7 December 2002
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงสุดยอดนักคิดทางด้านการจัดการของโลกไป ก็มีท่านผู้อ่านบางท่าน e-mail เข้ามาถามเหมือนกันว่าในศาสตร์การจัดการด้านต่างๆ นั้นใครเป็นเจ้ายุทธจักรบ้าง ในสัปดาห์นี้ผมเลยขอนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบว่าในศาสตร์การจัดการแต่ละด้านที่สำคัญนั้นใครที่ถือเป็นกูรู (หรือกูรู้) ในระดับโลกบ้าง
เริ่มตั้งแต่ศาสตร์ในด้านการของการจัดการเชิงกลยุทธ์เลยก่อนนะครับ ถ้าพูดถึงกลยุทธ์แล้วไม่พูดถึง Michael E. Porter ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็ดูจะเชยไปทันที Porter เป็นกูรูทางด้านการจัดการเพียงไม่กี่คนที่สามารถผสมผสานหลักการ แนวคิดและรากฐานด้านวิชาการเข้ากับแนวคิดทางธุรกิจ Porter จบปริญญาตรีด้าน Aeronautical Engineering จบ MBA และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อีกทั้งยังเป็นศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในขณะที่นักวิชาการส่วนใหญ่มุ่งเน้นแต่การทำวิจัยที่ยากที่จะนำไปปฏิบัติได้ แต่ Porter สามารถผสมผสานผลจากการวิจัยของเขาและนำมาอธิบายด้วยภาษาที่นักธุรกิจสามารถเข้าใจได้ง่ายและนำไปปฏิบัติได้ง่าย Porter เขียนหนังสือออกมาไม่กี่เล่มแต่ว่าแต่ละเล่มถือเป็นอมตะและเป็นหนังสือที่ผู้ที่ศึกษาด้านกลยุทธ์ทุกคนจะต้องอ่าน แม้กระทั่งในปัจจุบันตามร้านหนังสือในไทยไม่ว่าจะเป็นศูนย์หนังสือจุฬาฯ หรือเอเชียบุคส์ก็ยังมีหนังสือของเขาขายอยู่ถึงแม้ว่าจะพิมพ์ออกมาหลายปีแล้วก็ตาม
หนังสือเล่มแรกที่สร้างชื่อให้กับ Porter ออกมาในปี 1980 ชื่อ Competitive Strategy: Techniques for Analyzing Industries and Competitors โดยหนังสือเล่มนี้ได้เปลี่ยนวิธีการในการมองกลยุทธ์จากเดิมที่มุ่งเน้นแต่ทรัพยากรภายในและการมุ่งเน้นการสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดให้หันมามองจากมุมของความน่าสนใจของอุตสาหกรรมและตำแหน่งทางกลยุทธ์แทน Porter จะย้ำอยู่เสมอว่าสาเหตุที่ทำให้องค์กรธุรกิจประสบความสำเร็จนั้นอยู่ที่การเลือกอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและการมีตำแหน่งทางกลยุทธ์ที่เหมาะสม นอกจากหนังสือเล่มดังกล่าวแล้ว Porter ยังออกหนังสืออีกหลายเล่มไม่ว่าจะเป็น Competitive Advantage: Creating and Sustaining Superior Performance (ออกมาในปี 1985) Competitive Advantage of Nations (ออกมาในปี 1990) และ Can Japan Compete? (ออกมาในปี 2000 ร่วมกับนักเขียนท่านอื่น) แนวคิดหลายๆ ประการของ Porter ไม่ว่าจะเป็น 5-Forces Model, Value Chain, Diversification, National Diamond ต่างถือเป็นแนวคิดพื้นฐานทางด้านกลยุทธ์ที่มีการสอนในโรงเรียน MBA ทุกแห่งทั่วโลกและปรากฎอยู่ในตำราทางด้านกลยุทธ์ทุกเล่ม
ถ้าถือว่าแนวคิดของ Porter เป็นแนวคิดด้านกลยุทธ์ที่คลาสสิก ก็ต้องมองว่า Gary Hamel คือผู้รู้ด้านกลยุทธ์ในยุคใหม่ Hamel จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Michigan ที่ซึ่งเขาได้พบกับ ศาสตราจารย์ C.K. Prahalad ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์ที่ปรึกษาและเพื่อนร่วมงานในปัจจุบัน Hamel ไม่ได้เป็นนักวิชาการเต็มเวลาเช่นคนอื่น แต่เป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการชื่อ Stretegos และเป็นอาจารย์พิเศษที่ London Business School แนวคิดของ Hamel นั้นจะมุ่งเน้นการมองกลยุทธ์เป็นการปฏิวัติ (Revolution) รวมทั้งเสนอให้มองกลยุทธ์ไปในอนาคต โดยอย่าไปยึดติดกับอดีตที่ผ่านมา และยังได้นำเสนอถึงนวัตกรรมทางกลยุทธ์ (Strategic Innovation) ว่าเป็นแนวทางหลักที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในสภาวะแวดล้อมทางการแข่งขันเช่นปัจจุบัน แนวคิดของ Hamel มักจะไม่ยึดติดกับอดีตและพยายามให้องค์กรสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา Hamel เขียนหนังสือที่ขายดีมากสองเล่ม โดยเล่มแรกเขียนคู่กับ C.K. Prahalad ชื่อ Competing for The Future และเล่มล่าสุดคือ Leading the Revolution แนวคิดของ Hamel ดูจะขัดๆ กับของ Porter หน่อย โดยทั้ง Prahalad และ Hamel มองว่าสาเหตุที่องค์กรธุรกิจประสบความสำเร็จอยู่ที่ปัจจัยภายในที่ยากที่จะลอกเลียนแบบได้ (ทั้งคู่เรียกสิ่งนี้ว่า Core Competence) แทนที่จะเป็นการอยู่ในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและตำแหน่งที่เหมาะสม
นอกเหนือจาก Porter และ Hamel แล้วยังมีกูรูด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์อีกหลายท่านไม่ว่าจะเป็นIgor Ansoff, Alfred Chandler, C.K. Prahalad, Henry Mintzberg และเมื่อพื้นฐานการแข่งขันทางธุรกิจให้ความสำคัญกับดิจิตอลมากขึ้น ก็ได้เริ่มมีสุดยอดนักคิดทางด้านกลยุทธ์ในยุคดิจิตอลขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น Nicholas Negroponte จาก MIT Media Lab ซึ่งขายหนังสือขายดีในปี 1995 ชื่อ Being Digital หรือ Don Tapscott ชาวแคนาดาผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิวัติทางด้านดิจิตอลไม่ว่าจะเป็น Paradigm Shift หรือ Digital Capital
เราหันมาลองดูศาสตร์ทางด้านภาวะผู้นำ (Leadership) กันบ้าง มีการศึกษาเรื่องของภาวะผู้นำกันมานานมาก แต่ในยุคหลังนี้ถ้าจะพูดถึงผู้รู้ด้านภาวะผู้นำในปัจจุบันก็จะนึกถึง Warren Bennis ก่อนเป็นลำดับแรก Bennis ปีนี้มีอายุ 77 ปีแล้ว โดยพื้นฐานของ Bennis นั้นเริ่มต้นจากการศึกษาในเรื่องของการพัฒนาองค์กร (Organizational Development) แล้วเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ Douglas McGregor ผู้คิดค้นทฤษฎี X และ Y ที่ใช้ในการจูงใจคน ในช่วงต่อมา Bennis เปลี่ยนบทบาทของตนเองจากนักวิชาการไปเป็นผู้บริหารโดยไปเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Cincinnati ซึ่งในช่วงนั้น Bennis ก็พยายามใช้แนวคิดของ McGregor มาใช้ในการบริหาร ต่อมา Bennis กลับไปจับงานด้านวิชาการอีกครั้งโดยเป็นศาสตราจารย์ที่ University of Southern California ซึ่งในช่วงหลังนี้เองที่ Bennis ผลิตผลงานด้านภาวะผู้นำออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานที่สร้างชื่อให้กับ Bennis อย่างมากคือผลการวิจัยระยะยาวซึ่งต่อมาเขาได้เขียนเป็นหนังสือคู่กับ Burt Nanus ชื่อ Leaders: The Strategies for Taking Changes (จัดพิมพ์ในปี 1985) ซึ่งพยายามศึกษาลักษณะร่วมกันของผู้นำที่ประสบความสำเร็จในสาขาต่างๆ ของอเมริกา โดยในหนังสือเล่มนี้ได้ระบุลักษณะที่สำคัญของผู้นำสี่ประการที่พบจากการศึกษา ประกอบไปด้วย 1) การให้ความสนใจและใส่ใจต่อวิสัยทัศน์ 2) การสื่อสารและถ่ายทอดวิสัยทัศน์ไปให้ผู้อื่นเข้าใจได้ 3) การสร้างระบบในการจัดกิจกรรมและแนวทางเพื่อนำวิสัยทัศน์ไปปฎิบัติ และ 4) การยอมรับในตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ Bennis ยังได้เป็นผู้ให้คำนิยามกับคำว่า Transformative Leadership ที่ปรากฎอยู่ในตำราด้านภาวะผู้นำเกือบทุกเล่มในปัจจุบัน โดยผู้นำที่มีลักษณะ Transformative นั้นจะมีความสามารถในการชักจูง และจูงใจผู้อื่นให้สามารถปฏิบัติวิสัยทัศน์ของตนเอง ผู้นำประเภทนี้จะมุ่งเน้นการชักจูงให้คนทำตามมากกว่าการผลักดันให้คนอื่นทำตาม
