28 September 2003
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอเนื้อหาจากบทความ What Business Needs from Business Schools ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่ภาคธุรกิจของอเมริกาต้องการจากหลักสูตร MBA และได้ทิ้งท้ายไว้ว่าในสัปดาห์นี้เราจะมาพิจารณาลำดับของหลักสูตร MBA ในทวีปเอเชีย ที่จัดโดยนิตยสาร Asia Inc. ฉบับเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในอดีตเมื่อเรานึกถึงการจัดลำดับสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจในทวีปเอเชียเราก็มักจะนึกถึงนิตยสารอยู่สองฉบับได้แก่ Asia Inc. ที่ได้มีการจัดลำดับกันมาตั้งแต่ปี 1995 กับนิตยสาร Asia Week ซึ่งนิตยสารฉบับหลังได้พับฐานไปเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเอเชีย ทำให้เหลือเพียงแค่ Asia Inc. อยู่เพียงเจ้าเดียวเท่านั้นที่เราจะดูได้ เมื่อใดก็ตามที่มีการจัดลำดับสถาบันการศึกษา คำถามแรกที่มักจะอยู่ในใจของทุกคนก็คือ อะไรคือเกณฑ์ที่ใช้ในการจัด ซึ่งย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ทุกคนเห็นด้วยกับเกณฑ์ที่จัดขึ้น เนื่องจากคงจะไม่มีเกณฑ์ที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก เรามาลองดูเกณฑ์ของ Asia Inc. กันนะครับ ทางนิตยสาร Asia Inc. ได้จัดลำดับของ MBA ในเอเชียโดยดูจากเกณฑ์ใหญ่ๆ สามด้าน ได้แก่ Peer Ranking Reputation หรือการจัดลำดับของเพื่อนร่วมวิชาชีพ ซึ่งในส่วนนี้คิดเป็นร้อยละ 20 ของทั้งหมด คะแนนในส่วนนี้ได้มาจากการสอบถามคณบดีของสถาบันการศึกษาทางด้าน MBA ให้จัดลำดับสถาบันอื่นๆ โดยไม่รวมสถาบันของตัวเอง วิธีนี้ดูเหมือนจะดี แต่ก็เป็นวิธีที่อาจจะมีความลำเอียงหรือไม่เที่ยงตรงเกิดขึ้นเยอะ เนื่องจากเป็นไปได้ยากที่คณบดีของทุกสถาบัน จะรู้จักสถาบันอื่นได้ดีพอที่จะจัดลำดับได้
คะแนนส่วนที่สองนั้นมาจากคุณภาพของสถาบันและคณาจารย์ในสถาบัน (School and Faculty Quality) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 45 ของคะแนนทั้งหมด โดยในส่วนที่สองนี้ยังแบ่งได้ออกเป็นหลายๆ ตัววัด ไม่ว่าจะเป็น จำนวนอาจารย์เต็มเวลา สัดส่วนของอาจารย์ที่สอนทางด้าน MBA ต่อบุคลากรทั้งหมด สัดส่วนของอาจารย์ที่มีวุฒิปริญญาเอก สัดส่วนของอาจารย์ที่มีประสบการณ์ในการสอนเกิน 10 ปี (หรือประสบการณ์ในระดับบริหาร) และสัดส่วนของอาจารย์ต่อนิสิต คะแนนในส่วนนี้ค่อนข้างที่จะวัดออกมาได้อย่างชัดเจน สามารถสะท้อนคุณภาพของสถาบันและอาจารย์ได้ในระดับหนึ่ง และสถาบันการศึกษาจำนวนมากในเมืองไทยเองก็ใช้ตัววัดเหล่านี้เป็นเกณฑ์ในการประเมินทางด้านคุณภาพของสถาบัน คะแนนส่วนสุดท้ายมาจากคุณภาพของผู้เรียน (Student Quality) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35 ของคะแนนทั้งหมด คะแนนในส่วนนี้ก็ได้มากจากตัววัดย่อยหลายๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็น จำนวนนักศึกษาในแต่ละชั้นปี คะแนน GMAT เฉลี่ย สัดส่วนของเพศชายและหญิง ความหลากหลายของนักศึกษาจากต่างประเทศ และประสบการณ์ในการทำงานของผู้เรียน ถ้าท่านผู้อ่านได้ติดตามการจัดลำดับของสถาบันการศึกษาด้าน MBA ในอเมริกา ก็จะพบว่าเกณฑ์ที่ใช้ในส่วนนี้ก็จะคล้ายๆ กัน
การจัดลำดับในปีนี้ทาง Asia Inc. ได้ส่งแบบสอบถามเพื่อขอข้อมูลออกไปจำนวนมาก แต่มีเพียงแค่ 57 สถาบันเท่านั้นเองที่ทาง Asia Inc. ได้รับข้อมูลกลับมา และจาก 57 สถาบันที่ส่งข้อมูลตอบมา ได้รับการจัดลำดับเพียง 47 สถาบันเท่านั้นเอง เนื่องจากทาง Asia Inc. ได้ตัดสถาบันที่ไม่ได้เปิดสอน MBAแบบเต็มเวลาออกไป การได้รับข้อมูลตอบกลับมาเพียงแค่ 57 สถาบัน อาจจะเป็นช่องโหว่อย่างหนึ่งในการจัดลำดับในปีนี้ก็ได้ เนื่องจากหลายๆ สถาบันการศึกษาอาจจะสามารถบอกได้ว่าสาเหตุที่ตนเองไม่ได้อยู่ในรายชื่อการจัดลำดับในครั้งนี้ไม่ใช่เพราะไม่มีคุณภาพ แต่เป็นเพราะไม่ได้ส่งข้อมูลไปให้ทาง Asia Inc. ต่างหาก สำหรับสถาบันการศึกษาในไทยนั้นมีรายชื่ออยู่เพียงแค่ 2 ชื่อจากทั้งหมด 47 ชื่อเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าสถาบันอื่นๆ ไม่ได้ส่งข้อมูลไปให้กับทาง Asia Inc. และอาจจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการจัดลำดับในครั้งนี้ได้
