16 January 2005

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเนื้อหาเกี่ยวกับอาการ Attention Deficit Trait หรือ ADT ที่เดี๋ยวนี้จะเป็นกันมากขึ้นทุกทีมาเล่าสู่กันฟัง โดยนำมาจาก วารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคม 2548 ในบทความชื่อ Why Smart People Underperform เขียนโดย Edward M. Hallowell ซึ่งเป็นจิตแพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรคที่เกี่ยวกับสมองและสมาธิทั้งหลาย ถ้าจะให้อธิบายลักษณะอาการของผู้ที่เป็น ADT ก็คงพอจะสรุปได้ง่ายๆ ครับว่าคล้ายๆ กับโรคสมาธิสั้นที่เราพบกันทั่วไปครับ แต่ ADT นั้นไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของเซลหรือพันธุกรรม แต่มาจากความกดดันและเร่งรีบของสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่บีบบังคับให้เราต้องทำงานหลายๆ อย่างแข่งกับเวลาจนกระทั่งเราไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่งได้ มีปัญหาในการจัดระบบ จัดลำดับความสำคัญ และการบริหารเวลา ฯลฯ ก็ได้มีท่านผู้อ่านหลายท่านอีเมลมาหาผมเพื่อสอบถามถึงวิธีแก้ไขหรือรักษา ผมก็เลยขออนุญาตินำแนวทางที่คุณหมอ Hallowell แนะนำไว้ในบทความของเขามาให้เราพิจารณากันนะครับ (แต่ผมจะขอมองในแง่ของการบริหารนะครับไม่ใช่ด้านการแพทย์)

อาจจะเป็นโชคร้ายของผู้ที่มีอาการ ADT หน่อยนะครับที่มักจะถูกผู้ที่เป็นเจ้านายมองว่าปัญหาเกิดจากการขาดความพยายามในการทำงาน หรือเป็นลักษณะบุคลิกภาพของผู้นั้น พนักงานที่ไม่สามารถทำงานได้เสร็จตามกำหนดมักจะเป็นเพราะการขาดความสามารถหรือทักษะที่ดีพอ ท่านผู้อ่านลองนึกภาพนะครับว่าถ้าท่านผู้อ่านเดินเข้าไปหานายท่านแล้วบอกว่าจะขอไม่รับงานบางประการเนื่องจากงานที่เข้ามามากเหลือเกิน ส่งผลให้ท่านเป็น ADT และทำให้งานที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ผู้บังคับบัญชาของท่านจะมองว่าอย่างไร? ถ้าเป็นเจ้านายที่ไม่ค่อยเข้าใจจิตใจลูกน้องก็อาจจะหัวเราะใส่หน้าแล้วบอกว่าถ้าทำไม่ไหวก็ไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วกัน (พร้อมทั้งยื่นซองขาว) ทีนี้โจทย์ก็คือแล้วเราจะทำอย่างไรในการแก้ไขโรค ADT ดังกล่าว ทั้งในมุมมองการทำงานของเราเองและในฐานะผู้บริหารที่จะไม่ให้ลูกน้องในองค์กรเกิดโรค ADTขึ้นมา

เริ่มต้นท่านผู้อ่านจะต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าบทความนี้ไม่ใช่บทความทางการแพทย์ แต่เป็นบทความทางด้านการจัดการ ดังนั้นการรักษา ADT จึงต้องเริ่มต้นจากการทำให้สภาวะแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม รวมทั้งการมีสุขภาพกายและใจที่ดี มีแนวทางในการป้องกันและควบคุม ADT ไม่ให้เกิดขึ้นได้ดังนี้ครับ

เริ่มต้นก็คงจะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมเพื่อให้สมองของเราสามารถทำงานได้ดีที่สุดครับ และเริ่มแรกก็จะต้องทำให้สมองของเรารู้สึกดีและเป็นบวก ผลการวิจัยพบว่า ADT จะเกิดขึ้นน้อยในสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่มีการพูดคุย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เราไว้วางใจ เมื่อเราได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่เราไว้วางใจ แม้เราจะมีงานและภาระที่หนักเพียงใด แต่การที่ได้มีโอกาสคุยกับผู้ที่เราเชื่อใจและไว้ใจ ก็จะส่งผลให้สมองของเรารู้สึกดีขึ้น ในขณะเดียวกันจะพบว่าผู้ที่ทำงานในสถานที่ๆ โดดเดี่ยว ขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมักจะมีอาการของ ADT มากกว่า และถ้ายิ่งโดดเดี่ยวขาดผู้ที่จะพูดคุยด้วยเท่าไรก็จะยิ่งเครียดและมีอาการของ ADT มากขึ้นเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องหาเพื่อนคุยทุกสิบหรือยี่สิบนาทีนะครับ เขาแนะนำว่าทุกสี่ถึงหกชั่วโมง เราควรจะหาโอกาสคุยกับผู้ที่เราไว้ใจ และชอบที่จะคุยด้วย สำคัญก็คือควรจะต้องเป็นเพื่อนหรือผู้ร่วมงานที่ท่านไว้ใจและอยากจะคุยด้วยนะครับ ไม่ใช่ยิ่งคุยยิ่งเครียด การหาเพื่อนคุยด้วยทุกสี่ถึงหกชั่วโมงจะทำให้สมองเราได้พักผ่อนและมีความสุข

