6 July 2003

คำถามหนึ่งที่คงอยู่ในใจท่านผู้อ่านจำนวนมากก็คืออะไรคือคุณลักษณะที่สำคัญของผู้บริหารสูงสุดขององค์กร (CEO) ตามทฤษฎีทางด้านของภาวะผู้นำนั้นได้มีความพยายามกันตั้งแต่ร้อยปีที่แล้วที่จะศึกษาถึงคุณลักษณะ (Traits) ที่สำคัญของผู้นำ โดยมีสมมติฐานว่าผู้นำที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จแต่ละท่านจะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะที่คล้ายๆ กัน และได้มีความพยายามที่จะศึกษาว่าอะไรคือคุณลักษณะที่ทำให้ผู้นำที่ยิ่งใหญ่แตกต่างจากผู้นำคนอื่นๆ ถ้าเป็นไปตามสมมติฐานดังกล่าวก็หมายความว่าผู้ที่จะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้จะต้องเป็นมาตั้งแต่เกิด ไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาภายหลังได้ (Leaders are born, not made) อย่างไรก็ดีไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ที่จะมายืนยันสมมติฐานดังกล่าว ทำให้ความสนใจในเรื่องของการศึกษาคุณลักษณะของผู้นำเริ่มได้รับความสนใจลดน้อยลง ในภายหลังได้เริ่มมีความเห็นชอบร่วมกันระหว่างนักวิชาการที่ศึกษาในเรื่องของภาวะผู้นำเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้นำว่า อาจจะไม่มีคุณลักษณะเฉพาะสำหรับผู้ที่จะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ แต่มีคุณลักษณะบางประการที่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จมักจะมี และคุณสมบัติเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่แต่ละบุคคลสามารถที่จะพัฒนาขึ้นมาได้โดยไม่จำเป็นต้องติดตัวมาตั้งแต่เกิด

คุณสมบัติพื้นฐานที่ทำให้ผู้นำแตกต่างจากบุคคลทั่วไปได้แก่ 1) ความมุ่งมั่น (Drive) เป็นความมุ่งมั่นและความพยายามต่อการบรรลุความสำเร็จ ผู้นำจะเป็นผู้ที่มีพลังงาน ความทะเยอทะยานและความทุ่มเทมากกว่าผู้อื่น 2) แรงจูงใจในการเป็นผู้นำ (Leadership Motivation) เป็นแรงจูงใจที่ต้องการที่จะเป็นผู้นำมากกว่าเป็นผู้ตาม 3) ความซื่อสัตย์ (Integrity) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากในสถานการณ์ปัจจุบัน 4) ความมั่นใจในตนเอง (Self-Confidence) และ 5) ความรอบรู้ในสิ่งที่ตนเองทำ(Knowledge of the Business) นอกเหนือจากคุณสมบัติทั้งห้าประการข้างต้น ในปัจจุบันได้มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ได้ศึกษาคุณลักษณะและแนวคิดของผู้บริหารองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันและรวบรวมมาเป็นคุณลักษณะที่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จควรจะต้องมี

หนังสือเล่มนี้ชื่อ What the Best CEOs Know ซึ่งผมไปเจอที่ร้าน Asia Books และรู้สึกว่าจะเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีอีกด้วย หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดย Jeffrey A. Krames โดยเขาได้พยายามที่จะเสาะแสวงหาผู้บริหารสูงสุดขององค์กรธุรกิจในอเมริกาที่ถือว่าประสบความสำเร็จและเก่งมากที่สุด เมื่อรวบรวมรายชื่อมาได้กลุ่มหนึ่งก็ได้กำหนดเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อคัดเลือกให้ได้ผู้บริหารสูงสุดที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบัน โดยเกณฑ์ที่ผู้เขียนใช้ในการคัดเลือกผู้บริหารสูงสุดในรอบสุดท้ายประกอบด้วยเกณฑ์สามประการ ได้แก่ 1) ผู้บริหารสูงสุดท่านนั้นจะต้องเป็นผู้นำองค์กรที่เป็นผู้นำในธุรกิจที่ตนเองอยู่ หรือ ที่สามารถเอาชนะคู่แข่งขันได้อย่างชัดเจน 2) กลยุทธ์ที่ผู้บริหารแต่ละคนใช้ได้ผ่านการทดสอบของกาลเวลา นั้นคือไม่ใช่ประสบความสำเร็จในระยะสั้นเท่านั้น และสุดท้ายที่ถือว่าสำคัญที่สุดและทำให้ผู้บริหารสูงสุดของหลายๆ องค์กรไม่ผ่านเกณฑ์ก็คือ 3) สิ่งที่ผู้บริหารแต่ละคนทำจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเสริมสร้างองค์ความรู้ทางด้านการบริหาร หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือสิ่งที่ผู้นำเหล่านั้นคิดและทำควรจะต้องไปปรากฎอยู่ในตำราทางด้านการจัดการสมัยใหม่ รวมทั้งเป็นผู้บุกเบิกในสิ่งที่ตนเองทำ จนสามารถเป็นต้นแบบทางด้านการบริหารจัดการให้ผู้อื่นต่อไปได้

