25 April 2002

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้องค์กรรุ่งเรืองหรือล้มเหลวได้แก่ผู้นำภายในองค์กร แนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับภาวะผู้นำมีอยู่มากมายมหาศาล และเป็นหัวข้อที่ได้มีการศึกษากันมาอย่างนาน จนกระทั่งในปัจจุบันก็ดูเหมือนจะมีแนวคิดใหม่ๆ ในเรื่องของภาวะผู้นำออกมาอยู่ตลอดเวลา หลักการและแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับภาวะผู้นำออกมาไม่สิ้นสุด และในช่วงหลังๆ พัฒนาการเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องภาวะผู้นำได้เริ่มที่จะนำศาสตร์หรือหลักการในด้านอื่นๆ มาผสมผสานด้วย อาทิเช่น ในปัจจุบันได้เริ่มมีการวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์ของผู้นำก็มีผลต่อกำไรขององค์กร มีการวิจัยที่คนพบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรมของผู้นำส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของบุคลากรภายในองค์กร ผู้นำที่ใจร้ายและอารมณ์เสียต่อพนักงานบ่อยๆ มักจะทำให้บุคลากรไม่สนใจในการทำงาน และพลาดโอกาสสำคัญๆ ทางธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ผู้นำที่กรอารมณ์ดี มีการจูงใจบุคลากรอยู่ตลอดเวลา จะทำให้บุคลากรสามารถเอาชนะต่ออุปสรรคใดๆ ที่เกิดขึ้น

            นอกเหนือจากการศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์และหลักการของภาวะผู้นำแล้ว ในปัจจุบันนักวิชาการต่างๆ ได้พยายามศึกษาถึงแนวทางในการคัดเลือกผู้นำด้วย เนื่องจากผู้นำที่ดีนั้นคงจะไม่ได้หล่นลงมาจากฟากฟ้า แต่ต้องผ่านกระบวนการในการคัดเลือกและสรรหาที่เหมาะสม ปัจจุบันท่านผู้อ่านอาจจะได้ข่าวเกี่ยวกับองค์กรขนาดใหญ่ของไทยหลายแห่งที่กำลังอยู่หรือเพิ่งจะผ่านพ้นขั้นตอนในการสรรหาผู้บริหารระดับสูง นอกจากนี้ท่านอ่านอาจจะพบอีกว่าในหลายๆ กรณีที่ได้มีกระบวนการในการสรรหาและคัดเลือกผู้นำอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว แต่ผู้นำที่ผ่านการคัดเลือกเหล่านั้นก็ประสบความล้มเหลวในการทำงานอยู่ดี

            ผมได้มีโอกาสอ่านบทความของ Melvin Sorcher และ James Brant เรื่อง Are You Picking the Right Leaders? ในวารสาร Harvard Business Review ทั้งคู่ได้ศึกษาเกี่ยวกับความผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นในการคัดเลือกผู้นำระดับสูงขององค์กรต่างๆ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของความผิดพลาดนั้นมักจะเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Halo Effect’ ซึ่งหมายถึงการที่เวลาเราพิจารณาใครซักคนหนึ่งมักจะมองจากด้านใดด้านหนึ่งของเขาเท่านั้นและมักจะสรุปเกี่ยวกับคนๆ นั้นโดยมองจากด้านเพียงด้านเดียว โดยไม่มองให้ครบในทุกๆ ด้าน ในบทความนี้ได้นำเสนอข้อคิดที่น่าสนใจหลายประการเกี่ยวกับความผิดพลาดมักจะเกิดขึ้นในการพิจารณาและคัดเลือกผู้นำ ได้แก่

  • เรามักจะมีความเข้าใจผิดที่ว่าบุคคลที่เป็นสมาชิกที่ดีของทีมหรือกลุ่มจะเป็นผู้นำที่ดีด้วย ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตดูจะพบว่าบุคคลใดก็ตามที่เป็นสมาชิกที่ดีของทีมหรือกลุ่ม มักจะเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานที่รวดเร็ว ผู้บังคับบัญชามักจะโปรดปรานคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษเนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมทีม แถมยังสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ผมได้มีโอกาสเห็นในหลายๆ องค์กรที่การคัดเลือกผู้นำนั้นมักจะเลือกจากผู้ที่จะสามารถเข้าหรือทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรไทยที่มีวัฒนธรรมที่ประนีประนอมที่เรามักจะนิยมและเชิดชูต่อผู้ที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือผู้เขียนบทความ Are You Picking the Right Leaders? กลับมีความเห็นว่าผู้ที่เป็นสมาชิกที่ดีของทีมหรือกลุ่ม กลับไม่ใช่ผู้นำที่ดี โดยผู้นำที่ดีมักจะไม่ให้ความสำคัญของการตัดสินใจหรือทำงานเป็นทีม บุคคลเหล่านี้อาจจะสนับสนุนให้ลูกน้องของตนเองทำงานเป็นทีม แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองนั้นกลับไม่ชอบที่จะตัดสินใจเป็นทีม ผู้นำเหล่านี้ชอบที่จะตัดสินใจด้วยตนเองมากกว่า และการตัดสินใจด้วยตนเองมักจะทำให้ผู้นำมีความโดดเด่นหรือแตกต่างจากผู้อื่น

