10 January 2003
ในสัปดาห์ที่แล้วได้เกริ่นนำไว้ถึงแนวคิดในเรื่องของ Teaching Organization ซึ่งเป็นแนวคิดขององค์กรยุคใหม่ที่ต้องการให้ผู้นำมุ่งเน้นการสอนมากขึ้น และการสอนของผู้นำจะก่อให้เกิดวงจรของการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น หลักการของ Teaching Organization นั้นมุ่งเน้นให้ทุกคนเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอน ผู้บังคับบัญชาสอนผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเปิดใจให้กว้างและพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้ใต้บังคับบัญชา และนำสิ่งที่เรียนรู้นั้นพัฒนาเป็นความรู้ใหม่เพื่อนำกลับไปสอนผู้ใต้บังคับบัญชาอีกครั้ง จริงๆ แล้วหลักการตรงนี้คล้ายกับการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มีโอกาสที่จะพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อาจารย์ผู้สอนจะไม่ได้ทำหน้าที่ในการสอนอย่างเดียว แต่อาจารย์เองก็ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้จากลูกศิษย์ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นมาปรับประยุกต์เข้ากับความรู้เดิมที่ตนมีอยู่เพื่อนำไปสอนกับลูกศิษย์รุ่นต่อไป ตัวผู้เรียนเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ในการเรียนอย่างเดียว แต่จะเป็นผู้สอนด้วยในบางโอกาส ในห้องเรียนไหนที่มีบรรยากาศในลักษณะนี้มากเท่าใดจะพบว่าทั้งผู้สอนและผู้เรียนเมื่อออกจากห้องไปจะได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากทีเดียว
ถ้าลองกลับไปดูองค์กรจริงๆ ผู้นำระดับสูงมักจะชอบทำหน้าที่เป็นผู้สอนเป็นหลัก และผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะทำหน้าที่เป็นผู้เรียนและผู้ฟังที่ดีเป็นหลัก แต่ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมว่าหลายๆ ครั้งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะเป็นผู้ที่มีความรู้หรือข้อมูลในบางเรื่องที่ดีกว่าผู้บริหาร เนื่องจากเขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่ได้สัมผัสกับตัวลูกค้าหรือคู่แข่งขันโดยตรง เพราะฉะนั้นผู้นำที่ดีจะต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย และนำสิ่งที่ได้รับจากผู้ใต้บังคับบัญชามาปรับและนำไปถ่ายทอดต่อยังคนอื่นๆ ต่อไปในองค์กร นี้แหละครับประเด็นสำคัญของ Teaching Organization ท่านผู้อ่านจะเห็นว่ามันไม่ใช่หลักการที่พิสดารหรือแปลกใหม่แต่ประการใด จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นในชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งเป็นประจำ
ใน Teaching Organization นั้นการเรียนรู้และการสอนจะเกิดขึ้นทั้งสองทาง เป็นลักษณะของวงจรแห่งการเรียนรู้และการสั่งสอน ที่เมื่อแต่ละผู้นำทำหน้าที่ผู้สอนแล้วได้เกิดโอกาสในการเรียนรู้จากผู้เรียน ทั้งสองฝ่ายก็จะปรับเปลี่ยนบทบาทกัน สิ่งที่ผู้นำได้เรียนรู้จากผู้ใต้บังคับบัญชาจะทำให้ผู้นำมีความรู้เพิ่มขึ้น และสามารถนำความรู้นำไปสั่งสอนและถ่ายทอดให้กับผู้อื่นต่อไปได้ ซึ่งวงจรนี้จะทำให้ทั้งองค์กรเกิดการพัฒนาความรู้และสามารถเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขัน ใน Teaching Organization นั้นทุกคนในองค์กรจะต้องเป็นทั้งผู้สอน ผู้เรียนรู้ และทุกคนจะต้องฉลาดขึ้นทุกวัน โดยสรุป Teaching Organization คือองค์กรที่ทุกคนในองค์กรเป็นทั้งผู้สอน และผู้เรียน และกระบวนการในการสอนและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเกิดขึ้นเป็นประจำตลอดเวลาในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร
ท่านผู้อ่านอาจจะมีข้อสงสัยว่าจริงๆ แล้วหลักการของ Teaching Organization จะแตกต่างจากหลักการในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างไร ในเมื่อแนวคิดทั้งสองประการมุ่งเน้นในเรื่องของการเรียนรู้และการพัฒนาองค์กรเหมือนกัน จริงๆ แล้วแนวคิดทั้งสองประการเป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในปัจจุบัน ความเหมือนของทั้งสองแนวคิดนั้นอยู่ที่เป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้ทุกคนในองค์กรได้พัฒนาและหาความรู้ ทักษะและข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับในเรื่องของการบริหารความรู้ภายในองค์กร (Knowledge