7 December 2003
ใกล้ถึงสิ้นปีแล้วก็มักจะมีการจัดลำดับเรื่องเด็ดๆ ประจำปีที่ผ่านมากันเป็นประจำนะครับ ในช่วงสิ้นปีนี้ผมจึงขอนำเสนอสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการในปี 2546 ที่ได้มีการจัดลำดับกันโดยผู้รู้และผู้ที่อยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้องนะครับ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาได้มีความตื่นตัวในการอ่านหนังสือทางด้านการบริหารจัดการเริ่มที่จะมีมากขึ้น ทั้งที่เกิดจากการแนะนำหนังสือทางด้านการจัดการของผู้บริหารประเทศ หรือกระแสความตื่นตัวในเรื่องของธุรกิจที่เริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้จากหนังสือในทางด้านการบริหารจัดการที่ออกมาจำนวนมากทั้งที่เขียนกันขึ้นมาเองหรือที่ไปแปลมาจากของต่างประเทศ ดังนั้นในสัปดาห์นี้ผมจึงขอนำเสนอสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการในปี 46 โดยจะนำเสนอในวันนี้มาจากการคัดเลือกของนิตยสาร Strategy + Business ซึ่งเป็นนิตยสารในสังกัดของบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการจัดการ Booz Allen Hamilton ดังนั้นผู้ที่คัดเลือกสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงมาจากเหล่าที่ปรึกษาของ Booz Allen เอง
การจัดลำดับสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการในปี 46 นี้ เขาได้มีการแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ทั้งด้านกลยุทธ์ (Strategy) ด้านการจัดการ (Management) ด้านนวัตกรรม (Innovation) ด้านจริยธรรมขององค์กร (Corporate Scandals) ด้านโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ด้านภาวะผู้นำ(Leadership) ด้านทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้านประวัติศาสตร์ธุรกิจ (Business History) และพวกหนังสือคลาสสิกต่างๆ เราลองมาดูรายชื่อหนังสือในบางส่วนบางหมวดแล้วกันนะครับ ขออนุญาตไม่พูดถึงทุกเล่มนะครับเนื่องจากเขาแนะนำไว้หลายเล่ม และขอแนะนำแต่เฉพาะหนังสือที่พอหาอ่านได้ในเมืองไทย ซึ่งแหล่งใหญ่ๆ ที่ผมหาหนังสือเหล่านี้เจอคือที่ศูนย์หนังสือจุฬา และร้านเอเซียบุคส์
ในหมวดกลยุทธ์นั้นสุดยอดหนังสือทางด้านนี้ประกอบด้วย The Innovator’s Solution: Creating and Sustaining Successful Growth เขียนโดย Clayton Christensen และ Michael Raynor ซึ่งผมเองกำลังอ่านเล่มนี้อยู่พอดี และได้เคยนำแนวคิดเบื้องต้นจากหนังสือเล่มนี้มานำเสนอไว้เมื่อประมาณเดือนที่ผ่านมา หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่น่าสนใจและเหมาะสมสำหรับองค์กรที่ต้องการที่จะเติบโตโดยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม ถือกันว่าเป็นสุดยอดหนังสือทางด้านกลยุทธ์ของปีเลยทีเดียว อีกเล่มหนึ่งชื่อ Double-Digit Growth: How Great Companies Achieve It – No Matter What เขียนโดย Michael Treacy ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเขียนหนังสือคลาสสิกทางด้านการจัดการเล่มหนึ่ง (The Discipline of Market Leaders) หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้ให้แนวคิดอะไรใหม่ๆ สำหรับองค์กรที่ต้องการจะเติบโต แต่เป็นการนำเสนอแนวทางในการเติบโต ที่อยู่ในรูปที่สามารถเข้าใจและอ่านได้ง่ายมากกกว่า
