11 October 2002

ถ้าจะถามว่าใครคือผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรธุรกิจที่มีชื่อติดปากคนทั่วโลกมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น Jack Welch และ Bill Gates อย่างไรก็ดีถ้าจะมองในฐานะที่เป็นผู้บริหารระดับมืออาชีพจริงๆ คงจะต้องยกให้ Jack Welch มากกว่า เนื่องจาก Bill Gates เองก็ยอมรับว่าตนเองไม่ได้มีความถนัดมากนักกับการบริหาร แต่มีความถนัดต่อด้านนวัตกรรมและการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ มากกว่า เมื่อปี 1999 วารสาร Fortune เคยยกย่องให้ Jack Welch อดีตผู้บริหารสูงสุดของบริษัท General Electrics (GE) เป็นผู้บริหารแห่งศตวรรษ พร้อมกันนี้โพลสำนักต่างๆ รวมทั้งผู้บริหารและนักวิชาการทั่วโลกต่างก็ให้ความยกย่องและยอมรับต่อ Jack Welch ถึงแม้ในช่วงหลังชื่อเสียงและสถานะของ Jack Welch จะตกต่ำลงบ้างเนื่องจากความล้มเหลวในการเข้าซื้อ Honeywell ก่อนเกษียณ รวมถึงเรื่องอื้อฉาวของชีวิตส่วนตัวเขาที่เข้าไปพัวพันกับบรรณาธิการของวารสาร Harvard Business Review จนทำให้ภรรยาเขาฟ้องหย่า และจากการที่ภรรยาฟ้องหย่านี้เอง เลยทำให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงรายได้และสิทธิประโยชน์ที่ Jack Welch ยังคงได้รับอยู่จาก GE จนตอนหลัง Jack และ GE ต้องรีบออกมาชี้แจง และแก้ไขให้ถูกต้อง

ถึงแม้ตัว Jack Welch จะมีปัญหาเกิดขึ้นในช่วงหลัง แต่สิ่งที่เขาได้สร้างและทิ้งไว้นั้นก็มีค่ามากมาย ไม่นับมูลค่าของบริษัท GE ที่เพิ่มขึ้นมากมายในช่วงที่ Jack Welch เข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุด แต่เป็นประเด็นของหลักการและแนวคิดในการบริหารและจัดการที่เขาได้ถ่ายทอดไว้ให้กับนักบริหารรุ่นหลัง ถือเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมาก โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการเองมองว่าแนวทางในการบริหารของ Jack นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดหรือทฤษฎีทางการจัดการอีกบทหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นแนวคิดทางการจัดการที่สามารถนำไปปฏิบัติจนเห็นผลลัพธ์ได้อย่างจริงจัง แถมมีองค์กรอันดับหนึ่งของโลกอย่าง GE เป็นเครื่องยืนยัน ได้มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประวัติและแนวคิดในการบริหารของ Jack มากมาย อีกทั้งเมื่อปีที่แล้ว Jack ก็ได้เขียนชีวประวัติและแนวคิดในการบริหารของตนเองไว้ในหนังสือเชื่อ Jack: Straight from the Gut

 หลักการและแนวคิดที่ Jack Welch นำมาใช้จนประสบผลสำเร็จ ไม่ได้เป็นอะไรที่ถือว่าใหม่และสลับซับซ้อนมากมาย แต่เป็นหลักการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงจนเห็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ดีผมเชื่อว่าถ้าผู้บริหารคิดว่าเพียงแค่การอ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดของ Jack และนำแนวคิดเหล่านั้นไปใช้จะประสบความสำเร็จได้ คงจะเป็นความคิดที่ผิดพลาด ถ้าได้ศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดของ Jack อย่างละเอียดจะพบว่าแนวคิดในการบริหารเหล่านั้นสะท้อนมาจากบุคลภาพและตัวตนของ Jack Welch พอสมควร แม้กระทั่งการนำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้ในวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกับของ GE ก็ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่ผมก็ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารในองค์กรไทยจะไม่สามารถนำแนวคิดเหล่านั้นมาใช้ได้เลย คงต้องอยู่ที่ความสามารถในการปรับและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมสภาวะแวดล้อมและวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรมากกว่า ก่อนที่จะไปดูแนวคิดที่สำคัญของ Jack Welch ท่านผู้อ่านต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า Jack Welch เป็นผู้บริหารประเภทที่เน้นผลลัพธ์เป็นหลัก หรือที่เราเรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า Result-Oriented ดังนั้นหลักการต่างๆ ของ Jack จึงออกมาในแนวที่สอดคล้องต่อธรรมชาติของ Jack เป็นหลัก เรามาลองดูกันดีกว่านะครับว่าแนวคิดของ Jack Welch มีอะไรบ้าง แต่เนื่องจากแนวคิดของเขามีมากมาย ผมขออนุญาตินำเฉพาะแนวคิดที่ผมเห็นว่าน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริหารชาวไทยมานำเสนอนะครับ

