22 May 2004
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมืองไทยได้มีโอกาสต้อนรับกูรูทางด้านการจัดการระดับโลกหลายท่าน ล่าสุดก็คือ Peter Drucker ที่จะบรรยายทางไกลมายังประเทศไทยในวันจันทร์หน้านี้ เพื่อให้เข้ากับเทศกาลผมขอนำเสนอผลงานเขียนใหม่ล่าสุดของเขา ที่เขียนลงในวารสาร Harvard Business Review ฉบับใหม่ล่าสุดในเดือนมิถุนายน ที่กำลังจะถึงนี้ ในชื่อเรื่อง What Makes an Effective Executive เนื้อหาของบทความนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์กว่า 65 ปีที่ Drucker ได้ทำงานร่วมกับผู้นำองค์กรมาจำนวนมาก Drucker พบว่าผู้นำที่มีประสิทธิผลนั้นมีลักษณะ บุคลิกภาพ และคุณลักษณะที่หลากหลายมาก แต่ผู้นำที่มีประสิทธิผลจะปฏิบัติตามแนวทางแปดประการได้แก่ 1) พวกเขาจะถามว่า อะไรคือสิ่งที่จะต้องทำ 2) พวกเขาจะถามว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับองค์กร 3) พวกเขาจะพัฒนาแผนงาน 4) พวกเขาจะรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ตัดสินใจลงไป 5) พวกเขาจะรับผิดชอบต่อการสื่อสาร ถ่ายทอดแผนงานให้เป็นที่รับรู้ และเข้าใจ 6) พวกเขาจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อโอกาสมากกว่าปัญหา 7) พวกเขาเป็นผู้นำการประชุมที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 8) พวกเขาคิด และจะใช้คำว่า “พวกเรา”มากกว่า “ผม หรือดิฉัน”
โดยภายใต้หลักการทั้งแปดข้อนั้นสองข้อแรกเป็นคำถามที่ก่อให้เกิดความรู้ที่ผู้นำต้องการ สี่ประเด็นต่อมาเป็นการเปลี่ยนความรู้ที่ได้เป็นการปฎิบัติที่เห็นผล และสองข้อสุดท้ายเพื่อให้มั่นใจว่าทั้งองค์กรมีส่วนร่วมและรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน เป็นอย่างไรบ้างครับหลักการทั้งแปดข้อของ Drucker ดูเหมือนจะไม่มีอะไรใหม่นะครับ แต่เมื่อเป็นข้อเขียนจากผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสุดยอดกูรูทางด้านการจัดการของโลก ทุกคนคงจะต้องให้ความสนใจเหมือนกันนะครับ เรามาลองดูทีละประเด็นอย่างย่อๆ นะครับ ในประเด็นแรก การถามว่า อะไรคือสิ่งที่จะต้องทำ เป็นวิธีการที่ผู้นำใช้ในการแสวงหาประเด็นหรือความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้นำจะต้องรีบลงมือดำเนินการหรือแก้ไข Drucker บอกไว้ว่าเขาไม่เคยเห็นผู้บริหารที่สามารถกำหนดสิ่งที่มีความจำเป็นหรือเร่งด่วนที่จะทำได้มากกว่าสองเรื่องพร้อมๆ กัน และเมื่อดำเนินงานในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนเสร็จสิ้นแล้ว ผู้นำที่ดีก็จะถามคำถามนี้กับตัวเองอีกครั้งเพื่อจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะต้องทำใหม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานที่ไม่สำคัญจะไม่ถูกจัดลำดับนะครับ เพียงแต่จะได้รับการมอบหมายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำแทน ในประเด็นที่สอง คือคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับองค์กร จะมุ่งที่ทั้งองค์กรเป็นหลักนะครับ ไม่ได้มุ่งที่เฉพาะตัวผู้ถือหุ้น เจ้าของ พนักงาน หรือผู้บริหาร แต่จะให้ความสำคัญกับตัวองค์กรเป็นหลัก
ในประเด็นที่สามนั้นผู้นำที่ดีจะต้องเขียนแผนงานที่จะปฏิบัติ ทั้งนี้เนื่องจากผู้นำที่ดีจะต้องสามารถนำความรู้ หรือสิ่งที่รู้ไปสู่การปฏิบัติ การเขียนแผนงานนั้นเป็นเหมือนกับสิ่งที่บอกว่าผู้บริหารนั้นจะทำอะไรในอนาคต แต่ไม่ได้เป็นข้อสัญญาหรือข้อผูกมัดนะครับ เนื่องจากแผนงานเหล่านั้นจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ให้เข้ากับโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นแผนงานเหล่านี้ยังจะต้องมีระบบในการกำกับและตรวจสอบที่จะบอกถึงความสำเร็จของการดำเนินงานตามแผนนั้นด้วย ในประเด็นที่สี่ หรือการรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ตัดสินใจไปนั้น การตัดสินใจที่ดีจะต้องทำให้เห็นอย่างชัดเจนถึง ชื่อบุคคลที่รับผิดชอบที่จะนำการตัดสินใจนั้นไปปฏิบัติ ระยะเวลาที่ต้องทำให้การปฏิบัตินั้นเห็นผล บุคคลที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจนั้นจะต้องรับทราบและอย่างน้อยไม่ต่อต้านต่อการตัดสินใจนั้น และสุดท้ายจะต้องทราบว่าใครควรที่จะได้รับทราบเกี่ยวกับการตัดสินใจนั้น ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะไม่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจก็ตาม
ในประเด็นที่ห้านั้น ผู้นำที่ดีจะต้องสามารถสื่อสารแผนงานและข้อมูลที่สำคัญให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อแผนงานของผู้นำ ประเด็นที่หกนั้น ผู้นำที่ดีจะให้ความสำคัญกับโอกาสมากกว่าปัญหา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหานั้นจะถูกซุกซ่อนนะครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องได้รับการแก้ไข เพียงแต่ว่าการแก้ปัญหาไม่ได้เป็นการก่อให้เกิดผลลัพธ์ใดๆ กับองค์กร เป็นเพียงการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ในขณะที่โอกาสจะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์สำหรับองค์กรมากกว่าปัญหา ประเด็นประการที่เจ็ดก็คือผู้นำที่ดีจะต้องรู้จักที่จะนำการประชุมได้อย่างทั้งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้เนื่องจากเวลาของผู้บริหารส่วนใหญ่จะหมดไปกับการประชุม แม้กระทั่งการพูดคุยสองต่อสองกับเพื่อนร่วมงานก็ถือเป็นการประชุมอย่างหนึ่ง แนวทางในการนำการประชุมให้ได้ผลดีก็คือจะต้องรู้ว่าล่วงหน้าว่าการประชุมที่จะเกิดขึ้นเป็นการประชุมในลักษณะใด เนื่องจากการเตรียมการและแนวทางในการนำการประชุม สำหรับแต่ละวัตถุประสงค์ก็ย่อมที่จะแตกต่างกัน ผู้นำจะต้องมีการเตรียมตัวและวางตัวในลักษณะที่แตกต่างกันสำหรับการประชุมในแต่ละลักษณะ นอกจากนี้การติดตามงานหลังการประชุมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ประชุมเสร็จแล้วปล่อยไป โดยขาดการติดตามงาน
ประเด็นสุดท้ายก็คือผู้นำควรจะคิดและพูดในด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่าพวกเรา มากกว่าเป็นเพียงแค่ผม หรือดิฉัน ถึงแม้ผู้นำจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจในขององค์กรก็ตาม แต่การที่งานจะสำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน เพราะฉะนั้นผู้นำที่ดีควรจะต้องคิดถึงและพยายามตอบสนองต่อความต้องการของทั้งองค์กรมากกว่าแต่ของตนเอง เป็นอย่างไรครับหลักการแปดประการจาก Peter Drucker ในการที่จะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล อาจจะเป็นฉบับย่อหน่อยนะครับ แต่ก็น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านพอจะเห็นภาพได้ ถึงแม้จะไม่มีอะไรใหม่แต่ผมเองก็เห็นด้วยกับเขานะครับ ผมมองว่าการเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้จำเป็นต้องอาศัยสิ่งที่พิเศษพิสดาร เพียงแต่ควรทำในสิ่งปกติเหล่านี้ให้ได้ดีที่สุด แถม Drucker ยังแถมประเด็นสุดท้ายไว้ในบทความของเขาด้วยนะครับ ว่าผู้นำที่ดีควรจะ ฟังก่อน แล้วพูดทีหลัง (Listen First, Speak Last) – ในประเด็นสุดท้ายนี้ไม่ทราบว่า Drucker ต้องการสื่อถึงใครเป็นพิเศษหรือเปล่านะครับ
สุดท้ายขอฝากประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ตอนนี้วิชาที่ผมสอนในระดับ MBA ที่คณะบัญชี จุฬา (จะเปิดเทอมในเดือนมิ.ย.นี้) มีนโยบายให้นิสิตไปช่วยให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเรื่องของการจัดทำ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจก็อีเมลเข้ามาถามรายละเอียดกับผมได้ที่ pasu@acc.chula.ac.th นะครับ