เกณฑ์ข้อที่สามค่อนข้างจะยากพอสมควรนะครับ ถ้าย้อนกลับมาดูในเมืองไทยเอง ถึงแม้เราจะมีผู้บริหารสูงสุดที่ประสบความสำเร็จหลายท่านแต่มีเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้นที่ผมคิดว่าสามารถผ่านเกณฑ์ในข้อที่สามได้ ท่านผู้อ่านลองนึกดูแล้วกันนะครับว่าควรจะมีใครบ้าง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้สรุปออกมาว่าผู้บริหารสูงสุดในยุคปัจจุบันของอเมริกาที่ผ่านเกณฑ์ทั้งสามประการมีเพียงแค่ 7 ท่านเท่านั้น ประกอบด้วย 1) Michael Dell (ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของ Dell Computer) 2) Jack Welch (อดีตผู้บริหารสูงสุดของ GE) 3) Lou Gerstner (อดีตผู้บริหารสูงสุดของ IBM) 4) Andy Grove (ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารสูงสุดของIntel) 5) Bill Gates (ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารสูงสุดของ Microsoft) 6) Herb Kelleher (ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารสูงสุดของสายการบิน Southwest) และ 7) Sam Walton (ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารสูงสุดของ Wal-Mart) ถ้าดูจากรายชื่อของผู้บริหารสูงสุดที่ประสบความสำเร็จทั้งเจ็ดคนข้างต้นก็เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยกันในแวงวงด้านการบริหารจัดการอยู่แล้ว และผมเองได้เคยนำเสนอแนวคิดของหลายๆ ท่านผ่านทางบทความนี้มาแล้ว จึงอาจจะเรียกได้ว่าบุคคลทั้งเจ็ดน่าจะถือเป็นคนคุ้นเคยสำหรับท่านผู้อ่านทุกท่าน