Jack Welch ไม่ใช่ผู้บริหารที่ชอบใช้แนวคิดหรือหลักการในการบริหารที่สลับซับซ้อน เขาค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับความเรียบง่าย เขามองว่าการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่เรียบง่าย (Simplicity) ดังนั้นผู้บริหารองค์กรที่ดีคือผู้ที่ไม่ทำให้การบริหารงานมีความสลับซับซ้อนและวุ่นวาย ผู้บริหารที่ดีต้องพยายามทำให้ทุกอย่างเรียบง่ายที่สุด การบริหารด้วยความเรียบง่ายนี้จะช่วยทำให้การสื่อสารมีความชัดเจนขึ้น ท่านผู้อ่านคงเห็นพ้องว่าปัญหาที่มักประสบในองค์กรเกือบทุกแห่งได้แก่ปัญหาในเรื่องของการสื่อสาร สาเหตุของปัญหาเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่เรียบง่ายหรือความสลับซับซ้อนนั้นเอง เนื่องจากถ้าการบริหารมีความเรียบง่ายแล้วจะทำให้การสื่อสารชัดเจนขึ้น ทำให้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ต้องการถ่ายทอดมีความชัดเจนและสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ผู้บริหารที่ไม่สามารถทำให้การบริหารเรียบง่ายได้ก็จะพยายามสร้างความสลับซับซ้อนขึ้นมาในกระบวนการและขั้นตอนการบริหารงาน ทำให้เกิดจุดหรือขั้นตอนในการควบคุมมากขึ้น แทนที่องค์กรจะมีความคล่องตัวกลับมีแต่ความเทอะทะและอุ้ยอ้ายขึ้น 

Jack Welch ถือเป็นผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับคนมาก เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงคนแรกๆ ของโลกที่ยอมสละเวลาให้กับการคัดเลือกผู้บริหาร การพัฒนาและฝึกอบรมผู้บริหาร รวมถึงการประเมินผลการทำงานของผู้บริหาร เขาไม่เหมือนกับผู้บริหารบางท่านที่ปากก็พูดว่าให้ความสำคัญกับบุคลากร ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วกลับไม่ปฏิบัติเหมือนที่พูด จริงๆ แล้วไม่ได้มีแต่ Jack Welch และ GE เท่านั้นที่เห็นความสำคัญของคนหรอกครับ บริษัทชั้นนำแห่งอื่นของโลกเช่น Microsoft ก็ให้ความสำคัญกับคนไม่แพ้กันMicrosoft ถือว่าความสามารถหลักของตนเองนั้นอยู่ที่การดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถให้มาอยู่กับบริษัท รวมทั้งความสามารถในการพัฒนาและรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับบริษัทนานๆ อีกทั้งยังต้องมีมาตรการที่ทำให้พนักงานที่มีความสามารถได้รับความเอาใจใส่และการยอมรับที่ดี ผมเคยประสบกับผู้บริหารไทยบางท่านแทนที่จะยกย่องหรือให้เกียรติผู้ที่มีความสามารถและนำชื่อเสียงมาสู่องค์กร แต่กลับมุ่งขูดรีดและคอยจับผิดพนักงานเหล่านี้แทน ดูแล้วช่างตรงข้ามกับแนวคิดของบริษัทชั้นนำของโลกจริงๆ นะครับ