นอกเหนือจาก Warren Bennis แล้ว นักวิชาการที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งด้านภาวะผู้นำคือ John Kotter ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด งานของ Kotter นั้นมักจะมุ่งเน้นไปที่งานด้านของภาวะผู้นำและการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนใหญ่ โดยหนังสือที่สร้างชื่อให้ Kotter คือหนังสือเรื่อง Leading Change ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ Kotter มองว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมต่างๆ จะเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นทุกขณะ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้บริหารในการที่จะบริหารและชี้นำการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ Kotter ยังมองด้วยว่าในยุคที่มีเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ เข้ามาอย่างมากมายเช่นปัจจุบัน การที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร และสาเหตุหนึ่งที่ผู้นำไม่สามารถนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้คือผู้บริหารไม่สามารถที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้โดยการบริหารการเปลี่ยนแปลงได้ Kotter ได้เสนอแนะขั้นตอนแปดขั้นตอนในการนำการเปลี่ยนแปลงมาใช้ในองค์กร ตั้งแต่ 1) การสร้างความจำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลง 2) การสร้างพันธมิตรในการเปลี่ยนแปลง 3) การสร้างวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับการเปลี่ยนแปลง 4) การสื่อสารวิสัยทัศน์ของการเปลี่ยนแปลงให้ทุกคนได้รับทราบ 5) การลดข้อกีดขวางในการเปลี่ยนแปลง 6) การสร้างชัยชนะในระยะสั้น 7) การระวังที่จะไม่ประกาศชัยชนะที่เร็วเกินไป และ 8) การปลูกฝังผลของการเปลี่ยนแปลงไว้ในวัฒนธรรมองค์กร และในปีนี้ Kotter ได้ออกหนังสืออีกเล่มชื่อ The Heart of Change ซึ่งเป็นการขัดเกลาหลักการทั้งแปดข้อให้ชัดเจนขึ้นพร้อมทั้งการยกตัวอย่างที่ชัดเจนขึ้นสำหรับหลักการทั้งแปดข้อที่ Potter ได้กำหนดขึ้น
นอกเหนือจากผู้นำความคิดทางการจัดการในด้านของกลยุทธ์และภาวะผู้นำแล้ว ในยุคปัจจุบันที่เรากำลังตื่นตัวกันในเรื่องขององค์กรและสังคมแห่งการเรียนรู้ เรามาลองดูนักคิดชื่อดังในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้นำครับว่ามีใครบ้าง โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเรานึกถึงผู้เชี่ยวชาญหรือผู้บุกเบิกด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้แล้วเรามักจะนึกถึงแต่ Peter Senge จาก MIT แต่จริงๆ แล้ว Chris Argyris ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ดถือเป็นผู้บุกเบิกที่แท้จริงเกี่ยวกับองค์กรแห่งการเรียนรู้ Argyris เป็นคนแรกที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยเขียนหนังสือชื่อ Organizational Learning ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 1978 และได้เสนอแนะหลักการเกี่ยวกับ Single-loop และ Double-loop Learning สำหรับ Peter Senge ที่เราส่วนใหญ่คุ้นเคยนั้นโด่งดังจากหนังสือ The Fifth Discipline ในปี 1990 ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้เสนอแนะแนวทางห้าประการสำหรับการเรียนรู้ภายในองค์กร ซึ่งประกอบด้วย 1) Systems thinking หรือการมองภาพรวมขององค์กร 2) Personal Mastery หรือการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรภายในองค์กร 3) Mental Models เป็นลักษณะของการเปิดใจที่กว้างสำหรับการยอมรับการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ใหม่ๆ 