25 May 2003

คำถามที่สำคัญทางการจัดการคำถามหนึ่งที่มักเจอก็คือ อะไรคือปัจจัยหรือสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน มีความพยายามทั้งจากนักวิชาการ ที่ปรึกษาทางการจัดการ หรือผู้บริหารระดับสูงของหลายๆ องค์กรในการหาคำตอบให้กับคำถามดังกล่าว เนื่องจากมองว่าถ้าสามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ย่อมค้นพบแนวทางในการทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ หนังสือทางด้านการจัดการหลายๆ เล่มพยายามที่จะหาคำตอบสำหรับคำถามดังกล่าว ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ In Search of Excellence (ที่เรียกกันเป็นภาษาไทยว่า ดั้นด้นสู่ความเป็นเลิศ) และ Built to Last สาเหตุที่หนังสือทั้งสองเล่มได้รับความสนใจอย่างมาก ก็เนื่องจากผู้เขียนของทั้งสองเล่มใช้หลักการทางวิชาการในการหาว่าอะไรคือสาเหตุของความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร อย่างไรก็ดีบริษัทที่ประสบความสำเร็จตามหนังสือทั้งสองเล่มหลายบริษัทพอผ่านพ้นไปช่วงหนึ่งก็เริ่มที่จะไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป ทำให้ความน่าเชื่อถือของหนังสือดังกล่าวเริ่มลดน้อยลง อย่างไรก็ดียังมีหนังสือที่เขียนโดยอดีตผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จที่ออกมาในช่วงสองสามปีหลัง อาทิเช่น ที่เขียนโดย Jack Welch (หนังสือชื่อ Jack: Straight from the Gut) หรือ โดย Larry Bossidy (หนังสือชื่อ Execution) หรือ โดย Louis Gerstner (หนังสือชื่อ Who Says Elephants Can’t Dance) หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่ดีและกล่าวถึงสาเหตุของความสำเร็จในการบริหารของผู้บริหารแต่ละท่าน แต่ก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จที่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกองค์กร เนื่องจากสิ่งที่เขียนขึ้นมานั้นเป็นไปใต้สภาวการณ์ของผู้บริหารแต่ละคน

พอดีเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วผมได้ไปเจอหนังสือใหม่เล่มหนึ่งชื่อ What (Really) Works ที่เอเซียบุคส์ (เขียนโดย William Joyce ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ Dartmouth College Nitin Nohria จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ Bruce Roberson อดีตผู้บริหารระดับสูงของ McKinsey) ซึ่งตอนแรกก็มองผ่านไปเหมือนกันเนื่องจากไม่ได้รับการจัดวางที่โดดเด่น แต่พอหยิบขึ้นมาอ่านปกหลังแล้ว ตัดสินใจซื้อทันทีโดยไม่ได้เปิดดูข้างในเลย ผมเองเวลาซื้อหนังสือก็จะมองที่ปกหลังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการตัดสินใจ เนื่องจากโดยปกติในปกหลังของหนังสือด้านการจัดการของต่างประเทศจะมีการเขียนแนะนำหนังสือเล่มนั้นๆ ไว้ ซึ่งอาจจะเป็นนักวิชาการ ที่ปรึกษา หรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วปกหลังของหนังสือเหล่านี้จะเขียนเชียร์หนังสือทุกเล่ม แต่ชื่อเสียงและภาพพจน์ของผู้ที่เขียนคำแนะนำก็มีผลต่อคุณภาพของหนังสือเช่นกัน สำหรับในปกหลังของหนังสือ What (Really) Works นั้นต้องเรียกว่ารวมยอดฝีมือทางด้านการจัดการไว้อย่างคับคั่งแบบที่ไม่เคยเห็นในหนังสือเล่มไหนมาก่อน ประกอบด้วย Michael Porter (คงไม่ต้องแนะนำสรรพคุณของเขานะครับ) Noel Tichy (เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Michigan และเป็นปรมาจารย์ด้านภาวะผู้นำ) James Champy (หนึ่งในผู้คิดค้น Reengineering) Tom Peters (ผู้เขียน In Search of Excellence) และ Rosabeth Moss Kanter (อาจารย์จากฮาร์วาร์ดที่เป็นกูรูด้านผู้นำกับการเปลี่ยนแปลง)

