4 July 2004
สัปดาห์นี้ผมขออนุญาตนำเสนอเรื่องราวจากสถาบันที่ผมทำงานอยู่หน่อยนะครับ นั้นคือในเรื่องของยุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งท่านอธิการบดี (ศ. คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์) เพิ่งนำเสนอสู่ประชาคมจุฬาฯ ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเลยขอนำเสนอเนื้อหาในบางส่วนนั้นมา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่านกันนะครับ
เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันแล้วจะพบว่า มุ่งเน้นในส่วนที่เรียกว่างานพัฒนาเป็นหลักครับ โดยงานประจำที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตบัณฑิต การผลิตผลงานวิชาการ การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม หรือ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ก็ยังเป็นสิ่งที่จุฬาฯ จะต้องดำเนินต่อไป เพียงแต่ในยุทธศาสตร์ฉบับนี้จะมุ่งเน้นในส่วนที่เป็นงานพัฒนามากกว่างานประจำ เช่น ในเรื่องของการผลิตผลงานวิจัยและวิชาการนั้น ยุทธศาสตร์ฉบับนี้จะไม่ได้กล่าวถึงการผลิตผลงานเพื่อนำเสนอหรือตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ เนื่องจากมองว่าเป็นหน้าที่โดยปกติที่จุฬาฯ จะต้องทำให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ระบุในยุทธศาสตร์นั้นจะมุ่งเน้นในงานวิจัยและวิชาการในเชิงบูรณาการมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ภายนอกในปัจจุบันทำให้การมีแต่เฉพาะความเชี่ยวชาญในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งไม่เพียงพอ ในการที่จะพัฒนาประเทศชาติได้ต่อไป ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ในเรื่องของการบูรณาการขึ้นมา โดยในยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมีกลยุทธ์ แผนงาน และมาตรการต่างๆ ที่จะสนับสนุนและเอื้อให้เกิดผลงานวิจัยและวิชาการในเชิงบูรณาการมากขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์การบูรณาการนี้ก็มีเป้าหมายในการสร้างองค์ความรู้เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายสามประการ ได้แก่ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น (Better Life) ทำให้สังคมดีขึ้น (Better Place to Live) และ ทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น (Better Competitiveness)
นอกเหนือจากด้านงานวิจัยและวิชาการแล้ว การผลิตบัณฑิตก็ถือเป็นหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย แต่ก็อย่างที่เรียนไว้ในเบื้องต้นว่ายุทธศาสตร์ฉบับนี้มุ่งเน้นงานพัฒนาเป็นสำคัญ ดังนั้นกระบวนการผลิตบัณฑิตที่ทำกันมานานก็ยังคงอยู่ แต่สิ่งที่จะทำเพิ่มขึ้น ก็คือ การพัฒนาสมรรถนะ (General Competency) และคุณลักษณะพิเศษ (Uniqueness Competency) ให้กับบัณฑิตของจุฬาฯ ตรงนี้คล้ายๆ กับหลัก Competency ของการบริหารองค์กรเลยครับ แต่จะมุ่งเน้นที่ตัวบัณฑิตจากจุฬาฯ มากกว่าพนักงานขององค์กร การพัฒนาสมรรถนะและคุณลักษณะพิเศษดังกล่าว ก็เพื่อให้บัณฑิตที่จุฬาฯ ผลิตออกมามีสมรรถนะ ความสามารถตามที่สังคมต้องการ อีกทั้งยังจะพัฒนาคุณลักษณะพิเศษที่จะทำให้บัณฑิตของจุฬาฯ มีความแตกต่างจากบัณฑิตจากสถาบันอื่น (เรียกได้ว่าเอาหลักในเรื่องของ Product Differentiation ของทางธุรกิจมาใช้เลยครับ) เท่าที่ทราบในปีนี้จะเริ่มมีกิจกรรมและการเปิดรายวิชาใหม่ๆ ที่เสอดคล้องกับสมรรถนะและคุณลักษณะพิเศษที่ได้กำหนดขึ้นมา
นอกจากนี้ยุทธศาสตร์อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กร โดยท่านอธิการบดี ได้ชี้แจงว่าต้องการทำให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่ทันสมัยในเรื่องของระบบการบริหารจัดการต่างๆ เพื่อที่จะพร้อมรับกับการแข่งขันทั้งจากในและต่างประเทศ (ในอนาคตคงจะหนีไม่พ้นการเปิดเสรีทางด้านการศึกษา เหมือนกับสินค้าและบริการอื่นๆ ซึ่งเมื่อนั้นการที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกจะมาเปิดสาขาในไทยก็คงจะง่ายขึ้น) ดังนั้นทางจุฬาฯ ก็ต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภายในกันเป็นการใหญ่ครับ ตั้งแต่ในเรื่องของการพัฒนาในด้านข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญขององค์กรไทยทุกแห่ง จุฬาฯ มีแผนงานที่จะนำระบบ Business Intelligence เข้ามาช่วยในการบริหารและตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนา Single Datawarehouse และ Single Database เพื่อเป็นระบบข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของผู้บริหาร นอกเหนือจากเรื่องของระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ดูเหมือนภาระหนักสำหรับอธิการบดีท่านปัจจุบัน ก็หนีไม่พ้นในเรื่องของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ที่ได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบบุคลากรใหม่ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ในอนาคต ก็คิดว่าเหมือนกับองค์กรทุกแห่งนะครับ ว่าเวลานึกถึงการพัฒนาองค์กรเรื่องของบุคคลและเรื่องระบบข้อมูลถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่จะต้องเร่งจัดการ
เนื้อหาข้างต้นดังกล่าวเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จุฬาฯ ที่อธิการบดี ได้แถลงนะครับ นับๆ ดู จุฬาฯ มียุทธศาสตร์ในสามด้านหลักๆ และมีกลยุทธ์ย่อยที่สนับสนุนยุทธศาสตร์แต่ละข้ออีก 10 ประการ ผมเองเชื่อว่าคงมีท่านผู้อ่านหลายท่านสงสัยต่อนะครับ ว่ายุทธศาสตร์และกลยุทธ์ข้างต้นนี้เป็นเพียงสิ่งที่เขียนขึ้นมาให้ดูสวยงามเท่านั้นหรือเปล่า? (เจอมาหลายองค์กรเหมือนกันครับ) ในปัจจุบันยุทธศาสตร์และกลยุทธ์แต่ละประการได้มีการกำหนดแนวทาง (Strategic Initiatives) มาตรการ (Action Plan) ผู้รับผิดชอบ ระยะเวลา และงบประมาณที่จะต้องใช้ ไว้อย่างละเอียดและชัดเจน นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยจะมีการติดตามและประเมินการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์เป็นระยะๆ ทุกสามเดือน ถ้ามีโอกาสต่อไปผมก็อาจจะนำความคืบหน้า ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านต่อไปนะครับ