10 December 2002
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปถึงความสำคัญของทรัพยากรบุคคลต่อความสำเร็จขององค์กรต่างๆ หรือแม้กระทั่งในระดับชาติเอง ประเทศใดจะเจริญได้มากน้อยเพียงใดก็ย่อมต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนในองค์กรด้วย อย่างไรก็ดีในเมื่อเราทราบแล้วว่าคนคือปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ แต่ทำไมในการบริหารงานจริงๆ องค์กรต่างๆ จึงมักจะยังมีปัญหาในเรื่องของคนอยู่ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหาคนที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานภายในองค์กร หรือ การรักษาบุคลากรเหล่านั้นให้อยู่กับเราได้นานที่สุด หรือ การพัฒนาบุคคลเหล่านั้นให้เป็นกำลังสำคัญขององค์กร หรือ แม้กระทั่งทำให้คนที่เหมาะสมได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม (Put the right man on the right job)
ผู้บริหารทุกท่านมักจะพูดเสมอว่าคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร แต่ในทางปฏิบัติ ผู้บริหารเหล่านั้นกลับไม่ได้ให้ความสำคัญต่อทรัพยากรบุคคลเท่าที่ควร สังเกตได้จากเวลาที่ผู้บริหารทุ่มเทหรือให้ไปกับกระบวนการในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคลจริงๆ ไม่ควรใช้เวลาต่ำกว่าร้อยละ 20 ของเวลาที่มีทั้งหมดไปกับเรื่องของคน ไม่ว่าจะเข้าไปมีส่วนในการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารในระดับต่างๆ หรือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาและอบรมบุคลากร หรือ การมีส่วนในการประเมินผลผู้บริหารในระดับต่างๆ ผู้บริหารบางท่านอาจจะเถียงว่าท่านไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึงร้อยละ 20 ของเวลาที่ท่านมีในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพยากรบุคคล เนื่องจากท่านมีผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง รวมทั้งมีระบบเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลที่สามารถที่จะตอบคำถามต่างๆ ที่ท่านต้องการ แต่ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าต่อให้ท่านมีผู้บริหารระดับรองลงไปที่มีความสามารถเพียงใด หรือมีระบบการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลที่ดีเพียงใด แต่ในเมื่อทรัพยากรบุคคลเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดขององค์กรท่าน และเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จ แต่ท่านจะไม่สละเวลาให้กับงานด้านนี้บ้างเลยหรือ?
ผมมีโอกาสเจอผู้บริหารขององค์กรระดับกลางหลายท่านที่มักจะสารภาพว่าปัญหาที่สำคัญที่สุดของบริษัทของท่านคือปัญหาเรื่องคน แต่ท่านกลับไม่มีเวลาลงไปดูแลในเรื่องของคนเลย ผู้บริหารเหล่านั้นมักจะใช้วิธีไปจ้างผู้บริหารมืออาชีพด้านทรัพยากรบุคคลเข้ามาดูแลแทน หรือ ไปเสียเงินจ้างที่ปรึกษาราคาแพงเพื่อวางระบบด้านงานบุคคล ต่อให้มีมืออาชีพที่ดีแค่ไหน หรือ ระบบที่ดีเพียงใด แต่ถ้าท่านเหล่านั้นไม่ได้สละเวลาของตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างแท้จริง ผู้บริหารระดับสูงมักจะละเลยหน้าที่ในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เป็นของผู้รับผิดชอบในสายงานมากกว่า เนื่องจากผู้บริหารมัวแต่วุ่นวายเกี่ยวกับการขยายขนาดขององค์กรและการมุ่งแสวงหากำไรแทนที่จะให้ความสำคัญต่อทรัพยากรบุคคล ผมคิดว่ามันคงจะไม่ยุติธรรมกับบุคลากรขององค์กรนั้นครับถ้าผู้บริหารจะพูดอยู่ตลอดเวลาว่าบุคลากรเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด แต่ในทางปฏิบัตินั้นให้เวลากับบุคลากรของบริษัทน้อยที่สุด
ประโยชน์อมตะของงานบริหารทรัพยากรบุคคลคือ การหาคนที่เหมาะสมให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม (Put the right man on the right job) ซึ่งดูเหมือนกับเป็นหน้าที่พื้นฐานสุดของการบริหารทรัพยากรบุคคลเลย แต่หลายๆ ครั้งที่เรากลับไม่ได้คนที่เหมาะสมอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทั้งนี้ปัญหาส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากตัวผู้บริหารระดับสูงเองที่ไม่ได้เอาใจใส่ต่อกระบวนการในการคัดเลือกบุคลากรที่เหมาะสมทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร ให้เหมาะสมกับตำแหน่งต่างๆ โดยปัญหาอาจจะเกิดจาก