ข้อคิดที่น่าสนใจประการหนึ่งจากหนังสือเล่มนี้ก็คือ ผู้เขียนได้รวบรวมคุณลักษณะและคุณสมบัติที่ผู้บริหารทั้งเจ็ดมีร่วมกันและน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลเหล่านี้เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จที่สุดได้ โดยคุณลักษณะดังกล่าวมีทั้งหมด 6 ประการด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. ผู้บริหารเหล่านั้นบริหารจากภายนอกเข้ามาภายใน (Outside-In) โดยเริ่มจากการตลาดและลูกค้าจากนั้นค่อยสร้างองค์กรที่มุ่งเน้นในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งแนวคิดดังกล่าวดูเหมือนว่าจะได้รับการกล่าวถึงกันมากในประเทศไทยไม่ว่าจะจากภาคธุรกิจหรือภาคราชการ ที่ในการกำหนดวางกลยุทธ์ใดๆ ก็ตามจะต้องเริ่มต้นจากภายนอกก่อนทั้งสิ้น เป็นที่น่าเสียดายเหมือนกันนะครับที่องค์กรชั้นนำและเก่าแก่บางแห่งของไทยยังมีการวางแผนและการทำงานในลักษณะ Inside-Outอยู่ โดยผู้บริหารก็นั่งอยู่แต่ภายในองค์กรตัวเองและคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกต้องและเหมาะสมที่สุด โดยไม่ได้ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก ในหมู่ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ เขาจะให้ความสำคัญต่อสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด และมองด้วยซ้ำไปว่าทั้งองค์กรมีเจ้านายอยู่แค่คนเดียวเท่านั้นคือ ลูกค้า
  2. ผู้บริหารสูงสุดที่ประสบความสำเร็จมักจะมีคุณลักษณะบางประการที่แตกต่างจากผู้อื่น แต่ความแตกต่างดังกล่าวเป็นคนละสิ่งกับสิ่งที่เรารู้จักกันในชื่อของ Charisma นะครับ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายว่าการมี Charisma ไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญต่อการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ แต่ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จทั้งเจ็ดคน ต่างมีลักษณะที่เหมือนกับมีพลังงานล้นเหลือ มีความมุ่งมั่น ทะเยอทะยานและพยายามไม่มีที่สิ้นสุด ที่จะทำให้องค์กรของตนเองดีขึ้น และที่สำคัญสามารถที่จะถ่ายทอดสิ่งดังกล่าวมายังผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความรู้สึกในลักษณะเดียวกันด้วย
  3. ผู้บริหารเหล่านี้ตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร บทบาทที่สำคัญของวัฒนธรรมองค์กรต่อความสำเร็จขององค์กร และความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร แต่ผู้บริหารเหล่านี้ก็ได้พยายามที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของตนเองให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่อาจจะด้วยวิธีการที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง ในกรณีของ Lou Gerstner กับ IBM นั้นผมได้เคยนำเสนอไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนกรณีของ Andy Grove กับ Intelนั้น Grove พยายามที่จะสร้างความความกลัวให้ฝังอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานของ Intel เนื่องจากถ้าทุกคนมีความกลัวอยู่เมื่อใด ย่อมต้องการที่จะทำงานให้ดีขึ้นและเอาชนะคู่แข่งอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากความกลัวที่จะพ่ายแพ้คู่แข่งขัน ในขณะที่ Herb Kellerher นั้นต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พนักงานมีความรู้สึกสนุกกับการทำงาน
  4. ผู้บริหารเหล่านี้เป็นผู้นำในการพัฒนาหรือสร้างสินค้า บริการ หรือกระบวนการที่ถือเป็นผู้บุกเบิกในธุรกิจของตนเอง ซึ่งคุณลักษณะประการนี้มีส่วนสัมพันธ์กับวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหาร โดยผู้บริหารทั้งเจ็ดคนสามารถที่จะมองเห็นและคาดการณ์ได้ถึงความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากนั้นค่อยพัฒนาสินค้าหรือกระบวนการที่จะสามารถตอบสนองต่อความต้องการนั้น
  5. ผู้บริหารเหล่านี้ได้นำเอาแนวคิดที่ดีที่สุดมาใช้ในองค์กรโดยไม่ได้สนใจต่อแหล่งกำเนิดของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งถือเป็นรากฐานที่สำคัญของแนวคิดในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ที่จะมีการเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ตั้งข้อกีดกันถึงแหล่งที่มาของความรู้นั้น ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ที่ผมเคยเขียนถึงกรณีของ Jack Welch ที่มีการนำแนวคิดของ Six Sigma จากที่อื่นมาใช้ หรือกรณีของ Sam Walton ที่ชอบที่จะเรียนรู้จากคู่แข่งขันตลอดเวลา
  6. ผู้นำที่ประสบความสำเร็จเป็นผู้นำในการพัฒนาแนวคิดหรือองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงกับเกณฑ์ข้อที่สามในการคัดเลือกผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ

เมื่อท่านผู้อ่านได้พิจารณาคุณลักษณะทั้ง 6 ประการแล้ว ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่ ในความคิดของผมเองก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพียงแต่เราต้องระลึกไว้เสมอว่านี่เป็นเพียงคุณลักษณะที่ได้จากผู้บริหารสูงสุดที่ประสบความสำเร็จในอเมริกาเท่านั้น ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถรวมถึงผู้บริหารจากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกได้หรือไม่ เพียงแต่แนวคิดในหลายๆ ข้อน่าจะนำมาปรับใช้กับการบริหารองค์กรในเมืองไทยได้

ก่อนจบผมขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจแนวคิดในเรื่องของห้อง Management Cockpit หรือห้องปฏิบัติการทางการจัดการ (เป็นห้องประชุมที่ประกอบด้วยตัวชี้วัดและข้อมูลสำหรับใช้ในการตัดสินใจ) ที่ผมได้เคยนำเสนอไว้นานแล้ว ตอนนี้มีข่าวดีครับ Prof. Patrick Georges ซึ่งเป็นผู้ที่คิดค้นห้องนี้จะมาเมืองไทยและบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ Management Cockpit and the ‘War Room for Business’ ในโอกาสที่หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬา ได้ก่อตั้งมาครบ 12 ปี โดยการบรรยายจะจัดให้มีในเช้าวันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม นี้ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลข 02-218-5715-6 แล้วเจอกันในวันนั้นนะครับ