ผู้นำที่มีลักษณะประนีประนอมมักจะประสบปัญหาในการตัดสินใจ ผู้นำเหล่านี้จะไม่ยอมตัดสินใจจนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจากทีมงาน เนื่องจากความไม่ชอบเสี่ยงและไม่ยอมที่ตัดสินใจใดๆ ผู้นำบางท่านที่มีลักษณะประนีประนอมจะทำให้องค์กรขาดทิศทางและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน วิสัยทัศน์ของผู้นำที่มีลักษณะเหล่านี้จะเป็นไปในลักษณะของผลรวมจากวิสัยทัศน์ของทีมงานของตนเอง ผู้นำเหล่านี้จะมีลักษณะที่ไม่สามารถตัดสินใจ ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ใต้บังคับบัญชา และมักจะประสบความล้มเหลว

  • เรามักจะให้ความสำคัญต่อบุคลากรที่มีความสามารถในการดำเนินงาน (Operation) และแก้ไขปัญหาได้ดี โดยมองว่าบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่มีความสามารถเหมาะสมที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำขององค์กรต่อไป เช่นเดียวกับผู้ที่ทำงานเป็นทีมได้ดี ผู้ที่มีความสามารถในการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาได้ดีมักจะมีโอกาสในการเติบโตที่เร็วกว่าผู้อื่น ด้วยสาเหตุเดียวกันนั้นก็คือคนกลุ่มนี้ไม่เคยสร้างปัญหาให้กับผู้บังคับบัญชา แถมยังช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินงานไปได้อย่างราบรื่นด้วย อย่างไรก็ดีบุคคลเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำที่ดี ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่มีความสามารถในการดำเนินงานที่ดีมักจะเป็นผู้ที่มีความรอบรู้และชำนาญในการทำงานภายใต้ระบบ นโยบาย หรือขั้นตอนต่างๆ ที่องค์กรได้วางไว้ แต่พอบุคคลเหล่านี้ขึ้นมาเป็นผู้นำ บุคคลเหล่านี้มักจะเน้นการทำงานตามกฎหรือตามกรอบที่วางไว้ ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการบริหารและความสามารถคิดริเริ่มใหม่ๆ 

นอกจากนี้บุคคลที่สามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาได้ดี มักจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบที่มีความชัดเจน บุคคลเหล่านี้สามารถที่จะตัดสินใจในการแก้ไขส่วนแบ่งตลาดขององค์กรที่ลดลงได้ แต่มักจะประสบปัญหาในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง (Position) ของสินค้าเมื่อมีคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามาในตลาด เมื่อบุคลากรก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นภายในองค์กร การตัดสินใจและแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็จะยิ่งขาดข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจมากขึ้น ทำให้การตัดสินใจต่างๆ ต้องตกอยู่ภายใต้สภาวการณ์ที่ซับซ้อนและไม่แน่นอน ทำให้ผู้ที่มีความคุ้นชินและชำนาญแต่การตัดสินใจภายใต้กรอบที่ชัดเจนมีปัญหาในการตัดสินใจ และมักจะเกิดความสับสนและลังเลในการตัดสินใจทำให้ชะลอการตัดสินใจของตนเองไว้ก่อนจนกว่าจะมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์

ถึงแม้ความสามารถในการดำเนินงานจะเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับองค์กร แต่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีทักษะหรือความสามารถในด้านนี้ องค์กรหลายๆ แห่งมักจะหาทางออกโดยการตั้งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานเป็นมือรองหรือเบอร์สอง อาจจะเหมือกันตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในต่างประเทศที่มักจะมีตำแหน่ง Chief Executive Office (CEO) และ Chief Operating Officer (COO) คู่กัน

นอกเหนือจากประเด็นหลักๆ ของข้อผิดพลาดในการเลือกผู้นำในสองข้อข้างต้นแล้ว ยังมีข้อผิดพลาดย่อยๆ อีกหลายข้อที่น่าสนใจ เช่น เรามักจะคิดว่าผู้ที่สามารถนำเสนอหรือพูดต่อหน้าชุมชนได้ดีจะเป็นผู้นำที่ดี หรือ ผู้ที่มีความทะเยอทะยานจะเป็นผู้นำที่ดี ซึ่งจริงๆ แล้วได้มีตัวอย่างของผู้นำที่ประสบความสำเร็จหลายๆ ท่านที่ทั้งขาดทักษะในการพูดต่อหน้าชุมชน และไม่แสดงออกซึ่งความทะเยอทะยานที่ประสบความสำเร็จในการบริหารองค์กร

\เป็นอย่างไรบ้างครับเนื้อหาในสัปดาห์นี้ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาหลายๆ ประการ ซึ่งข้อมูลและเนื้อหาที่นำเสนอท่านผู้อ่านในวันนี้ไม่ได้บังคับให้ท่านผู้อ่านเชื่อถือและเห็นด้วยไปหมด เนื้อหาที่ผู้เขียนบทความ Are You Picking the Right Leaders? ได้มานั้นมาจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้นำต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เด่นชัดกับของเรา ทำให้หลักการต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศไทย แต่ผมเองในขณะที่กำลังนั่งเขียนบทความนี้ก็มีความรู้สึกว่าผู้นำหลายๆ ท่านที่ประสบความสำเร็จของไทยก็มีลักษณะที่เข้าตามลักษณะที่เขียนไว้ในบทความนี้ ท่านผู้อ่านควรจะลองพิจารณาและตัดสินใจด้วยตัวท่านเองก็แล้วกันนะครับ