30 November 2002
จำได้ว่าเมื่อประมาณต้นปีนี้ได้เขียนบทความเกี่ยวกับผู้รู้ทางด้านการจัดการ (Management Guru) ที่สำคัญของโลก ซึ่งกลุ่มผู้รู้ทางด้านการจัดการเหล่านี้เป็นผู้สร้างแนวคิดและหลักการทางด้านการจัดการใหม่ๆ ให้กับโลกวิชาการและการจัดการ และในขณะเดียวกันผู้รู้เหล่านี้ต่างมีความสามารถในการกำหนดกลยุทธ์และบริหารตราสินค้า (นั้นคือตัวเอง) ให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกและนำไปสู่รายได้อันมากมายมหาศาล จนกระทั่งเริ่มเกิดคำถามขึ้นมาแล้วว่าพวกเขาเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดคุณค่าและประโยชน์ที่แท้จริงต่อการบริหารการจัดการหรือไม่ หรือเป็นเพียงนักการตลาดที่มีความสามารถ
อาจจะดูเหมือนว่าผู้รู้หรือสุดยอดนักคิดด้านการจัดการเหล่านี้มีอยู่มากมายหลายท่าน แต่จริงๆ แล้วตลาดเหล่านี้ยังเป็นตลาดของผู้ขายอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากทั้งผู้บริหารของประเทศ องค์กรธุรกิจ สมาคมการค้าต่างๆ หรือสถาบันการศึกษา ต่างต้องการตัวบุคคลเหล่านี้ให้ไปบรรยายในงานสัมมนา หรือเป็นที่ปรึกษา พอความต้องการมีมากเข้าก็มักจะนำไปสู่ภาวะอุปสงค์ (Demand) มากกว่าอุปทาน (Supply) นั้นคือความต้องการในตัวเหล่าผู้รู้มีมากกว่าจำนวนผู้รู้ที่มีอยู่ ซึ่งท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าผู้รู้เหล่านี้เขาแก้ไขปัญหากันอย่างไร แต่ละคนต่างมีวิธีการในการแก้ไขปัญหาอุปสงค์มากกว่าอุปทานในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วผู้รู้เหล่านี้ต่างไม่ยอมเสียโอกาสที่จะแสวงหาประโยชน์จากอุปสงค์ที่มีอย่างมากมายมหาศาล บางท่านเช่น Michael E. Porter ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ชื่อดังของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่มีคนต้องการตัวให้ไปให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์มากที่สุด ได้หันมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการของตัวเองขึ้นมา โดยเน้นในการให้คำปรึกษาในด้านของกลยุทธ์ตามแนวคิดของ Porter ปัจจุบันบริษัทMonitor ได้ขยายตัวอย่างมากมายมีทีมที่ปรึกษากว่า 700 คนในสำนักงานกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่ Stephen Covey ผู้เขียนหนังสืออันโด่งดังเรื่อง ‘7 Habits of Highly Effective People’ ก็พยายามกระจายแบรนด์ของตนเองให้ไปอยู่ในสินค้าต่างๆ ให้มากที่สุด ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูก็ได้นะครับจะพบว่านักเขียนผู้นี้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ ‘7 Habits’ ออกมาอีกหลายเล่ม จนตอนนี้ถ้าเห็นหนังสือที่ขึ้นต้นด้วยเลข 7 แล้วจะต้องนึกถึง Covey โดยเฉพาะ นอกจากนี้ Covey ยังได้ก่อตั้งสถาบันฝึกอบรมชื่อ ‘Franklin Quest and the Covey Leadership Center’ เพื่อฝึกฝนให้ผู้ที่เข้าศึกษาได้ปฏิบัติตามหลักที่เขาคิดค้นขึ้น อีกทั้งยังได้ขยายตราสินค้าของตนเองไปอยู่ในสินค้าอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเทป ซีดี โปรแกรมสำเร็จรูป พร้อมทั้งเปิดร้านค้าเพื่อขายของเหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่กว่า 125 ร้านทั่วโลก