ในหมวดด้านการจัดการนั้นประกอบด้วย Beyond Budgeting: How Managers Can Break Free from the Annual Performance เขียนโดย Jeremy Hope และ Robin Fraser ซึ่งจริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ต้นๆ ปี ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านจำได้ผมจะเคยนำแนวคิดและหลักการจากแนวคิดของหนังสือเล่มนี้มานำเสนอท่านผู้อ่านไว้เมื่อประมาณกลางปีนี้ แต่หนังสือเล่มนี้เพิ่งมาโด่งดังในประเทศไทยในช่วงหลังเนื่องจากเป็นหนึ่งในหนังสือแนะนำของท่านนายกฯ โดยหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอแนวคิดในการปรับเปลี่ยนการทำงบประมาณเสียใหม่ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรให้ดีขึ้น และดูเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้จะได้กลายเป็นที่กล่าวขวัญในแวดวงราชการกันพอสมควร โดยข้าราชการผู้ใหญ่หลายท่านที่ผมรู้จักได้บอกว่ามีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตทางรัฐบาลไทยจะนำเอาแนวคิดในเรื่องของ Beyond Budgeting มาปรับใช้ อีกเล่มหนึ่งชื่อ Who Really Matters: The Core Group Theory of Power, Privilege, and Success เขียนโดย Art Kleiner ซึ่งพูดถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในองค์กรที่เป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็ก แต่เป็นกลุ่มที่มีพลังและทรงอำนาจที่สุดในองค์กร โดยบุคคลในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารก็ได้ ท่านผู้อ่านลองย้อนกลับไปดูที่องค์กรของท่านก็ได้นะครับจะพบคนกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ หนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจในหมวดนี้ชื่อ False Prophets: The Gurus Who Created Modern Management and Why Their Ideas Are Bad for Business Today เขียนโดย James Hoops เป็นหนังสือที่ผู้ที่คุ้นเคยกับเหล่านักคิดทางด้านการจัดการอาจจะชื่นชอบ เนื่องจากได้ศึกษาแนวคิดของนักคิดทางด้านการจัดการชื่อดังต่างๆ ตั้งแต่ Frederick Taylor จนถึง Peter Drucker และได้ชี้ให้เห็นว่าแนวคิดบางประการของสุดยอดนักคิดเหล่านี้ไม่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน
ในหมวดที่สามเป็นหมวดทางด้านนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งในความคิดของผมแล้ว แนวคิดในเรื่องของ Innovation จะกลายเป็นแนวคิดที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการประสบความสำเร็จขององค์กรต่างๆ เนื่องจากถ้าขาดซึ่งนวัตกรรมแล้วย่อมยากที่องค์กรจะประสบความสำเร็จเหนือองค์กรอื่นได้ และท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่านวัตกรรมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น แต่นวัตกรรมครอบคลุมทั้งในด้านการจัดการ การตลาด รวมทั้งด้านอื่นๆ ในองค์กร หนังสือที่โดดเด่นทางด้านนวัตกรรมในปีที่ผ่านมาประกอบด้วย How Breakthroughs Happens: The Surprising Truth About How Companies Innovate เขียนโดย Andrew Hargadon ซึ่งมองว่านวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กรจะเกิดขึ้นได้จากการนำแนวคิดใหม่ๆ มาจากหลายๆ แหล่ง และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้นไม่ได้มีอะไรใหม่ๆ เพียงแต่เป็นการผสมผสานและดึงเอาไอเดียจากหลายๆ แหล่งมาผสมผสานกันมากกว่า โดยองค์กรจะต้องสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงานที่กระตุ้นให้นวัตกรรมจากหลายๆ แหล่ง อีกเล่มหนึ่งชื่อ Open Innovation: The New Imperative for Creating and Profiting from Technology เขียนโดย Henry Chesbrough ก็มองแนวคิดในเรื่องของนวัตกรรมต่อเนื่องจากหนังสือ How Breakthroughs Happens โดยมองว่าแนวคิดด้านนวัตกรรมในปัจจุบันควรจะเป็นแนวคิดที่เปิด ที่พร้อมจะเปิดรับไอเดียและความรู้ใหม่ๆ จากภายนอกองค์กร มากกว่าการมองว่านวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากภายในองค์กรเท่านั้น ดูเหมือนว่าแนวโน้มด้านนวัตกรรมในปัจจุบันจะมุ่งเน้นการนำไอเดียและแนวคิดจากที่มีอยู่แล้วภายนอกมาปรับใช้ภายในองค์กรมากกว่าจะเป็นการมุ่งเน้นที่การวิจัยและพัฒนาจากภายในนะครับ
ผมขออนุญาตนำเสนอรายละเอียดเฉพาะในสามหมวดข้างต้นนะครับ อาจจะเป็นเนื่องจากความสนใจส่วนตัวต่อทั้งสามหมวดก็ได้ ส่วนท่านที่สนใจอยากจะทราบว่าสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการในหมวดอื่นๆ นั้นประกอบด้วยหนังสืออะไรบ้างก็ไม่ต้องน้อยใจนะครับ ผมจะนำเสนอเฉพาะชื่อหนังสือและผู้แต่งให้ทราบ เพียงแต่ต้องเรียนตรงๆ ว่าหลายเล่มที่ยังไม่เคยได้ยินหรือเคยเห็นในเมืองไทย ประกอบกับไม่ใช่ความสนใจหลักก็เลยไม่ได้ขวนขวายหาเลยไม่ทราบว่าที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ กับที่เอเซียบุคส์จะมีหรือไม่
ในหมวด Corporate Scandals นั้นมีอยู่หลายเล่มมาก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาได้มีตัวอย่างหรือกรณีศึกษาในด้านนี้จำนวนมากก็ได้ หนังสือในหมวดนี้ประกอบด้วย 1) Anatomy of Greed โดย Brain Cruver 2) Boardbandits โดย Om Malik 3) Disconnected: Deceit and Betrayal at WorldCom โดย Lynne W. Jeter 4) Enron: The Rise and Fall โดย Loren Fox 5) Power Failure: The Inside Story of the Collapse of Enron โดย Mimi Swartz 6) The Smartest Guys in The Room โดย Belhany McLean และ Peter Elkind 7) Stealing Time โดย Alec Klien และ 8) Tearing Down the Walls โดย Monica Langley ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้เลยนะครับว่าสุดยอดหนังสือเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างหรือกรณีศึกษาของบริษัทที่มีปัญหาและล้มเหลวในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น Enron หรือWorldCom
ในหมวด Globalization จะประกอบด้วย 1) Empire: The rise and demise of the British World order and the lessons for global power โดย Niall Ferguson 2) The Future of Freedom โดย Fareed Zakaria 3) One World: The Ethics of Globalization โดย Peter Singer 4) World on Fire โดย Amy Chua ส่วนในหมวด Leadership หรือภาวะผู้นำนั้นประกอบด้วย 1) Good Business: Leadership, Flow, and the Making of Meaning โดย Mihaly Csikszentmihalyi 2) Transforming Leadership โดย James MacGregor Burns 3) Treat People Right! โดย Edward E. Lawler สุดท้ายเป็นทางด้านทุนมนุษย์(Human Capital) ซึ่งปรากฎว่าหนังสือที่สุดยอดที่สุดในด้านนี้กลับเป็นหนังสือที่เขียนอิงเรื่องราวจากกีฬาเบสบอล ที่ชื่อ Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game โดย Michael Lewis
เท่าที่ดูรายชื่อสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการในปีนี้ ดูเหมือนจะไม่คึกคักเท่าปีที่แล้วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของผู้เขียนหนังสือแต่ละเล่มที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสุดยอดหนังสือทางด้านการจัดการในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งจะมีทั้งนักวิชาการและผู้บริหารระดับสูงเข้ามาเขียนหนังสือขายดีจำนวนหลายเล่ม (เช่น Execution หรือ Who Says Elephant Can’t Dance) อย่างไรก็ดีพอหันมาดูตลาดหนังสือทางด้านบริหารธุรกิจในบ้านเรากลับตื่นตัวและคึกคักกันอย่างมากทั้งหนังสือในแนว Pocket Book ที่ออกมากันเต็มไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือแปลจากต่างประเทศ ที่เดี๋ยวนี้มีบริษัทที่เปิดขึ้นมาเพื่อไปซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศและนำมาแปลเป็นภาษาไทยกันโดยเฉพาะ นอกจากนั้นวารสารต่างๆ ทางด้านบริหารธุรกิจก็เปิดตัวกันเยอะมาก จากในอดีตในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาที่มีเหลือเพียงไม่กี่ฉบับ แต่ปัจจุบันมีวางกันเต็มแผงไปหมด จนน่าเป็นห่วงว่าจะนำตัวผู้เขียนและเนื้อหามาจากไหน อย่างไรก็ดีผมว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์กับผู้อ่านและผู้บริโภคทุกท่าน เพียงแต่ท่านผู้อ่านคงจะต้องเลือกที่จะอ่านและนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมเท่านั้นเองครับ