12 October 2003
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมซื้อมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่เพิ่งมีโอกาสได้อ่านเมื่อไม่นานมานี้ เขียนโดย Thomas Davenport (หนึ่งในอาจารย์จากต่างประเทศที่ถูกเชิญมาสอนผู้ว่าฯ CEO) และLaurence Prusak ชื่อ What’s the Big Idea ซึ่งนำเสนอถึงการนำไอเดียหรือแนวคิดทางการจัดการใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาใช้ภายในองค์กร ดูเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากในปัจจุบันเป็นยุคที่เครื่องมือและแนวคิดทางการจัดการใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา จนอาจจะเรียกได้ว่ารายเดือนกันทีเดียว มีเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ที่ผมชอบและคิดว่าน่าสนใจ เลยอยากจะขอนำมาฝากท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้ โดยเป็นเนื้อหาที่ผู้เขียนทั้งสองท่านได้วิเคราะห์ถึงต้นกำเนิดของผู้รู้หรือกูรูทางด้านการจัดการต่างๆ
ผมเองจำได้ว่าได้เคยเขียนเกี่ยวกับผู้รู้ทางด้านการจัดการ (หรือที่เราเรียกกันว่ากูรู: Guru) ผ่านทางผู้จัดการรายสัปดาห์ไปหลายครั้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดลำดับกูรูทางด้านการจัดการที่สำคัญของโลก รวมทั้งอุตสาหกรรมกูรูว่าสามารถทำเงินให้กับผู้ที่เป็นกูรูแต่ละด้านมากแค่ไหน ถ้าท่านผู้อ่านสนใจคงต้องลองกลับไปค้นผู้จัดการรายสัปดาห์เล่มเก่าๆ ดูนะครับ แนวคิดหรือเครื่องมือทางด้านการจัดการใหม่ๆ ย่อมยากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าขาดผู้ที่เราเรียกว่ากูรู (บางทีคนไทยชอบเรียกแบบแผลงๆ เป็น “กูรู้” ก็มีครับ) ซึ่งกูรูเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการพัฒนาแนวคิดต่างๆ ที่น่าสนใจรวมทั้งทำหน้าที่ในการเผยแผ่แนวคิดเหล่านี้ให้คนอื่นได้รับรู้ ดูเผินๆ ก็อาจจะมองได้ว่ากูรูเหล่านี้ก็เหมือนกับผู้นำในปรัชญาหรือศาสนา ที่คิดค้นปรัชญาหรือหลักการใดก็แล้วแต่ จะต้องเผยแพร่แนวคิดนั้นให้กว้างไกลไปด้วย จริงๆ แล้วก็ต้องเรียกว่าองค์กรธุรกิจเองก็เป็นหนี้กูรูเหล่านี้พอสมควร เนื่องจากถ้าไม่มีกูรูเหล่านี้แล้ว แนวคิดหรือเครื่องมือทางการจัดการที่องค์กรเหล่านี้นำไปใช้จนรุ่งเรืองก็คงจะไม่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่เวลาเรานึกถึงกูรูเหล่านี้แล้ว เรามักจะนึกถึงผู้ที่เก่งกาจ มีความชาญฉลาด สามารถสอนหนังสือหรือเขียนหนังสือให้สามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางคนมองกลับกันว่ากูรูเหล่านี้พยายามนำเสนอสิ่งที่อ่านหรือฟังไม่รู้เรื่อง และเป็นเรื่องที่ไกลตัว ยากที่จะจับต้องและทำความเข้าใจได้
ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้อ่านบทความที่ผมเคยนำเสนอเกี่ยวกับกูรู หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับกูรูเหล่านี้อาจจะงงก็ได้นะครับว่ากูรูเหล่านี้มีใครบ้าง ผมเลยขออนุญาตยกตัวอย่างก่อนนะครับ บุคคลที่ถือเป็นกูรูแรกๆ ทางการจัดการได้แก่ Frederick W. Taylor ซึ่งเราเรียกว่าเป็นบิดาของการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ หรือคนที่เรารู้จักกันก็เช่น Michael E. Porter ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ที่เพิ่งมาเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้ หรือ W. Edwards Deming บิดาของระบบคุณภาพ หรือ Michael Hammer ผู้ที่คิดค้นแนวคิดด้านReengineering หรือ Peter Drucker ที่ถือเป็นปรมาจารย์ทางด้านการจัดการ