นอกจากนี้ดูเหมือนว่าในการจัดลำดับในครั้งนี้ทาง Asia Inc. ไม่ต้องการให้ตนเองถูกตกเป็นเป้าวิจารณ์มากนัก ดังนั้นในปีนี้ทาง Asia Inc. จึงไม่ได้ฟันธงลงมาอย่างชัดเจนว่าในภูมิภาคเอเชียแล้วใครเป็นที่หนึ่ง สอง สาม…… เหมือนที่ทำมาในอดีต แต่จะมีการคัดเลือกสถาบันการศึกษาในเอเชียมา 15 แห่งที่ถือเป็นสุดยอดของเอเชีย และทั้ง 15 แห่งนี้ทาง Asia Inc. ได้ระบุว่าสามารถเทียบชั้นได้กับสถาบันการศึกษาทาง MBA ชั้นนำอื่นๆ ของโลก โดยในสถาบันทั้ง 15 แห่งนี้ประกอบไปด้วย (เรียงตามลำดับตัวอักษร) 1) Asian Institute of Management (AIM) ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นสถาบันที่เปิดสอนทางด้าน MBA ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย 2) Australian Graduate School of Management (AGSM) The University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดของออสเตรเลีย และผู้ที่จบจากที่นี้มักจะไปทำงานยังองค์กรชั้นนำของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเป็นที่ปรึกษา 3) Faculty of Business and Economics, The University of Hong Kong เป็นสถาบัน MBA ที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักน้อยที่สุดในสถาบันชั้นนำของฮ่องกง แต่มุ่งเน้นในด้านของงบประมาณวิจัยมาก 4) Graduate School of International Management, International University of Japan (IUJ) ถือเป็นสถาบันที่สอน MBA ที่ใช้ภาษาอังกฤษที่มีชื่อมากที่สุดของญี่ปุ่น 5) Indian Institute of Management (IIM), Ahmedabad ประเทศอินเดีย ถือเป็นสถาบันอันดับหนึ่งของประเทศอินเดีย เป็นสถาบันที่เข้ายากมาก เนื่องจากอัตราการรับเข้าอยู่ที่ 0.2% เอง จนมีคำกล่าวที่ว่าถ้าเข้า Ahmedabad ไม่ได้ให้ไปลองเข้าHarvard แทน 6) Indian Institute of Management (IIM), Bangalore ประเทศอินเดีย ถือเป็นสถาบันอันดับสองของอินเดีย และเนื่องจากตั้งอยู่ในเขต Bangalore ทำให้ผู้ที่จบที่นี้เป็นผู้ที่หมายปองของบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลาย 7) INSEAD Singapore แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาทำตลาดของสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกในทวีปเอเชีย
8) Macquarie Graduate School of Management, Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย เป็นสถาบันการศึกษาของออสเตรเลียที่ขยายเครือข่ายออกมาทั้งที่ฮ่องกงและสิงค์โปร์ 9) Faculty of Business Administration, The Chinese University of Hong Kong ถือเป็นสถาบันอันดับหนึ่งของฮ่องกง และเป็นสถาบันแรกๆ ที่ได้รับการรับรองจาก AACSB ซึ่งเป็นสถาบันรับรองด้านการเรียนการสอน MBAของอเมริกา 10) Melbourne Business School, The University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย 11) Monash MBA Program, Monash University ประเทศออสเตรเลีย เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในออสเตรเลีย มีนักศึกษาจากต่างประเทศไปเรียนกันมาก 12) Mt. Eliza Business School ประเทศออสเตรเลีย อาจจะไม่คุ้นหูสำหรับคนไทยเท่าใด แต่ก็ได้รับการรับรองจาก AACSB เช่นเดียวกับสถาบันชั้นนำอื่นๆ 13) Nanyang Business School, Nanyang Technology University ประเทศสิงค์โปร์ มักเป็นที่นิยมของคนเชื้อสายจีน และค่อนข้างที่จะมุ่งเน้นงานวิจัยไปที่ประเทศจีน 