4) Shared Vision เนื่องจาก Senge มองว่าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมต้องเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันเป็นทีม และการที่จะทำงานร่วมกันเป็นทีมได้นั้นทุกคนในทีมจะต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน 5) Team Learning ซึ่งSenge มองว่าการเรียนรู้ของทีมจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากการพูดคุยกันระหว่างสมาชิกภายในทีม จริงๆ แล้วหลักการของ Senge เป็นความพยายามในการสื่อสารแบบง่ายๆ ว่าถ้าต้องการที่พัฒนาองค์กรของตนให้มีความสามารถในการเรียนรู้ได้นั้น จะต้องลืมวิธีการในการคิดแบบเดิมๆ (Mental Models) พร้อมที่เรียนรู้และรับรู้จากผู้อื่น (Personal Mastery) เข้าใจวิธีการในการดำเนินงานขององค์กร (Systems Thinking) กำหนดวิสัยทัศน์แผนที่ทุกคนในองค์กรจะเห็นชอบด้วย (Shared Vision) และ ทำงานร่วมกับผู้อื่นในการทำให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้น (Team Learning)
นอกเหนือจาก Argyris และ Senge แล้ว ยังมีกูรูทางด้านองค์กรแห่งการเรียนรู้และการบริหารความรู้ (Knowledge Management) จากเอเชียอีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ Ikujiro Nonaka ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้าน Knowledge เป็นคนแรกของ University of California ศาสตราจารย์ Nonaka ได้เขียนหนังสือขายดีระดับโลกชื่อ The Knowledge Creating Company ซึ่งเป็นหนังสือที่แสดงถึงสาเหตุที่บริษัทจากญี่ปุ่นส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จนั้นเนื่องจากความสามารถของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ในการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง Nonaka เสนอถึงความแตกต่างระหว่างแนวทางของบริษัทในซีกโลกตะวันออกกับตะวันตกในเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้ โดยในบริษัทจากฝั่งอเมริกาและยุโรปนั้น ความรู้มักจะเป็นสิ่งที่เป็นระบบ เป็นทางการและการบริหารความรู้นั้นมักจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์และตีความในข้อมูลที่มีอยู่ ความรู้ใหม่ๆ มักจะถูกบันทึกไว้ในเอกสารหรือระบบสารสนเทศ และการถ่ายทอดมักจะเกิดขึ้นจากการอบรมอย่างเป็นทางการ ดังนั้นความรู้ของบริษัทในฝั่งตะวันตกมักจะเป็นในรูปของความรู้ที่จับต้องได้ (Explicit Knowledge) ส่วนของฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้น ความรู้มักจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ และมักจะเกิดขึ้นจากความชำนาญและความเชี่ยวชาญของแต่ละบุคคล ดังนั้นความรู้จึงมักจะเป็นในรูปของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (Implicit Knowledge)
ชื่อของผู้รู้ทางด้านการจัดการเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงระดับโลกในศาสตร์ของตนเอง แต่ถ้าจะถามทุกคนว่าใครคือผู้รู้หรือกูรูทางด้านการจัดการที่โด่งดังและเป็นที่ยอมรับที่สุดในโลกก็ต้องหนีไม่พ้น Peter Drucker ซึ่ง Drucker จะเป็นผู้ที่มีลักษณะเป็นนักคิดทางด้านการจัดการที่เป็นที่ยอมรับของทุกคนทั่วโลก จนกระทั่งมีชายชาวเกาหลีคนหนึ่งเปลี่ยนชื่อตนเองเป็น Peter โดยหวังว่าจะสามารถมีความฉลาดได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของ Drucker จริงๆ แล้วยังมีผู้รู้ทางด้านการจัดการที่มีชื่อเสียงอีกมาก ถ้าท่านผู้อ่านสนใจผมเชื่อว่ามีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้าอย่างมากในอินเตอร์เน็ต