30 August 2002

ในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรธุรกิจนั้น สิ่งหนึ่งที่องค์กรจะต้องพิจารณาคือการบริหารขอบเขตของธุรกิจที่องค์กรจะเข้าไปแข่งขัน (Scope Management) หลักการของ Scope Management ไม่ได้เป็นสิ่งที่ใหม่เลย อาจจะเรียกว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ด้วยซ้ำไป เนื่องจาก Scope Management ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy) ถ้าท่านผู้อ่านจำได้เมื่อประมาณเดือนกว่าที่ผ่านมาผมได้เขียนบทความหนึ่งเกี่ยวกับ “กลยุทธ์คืออะไร?” และได้ลงท้ายไว้ว่าในปัจจุบันนักวิชาการได้มีการแบ่งกลยุทธ์เป็นสองระดับคือระดับองค์กร (Corporate Strategy) และระดับธุรกิจ (Business Strategy) ซึ่งภายใต้กลยุทธ์ระดับองค์กรนั้นจะตอบคำถามว่าองค์กรมีทิศทางไปในทางใด และจะเข้าไปแข่งขันในธุรกิจใดบ้าง ส่วนกลยุทธ์ระดับธุรกิจจะบอกให้รู้ว่าองค์กรจะแข่งขันด้วยวิธีใด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Scope Management ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระดับองค์กรนั้นเอง

สาเหตุหลักที่นำประเด็นของ Scope Management มาเสนอในสัปดาห์นี้เนื่องจากในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ที่น่าสนใจของยักษ์ใหญ่ในไทยอย่างหนึ่งคือการที่ทางผู้บริหารของแกรมมี่ได้ตัดสินใจที่จะเข้าสู่ธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้ยี่ห้อ ฟอร์ มี การเคลื่อนไหวของผู้บริหารแกรมมี่ในครั้งนี้ถือว่าเป็นประเด็นหรือกรณีศึกษาทางกลยุทธ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของ Scope Management จากเดิมที่ทางแกรมมี่เริ่มต้นจากธุรกิจเพลงและขยายกิจการมาเรื่อยโดยได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดั้งเดิม จนกระทั่งเข้าสู่ธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปหรือเครื่องสำอาง ซึ่งการเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ของแกรมมี่ในครั้งนี้และในอนาคตถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับผู้สนใจในด้านกลยุทธ์ทุกท่าน

นอกเหนือจากแกรมมี่แล้ว ถ้าท่านผู้อ่านได้พิจารณาองค์กรธุรกิจชั้นนำหลายๆ แห่งของไทย จะพบว่าต่างมีการบริหารขอบเขต (Scope Management) ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตำรับดั้งเดิมอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม เข้าสู่ค้าปลีก สู่สื่อสารโทรคมนาคม เข้าสู่ปิโตรเคมี หรือ กลุ่มบุญรอด ที่มีทั้งเบียร์ น้ำดื่ม น้ำผลไม้ สายการบิน หรือ กลุ่มเนชั่น ที่เริ่มต้นจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ สู่หนังสือพิมพ์ธุรกิจ สู่หนังสือพิมพ์หัวสี สู่การ์ตูน สู่สิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ การเคลื่อนไหวขององค์กรเหล่านี้ในการขยายขอบเขตของธุรกิจเป็นสิ่งที่น่าศึกษาทั้งสาเหตุของการขยาย และผลลัพธ์ที่ได้จากการขยายขอบเขตของการทำธุรกิจ ในขณะเดียวก็มีองค์กรอีกหลายแห่งที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้มุ่งเน้นการขยายขอบเขตของธุรกิจแต่อย่างใด แต่มุ่งเน้นในการสร้างความเชี่ยวชาญในธุรกิจเดียว ซึ่งก็มีประเด็นที่น่าสนใจและศึกษาว่าการบริหารขอบเขตในลักษณะใดจะก่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดให้แก่องค์กร ระหว่างการมุ่งเน้นแต่ในธุรกิจดั้งเดิมที่มีความเชี่ยวชาญ หรือ ขยายขอบเขตไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม หรือ แม้กระทั่งการขยายขอบเขตไปสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมแต่อย่างใด

