26 September 2004

สัปดาห์นี้เราต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ นั้นคือกรณีศึกษาของบริษัทชั้นนำแห่งหนึ่งในบราซิล ชื่อ SEMCO ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วโลกถึงวิธีการบริหารที่แปลกกว่าชาวบ้านเขา แต่ก็ยังประสบความสำเร็จและขยายกิจการเรื่อยมา เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนำเสนอถึงการที่บริษัทแห่งนี้เขาอนุญาติให้พนักงานสามารถเกษียณอายุได้ตั้งแต่ช่วงหนุ่มสาว (เพื่อเอาช่วงที่ร่างกายยังแข็งแรงไปทำสิ่งที่อยากทำ) และยังสามารถกลับมาทำงานตอนอายุมากได้ด้วย (เนื่องจากช่วงนั้นมีเวลาว่างมากขึ้น) สัปดาห์นี้เรามาดูต่อถึงอีกโครงการหนึ่งของ SEMCO เขานะครับ ซึ่งเรียกได้ว่าสร้างสรรค์ไม่แพ้ที่นำเสนอในสัปดาห์ที่แล้ว โครงการนี้มีเชื่อว่า Work ‘n’ Stop หรือ การทำงานไปแล้วหยุดได้ (เป็นปีๆ ครับ)

ภายใต้โครงการนี้ พนักงานของ SEMCO สามารถหยุดงานได้ถึงสามปี เพื่อไปทำในสิ่งที่ตนเองอยากจะหรือต้องการที่จะทำ ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะคล้ายๆ กับ Sabbatical Leave ในแวดวงมหาวิทยาลัย เพียงแต่ของมหาวิทยาลัยนั้น อาจารย์สามารถลาพักได้ไม่เกินหนึ่งปี และจะต้องมีผลงานวิจัยหรือวิชาการ มานำเสนอเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการลา แต่ของ SEMCO นั้นพนักงานสามารถที่จะหยุดได้ถึงสามปี แถมไม่ต้องนำเสนอผลงานใดด้วย เพียงแต่ในช่วงลานั้น ทางบริษัทเขาจะไม่จ่ายเงินเดือนให้ แต่สิ่งที่ SEMCO ทำนั้นก็คือถ้าพนักงานต้องการที่จะใช้สิทธิ์นี้ทางบริษัทก็จะหักเงินเดือนบางส่วนของพนักงานไว้ และเมื่อพนักงานสะสมได้จำนวนหนึ่งที่พอจะครอบคลุมการดำรงชีวิตในช่วงที่พนักงานลาหยุดได้ บริษัทก็จะจ่ายเงินก้อนนี้ให้พนักงาน เพื่อให้หยุดได้ตามที่ต้องการ เรียกได้ว่าบริษัททำหน้าที่เป็นธนาคารไว้ให้กับพนักงาน เพื่อสะสมเงินไว้สำหรับการหยุดพักผ่อนของพนักงาน

ทีนี้ท่านผู้อ่านคงสงสัยนะครับว่าถ้าในช่วงที่พนักงานลาหยุด บริษัทจะหาคนมาทำงานได้อย่างไร และพนักงานที่ลาหยุดจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากลับมาแล้วยังมีงานให้ทำอยู่? ที่ SEMCO จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนกับ Internal Headhunter เพื่อหาพนักงานภายในบริษัท ที่พร้อมและอยากจะมาทำงานชั่วคราว ในตำแหน่งที่ได้มีผู้ลาหยุดไป ซึ่งถ้าสามารถหาพนักงานจากภายในบริษัทมาทำแทนได้ โอกาสที่พนักงานที่หยุดพัก จะได้กลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมก็เป็นไปได้สูงครับ ในขณะเดียวกันถ้าไม่สามารถหาพนักงานจากภายในมาทำงานแทนได้ ก็จะต้องหาพนักงานใหม่จากภายนอกเข้ามาแทนที่ ซึ่งถ้าเป็นกรณีดังกล่าว โอกาสที่พนักงานที่ลาหยุดไป จะได้กลับมาทำที่เดิมก็น้อยลงครับ แต่ก็ไม่ต้องห่วงนะครับ เนื่องจากที่บริษัท SEMCO เขาไม่ทอดทิ้งพนักงานครับ เนื่องจากยังไงบริษัทก็หาที่ลงให้กับพนักงานจนได้

โครงการ Work ‘n’ Stop ของ SEMCO ทำให้พนักงานสามารถสร้างความสมดุลทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ในขณะเดียวกันเมื่อพนักงานกลับเข้ามาทำงานที่บริษัทอีกครั้งหนึ่งก็จะทำให้บริษัทได้พนักงานที่สดใส กระตือรือร้นและพร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มที่ และส่งผลให้อัตราการลาออกของพนักงานลดน้อยลง เป็นอย่างไรครับโครงการ Work ‘n’ Stop ไม่ทราบว่าพอจะนำมาใช้ในบริษัทในไทยได้หรือไม่

นอกจากโครงการ Work ‘n’ Stop แล้ว บริษัท SEMCO ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในเรื่องของการพัฒนาพนักงานอีกด้วยครับ บริษัทจะมีการจัดสรรงบประมาณประมาณหนึ่งในสามของรายได้ เพื่อการพัฒนาและอบรม และเปิดโอกาสให้พนักงานแต่ละคนสามารถบริหารการอบรมและเส้นทางอาชีพของตนเองได้ เนื่องจากพนักงานแต่ละคนจะได้รับการจัดสรรงบประมาณในการอบรมและพัฒนาที่แตกต่างกัน (ตามงานของแต่ละคน) และพนักงานสามารถนำงบประมาณนั้นไปเลือกซื้อโปรแกรมการอบรมและพัฒนาได้จากเมนูการอบรมและพัฒนาที่บริษัทจัดไว้ให้ เพราะฉะนั้นพนักงานของ SEMCO จึงมีอิสระในการเลือกสิ่งที่ตนเองอยากจะอบรมและพัฒนา โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามสิ่งที่บริษัทกำหนดหรือต้องการ แต่พนักงานเองก็จะต้องมั่นใจด้วยว่าตนเองมีทักษะและความสามารถที่เพียงพอที่จะทำงานในหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีคุณภาพ แนวคิดในลักษณะนี้มุ่งเน้นที่ตัวผลงานนะครับ นั้นคือถ้าพนักงานมีทักษะและความสามารถอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปอบรมเพิ่มเติมในงานของตัวเองให้เสียเวลา แต่การไปอบรมในสิ่งที่พนักงานผู้นั้นต้องการ (เช่น ภาษา คอมพิวเตอร์ บุคลิกภาพ หรือแม้กระทั่งการแต่งหน้า) ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์กับบริษัทมากกว่า แต่ก็ต้องอย่าลืมนะครับว่าทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพนักงานสามารถทำงานตามหน้าที่ของตนเองได้ดีอยู่แล้ว

ท่านผู้อ่านจะสังเกตว่าที่ SEMCO เขาถือว่าพนักงานทุกคนเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ ดังนั้นตัวพนักงานแต่ละคนจึงจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าตนเองมีความต้องการในการอบรมและพัฒนาในเรื่องอะไรบ้าง แถมการเลือกโปรแกรมการอบรมในลักษณะดังกล่าวยังเปิดเผยให้เห็นถึงความสนใจที่แท้จริงของพนักงานอีกด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็กลายเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับบริษัท

แนวคิดและปรัชญาการบริหารหลายๆ ประการของ SEMCO เขาน่าสนใจมากครับ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านในการนำไปปรับใช้บ้างนะครับ แต่จะให้นำไปใช้เหมือนกันทั้งหมดคงลำบากครับ อ่านตัวอย่างบริษัทเขาก็ทำให้นึกอยากจะไปดูงานที่บริษัทเขาจริงๆ นะครับว่า ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ ในทางปฏิบัติเป็นไปได้อย่างไร