
17 August 2003
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อการบริหารจัดการมากขึ้น จนเรามักจะได้ยินว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันแก่องค์กร อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงกันพอสมควร ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนพฤษภาคมได้มีบทความหนึ่งชื่อ IT Doesn’t Matter เขียนโดย Nicholas G. Carr ได้สร้างกระแสการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในเรื่องความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งบทความนี้พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันอีกต่อไป แต่เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานที่องค์กรจะต้องมีเท่านั้น จากเนื้อหาดังกล่าวทำให้มีทั้งบทความและการสัมภาษณ์จากผู้บริหารระดับสูงในวงการ IT และนักวิชาการที่แสดงทั้งการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจพอสมควรนะครับ ในสัปดาห์นี้เราจะมาดูรายละเอียดของเนื้อหาในบทความนี้กัน พร้อมทั้งจะพาท่านผู้อ่านไปดูความคิดเห็นของผู้อื่นที่ทั้งคัดค้านและสนับสนุนต่อบทความนี้
บทความ IT Doesn’t Matter พยายามที่จะนำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้เป็นทรัพยากรทางกลยุทธ์ (Strategic Resources) เฉกเช่นในอดีต เนื่องจากปัจจัยใดก็ตามจะเป็นทรัพยากรทางกลยุทธ์ได้ก็ต่อเมื่อปัจจัยนั้นยากที่จะลอกเลียนแบบ และก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่องค์กรสามารถที่จะหาซื้อมาได้เหมือนๆ กันหมด และไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกต่างในเชิงกลยุทธ์ ผู้เขียนบทความนี้ได้ชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศมีลักษณะเหมือนกับเทคโนโลยีประการอื่นๆ ในอดีตไม่ว่าจะเป็นไอน้ำ รถไฟ โทรเลข โทรศัพท์ หรือพลังงานไฟฟ้า ที่ในช่วงแรกของพัฒนาการ เทคโนโลยีเหล่านั้นยังไม่ได้แพร่หลายและเป็นเทคโนโลยีเฉพาะขององค์กรแต่ละแห่ง ยากที่คู่แข่งขันจะลอกเลียนแบบได้ ดังนั้นถือได้ว่าช่วงแรกของพัฒนาการของเทคโนโลยี เทคโนโลยีเหล่านี้ยังถือเป็นทรัพยากรทางกลยุทธ์ที่ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันอยู่ แต่เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทุกองค์กรมีสิทธิ์และสามารถที่จะแสวงหาเทคโนโลยีนั้นมาใช้ เทคโนโลยีเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันอีกต่อไป แต่เป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถที่จะแสวงหามาได้
เทคโนโลยีสารสนเทศเองก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ข้างต้น ที่ในระยะแรกเทคโนโลยีสารสนเทศยังเป็นทรัพยากรทางกลยุทธ์ และองค์กรสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขัน แต่เมื่อองค์กรต่างๆ ได้มีการแข่งขันลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศได้มีการแพร่กระจายไปแพร่หลายมากขึ้น และเริ่มที่จะกลายเป็นทรัพยากรพื้นฐาน (Commodity Resources) ที่ทุกองค์กรจะต้องมี เนื่องจากในช่วงหลังองค์กรต่างๆ สามารถที่จะซื้อและแสวงหาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ได้เฉกเช่นกัน เทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทุกองค์กรจะต้องมี แต่ไม่ได้นำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขันอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายประการที่สนับสนุนแนวคิดนี้ โดยได้มีการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างผลการดำเนินงานขององค์กรขนาดใหญ่ในอเมริกากับค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และพบว่าองค์กรที่มีผลการดำเนินงานที่ดีจะเป็นองค์กรที่มีค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่ำ โดย 25 บริษัทแรกที่มีผลตอบแทนทางด้านการเงินสูงที่สุดมีเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่อยอดขายเพียงแค่ร้อยละ 0.8 เทียบกับร้อยละ 3.7 ของบริษัททั่วๆ ไป จากแนวคิดข้างต้นทำให้ผู้เขียนบทความนี้พยายามที่จะเสนอว่าผู้บริหารในปัจจุบันควรจะมองเทคโนโลยีสารสนเทศในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศจากทรัพยากรทางกลยุทธ์มาเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่ทุกองค์กรสามารถที่จะมีได้เหมือนๆ กันหมด อีกทั้งควรที่จะมีความระมัดระวังในเรื่องของการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ในปัจจุบันองค์กรจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะลงทุนในด้านนี้เกินความจำเป็นที่องค์กรจะต้องใช้
ท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไรกับเนื้อหาในบทความข้างต้นบ้างครับ ไม่ทราบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย? ภายหลังจากที่บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร ทั้งจากผู้บริหาร ที่ปรึกษาและสื่อมวลชนต่างๆ เรามาลองดูกันนะครับว่าผู้อื่นเขามีความคิดเห็นต่อเนื้อหาในบทความนี้กันว่าอย่างไร
เริ่มต้นจากผู้บริหารสูงสุดของ Intel (CEO) Criag Barrett ที่ออกมาระบุว่าการที่ Carr ผู้เขียนบทความนี้เปรียบเทียบว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเหมือนกับปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ เช่น ถนน พลังงาน และไฟฟ้า เป็นการมองที่ผิดพลาด เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศมีความแตกต่างจากปัจจัยข้างต้น ในแง่ของการเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนย้ายทุนปัญญา หรือทรัพย์สินทางปัญญา ที่ก่อให้เกิดคุณค่าในสิ่งงานที่เราทำ Barrett มองว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่องค์กรทำ บริษัทชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็น Intel Boeing หรือ GM ไม่สามารถที่จะผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมาได้ถ้าขาดเทคโนโลยีสารสนเทศ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถถอดรหัสทางพันธุกรรมของมนุษย์ได้ถ้าขาดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นเทคโนโลยีจึงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขัน
นอกเหนือจาก Barrett แล้ว Ralph Szygenda ซึ่งเป็น CIO (Chief Information Officer) ของ General Motors ได้ออกมาให้ความเห็นว่า Carr เองอาจจะถูกต้องในประเด็นที่เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้มีความสำคัญเช่นในอดีตอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันการปรับปรุงกระบวนการในการทำงาน การเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน รวมถึงความสำเร็จในด้านอื่นๆ ของธุรกิจยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอยู่ และการที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ เทคโนโลยีสารสนเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่ Szygenda เองมีความเห็นสอดคล้องกับ Carr ในแง่ที่ว่าการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศควรจะมีความระมัดระวังและเป็นในเชิงรับมากขึ้น นอกจากนี้ทั้ง Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoftและ Carly Fiorina ผู้บริหารสูงสุดของ HP ต่างกล่าวแสดงความเห็นในเชิงไม่เห็นด้วยกับข้อเขียนในบทความดังกล่าว
ส่วน John Hagel ที่ปรึกษาและผู้เขียนหนังสือทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้เขียนถึงบทความนี้ไว้ในเว็บเพจของเขา (www.johnhagel.com) ไว้ว่าบทความ IT Doesn’t Matter เป็นบทความที่สำคัญบทความหนึ่งเนื่องจากได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินและการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ในปัจจุบันสูงเกินไป แต่ในขณะเดียวกัน John Hagel ก็มองว่าจุดอ่อนที่สำคัญของบทความนี้ก็คือการพยายามนำเสนอว่าเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขัน โดย Hagel ได้เขียนบทความโต้ตอบใน Harvard Business Review ฉบับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยโต้แย้งว่า ตัวเทคโนโลยีสารสนเทศเองไม่ได้ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันด้วยตนเอง แต่จะต้องขึ้นอยู่กับกระบวนการในการทำงานด้วย นอกจากนี้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศเกิดขึ้นจากนวัตกรรมในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป (Incremental Innovation) Hagel มองต่างจากผู้เขียนบทความนี้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้ลดบทบาทหรือความสำคัญลง แต่กลับยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น
ไม่ทราบว่าอ่านดูแล้ว ท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยกับใครมากน้อยแค่ไหนครับ? สำหรับในความคิดเห็นของผมต่อบทความนี้มีลักษณะทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ประเด็นที่เห็นด้วยนั้น ก็คือเราควรจะมองเทคโนโลยีสารสนเทศว่าเป็นเทคโนโลยีชนิดหนึ่ง และเทคโนโลยีนั้นสามารถที่แบ่งได้ออกเป็นสองประการ คือเทคโนโลยีพื้นฐานที่ทุกองค์กรควรจะมี และเทคโนโลยีที่นำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขัน ในอดีตเทคโนโลยีสารสนเทศอาจจะเป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งการที่จะเป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันได้นั้น ควรจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดคุณค่าแก่ลูกค้า และยากที่จะลอกเลียนแบบได้ แต่จากสถานการณ์ของเทคโนโลยีสารสนเทศของอเมริกาในปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ทุกองค์กรจะต้องมีเพื่อให้สามารถแข่งขันกับองค์กรอื่นได้ และเป็นเทคโนโลยีที่ขอให้เพียงมีเงินก็สามารถแสวงหามาได้ ดังนั้นเทคโนโลยีสารสนเทศเองไม่ได้เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันอีกต่อไป
สำหรับประเด็นที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีสองประการ ประเด็นแรก ผมมองว่าถ้าองค์กรสามารถนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ผสมผสานกับเครื่องมือทางการจัดการอื่นๆ ยังสามารถก่อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันอยู่ได้ ดังเช่นในกรณีของ Dell เทคโนโลยีสารสนเทศที่ Dell นำมาใช้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่พิเศษหรือไม่สามารถหาซื้อได้ แต่ความสามารถของ Dell ในการผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับหลักการในเรื่องของ Logistics Management และหลักการอื่นๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ Dell เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือบริษัทอื่น สำหรับประเด็นที่สองก็คือบทความนี้นำเสนอพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศในอเมริกาเป็นหลัก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งพื้นฐานสำหรับทุกองค์กรไปแล้ว แต่ในสภาวะแวดล้อมการดำเนินงานแบบไทยๆ นั้นพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอาจจะยังไม่ถึงขึ้นที่กลายเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่ทุกองค์กรจะต้องมี ถึงแม้เราสามารถหาซื้อเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์กรได้เหมือนกัน แต่มีองค์กรเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถที่จะแสวงหาเทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านั้นเข้ามาใช้ให้เกิดผล ดังนั้นผมเองจึงมีความเห็นว่าในเมืองไทยแล้วการมีและสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดผลได้นั้นยังเป็นปัจจัยอันจะนำไปสู่การได้เปรียบทางการแข่งขันอยู่ แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จีรังยั่งยืน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเทคโนโลยีสารสนเทศอาจจะกลายเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่ทุกองค์กรจะต้องมี แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดการแข่งขันก็ได้ แต่คงไม่ใช่ในปัจจุบัน