8 November 2002
ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าปัจจุบันเป็นฤดูอะไรสำหรับองค์กรธุรกิจ? ไม่ใช่ฤดูหนาวหรือฤดูลอยกระทงนะครับ แต่เป็นฤดูการทำแผน ในช่วงนี้องค์กรธุรกิจเกือบทั้งหมดของไทยกำลังอยู่ในช่วงของการจัดทำแผนสำหรับปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นแผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติการ หรือแผนงบประมาณ แผนต่างๆ เหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการในการคิด วิเคราะห์ หาข้อมูล ถกเถียงมาอย่างดี และส่วนใหญ่ก็มักจะทำออกมาในรูปเล่มที่สวยงาม แต่ทว่าพอถึงกลางปีหน้ากว่าครึ่งหนึ่งของแผนเหล่านี้มักจะอุดมไปด้วยฝุ่นละออง หรือไม่ก็จะถูกขึ้นหิ้งบูชาในห้องผู้บริหารทุกท่าน สมกับที่เราเรียกว่าเป็นการวางแผน นั้นคือทำแผนเสร็จแล้วเอามาวางไว้
ท่านผู้อ่านทุกท่านคงจะเห็นด้วยกับผมว่าปัญหาที่องค์กรส่วนใหญ่เผชิญไม่ใช่ขาดการวางแผนที่ดี แต่เป็นความสามารถในการนำแผนนั้นไปปฏิบัติ (Execution) ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่ากระบวนการวางแผนเป็นกระบวนการทางความคิด (Intellectual Process) ที่ในขณะท่านผู้อ่านนั่งในรถ ท่านผู้อ่านก็อาจจะนั่งคิดวางแผนได้ แต่การนำแผนไปปฏิบัตินั้นเป็นกิจกรรมและการกระทำที่จะต้องเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่นั่งฝันหวานแล้วแผนที่วางไว้ก็จะประสบความสำเร็จ ท่านผู้อ่านอาจจะลองนึกถึงตัวท่านเองก็ได้นะครับ ผมเชื่อว่าต้องเคยมีอย่างน้อยซักครั้งหนึ่งในชีวิตคนเราที่ได้วางแผนไว้ แต่ไม่ได้ทำตามแผน ตัวอย่างง่ายๆ เช่นวางแผนที่จะลดน้ำหนักโดยการลดอาหารเย็น แต่ถึงเวลาจริงๆ ก็อดไม่ได้ที่จะกินอย่างเต็มที่
ได้เคยมีการวิจัยในต่างประเทศโดยนิตยสาร CFO ถึงสาเหตุที่ทำให้องค์กรไม่สามารถนำแผนไปปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จได้นั้นมาจากสาเหตุที่สำคัญสี่ประการ ประกอบด้วย 1) วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์กรที่ได้กำหนดไว้อย่างสวยหรูและเลิศลอยไม่ได้มีการสื่อสารและถ่ายทอดลงไปสู่ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับที่จะสามารถเข้าใจและปฏิบัติตามได้ ผมเชื่อว่าองค์กรขนาดกลางและใหญ่ในประเทศไทยเกือบทุกแห่งจะมีการกำหนดวิสัยทัศน์หรือทิศทางขององค์กรไว้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ผมเองเมื่อได้มีโอกาสทำ In-house Training ที่ใดก็แล้วแต่มักจะอดไม่ได้ที่จะถามถึงวิสัยทัศน์ขององค์กรนั้น ปรากฏว่ามากกว่าครึ่งของผู้บริหารที่เข้าสัมมนามักจะไม่สามารถตอบในวิสัยทัศน์ขององค์กรตนเองได้ ส่วนใหญ่คำตอบที่มักจะได้รับมักจะเป็น จำไม่ได้บ้าง หรือ ยาวเกินไปท่องไม่หมดบ้าง หรือจำได้แต่ไม่รู้ว่าหมายความว่าอย่างไร ท่านผู้อ่านอย่าลืมนะครับว่าถ้าวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ไม่สามารถสื่อสารไปสู่สิ่งที่ผู้บริหารและบุคลากรสามารถเข้าใจได้ และเขาจะปฏิบัติตามได้อย่างไร