- ผู้บริหารระดับสูงไม่มีความรู้จักต่อผู้บริหารที่ตัวเองแต่งตั้งให้ดำรงต่างๆ อย่างดีเพียงพอ
- ผู้บริหารระดับสูงอาจจะเลือกคนที่ตนเองถนัดหรือชอบที่จะทำงานด้วย มากกว่าผู้ที่มีความเหมาะสมต่องานอย่างแท้จริง
- ผู้บริหารระดับสูงอาจจะไม่มีความกล้าแยกระหว่างผู้ที่ทำงานได้ดีกับผู้ที่ทำงานได้ไม่ดี และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
- ผู้บริหารระดับสูงมักจะให้ค่อยให้ความสนใจและความมุ่งมั่นต่อด้านทรัพยากรบุคคลเท่าใด
การเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับงานบริหารทรัพยากรบุคคลของผู้บริหารระดับสูงนั้นผมไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารระดับสูงจะต้องเข้ามาทำหน้าที่แทนผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล แต่อยากจะให้ผู้บริหารระดับสูงได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคลบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่จะนำไปสู่การมีบุคลากรที่มีความรู้ และความสามารถในการทำงานภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งที่สำคัญต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว หรือ การพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ ที่ผู้บริหารควรที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เท่าที่ผมเจอนั้นผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะมีหน้าที่มากล่าวเปิดการสัมมนาแล้วก็กลับ แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแต่อย่างใด ซึ่งถ้าเราไม่ได้มีโอกาสในการพัฒนาบุคลากร เราก็ยากที่จะได้บุคลากรที่มีลักษณะหรือความสามารถตามที่เราต้องการ
นอกเหนือจากการเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มากขึ้นแล้ว ผู้บริหารระดับสูงควรจะปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลด้วย ในอดีตปรัชญาในการบริหารงานทรัพยากรบุคคลมักจะมุ่งเน้นการมองย้อนกลับไปในอดีต โดยมุ่งเน้นที่การประเมินผลการดำเนินงานของบุคลากรเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันปรัชญาควรจะมองไปข้างหน้ามากกว่า โดยควรจะต้องมองว่าบุคลากรมีทักษะและความสามารถที่จะรับหรือทำงานสำหรับอนาคตได้หรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากบุคลากรขององค์กรจะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้กลยุทธ์ขององค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าและทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูง ควรจะมองว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลคือการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในระดับต่างๆ ให้มีความสามารถในการนำกลยุทธ์ไปปฎิบัติมากกว่าเพียงแค่การประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในอดีตเท่านั้น หลักการที่สำคัญประการหนึ่งในการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติก็คือผู้บริหารจะต้องพิจารณาว่าใครคือบุคลากรที่สำคัญที่จะเป็นผู้นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ รวมทั้งบุคลากรเหล่านั้นมีความสามารถในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติหรือไม่
ประโยชน์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้บริหารระดับสูงจะได้รับจากการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคลมากขึ้นก็คือผู้บริหารเองได้เกิดการเรียนรู้จากตัวบุคลากรภายในองค์กรมากขึ้น ในปัจจุบันเรากำลังตื่นตัวกันในเรื่องขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ซึ่งพูดถึงการเรียนรู้ของคนในองค์กรและทำให้องค์กรได้มีการพัฒนาขึ้น แต่ปัจจุบันในต่างประเทศได้เริ่มมีแนวคิดใหม่อีกประการหนึ่งเกิดขึ้น นั้นคือแทนที่จะเป็นแค่องค์กรแห่งการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นองค์กรที่มีลักษณะของการสอน (Teaching Organization) นั้นคือทุกคนในองค์กรทำหน้าที่เป็นผู้สอน ทุกคนคือผู้เรียน และการเรียนการสอนภายในองค์กรสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ เมื่อใดก็ตามที่ผู้บริหารเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรบุคคลมากขึ้น