11 July 2004
ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยสังเกตบ้างไหมครับว่าทำไมเพื่อนร่วมงานบางคนของท่านถึงได้ดูเหมือนงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา วันทั้งวันยุ่งอยู่กับการประชุม การเขียนบันทึก การสั่งงาน การแก้ไขปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น การเซ็นเอกสาร การคุยโทรศัพท์ แต่ทำไมงานที่บุคคลผู้นั้นทำถึงไม่ได้มีผลผลิต หรือ ผลลัพธ์ที่เชื่อมโยงกับผลสำเร็จขององค์กรแต่อย่างใด หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อนร่วมงานที่ดูเหมือนกับว่างานยุ่งทั้งวัน กลับไม่ได้ทำอะไรสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควร แต่ในขณะเดียวกันท่านผู้อ่านอาจจะมีเพื่อนร่วมงานอีกท่านหนึ่งที่ดูเหมือนกับว่างานไม่ค่อยยุ่งเท่าใด ทำงานแบบสบายๆ มีเวลาว่างพอสมควร แต่สุดท้ายงานของบุคคลหลังก็สำเร็จ แถมเป็นงานที่ส่งผลกระทบ หรือ มีความเชื่อมโยงกับความสำเร็จขององค์กร ถ้าท่านผู้อ่านเคยพบเห็นเพื่อนร่วมงานที่มีลักษณะทั้งสองประการข้างต้น ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับว่าเป็นเพราะอะไร?
ความแตกต่างของบุคคลทั้งสองประเภทนั้นคือบุคคลประเภทแรกนั้นถึงแม้จะดูเหมือนงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เป็นความยุ่งในลักษณะที่ไม่ได้นำสู่ผลลัพธ์ที่มีค่าต่อองค์กรแต่อย่างใด มีนักวิชาการบางท่านเรียกบุคคลพวกนี้ว่า Busy Idleness บ้าง หรือ Active Nonaction บ้าง ซึ่งถ้าดูคำทั้งสองคำก็พอจะแปลได้ว่าเป็นพวกที่ยุ่ง (Busy หรือ Active) แต่ในขณะเดียวกันความยุ่งนั้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้นมา (Idleness หรือ Nonaction) ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะใช้เวลาหมกมุ่นอยู่กับงานประจำจนละเลยงานที่เป็นกลยุทธ์หรืองานในการพัฒนาองค์กร ซึ่งถ้าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริหารก็คงจะลำบากสำหรับองค์กรนะครับ เนื่องจากผู้บริหารคือการทำงานให้สำเร็จ (Getting Things Done) ดังนั้นถ้าเป็นผู้บริหารที่เอาแต่ทำงานประจำที่ทำให้ตนเองดูเหมือนกับยุ่งทั้งวัน แต่สุดท้ายแล้วงานไม่สำเร็จ ผลเสียก็คงจะเกิดขึ้นกับองค์กรเป็นสำคัญ
เรามาดูกันนะครับว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารบางท่านทำงานในลักษณะที่ดูเหมือนกับยุ่งทั้งวัน แต่งานไม่สำเร็จ กับอีกกลุ่มที่สามารถทำงานให้สำเร็จและก่อให้เกิดผลดีต่อองค์กร มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ A Bias for Action ได้ระบุไว้เลยครับว่าปัจจัยที่สำคัญสองประการก็คือ พลังงาน (Energy) และการมุ่งเน้น (Focus) จริงๆ แล้วคำว่า Energy ถ้าแปลเป็นไทยว่าพลังงานก็ออกจะดูตรงตัวไปหน่อยนะครับ เนื่องจากคำๆ นี้ควรที่จะครอบคลุมถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเท พลังงาน ความตั้งใจในอันที่จะทำงานใดงานหนึ่งให้ประสบผลสำเร็จ ส่วนในเรื่องของคำว่า Focus นั้น ก็น่าจะหมายถึงการนำความมุ่งมั่น ทุ่มเท หรือพลังงานที่มีอยู่นั้นในการที่จะมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายที่ชัดเจน และยังคงมุ่งไปในเป้าหมายนั้นถึงแม้ว่าจะมีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม
บุคคลหรือผู้บริหารที่จะประสบความสำเร็จหรือทำงานได้สำเร็จนั้นจะต้องมีทั้ง Energyและ Focus อยู่ในตัว แต่ถ้าขาดด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านย่อมจะส่งผลการทำงานให้สำเร็จได้ ยกตัวอย่างเช่น พวกที่ขาดทั้ง Energy และ Focus ก็จะเป็นพวกผลัดวันประกันพรุ่ง งานที่สำคัญที่จะต้องทำก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากขาดพลังงานหรือความทุ่มเทในการทำงานให้สำเร็จ และในขณะเดียวกันก็ขาดความมุ่งเน้นในการที่จะทำงานนั้น ในประเภทนี้งานที่สำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จนั้น จะเริ่มทำก็ต่อเมื่อใกล้ถึงกำหนดที่จะต้องส่ง ท่านผู้อ่านลองนึกถึงพวกที่ผลัดวันประกันพรุ่ง หรือดินพอกหางหมูดูก็ได้นะครับ พวกนี้เรียกได้ว่าขาดทั้ง Energy และ Focus
สำหรับคนอีกประเภทหนึ่งนั้น จะมีระดับของความทุ่มเทหรือมุ่งมั่นในระดับที่ต่ำ แต่มีระดับของ Focus ที่สูง คนกลุ่มนี้จะมีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน รู้ว่าตนเองควรจะต้องทำอะไร แต่ขาดพลังงาน หรือ ความกระตือรือร้นในอันที่จะทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เช่น ผู้บริหารบางท่านก็จะทราบอยู่แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆ ถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับองค์กร แต่กลับไม่ยอมขับเคลื่อนหรือผลักดันการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากตนเองขาดความมุ่งมั่น หรือกระตือรือร้นที่จะทำ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความเฉื่อยส่วนตัว หรือ รู้ว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร
บุคคลประเภทที่สาม จะมีระดับของพลังงาน ความทุ่มเท หรือ ความมุ่งมั่นในระดับที่สูง แต่ขาดความชัดเจนของสิ่งที่จะทำ (ระดับของ Focus ที่ต่ำ) คนกลุ่มนี้เป็นประเภทเดียวกับที่ผมได้นำเสนอในตอนแรกๆ นั้นคือ จะมีความกระตือรือร้น ขยัน ตั้งใจที่จะทำงาน คนกลุ่มนี้จะดูเหมือนยุ่งอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นผู้ที่มีพลังงานเหลือเฟือและมีเจตนาที่ดีที่จะต้องอะไรอยู่ตลอดเวลา แต่เนื่องจากคนกลุ่มนี้ขาด Focus หรือเป้าหมายที่ชัดเจน ขาดการมุ่งเน้น ทำให้งานที่ทำนั้นมักจะหนีไม่พ้นงานประจำที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า หรือ ทำงานเยอะแต่สุดท้ายก็ไม่มีผลสำเร็จใดๆ ออกมาเป็นรูปธรรม บางครั้งท่านผู้อ่านก็อาจจะเป็นบุคคลในกลุ่มนี้ก็ได้นะครับ ที่นั่งทำงานยุ่งๆ ทั้งวัน แต่พอสิ้นวันแล้วกลับรู้สึกว่าตนเองเหมือนกับไม่ได้ทำอะไรที่ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันเลย
จำได้ว่าเคยอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าบุคคลที่มีลักษณะที่มีระดับของ Energy ที่สูงและFocus ที่สูงนั้นมีอยู่เพียงร้อยละ 10 ของคนทำงานทั้งหมด และคนกลุ่มนี้ก็คือกลุ่มคนที่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในงาน เนื่องจากพวกเขาสามารถที่จะทำงานให้สำเร็จหรือเกิดขึ้นมาได้ เนื่องจากมีความมุ่งเน้น มีเป้าหมาย และทิศทางที่ชัดเจน รวมทั้งมีพลังงาน ความทุ่มเท และความมุ่งมั่นในการที่จะทำงานให้ลุล่วง ท่านผู้อ่านลองกลับไปทบทวนตัวท่านเองนะครับว่าท่านจัดอยู่ในคนกลุ่มไหนครับ?