จริงๆ แล้วคงยากที่จะระบุว่ากูรูทางด้านการจัดการเหล่านี้เป็นผู้ที่คิดค้นแนวคิดทางการบริหารขึ้นมาจริงๆ เพราะถ้าท่านผู้อ่านสังเกตดูให้ดีๆ จะพบว่าสิ่งที่กูรูเรียกว่าเป็นแนวคิดหรือเครื่องมือใหม่นั้น จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีความใหม่แต่ประการใด เพียงแต่เป็นการนำสิ่งที่มีหรือได้ปฏิบัติกันอยู่แล้วมาเรียกชื่อใหม่ มีองค์ประกอบใหม่ นำมาจัดเรียงใหม่ แนวคิดทางการบริหารที่เรียกกันว่าใหม่ในปัจจุบันจะต้องได้รับอิทธิพล มีผลกระทบ หรือเกิดจากการพัฒนาของแนวคิดเดิมที่เคยมีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่นแนวคิดเกี่ยวกับ CRM (Customer Relationship Management) ที่เป็นที่ตื่นตัวกันอย่างมากในปัจจุบัน จริงๆ แล้วก็สามารถแตกออกได้เป็นสองแนวคิดใหญ่ๆ คือการมุ่งเน้นที่ลูกค้า (Customer Focus) และการทำความรู้จักลูกค้าให้ดีขึ้น ซึ่งทั้งสองแนวคิดถือว่าเป็นแนวคิดที่มีมานานและจะมีไปอีกนานแสนนาน เพียงแต่เราจะนำสองแนวคิดนี้มาประกอบกันอย่างไร มีส่วนประกอบอะไรเพิ่มเติมบ้าง และเรียกชื่อมันอย่างไร ดังนั้นอาจจะเรียกได้ว่าแนวคิดการบริหารที่กูรูเหล่านี้พัฒนาขึ้น ก็คือการนำเอาองค์ประกอบเดิมๆ ที่มีอยู่มาเรียงประกอบใหม่ เปลี่ยนส่วนผสมขององค์ประกอบ แล้วเรียกชื่อใหม่ ซึ่งก็เหมือนกับการคิดอาหารสูตรใหม่ที่อย่างไรเราก็ใช้ส่วนผสมเดิมๆ เพียงแต่นำส่วนผสมเหล่านั้นมาประกอบใหม่ ใส่ส่วนผสมใหม่ๆ เข้าไป แล้วเรียกชื่อเสียใหม่
ท่านผู้อ่านอาจจะคิดว่าถ้าอย่างนั้นกูรูเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำประโยชน์อย่างไรให้กับวงการบริหารเลย จริงๆ แล้วคงจะไม่ใช่นะครับ เนื่องจากกูรูเหล่านี้สามารถนำสิ่งที่เรารู้หรือเคยทำกันมา แล้วมาจัดองค์ประกอบให้เหมาะสม จากนั้นจึงได้นำเสนอให้อยู่ในรูปที่ผู้บริหารสามารถที่จะเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างง่าย เคยมีคนถามผมอยู่บ่อยๆ เหมือนกันครับว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นกูรูทางการบริหารธุรกิจ หรืออะไรคือคุณสมบัติที่เหมือนๆ กันของผู้ที่จะเป็นกูรูบ้าง เมื่อได้ศึกษาและสังเกตผู้ที่เป็นกูรูทางด้านบริหารแต่ละท่านแล้วไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการ หรือผู้บริหารองค์กรธุรกิจต่างมีกิจกรรมหรือสิ่งที่ทำเหมือนๆ กันได้แก่ การวิจัยบ้าง การเขียนหนังสือหรือบทความบ้าง การพูด สอน หรือนำการสัมมนาบ้าง และการให้คำปรึกษาแก่องค์กรธุรกิจบ้าง ผู้ที่เป็นกูรูเหล่านี้มักจะเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด และในขณะเดียวกันก็มักจะทำงานเป็นทีมหรือหมู่คณะ ถ้าพอจะสรุปสิ่งที่กูรูเหล่านี้ทำให้เป็นระบบ ก็คงจะบอกได้ว่าหนีไม่พ้นกระบวนการในการมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรธุรกิจ จากนั้นจะผ่านกระบวนการในการคิดเพื่อให้สิ่งที่ได้รับมาได้ตกผลึก หรือออกมาเป็นระบบและรูปร่างที่ชัดเจน จากนั้นจะต้องมีการเขียนหนังสือหรือบทความเพื่อเผยแพร่ในสิ่งที่ตนเองคิดได้ และสุดท้ายมีการนำเสนอสิ่งที่ตนเองคิดนั้นผ่านทางการสัมมนา การสอน อาจจะบอกได้เลยว่าผู้ที่จะเป็นกูรูได้นั้นจะต้องมีทักษะในการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือการพูดที่ดี มิฉะนั้นจะไม่สามารถสื่อในสิ่งที่ตนเองได้คิดขึ้นมาให้ผู้บริหารได้รับทราบ
ทีนี้เราลองมาดูรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนนิดหนึ่งนะครับ อย่างแรกผู้ที่จะเป็นกูรูได้ บุคคลเหล่านี้จะต้องมีการสื่อสารหรือปฏิสัมพันธ์กับองค์กรธุรกิจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก่อน ไม่ว่าจะเป็นการทำวิจัย การให้คำปรึกษา หรือแม้กระทั่งประสบการณ์ในการบริหาร เนื่องจากว่าองค์กรธุรกิจเหล่านี้จึงจะเป็นแหล่งเบื้องต้นของความคิดต่างๆ ที่กูรูเหล่านี้มี ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูตามหนังสือที่พวกกูรูเหล่านี้เขียนดูซิครับ จะเห็นว่าทุกเล่มจะต้องมีการอ้างอิงหรือยกกรณีศึกษาขององค์กรธุรกิจต่างๆ ขึ้นมาทั้งสิ้น จริงๆ แล้วผมเองค่อนข้างเชื่อด้วยซ้ำไปว่ากูรูบางคนไม่ได้คิดแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมาเองหรอกครับ เพียงแต่เขาเหล่านั้นสามารถนำเอาสิ่งที่องค์กรธุรกิจทำอยู่ แล้วนำมาเรียบเรียงแล้วใส่ชื่อเสียใหม่ เพื่อให้อธิบายได้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้นเอง โดยที่องค์กรที่เป็นองค์กรต้นแบบอาจจะไม่รู้ตัวซักนิดหนึ่งก็ได้ว่าตนเองได้ทำอะไรลงไป เราอาจจะบอกได้เลยว่าแนวคิดทางการบริหารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างภาคธุรกิจกับกูรู มากกว่าที่กูรูจะนั่งคิดอยู่ในที่ทำงานออกมาได้คนเดียว มีการเปรียบเปรยกูรูทั้งหลายว่าต้องมีลักษณะเหมือนเป็นนักข่าวที่ดี นั้นคือไปได้ยินหรือเห็นอะไรมาบางอย่างที่องค์กรธุรกิจเขาทำและน่าสนใจ จากนั้นอาจจะมีการเรียบเรียง ขยายความในสิ่งที่เห็นนั้นเสียใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของคนอื่น แล้วออกมาเป็นแนวคิดใหม่ของตนเอง
นอกจากการต้องไปสัมผัสกับองค์กรธุรกิจจริงๆ แล้ว กูรูจะต้องสามารถเขียน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ บทความในวารสารวิชาการ บทความในหนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ในสิ่งที่ตนคิดค้นขึ้นมาให้แพร่หลายหรือเป็นที่รับรู้มากขึ้น แนวโน้มหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็คือหนังสือหรือสื่อเหล่านี้นับวันแต่จะมีมากขึ้น ท่านผู้อ่านลองสำรวจแผงหนังสือดูซิครับ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทพอกเก็ตบุคส์ทางด้านการบริหาร หรือวารสารรายเดือนที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วผมจำได้ว่ามีอยู่เพียงฉบับหรือสองฉบับเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันมีเต็มไปหมดจนไม่รู้ว่าจะเลือกอ่านอะไร ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นในอเมริกามานานพอสมควรแล้ว ในอดีตถ้าอยากจะเป็นกูรู เพียงแค่เขียนและได้ตีพิมพ์งานเขียนของตนเองในวารสาร Harvard Business Review ซักสองครั้งก็ค่อนข้างที่จะรับรองความเป็นกูรูได้แล้ว แต่ในปัจจุบันจะไม่ใช่เนื่องจากมีงานเขียนและสื่อต่างๆ ให้ผู้อ่านได้เลือกมากขึ้น
การเขียนอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะเป็นกูรู ผู้ที่จะเป็นกูรูทั้งหลายจะต้องไปพูดในสิ่งที่ตนเองคิดค้นให้คนอื่นเขาฟัง ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา การประชุมทางวิชาการ การอบรมให้กับองค์กรต่างๆ ในต่างประเทศเองจะมีงานสัมมนาพวกนี้เยอะมาก และในทุกๆ งานก็ต้องการเนื้อหาที่จะนำเสนอ ดังนั้นงานสัมมนาต่างๆ จึงเป็นเวทีอย่างดีสำหรับผู้ที่จะเป็นกูรูที่ได้มีโอกาสเปิดตัวเองให้กับสาธารณชนมากขึ้น แถมยังมีโอกาสที่ดีในเรื่องของรายได้อีกด้วย
เป็นอย่างไรบ้างครับคุณสมบัติของการเป็นกูรู ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านอยากจะเป็นบ้างไหม สำหรับในเมืองไทยเอง เรียกได้ว่าหากูรูจริงๆ ยากพอสมควร เนื่องจากในไทยเองเรายังรับเอาแนวคิดหรือหลักการในการบริหารธุรกิจจากต่างประเทศมาใช้และเผยแพร่อยู่ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการค้นคว้าหรือพัฒนาขึ้นมาเองให้เหมาะสมกับลักษณะและวัฒนธรรมของไทย เท่าที่ผมมองเห็นว่าผู้ที่จะเป็นกูรูในการบริหารของเมืองไทยได้มักจะมาจากผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของธุรกิจต่างๆ มากกว่า เนื่องจากท่านเหล่านั้นได้นำเอาเคล็ดลับหรือเทคนิคในการบริหารองค์กรของท่านมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้รับทราบ แต่ก็เรียกได้ว่ายังเป็นเพียงกูรูในระดับประเทศเท่านั้น เนื่องจากการเผยแพร่และยอมรับยังอยู่ในระดับประเทศ