22 June 2003
ผมได้มีโอกาสเขียนเกี่ยวกับแนวคิดการบริหารสมัยใหม่ในบทความนี้มาก็มาก ในสัปดาห์นี้จะขอเปลี่ยนบรรยากาศย้อนยุคกลับไปศึกษากลยุทธ์การบริหารของอดีตนักบริหารที่ประสบความสำเร็จในอดีตสองท่าน ได้แก่ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ Ford และ Alfred Sloan อดีตผู้บริหารสูงสุดของบริษัทรถยนต์ General Motors ซึ่งทั้งสองท่านถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลทางด้านการจัดการ และได้สืบทอดมรดกแนวคิดทางการจัดการไว้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังต้องถือว่าทั้งสองเป็นทั้งคู่ค้า (ก่อนที่ Sloan จะมาเข้าร่วมกับ GM) และเป็นคู่แข่ง โดยความสำเร็จของ Sloan ที่เกิดขึ้นก็อยู่บนความพ่ายแพ้ของ Ford นอกจากนี้เมื่อศึกษากลยุทธ์ที่ทั้งคู่ใช้ก็พบว่าเป็นฐานที่มาของกลยุทธ์หลักๆ ที่องค์กรใช้ในการแข่งขันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในด้านการเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) และ การสร้างความแตกต่าง (Differentiation)
เรามาเริ่มต้นจาก Henry Ford ก่อนนะครับ Ford เกิดขึ้นมาเป็นวิศวกรโดยแท้ ตอนที่ Ford ยังเป็นเด็กอยู่นั่น เขาเองได้แสดงความสนใจในเรื่องของเครื่องกลเป็นอย่างมาก โดยเริ่มจากการถอดและประกอบนาฬิกาของเพื่อน เมื่อโตขึ้นก็ออกมาทำงานเป็นวิศวกร และเริ่มแสดงความสนใจต่อการสร้างรถยนต์ เมื่อ Ford นำรถยนต์ที่ตนเองสร้างขึ้นมาเพื่อเข้าแข่งขันและได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ได้รับทุนสนับสนุนจากผู้ที่สนใจ และสร้างบริษัท Ford ของตนเองขึ้นมา Ford ต้องการผลิตรถยนต์สำหรับการใช้งานในทุกสภาพ ที่เหมาะสมสำหรับทุกคนและทุกชนชั้น Ford เองมีความเชื่อว่าการผลิตสินค้าที่ดีที่สุดในจำนวนมากที่สุด สำหรับคนหมู่มากที่สุดย่อมจะประสบความสำเร็จในที่สุด ในยุคนั้นเองรถยนต์ยี่ห้ออื่นอย่างเช่น Cadillac เป็นรถยนต์ที่มีราคาแพง (หลายพันเหรียญสหรัฐ) เกินกว่าที่คนธรรมดาจะหาซื้อได้ รถยนต์รุ่นแรกที่ Ford ผลิตออกมาเพื่อขายได้แก่ Model A Fordsmobile ซึ่งมีราคาเพียงแค่ $850 สหรัฐ หลังจากออก Model A เพียงแค่สามปี Ford ก็ออก Model T (ปี 1908) ซึ่งได้กลายเป็นตำนานของอุตสาหกรรมรถยนต์
จุดเด่นของ Ford Model T นั้นอยู่ที่การสร้างและออกแบบที่ดี รวมทั้งราคาที่ไม่แพงเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะซื้อได้ ความโดดเด่นอีกประการของ Model T ก็คือเป็นรถยนต์ที่มีให้เลือกทุกสีที่ลูกค้าต้องการตราบใดที่เป็นสีดำ (นั่นคือมีขายเพียงแค่สีดำเพียงสีเดียว) อย่างไรก็ดีมรดกทางการจัดการที่ Ford ทิ้งไว้ให้ไม่ใช่ Model T แต่เป็นกระบวนการในการผลิตที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันว่าเป็น สายการผลิต (Assembly Line) ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการใน Model T มีอย่างมากมายทำให้ Fordต้องมีการปรับกระบวนการในการผลิตใหม่ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนการเปลี่ยนแปลง ในการผลิตรถยนต์แต่ละคัน รถยนต์จะค่อยๆ เคลื่อนไปตามแคร่ เมื่อแคร่หยุดลงที่แต่ละสถานีก็จะมีคนงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่หลายๆ อย่าง Ford ทำให้กระบวนการผลิตง่ายขึ้น โดยมีการมอบหมายให้คนงานแต่ละคนทำหน้าที่เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง แทนที่จะทำหลายๆ อย่างเหมือนเคย หลังจากนั้น Ford ก็ปรับปรุงการเคลื่อนไหวของรถยนต์ให้เคลื่อนไปเรื่อยๆ บนสายพานด้วยความเร็วที่คงที่ เพื่อให้พนักงานที่มีหน้าที่แต่ละประการได้ทำตามหน้าที่ของตนเอง กระบวนการผลิตที่ Ford คิดค้นขึ้นมามีหลักการพื้นฐานมาจากการแบ่งงานการทำ (Division of Work) ตามแนวคิดของ Adam Smith และแนวคิดการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ของ Frederick W. Taylor ท่านผู้อ่านคงคิดว่าสิ่งที่ Ford คิดค้นขึ้นมาไม่ได้เป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับในปัจจุบัน และสามารถพบเจอได้ในโรงงานทั่วๆ ไป แต่ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่าเมื่อเกือบหนึ่งร้อยปีก่อนสิ่งนี้ยังเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
