29 July 2004
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอถึงเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งที่มีมุมมองหรือแนวโน้มที่จะมองสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวในด้านร้าย (Negative Thinking) ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ? ผมเองนั้นไม่ได้คิดว่าพวกที่ชอบมองสิ่งต่างๆ ในด้านลบนั้นจะไม่ดีหรือไม่มีโอกาสในการที่จะก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำขององค์กรได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนักจิตวิทยาก็เริ่มที่จะศึกษาถึงประโยชน์ของการมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบกันบ้างแล้วครับ และได้ผลที่น่าสนใจทีเดียว มีหนังสือขายดีเล่มหนึ่งเป็นหนังสือทางด้านจิตวิทยาชื่อ The Positive Power of Negative Thinking เขียนโดย Julie Norem ซึ่งเป็นอาจารย์ทางด้านจิตวิทยาอยู่ในอเมริกาNorem เขียนหนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ปี 2001 (ในเมืองไทยยังหาไม่ได้นะครับ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจต้องสั่งซื้อจาก Amazon.com ได้ครับ) ในหนังสือเล่มนี้ Norem พยายามแสดงให้ผู้อ่านได้เห็นถึงประโยชน์หรือด้านดีของการมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบ แถมยังระบุอีกนะครับว่าคนเราควรที่จะหัดมองโลกทั้งสองด้าน (ด้านบวกและด้านลบ) และเลือกใช้วิธีการมองโลกในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป
Norem ได้เสนอว่าพวกที่มองสิ่งต่างๆ ในแง่ร้ายนั้นจะเริ่มต้นทำสิ่งใดจากการมองถึงเหตุการณ์หรือความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น แต่เพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย คนกลุ่มนี้ก็จะพยายามและหาทางสำหรับการทำงานให้ประสบความสำเร็จ โดยวางแผนอย่างละเอียดรอบรอบเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้สิ่งไม่ดีต่างๆ ที่ตนเองคิดขึ้นมาเป็นจริง ทำให้คนกลุ่มนี้มีความพร้อมที่จะรับมือต่อความโชคร้ายหรือสิ่งที่ไม่คาดหวัง ท่านผู้อ่านอาจจะเจอบุคคลเหล่านี้ได้บ่อยๆ นะครับ เช่น ถ้าเสาอาทิตย์นี้ท่านจะเดินทางไปต่างจังหวัด (สมมติว่าแค่พัทยา) อาจจะมีท่านผู้อ่านบางท่านที่มีการเตรียมพร้อมเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรืออาหารเผื่อหิว หรือ ที่สูบลมยางอัตโนมัติเผื่อยางแบน หรือ แผนที่เผื่อรถติดและจะหลบไปอีกทาง จากการที่บุคคลเหล่านี้เตรียมพร้อมทุกอย่างดังนั้นถ้าเกิดโชคร้ายเจอสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น บุคคลเหล่านี้ก็จะมีแผนหรือความพร้อมที่จะรองรับ Norem เรียกการมองสิ่งต่างๆ ในแง่ร้ายว่า Defensive Pessimism
ผู้ที่มีมุมมองแบบ Defensive Pessimism มักจะตื่นเต้นหรือขี้กังวล แต่ก็ใช้ความกังวลนั้นในการทำให้สามารถทำงานออกมาได้ดี คนกลุ่มนี้จะไม่ตั้งความคาดหวังไว้สูง เนื่องจากมักจะคิดล่วงหน้าถึงความผิดพลาดหรือสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้น
ในขณะเดียวกันมุมมองอีกมุมมองหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับพวก Defensive Pessimism คือพวกที่มองโลกในแง่ดีเกินเหตุ หรือ อาจจะเรียกได้ว่าไม่เตรียมพร้อมเลยก็ได้ พวกที่ Norem เรียกว่า Strategic Optimism ครับ ท่านผู้อ่านลองนึกถึงคนบางคนซิครับ ที่ก่อนที่จะนำเสนองานครั้งสำคัญ แทนที่จะซ้อมแล้วซ้อมเล่าจนเกิดความเชี่ยวชาญ และพร้อมที่จะตอบคำถามทุกคนถามที่จะมีเข้ามา บุคคลที่เป็น Strategic Optimism อาจจะไปเดินซื้อของหรือดูหนังซักรอบ แล้วเมื่อถึงเวลานำเสนอจริงๆ บุคคลเหล่านี้ก็สามารถที่จะเอาตัวรอดได้จากความมั่นใจที่ตนเองมีอยู่ คนที่มีแนวคิดแบบนี้จะไม่ค่อยตื่นเต้นหรือตื่นตระหนกต่อสิ่งต่างๆ เท่าใด อีกทั้งเป็นผู้ที่ชอบที่จะตั้งเป้าหมายหรือความคาดหวังในการทำงานไว้สูง แล้วก็ไม่ชอบหรือไม่อยากที่จะคิดล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น นอกจากนี้คนที่มีมุมมองในด้านนี้มักจะเป็นผู้ที่เหมือนกับมีอารมณ์แจ่มใสเป็นนิจ เมื่อทำอะไรสำเร็จก็จะมองว่าเกิดจากความสามารถของตนเอง แต่ถ้าล้มเหลวก็จะโทษโชค เป็นอย่างไรบ้างครับ แนวคิดทั้งสองแนวค่อนข้างที่จะแตกต่างกันไปคนละขั้วเลยนะครับ ท่านผู้อ่านอย่าลืมมองไปรอบๆ ตัวนะครับ แล้วท่านผู้อ่านจะเจอบุคคลที่มีแนวคิดทั้งสองด้านอยู่ทั่วไปเต็มไปหมด
ประเด็นสำคัญที่ Norem นำเสนอในหนังสือของเธอก็คือ คนแต่ละคนไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งติดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกที่เป็น Defensive Pessimism ก็จะมองสิ่งต่างๆ ในแง่ร้ายในทุกนาทีทุกสถานการณ์ แต่จริงๆ แล้วคนเราสามารถที่จะเลือกใช้มุมมองที่เหมาะสมสำหรับแต่ละสถานการณ์ได้ จริงๆ แนวคิดนี้คล้ายๆ กับแนวคิดในเรื่องของภาวะผู้นำนะครับ นั้นคือไม่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ เช่น ในสถานการณ์ที่ไม่เปิดโอกาสให้มองสิ่งต่างๆ ในแง่ร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) แล้วท่านดันไปใช้มุมมองแบบ Defensive Pessimism ก็จะส่งผลต่อความตื่นเต้นหรือความเครียด และทำให้ผลการทำงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
ท่านผู้อ่านที่อยากจะลองดูว่าตนเองมีแนวโน้มหรือมุมมองส่วนใหญ่ในลักษณะของStrategic Optimism หรือ Defensive Pessimism ก็อาจจะลองเข้าไปทำแบบสอบถามในเว็บได้นะครับ ท่านสามารถเข้าไปที่เว็บของผู้เขียนหนังสือเล่มได้โดยตรงครับที่ www.defensivepessimism.com เขามีแบบสอบถามให้ท่านผู้อ่านได้ลองทำออนไลน์เลยครับ