การเรียนรู้ก็ถือเป็นปรัชญาที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ GE จริงๆ แล้วหลักการในเรื่องของการเรียนรู้นั้นพูดกันมาเยอะแล้วครับ ทั้งในด้านของความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) หรือการบริหารความรู้ (Knowledge Management) หรือแม้กระทั่งการBenchmarking แนวคิดเหล่านี้มีมานานแล้ว และเป็นแนวคิดที่แพร่หลายโดยทั่วไป แต่ Jack Welch สามารถนำแนวคิดเหล่านี้มาใช้จนประสบผลสำเร็จ พนักงานของ GE ทุกคนถูกสั่งสอนให้รู้จักที่จะเรียนรู้ทั้งจากเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง และจากแหล่งอื่นๆ ภายนอกองค์กร นอกเหนือจากการเรียนรู้แล้ว Jack ยังสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันความรู้ระหว่างกันภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ GE ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีหน่วยธุรกิจกระจัดกระจายไปทั่วโลก ความรู้ที่สำคัญและมีค่าย่อมแฝงอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งในองค์กร นอกเหนือจากการเรียนรู้ภายในองค์กรเองแล้ว Jack Welch ยังมุ่งเน้นให้ผู้บริหารและพนักงานของ GE ได้เรียนรู้จากแหล่งอื่นๆ ภายนอกด้วย โดยพยายามทำให้ทุกคนในองค์กรตระหนักว่า ยังมีองค์กรหรือใครซักคนภายนอกที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นกว่าเรา หน้าที่ของผู้บริหารและพนักงานของ GE คือการไปเสาะแสวงหาแหล่งความรู้เหล่านี้ แล้วไปเรียนรู้มาเพื่อนำกลับมาใช้ในองค์กร Jack พยายามสอนให้บุคลากรทุกคนภายในองค์กรให้ความสนใจกับตัวความรู้มากกว่าแหล่งที่มาของความรู้ แนวคิดลักษณะนี้ทำให้บุคลากรของ GE ไม่หลงระเริงไปกับความรู้ ความสามารถของตนเอง แต่มุ่งที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

สุดท้ายเป็นแนวคิดในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีองค์ความรู้และหนังสือเกี่ยวกับการบริหารการเปลี่ยนแปลงออกมามากมาย องค์กรหลายแห่งก็นำแนวคิดเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลงไปใช้จนประสบผลสำเร็จ แต่สิ่งที่น่าทึ่งของ GE ก็คือทั้งๆ ที่เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่มาก และน่าจะอุ้ยอ้าย เทอะทะ กลับเป็นองค์กรที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วมาก แถมเป็นองค์กรที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เนื่องจาก Jack Welch มีความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมของการทำธุรกิจ ดังนั้นการอยู่เฉยๆ จึงไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรในปัจจุบัน สำหรับ Welch แล้วการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ผู้บริหารจะต้องคำนึงการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และต้องทำให้พนักงานทุกคนมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาพร้อม ตามแนวคิดของ Jack แล้วผู้บริหารในยุคใหม่จะต้องนำการเปลี่ยนแปลงมาใช้เพื่อพัฒนาให้องค์กรมีการพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา แนวคิดนี้อาจจะต่างจากผู้บริหารยุคเดิมที่มองว่าทำไมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ในเมื่อไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วผู้บริหารที่ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงแต่มัวรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน สุดท้ายอาจจะไม่สามารถปรับตัวได้ทันผู้อื่น

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นเหมือนกันว่าแนวคิดในการบริหารของ Jack Welch ไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่แม้แต่น้อย หลักการต่างๆ เหล่านี้เรารู้จักกันมานานแล้ว เพียงแต่ Jack Welch สามารถทำให้หลักการที่เรารู้จักกันมานานเหล่านี้สามารถปฏิบัติจนเห็นผลลัพธ์ได้อย่างดี