พอได้กลับมาอ่านก็พบว่าหนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจมากทีเดียว โดยเขาพยายามตอบคำถามที่ผมตั้งไว้ตั้งแต่ต้นว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็แนะนำสูตร 4+2 ขึ้นมา แต่ที่มาของสูตรนี้ก็ไม่ได้มาจากการนั่งฝันของผู้เขียนเหมือนกับหนังสือทางด้านการจัดการอีกหลายๆ เล่ม แต่มาจากการวิจัยที่ใช้เวลาถึงห้าปีในการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทางการจัดการต่างๆ กว่า 200 แนวคิดกับความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร โดยความสำเร็จขององค์กรนั้นผู้เขียนใช้ค่า TRS (Total Return to Shareholder) เป็นตัววัด อีกทั้งการวิจัยของผู้เขียนนั้นกินเวลาช่วง 10 ปีตั้งแต่ปี 1986 จนถึง 1996 โดยมองทั้งบริษัทที่ประสบความสำเร็จตลอดช่วง 10 ปี บริษัทที่ไม่ประสบความสำเร็จตลอดช่วง 10 ปี บริษัทที่เคยล้มเหลวในห้าปีแรกแล้วมาพัฒนาจนประสบความสำเร็จในช่วงห้าปีหลัง และบริษัทที่เคยประสบความสำเร็จในช่วงห้าปีแรกแล้วมาล้มเหลวในช่วงห้าปีหลัง ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการนำเครื่องมือและแนวคิดทางด้านการจัดการมาใช้ กับความสำเร็จของบริษัทในระยะยาว และได้ผลที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะได้สูตรสำเร็จในการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จในระยะยาวในลักษณะของ 4+2 

ก่อนที่จะมาดูรายละเอียดของสูตร 4+2 นั้นเราลองมาดูบางประเด็นที่น่าสนใจที่ได้จากการวิจัยของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าเครื่องมือหรือแนวคิดทางการจัดการหลายๆ ประเด็นที่เราเคยนึกว่าสำคัญแต่กลับไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวแต่อย่างได้ อาทิเช่น ในเรื่องของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการลงทุนกันอย่างมหาศาล ปรากฎว่าผลจากการวิจัยพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นได้รับในช่วงสิบปีของช่วงการสำรวจ (จริงๆ แล้วประเด็นที่เทคโนโลยีสารสนเทศไม่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จขององค์กรนั้น เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากทีเดียว ผมเคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งผ่านทางบทความนี้เหมือนกันว่ามีผลงานวิจัยของ McKinsey ออกมาว่าการลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้ส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนพฤษภาคมนี้ ก็มีบทความหนึ่งชื่อ Does IT Matters? โดยเป็นบทความที่มองว่าเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้ส่งผลต่อการได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร เป็นเพียงแต่ปัจจัยพื้นฐานที่องค์กรควรจะมี) นอกจากปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในระยะยาวของบริษัทแล้ว เครื่องมือทางด้านการจัดการที่มุ่งเน้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร (Change Management Program) แนวคิดในเรื่องของห่วงโซ่อุปทาน (Supply-Chain Management) หรือแม้กระทั่งแนวคิดในเรื่องของ Corporate Governance ในเรื่องของการมีกรรมการจากภายนอก ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความสัมพันธ์กับความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว แสดงให้เห็นว่าถึงแม้แนวคิดและเครื่องมือทางการจัดการข้างต้นจะส่งผลต่อการทำกำไรเพิ่มขึ้น หรือการตอบสนองต่อลูกค้าได้ดีขึ้น แต่ไม่ได้มีผลโดยตรงต่อผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นได้รับ 

ถึงแม้แนวคิดทางการจัดการดังกล่าวข้างต้นไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดทางการจัดการข้างต้นไม่ดีหรือไม่ควรจะปฎิบัติตามอีกต่อไป เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทางการจัดการข้างต้นไม่ได้มีผลโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจัยที่อยู่ในเกณฑ์ 4+2 ที่หนังสือเล่มนี้ระบุ ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบแล้วนะครับว่าสูตร 4+2 ตามที่หนังสือเล่มนี้แนะนำประกอบด้วยอะไรบ้าง แล้วทำไมจะต้องเป็น 4+2 ด้วย? จริงๆ แล้วปัจจัยที่อยู่ภายใต้สูตร 4+2 นั้นไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่ในแวดวงวิชาการด้านการจัดการ เพียงแต่สิ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ค้นพบคือความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่เรากันดีเหล่านี้กับความสำเร็จในระยะยาวขององค์กร