นอกจากวิธีการของสองท่านข้างต้นแล้ว ผู้รู้บางท่านก็ใช้วิธีตั้งเป็นชมรมที่เปิดรับสมาชิกด้วยอัตราที่แพงลิบลิ่วแต่สมาชิกของชมรมมีโอกาสที่จะเข้ารับฟังการสัมมนาหรือรับทราบแนวคิดใหม่ๆ จากผู้รู้ท่านนั้นโดยตรง พร้อมทั้งสิทธิ์ในการรับคำปรึกษาตามที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งลูกค้าของชมรมเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นลูกค้าระดับองค์กรที่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าสมาชิก สุดท้ายเป็นลักษณะของพวกฉายเดี่ยวที่ไม่มุ่งเน้นการสร้างอาณาจักรขึ้นมาเช่นท่านอื่น Peter Drucker ที่ถือเป็นปรมาจารย์ด้านการจัดการอันดับหนึ่งของโลก หรือ Warren Bennis ผู้นำในแนวคิดเรื่องภาวะผู้นำ คือตัวอย่างที่ดีของผู้รู้กลุ่มนี้ ผู้รู้ในกลุ่มนี้จะชอบที่จะทำการวิจัย เขียนหนังสือ พูดในงานสัมมนา หรือให้คำปรึกษาแก่องค์กร มากกว่าที่จะใช้เวลาในการสร้างหรือพัฒนาองค์กรของตนเองขึ้นมา Warren Bennis เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่มีความถนัดในด้านของการสร้างธุรกิจ อีกทั้งไม่อยากแบกรับความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลลูกน้องในองค์กรว่าจะต้องมีงานเข้ามาตลอดเวลา ทำให้ไม่มีความคิดที่จะสร้างธุรกิจหรืออาณาจักรจากความโด่งดังของตนเอง
จะเห็นได้ว่าผู้รู้หรือสุดยอดนักคิดทางการจัดการเหล่านี้ต่างมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไปในการใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงของตนเองรวมถึงการพัฒนาตราสินค้าของตนเอง อย่างไรก็ดีมักจะมีคำถามมาตลอดเวลาหลักการหรือแนวคิดที่ผู้รู้เหล่านี้ได้คิดค้นและพัฒนาขึ้นมานั้นจริงๆ แล้วเป็นของใหม่ซิงๆ หรือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่? ท่านผู้อ่านที่ติดตามในเรื่องของหลักการทางการจัดการเหล่านี้จะพบว่าแนวคิดเหล่านี้ไม่ได้เป็นอะไรที่ใหม่จี๋จ๋าหรือไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลกนี้ หลักการทางด้านการจัดการใหม่ๆ ที่ออกมาในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมามักจะเป็นการค้นพบของเก่าที่ได้เคยมีผู้นำเสนอไว้แล้วแต่ทำให้ดีขึ้นหรือเพิ่มเติมอะไรเข้าไปใหม่ให้มันทันสมัยขึ้น หรือแม้กระทั่งการนำของเก่าที่มีอยู่มาเขียนหรือเรียกเสียใหม่ให้มีความน่าเชื่อถือและน่าตื่นตาตื่นใจเพิ่มขึ้น อย่างเช่นแนวคิดในเรื่องของ Reengineering ก็สามารถย้อนกลับไปที่แนวคิดเก่าในสมัยทศวรรษที่ 1950 ชื่อ Brown Papering ซึ่งก็มีที่มาจาก Frederick Taylor (หรือที่เรารู้จักกันในนามของบิดาแห่งการจัดการสมัยใหม่) หรือ Six Sigma ก็เป็นพัฒนาการมาจาก TQM (Total Quality Management) ผสมกับหลักสถิติ หรือแนวคิดของ Balanced Scorecard ที่กำลังนิยมกันอยู่ในปัจจุบันจริงๆ แล้วก็ถือเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดหลายๆ ประการตั้งแต่การควบคุมและประเมินผลที่ Henri Fayol ได้เสนอไว้ตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือแนวคิดด้าน MBO (Management by Objective) ที่เราคุ้นเคยกัน และสุดท้ายคือหลักการของพระพุทธศาสนาในเรื่องของเหตุและผล รวมทั้งในเรื่องของอริยสัจ 4 ดูเหมือนการนำของเก่ากลับมาฉายซ้ำจะมีอยู่ในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นแวดวงวิชาการหรือละครบ้านเรา
อย่างไรก็ดีดูเหมือนทั้งนักวิชาการ ผู้บริหาร หรือผู้ที่สนใจในการศึกษาศาสตร์ทางด้านการจัดการจะไม่ได้สนใจในเรื่องของจุดกำเนิดที่แท้จริงของหลักการทางการจัดการใหม่ๆ เสียเท่าใด แต่ให้ความสนใจไปว่าหลักการเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ซึ่งผู้รู้เหล่านี้ก็จับหลักนี้ซะอยู่หมัด นั้นคือท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่าส่วนหนึ่งของแนวคิดด้านการจัดการใหม่ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้รู้เหล่านี้เข้าไปศึกษาและสัมภาษณ์จากผู้บริหารในองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผู้บริหารมาแต่งเติม ตั้งชื่อและเอาไปขายให้คนอื่นได้นำไปใช้ต่อ ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นการศึกษาหรือวิจัยจากบริษัทที่ประสบความสำเร็จไม่กี่บริษัทแล้วนำมาเขียนเป็นหลักการที่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วไป เช่น ในกรณีของหนังสือ In Search of Excellence ที่โด่งดังในอดีต หรือหนังสือ Good to Great หรือหนังสือที่นำเสนอถึงแนวทางในการทำงานของ Jack Welch ที่กำลังโด่งดังในปัจจุบัน ต่างก็เป็นหนังสือที่นำแนวคิดของเพียงไม่กี่บริษัทมานำเสนอเป็นแนวคิดทั่วไปสำหรับทุกคน จริงๆ แล้วหนังสือเหล่านี้ต่างเป็นหนังสือที่ดีและมีประโยชน์รวมทั้งให้แนวคิดและประเด็นทางการจัดการที่มีความน่าสนใจ แต่ก็มักจะมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่าแนวคิดเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ได้ในทุกองค์กรหรือไม่ นักวิชาการบางคนถึงกับประชดประชันเลยว่าเพียงขอให้มีนักคิดนักฝันซักคนหนึ่งได้ไปนั่งสนทนากับกลุ่มของผู้บริหารระดับสูงซักระยะหนึ่งพอกลับออกมาก็สามารถที่จะเขียนหนังสือด้านการจัดการใหม่อีกเล่มหนึ่ง
อย่างไรก็ดียังมีผู้รู้อีกกลุ่มหนึ่งที่ผสมผสานระหว่างการวิจัยและการประยุกต์ทฤษฎีทางวิชาการในอดีต เช่นกรณีของ Porter ที่สามารถผสมผสานการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ในเรื่องของ Industrial Organization หรือกรณีของ Peter Drucker ที่พัฒนาแนวคิดมาจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่าอย่างเช่น Hayek และ Schumpeter ดูเหมือนว่าผู้รู้กลุ่มนี้มีความคิดและความเชื่อว่าแนวคิดทางด้านการจัดการใหม่ๆ ควรจะพัฒนามาจากรากฐานของทฤษฎีต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันในอดีต มากกว่าจะเป็นการศึกษาจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว
ผู้รู้เหล่านี้จะพัฒนาแนวคิดทางด้านการจัดการสมัยใหม่มาจากแหล่งใดก็ตาม แต่ก็ถือว่ายังเป็นธุรกิจที่น่าหลงใหลและใฝ่ฝันของคนอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของรายได้หรือผลตอบแทน ในอเมริกานั้นถ้าจะเชิญ Tom Peters (หนึ่งในผู้เขียน In Search of Excellence และอีกหลายๆ เล่ม)ไปพูดหนึ่งวันจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 75,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณสามล้านกว่าบาทไทย ในเมื่ออุปสงค์มีมากกว่าอุปทาน ทำให้ตลาดในเรื่องนี้เป็นตลาดของผู้ขายที่ผู้รู้แต่ละคนจะสามารถเรียกราคาเท่าใดก็ได้ และถ้าเปรียบผู้รู้แต่ละคนเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ก็จะเห็นว่าสินค้าชนิดนี้เป็นสินค้าที่มีความแตกต่างยากที่จะทดแทนกันได้ ไม่ใช่ว่าจะเชิญ Michael Hammer (ผู้แต่งเรื่อง Reengineering) มาพูดในเรื่องของReengineering ซึ่งเขาคิดค่าตัวต่อวันประมาณ 50,000 เหรียญ (ประมาณสองล้านกว่าบาท) แต่สู้ราคาไม่ไหวจึงคิดจะเชิญคนอื่นมาพูดแทนในเรื่องเดียวกันในราคาที่ถูกกว่า ก็คงจะไม่ได้อรรถรสที่เท่าเทียมกับต้นตำรับมาด้วยตนเอง ผู้รู้บางคนถึงขั้นมีบริการถ่ายทอดผ่านดาวเทียมด้วย นั้นคือถ้าไม่สามารถสู้ราคาที่จะเชิญเขามาบรรยายด้วยตนเองไม่ไหวก็สามารถที่จะให้เขาบรรยายผ่านดาวเทียมซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ถูกกว่า อย่างเช่น ถ้าจะเชิญ Stephen Covey มาพูดให้ฟังก็ต้องใช้เงินประมาณ 75,000 เหรียญ แต่ถ้าเลือกใช้บริการผ่านดาวเทียมก็จะย่อมเยาลงมาหน่อยคือประมาณ 30,000 – 40,000 เหรียญ (อยู่ในช่วงไม่เกินสองล้านบาท) เห็นราคาเหล่านี้แล้วคงไม่แปลกใจนะครับว่าทำไมมีคนอยากเป็นผู้รู้เหลือเกิน และท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าสิ่งที่ผู้รู้แต่ละคนพูดคือสิ่งที่เขาพูดมาแล้วเป็นร้อยๆ ครั้ง ไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมการอะไรใหม่
ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าการที่จะเป็นผู้รู้หรือสุดยอดนักคิดทางการจัดการแล้วทำเงินได้วันละไม่ต่ำกว่าล้านบาทจะต้องทำอะไรบ้างหรือมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง เท่าที่ศึกษาลักษณะของผู้รู้ทางด้านการจัดการเหล่านี้พบว่ามีคุณสมบัติร่วมกันอยู่บางประการอาทิเช่น ผู้รู้ทางด้านการจัดการนอกเหนือจากจะต้องมีคุณสมบัติของผู้คิดค้นความรู้และไอเดียใหม่ๆ แล้ว ยังจะต้องมีบุคลิกภาพที่ดึงดูดใจผู้ฟังบนเวที เปรียบเสมือนพี่เบิร์ดของน้องๆ ที่สามารถตรึงและสร้างอารมณ์ร่วมกับผู้ชมคอนเสิร์ตได้กว่าสามชั่วโมง ผู้รู้ระดับโลกจะต้องสามารถตรึงผู้ฟังให้รับฟังและเห็นด้วยกับสิ่งที่พูด ท่านผู้อ่านลองหันกลับมามองในเมืองไทยดูก็ได้นะครับอาจารย์ดังๆ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในวงการ อบรมและสัมมนาก็ได้ครับ จะพบว่าท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารและถ่ายทอดข้อความได้ดีอีกทั้งยังต้องมีทักษะของนักแสดงบนเวทีที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้ผู้ที่จะเป็นผู้รู้ระดับโลกได้จะต้องมีพื้นฐานการศึกษาหรือการทำงานในโรงเรียนด้านการบริหารชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็น Harvard, MIT, Stanford, Michigan, INSEAD, Chicago เป็นต้น อีกทั้งยังต้องมีผลงานวิจัยที่ได้ทำผ่านมาเพื่อใช้เป็นฐานในการเขียนตำราหรือแนวคิดของตนเอง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นงานวิจัยชิ้นใหญ่เพียงชิ้นเดียวที่ศึกษาขึ้นมาเพื่อยืนยันในสมมติฐานหรือแนวคิดที่ตนเองคิดค้นขึ้นมา
คุณสมบัติอีกประการหนึ่งที่ผู้ที่จะเป็นสุดยอดนักคิดระดับโลกจะต้องมีคือจะต้องมีไอเดียหรือแนวคิดทางด้านการจัดการใหม่ๆ ที่เก๋ไก๋หรือเป็นที่รับรู้และยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยหลักการเหล่านั้นอาจจะเป็นหลักการเดิมแต่เอามาเขียนหรือพูดใหม่ในกล่องใหม่ พูดง่ายๆ ถ้าพูดถึงแนวคิดอะไรแล้วจะทำให้นึกถึงหน้าของผู้รู้นั้นได้ทันที เหมือนกับเป็นตรายี่ห้อของบุคคลผู้นั้นไปเลย นอกจากนี้ยังต้องมีบทความที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Harvard Business Review ด้วย ดูเหมือนกับว่าแนวคิดดังๆ ของโลกในปัจจุบันจะต้องผ่าน HBR ก่อนทั้งสิ้น เหมือนกับเป็นเครื่องรับรองว่าถ้าแนวคิดใดยังไม่ผ่าน HBR แล้ว โอกาสดังยาก ท่านผู้อ่านลองดูซิครับไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในเรื่องกลยุทธ์ของ Michael Porter บทความของPeter Drucker แนวคิดเรื่อง Reengineering ของ Hammer และ Champy หรือ Balanced Scorecard ของ Kaplan และ Norton ต่างเริ่มต้นจากวารสาร Harvard Business Review ทั้งสิ้นแล้วหลังจากนั้นค่อยนำบทความนั้นมาขยายต่อและพิมพ์เป็นหนังสือออกมาขายจนโด่งดังไปทั่วโลก คุณสมบัติสุดท้ายที่สำคัญคงหนีไม่พ้นการคิดราคาค่าตัวให้แพงลิบลิ่วเพื่อสร้างคุณค่าในตัวเอง ค่าตัวอย่างน้อยวันละหนึ่งล้านบาทไทย ดูจะเป็นค่าตัวที่ธรรมดาสำหรับนักคิดระดับโลกเหล่านี้
อ่านบทความนี้แล้วไม่ทราบท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อสุดยอดนักคิดทางด้านการจัดการเหล่านี้บ้างครับ พวกเขาเหล่านี้เก่งจริงหรือ จริงๆ แล้วเป็นนักการตลาดที่ดีที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับตัวเองได้อย่างมากมาย อีกทั้งเป็นนักวางกลยุทธ์ที่ดีในการสร้างสินค้า (คือตัวเอง) ให้มีความโดดเด่นและแตกต่างจากผู้อื่น และนำไปสู่ชื่อเสียงไปทั่วโลกและรายได้อันมหาศาล