นอกจากจะหาทางทำให้สมองเรามีความสุขแล้ว เราก็จะต้องดูแลสมองของเราให้ดีครับ ทั้งในเรื่องของการนอน การรับทาน และการออกกำลังกาย (อ่านๆ ดูก็กลับไปพื้นฐานของชีวิตที่มีความสุขนะครับ) บางคนที่เป็น ADT มักจะนอนน้อยเพราะทำงานไม่ทัน เนื่องจากหวังว่าการที่นั่งทำงานตลอดทั้งคืนจะช่วยให้ทำงานต่างๆ ที่คั่งค้างได้ทัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผิดครับ มีหลักฐานทางการแพทย์เยอะแยะเลยครับ ที่ชี้ให้เห็นว่าการขาดการพักผ่อนที่เพียงพอเป็นรากฐานของปัญหาทางด้านการจัดการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ด้อยลง หรือ การสูญเสียความคิดสร้างสรรค์ และอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไป ซึ่งความต้องการในการนอนหลับของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไปนะครับ ไม่ได้เป็นกฎว่าทุกคนต้องนอนกี่ชั่วโมง แต่ถ้าจะนับง่ายๆ ก็คือนอนพอจนเราตื่นโดยไม่ใช้นาฬิกาปลุก

นอกจากพฤติกรรมการนอนแล้ว การรับทานก็สำคัญครับ พวกที่เป็น ADT มักจะทานคาร์โบไฮเดรดเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ระดับกลูโคสสูงๆ ต่ำๆ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการทำงานของสมองต่อ เนื่องจากสมองเราต้องการกลูโคสในระดับที่สม่ำเสมอ (ผมไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันครับ เป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับระดับน้ำตาล ระดับอินซูลิน และการทำงานของสมอง ใครทราบแจ้งด้วยนะครับ) นอกจากนั้นก็ยังมีการให้ลดการดื่มอัลกอฮอลด้วยครับ เนื่องจากถ้ามากเกินไปจะไปทำร้ายเซลสมองและนำไปสู่การสูญเสียความทรงจำ แถมในบทความดังกล่าวยังแนะนำให้กินพวกวิตามินต่างๆ ด้วยครับ (แต่ผมไม่ขอนำเสนอนะครับ เพราะเป็นเรื่องของทางการแพทย์มากกว่า)

ภายหลังจากการนอน การกินแล้วก็คงถึงการออกกำลังกาย เพราะการนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะนานๆ ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง (ใครทราบช่วยอธิบายด้วยนะครับว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น) แถมการออกกำลังกายยังทำให้ร่างกายเราผลิตสารเคมีหลายชนิดที่สมองของเราชอบไม่ว่จะเป็น endorphins, serotonin รวมถึงสารใหม่ล่าสุดที่เขาเพิ่งค้นพบครับชื่อ Brain-Derived Neurotrophic Factor (BDNF) และ Nerve Growth Factor (NGF) ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้จะช่วยทำให้สุขภาพของสมองดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาสมองเราให้อยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยมตลอดเวลา และสารทั้งสองประการนี้ก็จะมาจากการออกกำลังกายเป็นหลักครับ ถ้าง่ายๆ สุดในที่ทำงานก็เดินขึ้นลงบันไดบ้างก็น่าจะช่วยครับ อ่านๆ ดูก็เห็นด้วยนะครับ เพราะมีคนรู้จักหลายคนที่ความจำเริ่มแย่แล้ว ทั้งๆ ที่อายุยังไม่ถึงวัย แต่เป็นเพราะการขาดการออกกำลังกายนั้นเอง

ยังมีแนวทางในการป้องกันและแก้ไขโรค ADT อีกมากครับ ต้องขอมาต่อในสัปดาห์หน้านะครับ