จากกระบวนการในการผลิตแบบใหม่ที่ Ford คิดค้นขึ้น ทำให้เขาสามารถเพิ่มการผลิต Model T ได้ถึงหนึ่งแสนคันภายในช่วงระยะเวลาเดียวกัน และสามารถที่จะลดพนักงานลงได้ 1,500 คน ทำให้ Ford สามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมาก อย่างไรก็ดีผลจากการปรับกระบวนการผลิตทำให้งานที่พนักงานจะต้องทำให้การประกอบรถยนต์เป็นงานที่ยากลำบากและน่าเบื่อ ส่งผลให้อัตราการเข้าออกของพนักงานมีอัตราที่สูง แต่ Ford เองก็ได้เพิ่มค่าตอบแทนให้กับพนักงาน ทำให้มีพนักงานใหม่ๆ มาจากทุกสารทิศของอเมริกา ในปี 1924 หรือ 16 ปีหลังจากการผลิต Model T คันแรก Ford สามารถผลิต Model T ได้ทั้งหมดสิบล้านคัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Ford ได้ใช้โรงงานของเขาเป็นฐานในการผลิตเครื่องบินสำหรับกองทัพสหรัฐ และสามารถผลิตเครื่องบินรบได้ถึงวันละหนึ่งเครื่อง
ถึงแม้ Ford จะเป็นวิศวกรที่เก่งกาจแต่ Ford ก็ถือว่าขาดทักษะในการบริหารและวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ Ford สามารถที่จะก้าวนำหน้าคู่แข่งขันได้ Model T อาจจะทำให้ Ford กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ Ford เองกลับขาดความสามารถในการที่จะปรับตัวให้ทันกับคู่แข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Model T ประสบความสำเร็จ Ford ใช้เวลานานกว่าที่จะออกรถยนต์รุ่นใหม่ออกมา เนื่องจากยังคงยึดติดอยู่กับความสำเร็จของ Model T ที่มีอยู่ ทำให้เมื่อ Ford ตัดสินใจนำรถรุ่นใหม่ออกมาในปี 1928 (หลังจากออก Model T ถึงยี่สิบปี) ทำให้ Ford ไม่สามารถที่จะก้าวทันคู่แข่งสำคัญอย่างAlfred Sloan และ General Motors ไปได้ อย่างไรก็ดีคุณประโยชน์สำคัญที่ Ford ทำให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ก็คือความสามารถในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและทำให้ได้รถยนต์ที่มีคุณภาพที่สม่ำเสมอ ทำให้รถยนต์กลายเป็นสินค้าสำหรับคนหมู่มากแทนที่จะเป็นสินค้าเฉพาะผู้มีเงินเพียงบางกลุ่มเท่านั้น
ทีนี้เราลองหันมาดูประวัติของ Alfred Sloan Jr. กันบ้างนะครับ Sloan เองอ่อนกว่า Ford ถึงสิบสองปี แต่ทั้งคู่ก็มีใจรักในด้านเครื่องยนต์กลไกเหมือนกัน Sloan จบด้านวิศวะไฟฟ้าจาก MIT แล้วหลังจากนั้นก็ไปทำงานอยู่บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ชื่อ Hyatt Roller Bearing ที่ภายหลัง Sloan ก็ได้เข้าไปซื้อกิจการนี้ แล้วขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดเอง ในช่วงนี้เองที่ Sloan ได้มีโอกาสรู้จักกับ Henry Ford ในฐานะลูกค้า ภายหลังบริษัทที่ Sloan เป็นเจ้าของก็ได้ถูก General Motors (GM) เข้ามาซื้อกิจการ และ Sloan ก็ได้เข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ GM ในปี 1923 Sloan ได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของ GM ต่อจาก Pierre du Pont
