวกับตัวองค์กรที่เราอยู่ ตรงนี้ผมไม่ได้หมายถึงประวัติขององค์กร หรือสินค้าและบริการขององค์กรเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่หมายถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม วัฒนธรรม บรรทัดฐาน แนวทางปฏิบัติต่างๆ ในองค์กร หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในองค์กร แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของบุคลากรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรครับ (หรือที่เราเรียกกันว่า Stakeholders) เนื่องจากโดยปกติเวลาเราตัดสินใจหรือมองปัญหาต่างๆ เราก็มักจะคิดและมองจากมุมมองของเราเป็นหลัก แต่การทำความเข้าใจต่อความต้องการของผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับองค์กร จะทำให้เราเข้าใจถึงกระบวนการคิดและการตัดสินใจของบุคคลเหล่านั้นมากขึ้น และสุดท้ายก็ย่อมทำให้ท่านสามารถคิดและตัดสินใจในอีกแง่มุมหนึ่งที่เป็นมุมมองของผู้อื่น และจะทำให้ท่านสามารถมีทางเลือกในการตัดสินใจที่หลากหลายขึ้น
คำแนะนำข้างต้นทั้งหมดคงจะไม่มีประโยชน์นะครับถ้าตัวเราเองเป็นผู้ที่ไม่ชอบที่จะคิดหาทางออกหรือทางเลือกใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านผู้อ่านยังพอใจและมั่นคงในกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ ก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับท่านในการคิดและหาทางเลือกใหม่ๆ ครับ