ในประเทศไทยผมยังไม่เจอการศึกษาหรือวิจัยใดๆ ที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่ในต่างประเทศได้มีการวิจัยกันในเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว โดยผลการวิจัยส่วนใหญ่ชี้ไปในทิศทางที่ว่าองค์กรธุรกิจที่มุ่งเน้นเฉพาะธุรกิจที่ตนเองเชี่ยวชาญมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุด ตามมาด้วยพวกที่ขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน และพวกที่ขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจที่ไม่มีความเกี่ยวพันกันตามลำดับ สาเหตุก็ชัดเจนครับ เนื่องจากการไม่ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอื่น ทำให้องค์กรเหล่านั้นมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่วอกแว่ก ทำให้สามารถสะสมความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจนั้นๆ ผู้บริหารไม่ต้องเสียทั้งเวลาและทรัพยากรไปในสิ่งที่ตนเองไม่มีความชำนาญ

ส่วนสาเหตุที่การขยายขอบเขตของธุรกิจสู่ธุรกิจที่สัมพันธ์กับธุรกิจเดิม มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าพวกที่ขยายสู่ธุรกิจที่ไม่สัมพันธ์กับธุรกิจเดิมนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลง่ายๆ เช่นกัน นั้นคือการขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมนั้นทำให้องค์กรสามารถใช้ทรัพยากรหรือความสามารถร่วมกันระหว่างธุรกิจแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นตราหรือยี่ห้อสินค้า กระบวนการในการผลิต ช่องทางการจัดจำหน่าย เทคโนโลยีในการผลิต หรือแม้กระทั่งความรู้เกี่ยวกับลูกค้า ทำให้องค์กรสามารถที่จะประหยัดต้นทุนได้มากกว่าองค์กรที่มีธุรกิจเพียงประเภทเดียว การที่สามารถประหยัดต้นทุนได้เนื่องจากการใช้ความสามารถหรือทรัพยากรร่วมกันนั้น เราเรียกว่า Economy of Scope แต่ในกรณีของการขยายตัวสู่ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมแล้วจะทำให้ไม่สามารถใช้ทรัพยากรหรือความสามารถที่มีร่วมกันได้ ทำให้โอกาสในการประสบความสำเร็จน้อยที่สุด

เราจะพบองค์กรธุรกิจที่มีการขยายขอบเขตการทำธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมค่อนข้างมากในประเทศไทย องค์กรเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สามารถใช้ทรัพยากรหรือความสามารถร่วมกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็น เครือชินวัตรที่มีทั้งธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม อินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ ที่แต่ละธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จากเทคโนโลยีและเครือข่ายทางการสื่อสารที่มีอยู่ หรือ ทางกลุ่มเซ็นทรัลที่มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ หรือในกรณีล่าสุดคือทางแกรมมี่ที่ขยายขอบเขตจากธุรกิจเดิมคือบันเทิงเข้าสู่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่ท่านผู้อ่านอาจจะนึกว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กันแต่อย่างใด แต่ถ้าวิเคราะห์ให้ดีๆ จะพบว่ายังถือเป็นการขยายขอบเขตสู่ธุรกิจที่เกี่ยวพันกัน เนื่องจากมีลูกค้าเป้าหมายกลุ่มเดียวกัน ซึ่งก็คือกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ดังนั้นถ้าในอนาคตแกรมมี่จะเข้าสู่ตลาดเสื้อผ้าวัยรุ่นหรือเครื่องสำอางก็คงไม่ต้องแปลกใจนะครับที่เขาจะมุ่งจับลูกค้าวัยรุ่นเป็นหลัก