เมื่อขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของ GM Sloan ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ GM ใหม่ และโครงสร้างใหม่นี่เองที่ทำให้ชื่อของ Alfred Sloan ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ด้านการจัดการ เนื่องจากรถยนต์ของ GM มีหลายยี่ห้อไม่ว่าจะเป็น Buick, Cadillac หรือ Pontiac ทำให้ก่อนการปรับโครงสร้างรถยนต์แต่ละยี่ห้อจะมีการแข่งขันกันโดยตรง แต่ Sloan ได้แบ่งรถยนต์แต่ละยี่ห้อออกตามสายงานต่างๆ (Divisions) โดยแต่ละสายงานจะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนเองที่ชัดเจน มีการออกแบบให้ตรงตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และมีระดับราคาของตนเอง นอกจากนี้รถยนต์แต่ละยี่ห้อจะมีการปรับโฉมอยู่ตลอดเวลาอย่างน้อยปีละครั้ง ทำให้รถยนต์ของ GM มีจำนวนรุ่นให้เลือกมากกว่า Model T ของ Ford ที่มีเพียงแค่รุ่นเดียวมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปี ภายหลังการปรับโครงสร้างองค์กร แต่ละสายงานก็จะมีการบริหารที่ค่อนข้างเป็นอิสระ สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจที่ตนเองอยู่ ส่วน Sloan และผู้บริหารระดับสูงนั้นจะควบคุมการดำเนินงานของแต่ละสายงานโดยมีการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายทางการเงินให้แต่ละสายงานบรรลุ ซึ่งนโยบายการกระจายอำนาจในลักษณะนี้ทำให้ Sloan และผู้บริหารระดับสูงมีเวลาที่จะมานั่งพิจารณาในเรื่องกลยุทธ์ในภาพรวมของ GM ส่วนผู้บริหารของแต่ละสายงานก็รับผิดชอบกลยุทธ์ของสายงานตนเองไป เพื่อให้ได้เป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ ผลจากโครงสร้างองค์กรที่ Sloan นำมาใช้ ทำให้เกิดผู้บริหารมืออาชีพ (Professional Managers) ขึ้นมาใน GM โดยผู้บริหารมืออาชีพเหล่านี้จะมีการบริหารและตัดสินใจ โดยอาศัยข้อมูลและตัวเลขทางด้านการเงินเป็นเกณฑ์
เมื่อพิจารณาปูชนียบุคคลทั้งสองแล้ว ท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่าคุณประโยชน์ที่ทั้งคู่ให้ไว้กับการจัดการจะมีความแตกต่างกัน Ford เป็นผู้พัฒนาระบบการผลิตที่เป็นลักษณะ Assembly Line ขึ้นมาและกลายเป็นวิธีการผลิตที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ส่วน Sloan นั้นพัฒนาโครงสร้างองค์กรในแบบ Divisional ที่กลายเป็นรากฐานของโครงสร้างองค์กรจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งถึงแม้แนวคิดทั้งสองประการเมื่อพิจารณาในปัจจุบันแล้วเราจะไม่รู้สึกว่ามีความใหม่หรือน่าสนใจแต่ประการใด แต่ท่านผู้อ่านก็ต้องอย่าลืมว่าเมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมานั้นสิ่งที่ทั้งสองคิดค้นขึ้นยังเป็นสิ่งใหม่ นอกเหนือจากแนวคิดทางด้านการจัดการทั้งสองประการที่ทั้งคู่ทิ้งไว้ให้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการอยู่ที่กลยุทธ์ในการแข่งขันที่ทั้งคู่เลือกใช้ Ford เองมุ่งนำเสนอสินค้าในลักษณะเดียวกันให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยสินค้าของเขาจะมีราคาที่ไม่สูง แต่สามารถใช้งานได้ดีตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นและไม่ได้มีความแตกต่างให้กับผู้บริโภคแต่อย่างใด ซึ่งถ้าเปรียบกับกลยุทธ์ในปัจจุบันก็เปรียบได้กับกลยุทธ์การเป็นผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) ที่คุ้นเคยกันดี ส่วน Sloan นั้นมุ่งนำเสนอสินค้าที่แตกต่างกันออกไปให้กับลูกค้าในแต่ละกลุ่ม นอกจากนี้สินค้าของ Sloan จะมีการพัฒนาและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าสุดท้าย Sloan จะสามารถใช้กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างเอาชนะ Ford ที่ใช้กลยุทธ์การเป็นผู้นำด้านต้นทุนไปได้ แต่กรณีนี้ก็ไม่อาจจะบอกได้ว่าการสร้างความแตกต่างจะดีกว่าเสมอไป เนื่องจากสิ่งที่ Ford ละเลยไปก็คือการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าของตนเองให้อย่างน้อยพอจะก้าวทันความต้องการของลูกค้าบ้าง ไม่ใช่ขายผลิตภัณฑ์เดิมมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายี่สิบปี