Management) ที่มุ่งเน้นการสร้างและถ่ายทอดความรู้ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร ส่วนในเรื่องของคามแตกต่างนั้น Teaching Organization มุ่งเน้นให้ทุกคนภายในองค์กรเป็นทั้งผู้สอนและผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา แต่ Learning Organization นั้นมุ่งเน้นการเรียนรู้เป็นหลัก ภายใต้แนวคิดของ Teaching Organization นั้นมองว่าเมื่อทุกคนภายในองค์กรมีโอกาสในการเรียนและการสอนอยู่ตลอดเวลา จะทำให้องค์กรเกิดวงจรในการเรียนและการสอนที่ครบถ้วน และทำให้องค์กรได้มีการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ใหม่ๆ ทั่วทั้งองค์กรอยู่ตลอดเวลา คนที่มีการเรียนรู้และการสอนอยู่ตลอดเวลา จะทำให้บุคคลผู้นั้นไม่เกิดความหลงตนเอง ความมั่นใจในตนเองเป็นสิ่งที่ดี แต่ใครก็ตามที่คิดว่าตนเองรู้ทุกอย่าง จะไม่มีความสนใจที่จะเรียนรู้อะไรจากผู้อื่น และในขณะเดียวกัน คนเหล่านี้จะไม่พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นกัน
อ่านดูแล้วเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงคิดเหมือนกันว่าการพัฒนาองค์กรของท่านให้เป็น Teaching Organization คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่จริงๆ แล้วการพัฒนาองค์กรของท่านให้เป็น Teaching Organization ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย การสร้างองค์กรที่มีลักษณะของ Teaching Organization จำเป็นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ เริ่มแรกจะต้องมาจากตัวผู้บริหารระดับสูงก่อน โดยผู้บริหารระดับสูงจะต้องพร้อมที่จะเปิดใจให้กว้างและพร้อมที่จะเป็นตัวอย่างให้กับผู้บังคับบัญชาในระดับต่างๆ ในการเป็นทั้งผู้สอนและผู้เรียน ถ้าผู้นำสูงสุดแสดงให้ทุกคนในองค์กรได้เห็นว่าตนเองพร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้อื่นและไม่หลงยึดติดกับตำแหน่งของตนจนทำให้เกิดภาวะความหลงตัวเอง ก็จะทำให้ทุกระดับในองค์กรพร้อมที่จะเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอน นอกเหนือจากตัวผู้นำแล้วปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร จริงๆ แล้วผมมองว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญมากทีเดียว เรามักจะคิดว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่ไม่สามารถกำหนดได้และยากที่จะเปลี่ยแปลง แต่ตัวอย่างจากหลายๆ องค์กรที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยแสดงได้แสดงให้เห็นแล้วว่าถ้าผู้นำและผู้บริหารทุกคนมีความมุ่งมั่นย่อมจะสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ และปัจจัยที่สำคัญประการสุดท้ายคือในเรื่องของระบบแรงจูงใจ การจูงใจทั้งผู้บริหารและพนักงานจะต้องเชื่อมกับความสามารถทั้งในการเรียนรู้และการสอน ระบบผลตอบแทนควรจะต้องผูกกับพฤติกรรมในการเรียนรู้และการสอนของผู้บริหารและพนักงาน องค์กรจะต้องให้คุณค่าและความสำคัญกับการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้มากกว่าการมีความรู้ไว้กับตัวเอง
นอกเหนือจากประเด็นในเรื่องของผู้นำ วัฒนธรรมและระบบการจูงใจแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาองค์กรให้เป็น Teaching Organization ยังประกอบด้วย
1) การสร้างทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติของผู้บริหารระดับสูง ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญอันจะนำไปสู่ Teaching Organization ได้แก่ความมุ่งมั่นของผู้บริหารสูงสุด ผู้บริหารสูงสุดเองจะต้องทำตัวเป็นผู้สอนที่ดี ในองค์กรที่ประสบความสำเร็จนั้นผู้บริหารสูงสุดจะให้ความสำคัญกับการสอนบุคลากรภายในองค์กรอย่างมาก การเข้ามามีส่วนในการอบรมหรือสัมมนาของพนักงานในองค์กรอยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารเหล่านี้จะพยายามหาเวลาและโอกาสที่จะได้มาเจอผู้ใต้บังคับบัญชาในระดับต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ผู้บริหารระดับสูงจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสอน และการพัฒนาบุคลากร พร้อมทั้งกำหนดให้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ขององค์กร การที่องค์กรให้ความสำคัญต่อการถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้ร่วมกัน จะทำให้ทุกคนภายในองค์กรได้มีการพัฒนาตนเองให้ทำงานได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น นอกจากนี้การที่ผู้นำมีการสอนอยู่ตลอดเวลา จะเป็นวิธีการหนึ่งที่ผู้นำจะสามารถแสดงความเป็นผู้นำออกมาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้การสอนทำให้องค์กรสามารถพัฒนาผู้นำใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา และยิ่งองค์กรมีผู้นำที่มีคุณภาพมากขึ้น ยิ่งจะทำให้องค์กรมีโอกาสในการประสบความสำเร็จมากขึ้น
