1 August 2002
ท่านผู้อ่านที่ติดตามบทความนี้เป็นประจำคงจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงหลักการด้านการแพทย์เข้ากับแนวคิดทางด้านการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในเรื่องของ Healthy Scorecard และ Organizational Intelligence ดังที่ได้เคยนำเสนอไปในบทความนี้ ในสัปดาห์นี้ผมขอนำแนวคิดทางด้านการจัดการอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานของหลักการทางการแพทย์เข้ามาใช้กับการบริหารและการจัดการ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะผู้นำที่ได้นำเอาหลักการในเรื่องของสมองและอารมณ์ของผู้บริหารเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเรียกว่า Emotional Leadership ซึ่งเนื้อหาในบทความนี้ได้นำมาจากบทความเรื่อง Primal Leadership เขียนโดย Daniel Goleman และคณะ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเมื่อเดือนธันวาคมเมื่อปีที่แล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะแปลกใจว่าภาวะผู้นำจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ได้อย่างไร? จริงๆ แล้วคงไม่ใช่แต่ตัวผู้นำในองค์กรเท่านั้นแต่อารมณ์ของคนที่อยู่รอบๆ ข้างเราสามารถที่จะส่งผลกระทบถึงตัวเราได้ทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่เคยได้สังเกตพบเท่านั้น
ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดของแนวคิดเกี่ยวกับ Emotional Leadership เราลองมาทบทวนแนวคิดและหลักการเกี่ยวกับภาวะผู้นำก่อนนะครับ แนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำภายในองค์กรได้มีการพัฒนามาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว มีหลักการและแนวคิดเกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำออกมามากมาย โดยพอจะแบ่งแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำเป็นยุคต่างๆ ได้คร่าวๆ ดังนี้ ยุคแรกเป็นยุคที่นักวิชาการมองว่าคนๆ ไหนจะเป็นผู้นำที่ดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของคนๆ นั้น ซึ่งแนวคิดด้านนี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อของ ‘Traits Theory’ การศึกษาในเรื่องของภาวะผู้นำในยุคนี้มุ่งเน้นการหาคุณลักษณะที่เหมาะสมกับผู้นำ ในยุคต่อมาจะเริ่มให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของผู้นำมากขึ้น โดยแบ่งพฤติกรรมของผู้นำออกเป็นสองด้าน ได้แก่ผู้ที่มุ่งเน้นงาน (Task-Oriented) กับผู้ที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์ (Relationship-Oriented) ซึ่งเครื่องมือทางด้านภาวะผู้นำที่เรารู้จักกันในยุคนี้ได้แก่ Managerial Grid ต่อมานักวิชาการเห็นว่าผู้นำที่ดีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะและความพร้อมของลูกน้องหรือสถานการณ์ในขณะนั้นๆ และในปัจจุบันได้มีการกล่าวขวัญถึงผู้นำที่เป็น Transformational Leadership มากขึ้น ซึ่งผู้นำในประเภทสุดท้ายนั้นจะเน้นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถที่จะกระตุ้นและจูงใจให้พนักงานสามารถทำงานเกินความสามารถของแต่ละคน
อย่างที่เรียนให้ทราบในตอนต้นว่าในปัจจุบันได้เริ่มมีการนำเสนอแนวคิดและหลักการทางด้านการแพทย์เข้ามาผสมผสานกับภาวะผู้นำมากขึ้น โดยแนวคิดเรื่องของ Emotional Intelligence นั้นเริ่มต้นจากการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ (Mood) ของผู้บริหารที่จะส่งผลกระทบพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชา รวมถึงผลต่อการดำเนินงานขององค์กร ท่านผู้อ่านอาจจะลองเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงของท่านก็ได้นะครับว่าในสถานที่ทำงานของท่านนั้นอารมณ์ของผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารสูงสุดขององค์กรท่านส่งผลกระทบต่อการทำงานของคนอื่นภายในองค์กรหรือไม่
ก่อนที่จะเข้าไปศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ของผู้นำกับคนรอบข้าง เราลองมาศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของอารมณ์ของเรากับคนรอบข้างก่อนนะครับ ได้มีผลวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับการทำงานของสมองแล้วพบว่าอารมณ์ของบุคคลแต่ละคนสามารถที่จะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของคนรอบๆ ตัว ทั้งนี้เนื่องจากสมองและอารมณ์เราทำงานในลักษณะเปิด (Open-Loop) ทำให้สมองและอารมณ์เราของเราจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่เรามีกับบุคคลอื่นรอบๆ ตัวเรา นอกจากนี้ได้มีการวิจัยเพิ่มเติมในโรงพยาบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องที่ดูแลผู้ป่วยพิเศษ พบว่าผู้ป่วยหนักที่มีคนดูแลอย่างใกล้ชิดจะส่งผลทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยลดลง และยังทำให้ไขมันที่อุดตันเส้นเลือดลดน้อยลง นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งน่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านผู้อ่านที่เป็นสุภาพบุรุษวัยกลางคนที่ในขณะนี้ยังไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับใครๆ โดยมีการค้นพบว่าผู้ชายในวัยนี้ที่ประสบกับความเครียดอย่างรุนแรงมากกว่าสามครั้งต่อปี มีโอกาสที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ชายวัยเดียวกันที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่สามารถปลอบโยนหรือปลอบใจได้มากกว่าถึงสามเท่า จากผลการวิจัยทั้งสองประการข้างต้นท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่าอารมณ์ของคนเรามีลักษณะเป็นเปิด นั้นคืออารมณ์ของคนๆ หนึ่งสามารถที่จะส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นรอบๆ ตัวเราอยู่ตลอดเวลา
นักวิทยาศาสตร์และนักการแพทย์บอกว่าปฏิกิริยาเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากคนแต่ละคนสามารถที่จะส่งสัญญาณที่จะส่งผลต่อระดับโฮร์โมน การทำงานของหัวใจ อัตราการหลับ หรือแม้กระทั่งอัตราการติดเชื้อ ของบุคคลรอบๆ ตัวเรา นอกเหนือจากการแสดงอารมณ์โดยการพูดแล้วได้มีการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ค้นพบว่าปฏิกิริยาทางร่างกายของคนเรา (Non-verbal Expressiveness) ก็สามารถส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ถ้าเอาคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันเลยมานั่งอยู่ด้วยกัน ชั่วเวลาไม่ถึงห้านาที คนที่มีการแสดงออกทางอารมณ์มากที่สุดจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้อื่นทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการพูดด้วยกันเลยซักคำเดียว
พอนำหลักการเหล่านี้เข้ามาใช้ในการทำงานโดยเฉพาะการทำงานเป็นกลุ่มแล้ว พบว่า อารมณ์ดีและรื่นเริง เบิกบาน จะเป็นอารมณ์ที่แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นได้อย่างรวดเร็วที่สุด ในขณะที่อารมณ์หดหู่จะเป็นอารมณ์ที่แพร่กระจายได้น้อยที่สุด มีการวิจัยและพบว่าการหัวเราะเป็นลักษณะของอารมณ์ที่ติดต่อหรือแพร่กระจายได้เร็วที่สุด ถ้าท่านได้ยินใครหัวเราะแล้วมักจะอดไม่ได้ที่จะยิ้มหรือหัวเราะตาม ทั้งนี้เนื่องจากในสมองของเราได้รับการออกแบบมาให้สามารถรับรู้ต่อการยิ้มหรือเสียงหัวเราะได้ดีที่สุด
มีการค้นพบว่าอารมณ์ของแต่ละคนนั้นมักจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างติดตัวคนแต่ละคนไป คนแต่ละคนมักจะมีอารมณ์ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอนั้นคือเมื่อส่วนใหญ่อารมณ์เป็นอย่างใดแล้วก็จะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ หมายความว่าถ้าใครมีแนวโน้มที่เป็นคนร่าเริง เบิกบานก็จะเป็นคนในลักษณะนั้นอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าใครที่มีอารมณ์ขี้หงุดหงิดหรือโมโหง่าย ก็มักจะเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่าอารมณ์ของคนเราขึ้นอยู่กับอะไร? จริงๆ แล้วอารมณ์ของแต่ละคนมีส่วนสัมพันธ์กับพันธุกรรม (Gene) ของแต่ละคนเหมือนกัน นักวิทยาศาสตร์ได้มีการค้นพบยีนแปลกๆ แต่จริงในร่างกายของเรา เช่น ยีนของความอาย (Shyness) ที่ส่งผลให้คนบางคนที่มียีนตัวนี้ค่อนข้างเงียบและเก็บตัว และทำให้คนที่มียีนตัวนี้อยู่ถูกมองโดยคนรอบข้างว่าเป็นคนที่มีอารมณ์ไม่ค่อยจะเบิกบาน อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่พันธุกรรมเพียงอย่างเดียวที่จะส่งผลต่ออารมณ์ของแต่ละคน ประสบการณ์ของแต่ละคนก็ส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านอารมณ์ของแต่ละคนด้วย ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าอารมณ์ของแต่ละคนจะค่อนข้างที่จะฝังรากและติดตัวแต่ละคนในช่วงอายุยี่สิบกว่าๆ
เมื่อนำหลักการเหล่านี้เข้ามาใช้ร่วมกับภาวะผู้นำแล้วก็มีการพบว่าอารมณ์และพฤติกรรมของผู้นำจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรมของบุคคลอื่นภายในองค์กร ผู้นำที่มีอารมณ์บูดและก้าวร้าว จะทำให้สภาวะแวดล้อมในการทำงานเป็นพิษ ทำให้ทุกคนภายในองค์กรมีลักษณะมองโลกในแง่ร้ายและแง่ลบ ทำให้ละเลยโอกาสดีๆ ทางธุรกิจไป ในขณะที่ผู้นำที่มีอารมณ์รื่นเริง ชื่นบาน จะส่งผลให้บุคลากรภายในองค์กรกล้าที่จะท้าทายหรือทำในสิ่งใหม่ๆ อีกทั้งยังจะผลให้ทุกคนรอบๆ ตัวเขามองทุกอย่างหรือมองโลกในแง่ดี ทำให้ทุกคนมีความหวังหรือมองเห็นโอกาสในการที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ซึ่งสุดท้ายแล้วย่อมจะส่งผลต่อผลประกอบการขององค์กร
ท่านผู้อ่านอย่าลืมตรวจสอบอารมณ์ของท่านนะครับ เพราะอารมณ์ของทุกท่านสามารถส่งผลต่อบุคคลรอบๆ ตัวท่าน โดยเฉพาะท่านผู้อ่านที่เป็นผู้บริหารคงต้องสำรวจอารมณ์ของตนเองอย่างจริงจังเนื่องจากอาจจะส่งผลต่อผลการดำเนินงานขององค์กรท่านได้