14) NUS Business School, National University of Singapore เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงมากของสิงค์โปร์ และเป็นสถาบันแห่งแรกในภูมิภาคนี้ที่ได้รับการรับรอง AACSB 15) School of Business and Management, Hong Kong University of Science and Technology ถือเป็นสถาบันที่ค่อนข้างใหม่ในเอเชีย แต่ก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่าทั้ง 15 สถาบันการศึกษาที่ทาง Asia Inc. ได้จัดลำดับว่าถือว่าอยู่ในระดับโลกนั้นไม่มีสถาบันของไทยอยู่เลย ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นสถาบันจากออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงค์โปร์ และอินเดีย ส่วนฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นนั้นมีตัวแทนอยู่เพียงประเทศละหนึ่งสถาบันเท่านั้นเอง อย่างไรก็ดีในปีนี้ทาง Asia Inc. ได้ทำแปลกอีกเหมือนกัน คือแทนที่จะจัดลำดับของทั้งทวีป ก็ได้เลือกที่เป็นชั้นนำระดับโลกมาเพียงแค่ 15 สถาบัน ส่วนการจัดลำดับนั้นทางวารสาร Asia Inc. ได้จัดแยกตามภูมิภาคต่างๆ โดยแยกออกเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และเอเชียใต้ เรามาดูลำดับเฉพาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วกันนะครับ เรียงตามลำดับแล้วได้ดังนี้ 1) NUS Business School, National University of Singapore 2) INSEAD Singapore 3) Nanyang Business School, Nanyang Technology University 4) Asian Institute of Management (AIM) 5) Sasin 6) NIDA 7) Graduate School of Management, Universiti Putra Malaysia และ 8) International Business School, Universiti Teknologi Malaysia
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นนะครับว่าสถาบันด้าน MBA ของไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 5 และ 6 ได้แก่ศศินทร์และนิด้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสถาบันอื่นไม่มีคุณภาพนะครับ ผมเองคิดว่าคงมีสถาบันอีกหลายแห่งในไทยที่ไม่ได้ส่งข้อมูลไปให้กับทาง Asia Inc. ถ้าดูจากข้อมูลที่ให้มาความแตกต่างระหว่าง สถาบันของไทยทั้งสองแห่งและสถาบันชั้นนำอื่นๆ ของเอเชียนั้นอยู่ที่ปัจจัยหลายๆ ประการครั้บ ไม่ว่าจะเป็นอายุเฉลี่ยและประสบการณ์ในการทำงานของนักศึกษา เพราะถ้าดูสถาบันอื่นๆ ที่มีอันดับที่เหนือกว่าของภูมิภาคนี้เทียบกับศศินทร์และนิด้าแล้ว จะพบว่าสถาบันอื่นๆ นั้น จะมีประสบการณ์ในการทำงานเฉลี่ยแล้วห้าปีขึ้นไป แต่ของศศินทร์นั้นอยู่ที่สามปี และของนิด้าอยู่ที่ 2 ปี ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วไปในเมืองไทยที่ผู้ที่เรียนหลักสูตร MBA แบบเต็มเวลานั้นส่วนใหญ่มักจะมีประสบการณ์ในการทำงานที่ยังน้อยอยู่ อีกประเด็นหนึ่งนั้นได้แก่คะแนน GMAT ที่สถาบันที่มีอันดับที่ดีกว่า มีคะแนน GMAT เฉลี่ยอยู่ที่ 650 ขึ้นไป แต่ของศศินทร์นั้นอยู่ที่ 554 และของนิด้าอยู่ที่ 510 และประเด็นสุดท้ายคงจะอยู่ที่สัดส่วนระหว่างนักศึกษากับอาจารย์เต็มเวลา เพราะดูจากของสถาบันที่มีอันดับดีกว่าแล้วมีสัดส่วนของอาจารย์ประจำ 1 คนต่อนักศึกษาไม่เกิน 10 คน ส่วนของศศินทร์และนิด้านั้นอยู่ที่ประมาณ 14 คน
ข้อมูลที่ได้ในสัปดาห์นี้ผมนำมาจากนิตยสาร Asia Inc. ฉบับเดือนสิงหาคม ถ้าท่านผู้อ่านสนใจที่จะหารายละเอียดเพิ่มเติม คงจะต้องหาจากเว็บไซต์ของเขาที่ www.asia-inc.com ซึ่งเมื่ออ่านรายละเอียดแล้วท่านผู้อ่านจะพบว่าในปัจจุบันการเรียน MBA ในเอเชียถือได้ว่ามีคุณภาพไม่แพ้ในอเมริกาหรือยุโรป แถมอาจจะดีกว่าด้วยในด้านของงบประมาณที่ไม่สูง มีเครือข่ายของคนในเอเชียด้วยกัน และหลักสูตรหลายๆ แห่งก็พยายามที่จะปรับให้เข้ากับการดำเนินธุรกิจของภูมิภาคนี้ แต่ข้อมูลของ Asia Inc. ก็เป็นเพียงแค่ข้อมูลด้านหนึ่งเท่านั้นนะครับ