2) เมื่อองค์กรมีจิตใจและความพร้อมที่จะสอนแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือจะต้องมีโครงสร้างและสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมที่สนับสนุนให้เกิดทั้งการเรียนรู้และการสอนภายในองค์กร ทั้งในด้านของกิจกรรมการดำเนินงานในแต่ละวันที่กระตุ้นให้เกิดการสอน กระบวนการที่กระตุ้นให้การสอน โครงสร้างองค์กรที่เกื้อหนุน รวมทั้งระบบการประเมินผลและการจูงใจให้คนเกิดการสอนเกิดขึ้นตลอดเวลา
3) ผู้ที่จะเป็นผู้สอนที่จะดีมักจะเป็นผู้เรียนที่ดีด้วย เนื่องจากใครก็ตามที่ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดและสื่อสารความรู้ให้กับผู้อื่น มักจะเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้และพัฒนาความรู้ของตนเองด้วย ผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นแต่การสั่งการหรือบอกให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำอะไร แต่มักจะปิดกั้นความพร้อมของตนเองที่จะเรียนรู้จากผู้ใต้บังคับบัญชา ถึงแม้ผู้นำบางคนจะให้เวลาในการสอนและอบรมผู้ใต้บังคับบัญชาตนเองผ่านทางการบรรยายและอบรมต่างๆ แต่ผู้นำเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเข้ามาในลักษณะของผู้บรรยายเพียงอย่างเดียว โดยเข้ามาในห้องบรรยายเพื่อบอกเล่าและตอบคำถามบางข้อ แต่ผู้นำเหล่านี้จะไม่ได้เข้ามาด้วยใจที่พร้อมที่จะเป็นผู้เรียนรู้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถที่จะเรียนรู้จากผู้ใต้บังคับบัญชาและนำไปคิดเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ได้
4) ผู้บริหารมักจะขาดเวลาทั้งในการเรียนรู้ การคิด และการสอน ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากส่วนใหญ่มักจะทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ไม่นิ่งและเคลื่อนไหวตลอดเวลา จากงานที่ยุ่งตลอดเวลา ทำให้ผู้บริหารขาดเวลาคุณภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อพัฒนากรอบความคิดของตน เพื่อที่จะสามารถนำไปสื่อสารและถ่ายทอดให้กับผู้อื่น ผู้บริหารทุกท่านควรจะหาเวลาส่วนตัวในการพัฒนาและเรียนรู้ต่อสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลานะครับ อย่าลืมว่าโลกปัจจุบันมันหมุนไปเร็วมาก
5) บรรยากาศที่เป็นกันเองเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้ในทุกระดับทั่วทั้งองค์กร ผู้บริหารที่พยายามสร้างสิ่งปิดกั้นระหว่างตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชา จะพลาดโอกาสที่สำคัญในการเรียนรู้จากผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากผู้ใต้บังคับบัญชามักจะไม่ค่อยยอมเปิดปากหรือพูดอะไรที่จะก่อให้เกิดอันตรายกับตนเอง ผู้นำสามารถสร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้โดยผู้บริหารจะต้องพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และให้ความสำคัญกับความเห็นของผู้อื่น ไม่ใช่นึกว่าตัวเองเป็นเจ้านายแล้วจะสั่งตามที่ตัวเองต้องการได้ตลอด จริงๆ หลักการนี้เราเจอกันบ่อยมากในไทย ถ้าผู้นำอยากจะสร้างเครือข่ายในการสื่อสารภายในองค์กรกับลูกน้องระดับล่างมากๆ ก็มักจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศของความเป็นกันเองให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากการเล่นกีฬาร่วมกันหรือการกินเหล้าร่วมกัน
เป็นอย่างไรบ้างครับแนวคิดเบื้องต้นของ Teaching Organization ถ้าท่านผู้อ่านสนใจในรายละเอียดลองหาข้อมูลเพิ่มเติมได้นะครับ แต่ผมคิดว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่สิ่งที่แปลกหรือโดดเด่นอะไร แถมเป็นสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ฝรั่งเขาสามารถที่จะจับสิ่งที่เรารู้เหล่านี้ให้เป็นแนวคิดที่เป็นเรื่องเป็นราว และเขียนหนังสือเล่มเบ่อเริ่มเทิ่มเอาไว้ขายเรา