13 June 2004
ผมเพิ่งไปค้นนิตยสาร Fortune เล่มเก่าๆ มาอ่านดู ก็ไปเจอฉบับหนึ่งที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมนี้ โดยในฉบับนี้เขาได้มีการจัดลำดับบริษัทที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดทั่วโลก The World’s Most Admired Companies ซึ่งเขาจัดเป็นประจำอยู่แล้ว ทาง Fortune ได้ว่าจ้างบริษัทHay Group เป็นผู้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำทั่วโลก ว่าบริษัทใดในธุรกิจที่ตนเองอยู่ ที่สมควรได้รับการยกย่องและชื่นชมบ้าง ผลที่ได้มาจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว (2003) โดยสิบอันดับแรกได้แก่ 1) Wal-Mart 2) General Electric 3) Microsoft 4) Johnson & Johnson 5) Berkshire Hathaway 6) Dell 7) IBM 8) Toyota 9) P&G และ 10) FedEx อย่างไรก็ดีประเด็นที่ผมอยากจะนำเสนอในสัปดาห์นี้ไม่ใช่การจัดลำดับครั้งนี้หรอกนะครับ (ถ้าท่านผู้อ่านสนใจในรายละเอียดของลำดับ ประเภทของอุตสาหกรรม ลองเข้าไปหาข้อมูลจาก fortune.com ดูนะครับ) แต่เป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทบางแห่งได้รับการยกย่องในลำดับที่สูง ในขณะที่บางบริษัทกลับได้รับการยกย่องในลำดับที่ต่ำ
ในวารสาร Fortune ฉบับเดียวกันนี้เขาได้ให้คำตอบที่ผมสงสัยไว้ด้วยครับ โดยเขาได้มีการทำวิจัยติดตาม ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้มีความแตกต่างระหว่างบริษัทที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง กับบริษัททั่วๆ ไป และสิ่งที่เขาพบกลับไม่ใช่ในเรื่องของกลยุทธ์ที่โดดเด่นหรอกนะครับ แต่เป็นในเรื่องของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ หรือ Execution มากกว่า ในเรื่องของ Execution นั้นผมจำได้ว่าได้นำเสนอผ่านทางบทความนี้มาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในปัจจุบันสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรแห่งหนึ่งประสบความสำเร็จเหนืออีกองค์กรหนึ่งมักจะอยู่ที่เจ้าตัว Execution เป็นหลัก ไม่ใช่ที่กลยุทธ์เหมือนที่เคยคิดกัน ผมเคยอ่านเจอบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารจาก Dell ว่า Execution ที่ยอดเยี่ยมมีความสำคัญมากกว่ากลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยม และมีผู้บริหารสูงสุดของ Wells Fargo ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำในอเมริกา เคยบอกไว้เลยว่า เขาสามารถที่จะลืมทิ้งแผนกลยุทธ์ไว้บนเครื่องบิน และจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างใดกับบริษัทเขา เนื่องจากบริษัทอื่นก็ไม่สามารถที่จะทำตามได้ ความสำเร็จของบริษัทเขา อยู่ที่การ Execute มากกว่าการวางแผน ไม่ทราบท่านผู้อ่านมีความเห็นประการใดครับ?
เราย้อนกลับมาดูที่บทความในวารสาร Fortune ต่อนะครับ เขาได้มีการสอบถามบริษัทที่ได้รับการยกย่องในลำดับที่สูงสามถึงห้าลำดับแรกของแต่ละอุตสาหกรรม กับบริษัทที่ได้รับการยกย่องในลำดับที่ต่ำในอุตสาหกรรมนั้นๆ และพบว่าความแตกต่างระหว่างทั้งสองกลุ่มคือในเรื่องของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ (Execution) เราลองมาดูตัวอย่างข้อมูลที่เขาได้กันนะครับ
- เมื่อถามว่าองค์กรได้มีการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ไปสู่แผนการปฏิบัติ และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนหรือไม่? ร้อยละ 84 ของบริษัทที่ได้รับการยกย่องเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 74 ของบริษัทลำดับรองลงมาเห็นด้วย
- เมื่อถามว่าบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานและบุคคลในองค์กรมีความชัดเจนหรือไม่? ร้อยละ 81 ของบริษัทที่ได้รับการยกย่องเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 74 ของบริษัทลำดับรองลงมาเห็นด้วย
- เมื่อถามว่าตัวชี้วัดผลการทำงานมีความเชื่อมโยงกับกลยุทธ์หรือไม่? ร้อยละ 92 ของบริษัทที่ได้รับการยกย่องเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 79 ของบริษัทลำดับรองลงมาเห็นด้วย
- เมื่อถามว่าผู้นำได้ให้ความสำคัญและเวลากับการจ้างและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพหรือไม่? ร้อยละ 67 ของบริษัทที่ได้รับการยกย่องเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 48 ของบริษัทลำดับรองลงมาเห็นด้วย
- เมื่อถามว่าความรับผิดชอบในการตัดสินใจในประเด็นต่างๆ และกระบวนการในการตัดสินใจมีความชัดเจนหรือไม่? ร้อยละ 79 ของบริษัทที่ได้รับการยกย่องเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 64 ของบริษัทลำดับรองลงมาเห็นด้วย และ
- เมื่อถามว่าผู้นำขององค์กร ชอบที่จะแวดล้อมตนเองด้วย ผู้บริหารอื่นที่กล้าที่จะท้าทายความคิดของผู้นำหรือไม่? (ไม่ใช่ประเภทลูกขุนพลอยพยักอย่างเดียว) ร้อยละ 81 ของบริษัทที่ได้รับการยกย่องเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 60 ของบริษัทลำดับรองลงมาเห็นด้วย
เป็นอย่างไรบ้างครับข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าประเด็นความแตกต่างที่ชัดเจนก็คือในเรื่องของการปฏิบัติให้เห็นผล เหมือนกับที่ซีอีโอของ P&G ที่ระบุไว้เลยครับ “สิ่งที่บริษัทจะต้องทำนั้นไม่ได้เป็นความลับเลย ความท้าทายก็คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้กลยุทธ์ ระบบ และความสามารถที่ต้องการให้มีและเข้าที่ จากนั้นก็จะต้องปฏิบัติให้ได้ผลเท่านั้นเอง” อ่านดูแล้วเหมือนกับจะง่ายนะครับ แต่จริงๆ แล้วไม่เลย การคิดการวางแผนเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การทำให้เกิดผลในทางปฏิบัตินั้นถือว่าเป็นอีกเรื่องเลยครับ ท่านผู้อ่านลองมองไปที่องค์กรของท่านเองก็ได้ครับ แล้วจะพบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเรื่องของการไม่สามารถ Execute เป็นส่วนใหญ่
ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ในวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน นี้ทางสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ ซึ่งผลิตนิสิตในระดับปริญญาโทที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีความรู้ในกระบวนการธุรกิจ จะจัดให้มีการนำเสนอโครงการพิเศษต่างๆ ที่นิสิตได้ทำ โดยจะเป็นพวกโปรแกรมหรือระบบต่างๆ ที่ใช้ในการบริหาร จัดการองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระบบสารสนเทศ ระบบคลังข้อมูล ระบบการบริหารสินค้าคงคลัง ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็โทร.ไปสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5715-6 นะครับ