ผมได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งของต่างประเทศที่ออกมาค่อนข้างขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมว่าองค์กรธุรกิจที่มุ่งเน้นอยู่เฉพาะธุรกิจเพียงธุรกิจเดียวจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด เนื่องจากงานวิจัยชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วองค์กรที่มีการขยายขอบเขตสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้เท่ากับหรือเหนือกว่าพวกที่ไม่ขยายตัวไปไหน แต่ก็มีข้อแม้ว่าการขยายตัวนั้นจะต้องไม่ขยายตัวให้มากและหลากหลายเกินไป รวมทั้งเป็นการขยายตัวที่อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย ซึ่งความเหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับช่วงวงจรชีวิตของธุรกิจ (Industry Life Cycle) ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจแต่ละชนิดก็จะมีวงจรชีวิตเฉกเช่นกับสิ่งอื่นๆ (เช่น วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ ชีวิตมนุษย์เรา) โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นช่วงของการเกิด (Introduction) ช่วงการเติบโต (Growth) ช่วงของการอิ่มตัว (Mature) และช่วงของการหดตัว (Decline) เมื่อองค์กรคิดจะขยายขอบเขตธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ องค์กรควรจะต้องพิจารณาช่วงของวงจรชีวิตธุรกิจในขณะนั้นด้วย ถ้าธุรกิจอยู่ในช่วงของการเติบโตอาจจะยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะขยายขอบเขต เนื่องจากผู้บริหารควรจะต้องทุ่มเทความสามารถและทรัพยากรในธุรกิจที่ทำอยู่อย่างเต็มที่ แต่ถ้าธุรกิจของท่านเริ่มเข้าสู่ช่วงอิ่มตัวหรือหดตัวแล้ว ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการขยายตัวเพื่อนำความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในธุรกิจอื่น ท่านผู้อ่านคิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ผู้บริหารของแกรมมี่ขยายเข้าสู่ธุรกิจกึ่งสำเร็จรูปนั้นเป็นเพราะธุรกิจเพลงและบันเทิงเข้าสู่ช่วงอิ่มตัวแล้วหรือไม่?

ในการบริหารขอบเขตธุรกิจ (Scope Management) ให้ได้ดีนั้น นอกเหนือจากการพิจารณาในด้านของการขยายตัวแล้ว ท่านผู้อ่านควรจะต้องคิดถึงการหดตัวหรือการยุบขอบเขตขององค์กรด้วย นั้นคือจะต้องสามารถตอบได้ว่าเมื่อใดที่ควรจะออกจากธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าผู้บริหารเห็นว่าธุรกิจที่ตนเองมีอยู่นั้นผลการดำเนินงานเริ่มถดถอยหรือโอกาสในการเติบโตเริ่มลดน้อยลง ผู้บริหารอาจจะต้องเริ่มคิดว่าเมื่อใดจึงควรจะออกจากธุรกิจนั้นไป เนื่องจากถ้าเรายังคงอยู่ในธุรกิจนั้นนานขึ้น นอกเหนือจากจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นแล้ว ยังอาจจะลากธุรกิจอื่นๆ ของเราที่ประสบความสำเร็จให้ลงเหวตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการดึงทั้งทรัพยากรและความสนใจของผู้บริหารไปสู่สิ่งที่ไม่มีอนาคต แทนที่จะทำให้ผู้บริหารสนใจในธุรกิจที่กำลังเติบโตหรือทำเงิน ท่านผู้อ่านจะพบกับองค์กรหลายแห่งที่มีปัญหาหรือล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถตัดใจได้จากธุรกิจเดิมๆ ที่เคยทำอยู่ เนื่องจากมีความหวังว่าธุรกิจนั้นอาจจะมีโอกาสพลิกฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการบริหารขอบเขต (Scope Management) ให้ได้ดีนั้นการตัดสินใจที่ถูกต้องในช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง