31 January 2004

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้ยกตัวอย่างของวัฒนธรรมองค์กรที่น่าสนใจในหลายๆ องค์กร ซึ่งผมนำมาจากหนังสือชื่อ GUTS! และรู้สึกว่ามีท่านผู้อ่านสนใจกันมาก สัปดาห์นี้ผมเลยขอยกกรณีศึกษาอย่างละเอียดของบริษัทหนึ่งที่ผมได้นำเสนอไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว นั้นคือ SAS Institute อ่านดูชื่อแล้วเราอาจจะนึกว่า SAS เป็นสถาบันอะไรบางอย่างนะครับ แต่จริงๆ แล้ว SAS เป็นบริษัทผู้ผลิตซอฟแวร์ทางด้านธุรกิจและการตัดสินใจชื่อดังของโลก (มีบริษัทอยู่ในประเทศไทยด้วย) โดยผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของ SAS ชื่อ Jim Goodnight ได้สร้างบริษัทนี้ให้เป็นบริษัทชั้นนำทางด้านซอฟแวร์ของโลกที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นและเป็นมิตรกับพนักงานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เริ่มต้นจากตัวทรัพยากรบุคคลเลยนะครับ เนื่องจาก SAS อยู่ในธุรกิจการออกแบบซอฟแวร์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการแย่งตัวบุคลากรกันอย่างรุนแรง Goodnight จึงต้องหาทางที่จะรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้ให้ได้นานที่สุดด้วยการสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศในการทำงานที่ทำให้ชีวิตของพนักงานของเขามีความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวให้มากที่สุด ดูเหมือนว่าสิ่งที่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถให้อยู่ที่ SAS ได้นานๆ ก็คือที่ SAS ทุกคนทำงานเพื่อสร้างซอฟแวร์ที่ดี ทำงานในโครงการที่น่าสนใจ มีรายได้ที่ดี มีการแข่งขันที่ท้าทาย และสุดท้ายแต่สำคัญสุดก็คือได้กลับบ้านตอน 5 โมงเย็น ไม่ทราบว่าที่ทำงานของท่านผู้อ่านเป็นแบบนี้บ้างไหมครับ? Goodnight เองเชื่อว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของบริษัทเขาจะขับรถกลับไปบ้านตอนเย็นทุกวัน เขาเองจะต้องมีหน้าที่ที่จะทำให้ทรัพยากรที่มีค่าเหล่านี้มีความกระตือรือร้นที่จะกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่งในตอนเช้า ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่ามีผู้บริหารอยู่กี่รายที่คิดเช่นนี้?

ที่ SAS Campus หรืออีกนัยหนึ่งคือสำนักงานใหญ่ของ SAS ได้รับการออกแบบให้มุ่งเน้นในเรื่องของความสุขสบายในการทำงานมากที่สุด มีความเครียดน้อยที่สุด รวมทั้งสามารถเพิ่มผลิตผลในการทำงาน ตามผนังต่างๆ จะมีภาพศิลปะที่เป็นต้นฉบับกว่า 3,000 ภาพแขวนอยู่ และ SAS เองเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทของโลกที่มีศิลปินประจำบริษัท (ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับ บริษัทซอฟแวร์จ้างศิลปินให้มาทำงานเต็มเวลาถึง 4 คน) หน้าที่ของศิลปินเหล่านี้นอกเหนือจากการสร้างงานศิลปะในบริษัทแล้วยังมีหน้าที่ในการแสวงหาผลงานศิลปะมาไว้ในบริษัทด้วย Goodnight มีความเชื่อว่าศิลปะเหล่านี้จะส่งผลต่อสภาพจิตใจในการทำงานของพนักงานและส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา Goodnight ระบุไว้เลยว่าสำหรับ SASแล้วความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น เขาเองพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ภายในบริษัท และการใช้ศิลปะเข้าช่วยก็เป็นวิธีหนึ่งที่เขาใช้

นอกเหนือจากเรื่องศิลปะแล้ว ความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวก็เป็นสิ่งที่สำคัญใน SAS นอกเหนือจากสถานรับดูแลเด็กที่ได้นำเสนอไปในสัปดาห์ที่แล้ว SAS ยังมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นและไม่มีการจำกัดวันลาป่วย นอกจากนี้ยังมี Kid Days ที่พนักงานสามารถที่จะอยู่บ้านกับลูกไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ลูกไม่สบาย หรือต้องไปร่วมงานโรงเรียนที่สำคัญของลูก Goodnight เชื่อว่าไม่มีโอกาสครั้งที่สองสำหรับพ่อแม่ทุกคนในวันสำคัญต่างๆ ของลูก ไม่ว่าจะเป็นวันแรกของโรงเรียน หรือการแสดงครั้งแรกของลูก นอกจากความสมดุลระหว่างงานและชีวิตครอบครัวแล้ว สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ SAS ให้กับพนักงานก็ถือเป็นแบบอย่างที่น่าสนใจ โดยสิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้มอบให้กับพนักงานทุกคนในทุกแผนก โดยไม่มีการแบ่งแยกชั้นวรรณะเหมือนในบางบริษัท ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้านหรือคนดูแลสวนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เหล่านี้เหมือนกันหมด ตัวอย่างที่น่ารักของสิ่งที่บริษัทมอบให้พนักงานก็คือช็อกโกแล็ต M&M ทั้งแบบปกติและแบบมีถั่ว ที่จะแจกให้กับพนักงานในทุกวันพุธ ในปีหนึ่งๆ SAS ต้องหมดไปกับช็อกโกแล็ตเหล่านี้กว่า 22.5 ตัน 

SAS ยังมีศูนย์สุขภาพ (Health Care Center) ซึ่งท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะบอกว่าที่บริษัทของท่านก็มี แต่ที่ SAS นั้น ศูนย์สุขภาพของเขาเปรียบเสมือนกับเป็นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเลยทีเดียว แถมเป็นโรงพยาบาลที่ทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในปีที่แล้วในแต่ละวันจะมีพนักงานมาตรวจรักษาที่ศูนย์แห่งนี้ 120 คน พนักงานของ SAS สามารถนัดหมายเพื่อตรวจรักษาได้เพียงแค่ 30 นาทีล่วงหน้า และเวลารอที่จะพบแพทย์นั้นก็อยู่ที่เพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้นเอง พนักงานของ SAS กว่าร้อยละ 90 ใช้บริการศูนย์สุขภาพ และกว่าร้อยละ 50 ที่ใช้ศูนย์นี้เป็นทางเลือกแรกในการดูแลและรักษาสุขภาพของตนเอง (ไม่ต้องพึ่งโรงพยาบาลแล้วครับ) SAS ประมาณว่าปีหนึ่งๆ จะสามารถประหยัดต้นทุนระหว่าง $500,000 – $1 ล้านเหรียญในส่วนของเวลาที่พนักงานไม่ต้องออกไปหาหมอข้างนอก เนื่องจากในขณะที่หาศูนย์ดูแลสุขภาพใช้เวลารอไม่เกิน 4 นาที แต่ถ้าต้องออกไปหาภายนอกจะใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 3 ชั่วโมงรวมการเดินทางด้วย

SAS ยังมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาต่างหากชื่อ Work-Life Department เพื่อช่วยดูแลให้พนักงานสามารถสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว หน่วยงานนี้จะเปรียบเสมือนเป็นแหล่งความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการดูแลญาติที่สูงอายุ การเตรียมการสำหรับเกษียณ การขอรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม การแก้ไขปัญหาลูกที่เป็นวัยรุ่น การช่วยเหลือในการวางแผนทางด้านการเงินสำหรับอนาคต

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้นะครับว่าวัฒนธรรมองค์กรของ SAS จะมุ่งเน้นให้พนักงานทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่สุด เพื่อให้สามารถทุ่มเทเวลาและพลังงานมาในการพัฒนาซอฟแวร์ที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ SAS ยังเป็นบริษัทที่มีอัตราการลาออกของพนักงานที่ต่ำมาก (3.7% เปรียบเทียบกับ 25% ของอุตสาหกรรมนี้) สาเหตุที่พนักงานมีความภักดีต่อองค์กรอย่างสูงไม่ได้เกิดขึ้นจากสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ทั้งหลายหรอกครับ แต่เกิดขึ้นเนื่องจากพนักงานของบริษัทนี้รักในงานที่ทำ พนักงานของบริษัทกล่าวไว้ว่า จากการที่เขาได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวและครอบครัวมาก ดังนั้นเมื่อมาทำงาน งานจึงเป็นสิ่งมุ่งเน้นหลักของทุกคน ทุกคนให้ความสำคัญกับงานเป็นอย่างมาก วัฒนธรรมองค์กรของที่นี้ทำให้พนักงานทุกคนอยากที่จะให้บางอย่างกลับคืนให้กับบริษัทบ้าง พนักงานอีกคนหนึ่งกล่าวไว้เช่นกันบ้าง สาเหตุที่เขาอยู่ที่นี้ไม่ใช่เพราะสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่เป็นเพราะโอกาสที่จะได้พัฒนาซอฟแวร์ชั้นเลิศ แต่ในขณะเดียวกันถ้าบริษัทคู่แข่งดึงเขาไปเพื่อไปพัฒนาซอฟแวร์ที่เป็นเลิศเช่นกัน เขาเองคงไม่ไปไหนเนื่องจากสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ที่เขาได้รับจากบริษัท เป็นอย่างไรบ้างครับตัวอย่างของวัฒนธรรมที่แตกต่างที่ SAS Institute ถ้าท่านผู้อ่านมีตัวอย่างเก๋ๆ ของวัฒนธรรมองค์กรท่านก็ส่งมาได้นะครับ