2) ผลตอบแทนหรือสิ่งที่จูงใจผู้บริหารนั้นแทบไม่ได้ผูกกับกลยุทธ์เลย ถ้าไม่ได้มีสิ่งใดจูงใจให้ทำตามกลยุทธ์แล้วก็จะเกิดประเด็นว่าแล้วคนจะปฏิบัติตามกลยุทธ์ไปเพื่ออะไร ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าการจูงใจที่ดีจะเป็นการชี้นำให้เกิดพฤติกรรมตามที่ผู้บริหารต้องการ 3) งบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้มีการผูกกับกลยุทธ์ ทั้งๆ ที่งบประมาณถือเป็นเครื่องมือประการหนึ่งในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ โดยเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ขององค์กร หน่วยงานจำนวนมากมักจะจัดทำกลยุทธ์โดยดูจากงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว และปรับเพิ่มขึ้นอีก 5% หรือ 10% และ 4) ผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องของกลยุทธ์เท่าใด ผู้บริหารส่วนใหญ่ใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อเดือนในการพูดคุยเกี่ยวกับกลยุทธ์ขององค์กร
ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘Execution’ เขียนโดย Larry Bossidy อดีตผู้บริหารระดับสูงของจีอีและปัจจุบันเป็นผู้บริหารสูงสุดของ Honeywell และ Ram Charan นักวิชาการและที่ปรึกษาทางด้านการจัดการ (เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ได้มีการแนะนำหนังสือเล่มนี้ไปเรียบร้อยแล้วในคอลัมภ์ข้างๆ ลองกลับไปหาอ่านดูได้นะครับ) พออ่านจบแล้วผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ได้ให้ข้อคิดและแนวทางที่น่าสนใจหลายประการเกี่ยวกับการบริหารให้ประสบความสำเร็จโดยมุ่งเน้นการปฏิบัติให้เกิดผล (Execution) ผมเลยขออนุญาต นำแนวคิดหลายๆ ข้อจากหนังสือเล่มนี้มานำเสนอให้ท่านอ่านครับ คิดว่าแนวคิดเหล่านี้น่าจะช่วยเหลือและเป็นแนวทางให้ผู้บริหารและองค์กรสามารถแก้ปัญหาการของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้
ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Execution หรือที่ในพจนากรมให้คำแปลไว้ว่าเป็น การทำให้สำเร็จ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร จริงๆ แล้วองค์กรทุกแห่งควรจะมีความสามารถในการทำงานให้สำเร็จได้ดี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ถ้าจะถามว่าใครคือผู้ที่มีความรับผิดชอบและความสำคัญสูงสุดต่อการที่องค์กรจะเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการทำงานให้สำเร็จ ก็คงจะหนีไม่พ้นผู้นำระดับสูง ซึ่งคงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้นำในหลายๆ องค์กรกันพอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตหรือในปัจจุบันในบางองค์กร ผู้นำระดับสูงคือผู้ที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง และคอยสั่งการผ่านผู้บริหารระดับรองๆ ลงไป เรามักจะนึกว่าการปฏิบัติงานให้สำเร็จนั้นเป็นหน้าที่ของผู้บริหารระดับและบุคลากรระดับรองลงไป ถ้าท่านผู้อ่านเจอผู้บริหารระดับสูงที่ยังเป็นอย่างนี้อยู่ก็คงจะต้องเหนื่อยหน่อยนะครับ เนื่องจากในปัจจุบันการจะทำงานให้สำเร็จได้นั้นผู้บริหารระดับสูงถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมาก เรามาลองพิจารณากันนะครับว่าในหนังสือ Execution เขาได้มีการแนะนำถึงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้บริหารระดับสูงต่อการทำให้องค์กรของตนเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นในความสำเร็จของงาน โดยข้อเสนอแนะต่อผู้บริหารระดับสูงในหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย
1) ผู้บริหารระดับสูงที่ดีจะต้องมีความเข้าใจต่อตัวองค์กร บุคลากร และสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานอย่างดี ท่านจะไม่สามารถมุ่งเน้นการทำงานให้เกิดผลสำเร็จได้เลยถ้าท่านยังไม่รู้จักองค์กร บุคลากร หรือสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานของท่าน ถ้ามีโอกาสก็ควรจะหาโอกาสในการเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าพอมีการประชุมที่สำคัญหรือกิจกรรมที่สำคัญภายในองค์กร ก็จะไม่ปรากฏตัวเข้าร่วม หรือร่วมแล้วแต่นั่งหลับ ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารและบุคลากรในระดับต่างๆ ก็ถือว่าสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งได้มีการนำเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ เข้ามาใช้ ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับผู้บริหารระดับรองและบุคลากรในระดับต่างๆ จะทำให้การริเริ่มนำสิ่งใหม่ๆ หรือการนำการเปลี่ยนแปลงมาใช้ภายในองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการลดแรงต่อต้านที่จะเกิดจากการนำสิ่งใหม่ๆ มาใช้ภายในองค์กร นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือการริเริ่มอะไรใหม่ภายในองค์กร ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและแสดงบทบาทของตนเองที่ชัดเจน ทั้งในด้านของการเป็นผู้ประกาศหรือริเริ่มสิ่งใหม่ๆ นั้น รวมถึงการบอกให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความสำคัญของสิ่งนั้น การเข้ามาเกี่ยวข้องของผู้บริหารระดับสูงและการที่ผู้นำได้แสดงออกให้ทุกคนเห็นอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมทำให้การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กรลดลง และเพิ่มโอกาสของความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในการทำสิ่งต่างๆ ภายในองค์กร
2) ผู้บริหารที่ต้องการให้เกิดการทำงานที่สำเร็จจะต้องมีการตั้งเป้าที่ชัดเจนและการกำหนดความสำคัญของสิ่งที่จะทำ องค์กรที่ประสบความสำเร็จนั้นจะไม่ทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน แต่จะมุ่งเน้น (Focus) อยู่เฉพาะเพียงประเด็นไม่กี่อย่างที่ทุกคนภายในองค์กรสามารถทำความเข้าใจและมีส่วนร่วม อีกทั้งการมุ่งเน้นในสิ่งที่สำคัญเพียงไม่กี่อย่างจะทำให้การบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันผู้บริหารและบุคลากรในระดับต่างๆ ก็ต้องการความชัดเจนในสิ่งที่จะทำ พวกเขาจะได้สามารถทุ่มกำลังกายและกำลังใจไปในสิ่งเหล่านั้นได้ ไม่ใช่พยายามทำทุกอย่างแต่ทำได้ไม่ดีซักอย่างกลายเป็นเป็ดที่เดินเป๋ไปเป๋มา ถ้าผู้อ่านลองดูซิครับเมื่อใดก็ตามที่ท่านผู้อ่านเจอผู้บริหารที่บอกว่าตนเองมีสิ่งที่สำคัญที่ต้องทำสิบอย่างแล้ว แสดงว่าผู้บริหารผู้นั้นไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญ นอกเหนือจากการมุ่งเน้นในสิ่งที่สำคัญจริงๆ แล้ว ผู้นำที่มุ่งเน้นการทำงานให้สำเร็จจะต้องมีการตั้งเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย (Simplicity) ท่านผู้อ่านอาจจะสังเกตได้นะครับว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จและผู้ที่มีความสามารถที่แท้จริงนั้นคือผู้ที่สามารถพูดและทำอะไรออกมาได้ง่ายและตรงประเด็น ผู้บริหารที่พูดและทำอะไรออกมาได้ง่าย จะมีวิธีการในการที่จะสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ตนเองต้องการได้ชัดเจนและตรงประเด็น เมื่อทุกอย่างง่ายและตรงประเด็นแล้วทุกคนย่อมพร้อมที่จะทำตามเนื่องจากความง่ายและเข้าใจได้ชัดเจนของสิ่งที่จะทำ
3) ผู้บริหารที่ดีจะต้องมีการติดตามงาน (Follow Through) ไม่ใช่ปล่อยให้งานผ่านไปโดยขาดการติดตามที่ต่อเนื่อง ท่านผู้อ่านอาจจะเจอผู้บริหารบางท่านที่ขาดการติดตามงานที่ต่อเนื่อง ท่านผู้อ่านอาจจะลองนึกถึงการประชุมที่ผ่านมาหลายๆ ครั้งก็ได้ว่าเมื่อประชุมเสร็จสิ้นแล้ว ทุกคนยังไม่รู้เลยว่าอะไรคือข้อสรุปที่ได้จากที่ประชุม ไม่รู้ว่าใครจะต้องทำอะไร เมื่อไหร่และอย่างไรบ้าง นี้คือตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้บริหารที่ขาดการติดตามงาน พูดง่ายๆ ก็คือถ้างานชิ้นใดที่ไม่มีผู้รับผิดชอบหรือเจ้าภาพที่ชัดเจนแล้วงานชิ้นนั้นจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร ต่อให้ท่านตั้งเป้าที่ดีและชัดเจนเพียงใด แต่ถ้าไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนของงานนั้น รวมทั้งไม่มีการติดตามงานที่ดี เป้าหมายนั้นก็ยากที่จะบรรลุได้ งานหลายๆ อย่างที่ไม่มีการติดตามที่ดีพอผ่านไปซักระยะหนึ่งงานนั้นก็มักจะถูกละเลยหรือลืมไป เนื่องจากพอผู้นำไม่ติดตาม ผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะไม่เอาใจใส่เนื่องจากทุกคนรู้ว่า ถ้าไม่ทำก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แล้วเรื่องอะไรจะทำไปให้เหนื่อย
4) จะต้องมีการวัดในผลงานที่ชัดเจน รวมทั้งมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำงานจนประสบความสำเร็จ ผู้นำที่เน้นการทำงานให้สำเร็จนั้นจะพัฒนาระบบในการประเมินผลและการให้ผลตอบแทนต่อผู้ที่ทำงานจริง จะสังเกตว่าในปัจจุบันหลายๆ องค์กรเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการในการจ่ายค่าตอบแทน (ไม่ว่าจะเป็นโบนัสหรือการขึ้นเงินเดือน) ให้เป็นไปตามผลงานที่เกิดขึ้นจริงหรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Performance-Based Pay การทำสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ที่ทำงานจริงเกิดแรงจูงใจในการทำงาน อีกทั้งทำให้ทุกคนในองค์กรได้รับรู้ว่าผู้บริหารได้ให้ความสำเร็จกับผลของงานมากเพียงใด ดังนั้นคงจะไม่แปลกใจนะครับที่ในปัจจุบันได้มีองค์กรเป็นจำนวนมากที่ได้นำเครื่องมือทางด้านการจัดการสมัยใหม่หลายๆ ตัวเข้ามาช่วยเพื่อให้สามารถวัดผลของการทำงานที่ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Balanced Scorecard, Key Performance Indicators, Result-Based Management (RBM)
5) ผู้นำที่เน้นการทำงานให้สำเร็จจะต้องมุ่งเน้นในการพัฒนาบุคลากรอยู่ตลอดเวลา แต่การพัฒนาบุคลากรในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการเรียนในห้องเรียนเท่านั้นนะครับ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงในองค์กรนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นนอกห้องเรียน การเข้าห้องเรียนหรือห้องสัมมนานั้นเป็นเพียงการทำให้ทุกคนได้รู้จักและรับรู้ถึงเครื่องมือ (Tools) ที่จะต้องใช้ แต่วิธีการในการนำมาใช้ให้ประสบผลสำเร็จนั้นอยู่ภายนอกห้องเรียนเป็นหลัก โดยผู้นำที่มุ่งเน้นการทำงานให้สำเร็จจะต้องพยายามใช้การ Coaching หรือการสอนงานลูกน้องอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้สามารถเพิ่มพูนขีดความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อทำให้บุคคลเหล่านั้นได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญขององค์กรต่อไป
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่าจริงๆ แล้วหลักของ Execution ไม่ได้มีอะไรที่ใหม่หรือหวือหวาแต่ประการใด หลักการต่างๆ ที่ผมได้นำเสนอมาถือเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกท่านทราบกันอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้มีการปฏิบัติตามอย่างจริงจังเท่าใด ท่านผู้อ่านลองกลับไปปฏิบัติดูอย่างจริงจังซิครับแล้วจะพบว่าถ้าทำได้จริงๆ จะทำให้การทำงานของเราดีขึ้นได้จริงๆ