7 February 2004

เดี๋ยวนี้เราจะได้ยินบทบาทหน้าที่ของผู้นำที่เปลี่ยนไปจากการชี้นำและสั่งการ (Leading and Directing) ไปสู่การเป็นฝึกสอน หรือ Coaching มากขึ้นนะครับ ผมเชื่อว่ายังมีท่านผู้อ่านหลายท่านที่สงสัยว่าผู้นำจะเป็นผู้ฝึกสอนได้อย่างไร? ถ้าท่านผู้อ่านไปเปิดตำราทางด้านการจัดการดูจะพบว่าในปัจจุบันเราก็จะแบ่งหน้าของผู้บริหารออกเป็นสี่ด้านทั้งหมด ได้แก่ 1) การวางแผน(Planning) 2) การจัดองค์กร (Organizing) 3) การชี้นำ (Leading) และ 4) การควบคุม(Controlling) แต่ผมเชื่อว่าในไม่ช้าไม่นานหน้าที่ของผู้บริหารในอนาคตจะต้องเปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนจากการชี้นำ (Leading) ไปสู่การฝึกสอน (Coaching) มากขึ้น 

ผมได้ยินผู้บริหารชั้นนำของเมืองไทยจำนวนมากที่เริ่มพูดถึงความสำคัญของการที่ผู้นำจะต้องเป็นผู้ฝึกสอนมากขึ้น จากในอดีตที่เราคิดว่าผู้นำที่ดีคือผู้ที่สามารถสั่งการและบังคับบัญชาลูกน้องให้ทำตามแผนงานที่วางไว้หรือสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่จากสภาวะการแข่งขันที่เปลี่ยนไปที่ต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้น และต้องการผู้นำในทุกระดับขององค์กร การสั่งการและบังคับบัญชาจึงไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมสำหรับผู้นำในยุคใหม่ ถ้าท่านผู้อ่านนึกถึงบทบาทของผู้นำในฐานะผู้ฝึกสอนไม่ออกก็ขอให้นึกถึงบรรดาผู้ฝึกสอนของบรรดาทีมกีฬาต่างๆ ดูซิครับ ผู้ฝึกสอนไม่ใช่ผู้ที่คอยสั่งการให้ผู้เล่นในสนามเตะลูกบอลด้วยเท้าซ้ายหรือเท้าขวา หรือจะต้องส่งลูกไปข้างหน้าหรือข้างหลัง หรือจะต้องส่งบอลให้เพื่อนหรือยิงประตูเอง แต่ผู้ฝึกสอนจะต้องฝึกสอนและพัฒนาลูกทีมให้มีทักษะ ความสามารถที่เหมาะสม ให้คำแนะนำในเรื่องของการแข่งขัน และสุดท้ายจะต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของลูกทีมที่จะต้องสามารถตัดสินใจได้ว่าในแต่ละโอกาสตนเองควรจะส่งลูกให้ใครหรือควรจะยิงประตูเอง

วัตถุประสงค์ของการฝึกสอนไม่ได้เพื่อสั่งการให้ทำงานให้สำเร็จหรอกนะครับ แต่เพื่อทำให้ลูกทีมหรือผู้ที่ถูกฝึกสอนสามารถพัฒนาตนเองให้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อที่จะได้นำไปสู่การปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จ การฝึกสอนนั้นยังเป็นการช่วยพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ของทั้งผู้ที่ทำหน้าที่ฝึกสอนและรับการฝึกสอน ได้แก่ทักษะในด้านของการสื่อสาร การแก้ไขปัญหา การทำงานเป็นทีม 

ถ้าหันกลับมาดูนิยามทางด้านวิชาการก็อาจจะบอกได้ว่า การเป็นผู้ฝึกสอนคือกิจกรรมที่ผู้นำจะต้องทำเพื่อทำให้ผลการดำเนินงานของบุคคลหรือกลุ่มดีขึ้น การฝึกสอนที่ดีจะต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ ได้แก่ 1) ความไว้วางใจและเข้าในกันและกันระหว่างผู้ฝึกสอนกับลูกทีม 2) ผู้ฝึกสอนจะต้องคอยตั้งคำถามให้เหมาะสมเพื่อชี้นำให้ลูกทีมสามารถคิดได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่การบอกให้ทำเหมือนในอดีต 3) การตกลงและความเข้าใจร่วมกันในเป้าหมายที่ทุกคนต้องการที่จะบรรลุ 4) มีการให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่างๆ ให้กับลูกทีมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม และ 5) ผู้บริหารทุกระดับจะต้องเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ฝึกสอน

ลองมาดูปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งก่อนนะครับ นั้นคือในเรื่องของการตั้งคำถาม ผู้ฝึกสอนไม่ได้มีหน้าที่ในการสอนเป็นหลัก แต่จะต้องรู้จักตั้งคำถามที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ลูกน้องสามารถคิดและพัฒนาตนเองได้           ดูเหมือนว่าการสอนหรือการบริหารโดยการตั้งคำถามจะเป็นประเด็นที่ผู้บริหารและนักวิชาการทั่วไปเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น ผู้บริหารบางท่านเคยบอกผมด้วยซ้ำไปว่าต่อไปในอนาคตผู้บริหารจะต้อง “ไม่ใช่ผู้ที่คอยแต่ให้คำตอบ แต่จะต้องมุ่งเน้นในการถามคำถามที่ถูกต้อง” ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าเพราะเหตุใดการตั้งคำถามถึงได้มีความสำคัญ? การตั้งคำถามที่ถูกต้องเป็นการทำให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เป็นการกระตุ้นผู้ฟังให้คิดตาม ให้มุ่งเน้นในสิ่งที่สำคัญ และทำให้ผู้ฟังได้เกิดการเรียนรู้ ดูเหมือนแนวคิดนี้จะย้อนอดีตไปพอสมควรเนื่องจากวิธีการสอนด้วยการตั้งคำถามนั้นจะเป็นวิธีที่ปราชญ์ในอดีตอย่าง Socrates ใช้ในการสอน

การตั้งคำถามมักนำไปสู่การตอบคำถาม ดังนั้นแทนที่ผู้นำจะใช้วิธีการบอกคำตอบหรือให้เหตุผลไปเลย การถามคำถามจะทำให้ผู้ฟังได้ใช้เหตุผลของตัวเองในการตอบคำถาม กระบวนการสอนด้วยการถามคำถามอาจจะใช้เวลานานกว่าการบอกหรือชี้นำไปเลย แต่จะได้ผลดีกว่าในระยะยาว เนื่องจากผู้ฟังจะได้คำตอบที่ต้องการด้วยตนเองและจะเห็นด้วยกับคำตอบนั้นมากกว่าที่ผู้นำทำการบอกเล่า

นอกจากนี้การที่จะฝึกสอนให้ได้ผลนั้น ทั้งผู้นำและลูกน้อง จะต้องตกลงและทำความเข้าใจร่วมกันก่อนถึงกระบวนการและวิธีการที่จะใช้ในการฝึกสอน และที่สำคัญทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความไว้วางใจและเข้าใจในกันและกัน ที่สำคัญก็คือลูกน้องจะต้องระลึกไว้ตลอดนะครับว่าผู้นำไม่ได้พยายามทำการประเมินผลหรือจับผิดตนเอง ในขณะเดียวกันผู้ที่เป็นผู้นำก็ต้องทำความเข้าใจว่าอะไรคือแรงจูงใจที่จะทำให้ลูกน้องสามารถทำงานได้ดีขึ้น และการที่ทำงานได้ไม่ดีนั้นเกิดขึ้นจากการขาดทักษะหรือขาดความมุ่งมั่น

สรุปแล้วอาจจะพูดกันได้ง่ายๆ นะครับว่าผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้ฝึกสอนด้วย แต่ผมมองว่าในทางปฏิบัติแล้วตัวผู้นำเองจะต้องเปิดใจให้กว้างพอสมควรและต้องมีทักษะที่เหมาะสมด้วย ดังนั้นก่อนที่ผู้นำจะเป็นผู้ฝึกสอนได้ ตัวผู้นำทั้งหลายคงต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกันก่อนนะครับ ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ทางภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้เปิดหลักสูตรอบรม Modern Marketing Management (MMM) เป็นรุ่นที่ 32 แล้ว การอบรมจะเป็นเกี่ยวกับการจัดการด้านการตลาดสมัยใหม่ทั้งหมด ผมดูหัวข้อการอบรมและวิทยากรแล้วน่าสนใจมากทีเดียวครับ ท่านผู้อ่านที่สนใจโทร.ไปสอบถามได้ที่ 02-218-5794-5 ได้นะครับ