เมื่อนั้นผู้บริหารเองจะได้มีโอกาสเป็นผู้เรียน และบุคลากรของท่านจะได้มีโอกาสเป็นผู้สอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้บริหารระดับสูงเปิดใจให้กว้างพอ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ในลักษณะนี้ด้วยตนเองหลายครั้งที่ท่านได้เรียนรู้จากบุคลากรภายในองค์กรท่านเอง และท่านได้นำสิ่งที่ท่านเรียนรู้นั้นกลับมาพัฒนาและปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น แต่ถ้าท่านผู้อ่านมัวแต่นั่งในหอคอยงาช้างและไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคลแล้วเมื่อนั้นท่านผู้อ่านย่อมยากที่จะเกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่สำคัญๆ จากบุคลากรของท่าน ผมเองในฐานะอาจารย์สอนหนังสือก็มีประสบการณ์ในลักษณะนี้มานับครั้งไม่ถ้วนที่การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างผมกับนิสิตในห้องเรียน ทำให้ผมได้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นมาปรับปรุงบทเรียนและแนวทางการสอนให้ดีขึ้น
จากความสำคัญของการบริหารทรัพยากรในปัจจุบัน นอกเหนือจากบทบาทของผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องเปลี่ยนไป บทบาทของหน่วยงานด้านทรัพยากรบุคคลก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป จากบทบาทของหน่วยงานสนับสนุนและเป็นหน่วยงานเชิงรับ ให้ปรับมาเป็นหน่วยงานหลักหน่วยหนึ่งขององค์กรและเป็นหน่วยงานเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากความสำคัญของทรัพยากรบุคคลในปัจจุบัน ทำให้งานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลจะต้องสามารถผสมผสานให้เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสม ผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลจะต้องเป็นเพื่อนคู่คิดของผู้บริหารระดับสูง จะต้องสามารถคิดในเชิงกลยุทธ์ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบริษัท โครงสร้าง และวิธีการในการดำเนินธุรกิจมากกว่าผู้บริหารฝ่ายอื่นๆ ด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ผู้บริหารเหล่านี้จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการในการคิดและการทำงานใหม่ ในอดีตเวลาประชุมผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลมักจะนั่งตัวลีบอยู่มุมห้อง แล้วไม่ค่อยออกความคิดเห็นยกเว้นถูกถาม แต่ในปัจจุบันเขาเหล่านั้นอาจจะต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประชุมแต่ละครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากการที่องค์กรจะดำเนินงานได้ตามกลยุทธ์ที่วางไว้ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับทรัพยากรบุคคลทั้งสิ้น
เท่าที่ผมได้สังเกตมาในองค์กรชั้นนำของไทยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชินวัตร เอไอเอส ซีพี ทีเอ ปูนซิเมนต์ไทย หรือ 7-11 บทบาทของผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลมักจะเป็นบทบาทในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น นอกเหนือจากงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลแล้ว งานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลยังต้องครอบคลุมถึงบทบาทในการพัฒนาองค์กรด้วย การนำเครื่องมือหรือเทคนิคใหม่ๆ ทางด้านการจัดการและบริหารองค์กรมาใช้มักจะมีผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลเข้ามาเป็นผู้ที่มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง ตรงกันข้ามกับบริษัทที่ยังคงประสบปัญหาทั้งหลายที่บทบาทของผู้บริหารทรัพยากรบุคคลยังทำหน้าที่เพียงแค่การสรรหา คัดเลือก ฝึกอบรม ประเมิน เงินเดือนและค่าจ้าง เท่านั้นเอง
ท่านผู้อ่านอย่าลืมนะครับว่าเมื่อเราบอกว่าคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร เราก็ต้องแสดงออกให้เป็นไปตามที่เราพูดจริงๆ ในปัจจุบันทั้งผู้บริหารระดับสูง และผู้บริหารด้านบริหารทรัพยากรบุคคลจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและบทบาทของตนเองเพื่อให้ความสำคัญกับบุคลากรของตนเองมากขึ้น และต้องมองว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นหน้าที่เชิงกลยุทธ์ที่องค์กรทุกแห่งจะต้องให้ความสำคัญ