สำหรับสูตรแห่งความสำเร็จในระยะยาวขององค์กรนั้นประกอบด้วยสองส่วน ในส่วนแรกมีปัจจัยสี่ประการ ซึ่งองค์กรจะต้องมีปัจจัยทั้งสี่ประการถึงจะประสบความสำเร็จ โดยปัจจัยทั้งสี่ประการนั้นประกอบไปด้วย การมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนและมุ่งเน้น (Clear and Focus Strategy) การนำกลยุทธ์ไปปฎิบัติและการดำเนินงานที่ดี (Execution) วัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ (Performance-Based Culture) และการมีโครงสร้างองค์กรที่เร็วและไม่ซับซ้อน (Fast and Flat Organization) สำหรับในส่วนที่สองนั้นก็ประกอบด้วยปัจจัยสี่ประการด้วยกัน เพียงแต่ในส่วนที่สองนั้นการที่องค์กรจะประสบความสำเร็จในระยะยาวไม่จำเป็นต้องมีครบทั้งสี่ประการ ขอให้มีเพียงแค่สองในสี่ก็เพียงพอแล้ว และนั้นคือที่มาว่าทำไมจะต้อง 4 + 2 โดยปัจจัยสี่ประการในส่วนที่สองประกอบด้วย การรักษาและพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถ การมีผู้นำที่มุ่งมั่นต่อธุรกิจ การมีนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรม และ การเติบโตด้วยการควบรวมหรือการมีพันธมิตร

เป็นอย่างไรบ้างครับปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวตามสูตร 4 + 2 ผมเชื่อว่าถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะเกิดข้อสงสัยขึ้นมาเหมือนกันนะครับว่าปัจจัยทั้งแปดประการเบื้องต้นไม่ใช่สิ่งที่ใหม่ เพียงแต่อย่างที่เรียนให้ทราบในเบื้องต้นว่าปัจจัยทั้งแปดประการเบื้องต้นเป็นแนวคิดทางด้านการจัดการที่องค์กรใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป เพียงแต่ปัจจัยทั้งแปดประการนั้นได้ผ่านการทดสอบทางสถิติแล้วเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว นอกจากนั้นอีกคำถามที่อาจจะมีอยู่ในใจของท่านผู้อ่านก็คือ ทำไมปัจจัยในส่วนที่สองนั้นไม่จำเป็นต้องมีครบทั้งสี่ประการ ทำไมถึงขอให้มีเพียงแค่สองในสี่ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ซึ่งในหนังสือเล่มดังกล่าวผู้เขียนก็ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนเหมือนกันว่าผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ทางสถิติที่ได้รับออกมาในลักษณะดังกล่าว ผู้เขียนเองก็ค่อนข้างแปลกใจเหมือนกันในผลลัพธ์ที่ได้เช่นกัน แต่ในเมื่อผลทางสถิติออกมาเช่นนี้ก็ทำให้เกิดการค้นพบที่น่าสนใจเหมือนกัน คำถามหนึ่งที่มักจะตามมาคือแล้วเป็นไปได้หรือไม่ที่องค์กรธุรกิจจะสามารถทำให้ปัจจัยทั้งหกประการ (4 + 2) เกิดขึ้นพร้อมกันในองค์กร ซึ่งถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ยากแต่ผู้เขียนทั้งสามคนก็มองว่าถ้าองค์กรต้องการประสบความสำเร็จในระยะยาวแล้วก็ต้องทำให้ได้

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกอย่างที่เขียนหรอกนะครับ แต่ก็ต้องเห็นด้วยว่าปัจจัยทั้งแปดประการที่ระบุว่าเป็นตัวหลักในการที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในระยะยาวก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องปัจจัยสี่ประการแรกทั้งกลยุทธ์ การปฏิบัติ วัฒนธรรมองค์กร และโครงสร้างองค์กร ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าสามารถนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร เพียงแต่ในหนังสือเล่มนี้ได้มีการพิสูจน์ทางสถิติด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้เพื่อยืนยันต่อความเชื่อหรือสมมติฐานดั้งเดิมของเรา ในสัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าถึงรายละเอียดที่น่าสนใจของปัจจัยแต่ละประการภายใต้สูตร 4 + 2 ต่อนะครับ ซึ่งรับรองว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นที่พิสูจน์ออกมาแล้วพบว่าแนวคิดทางด้านการจัดการหลายๆ อย่างที่เราเคยเชื่อหรือเคยคิดในอดีตนั้น เมื่อพิสูจน์ตามวิธีการของหนังสือเล่มนี้แล้วอาจจะไม่เป็นไปตามที่เราเชื่ออีกต่อไป