Photo by Poodar Chu on Unsplash

30 May 2004

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะได้ยินคำว่า Competencies หรือสมรรถนะ กันมากขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีนี้ครับ ทั้งนี้เนื่องจากองค์กรจำนวนมากทั้งภาคราชการและเอกชนได้มีการนำหลักในเรื่องของ Competencies เข้ามาใช้กันมากขึ้น สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับ Competencies นั้น ก็ขออนุญาตอธิบายสั้นๆ นะครับ จริงๆ หลักของ Competencies ก็ไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่อย่างใด เพียงแต่เป็นการกำหนดลงไปให้ชัดเจนว่าอะไรคือ Competencies ที่บุคลากรในองค์กรควรจะมี จากนั้นก็มีการประเมินว่าบุคลากรในองค์กรมี Competencies ในระดับที่ต้องการหรือยัง ถ้ายังก็จะต้องหาวิธีการและแนวทางในการพัฒนาบุคลากรให้มี Competencies ในระดับที่ต้องการ ถ้าจะถามถึงคำนิยามของ Competencies ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้วก็ดูเหมือนแต่ละองค์กรจะไม่เหมือนกัน บางแห่งก็เน้นแต่สมรรถนะ บางแห่งก็เพิ่มทักษะ ความรู้ ความสามารถ ค่านิยม พฤติกรรม หรือทัศนคติ เข้าไปด้วย ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรนั้นเอาตำราเล่มไหนมาใช้ หรือจ้างที่ปรึกษาจากที่ไหน

เนื้อหาในสัปดาห์นี้ไม่ได้ตั้งใจจะนำเสนอเรื่องของ Competencies ในองค์กรทั่วๆ ไปหรอกนะครับ แต่อยากจะพูดถึง Competencies ของบัณฑิตที่จบในระดับปริญญาตรีในเมืองไทยมากกว่าครับ ทั้งนี้เนื่องจากในสัปดาห์หน้ามหาวิทยาลัยทุกแห่งก็จะเปิดภาคการศึกษากันหมดแล้ว และในช่วงสองสามเดือนแรกก็เป็นเทศกาลของการดูแลรับน้องกัน เลยอยากจะนำเสนอว่าสมรรถนะ คุณลักษณะ หรือทักษะของบัณฑิต (ที่จบในระดับอุดมศึกษา) ควรที่จะมีลักษณะอย่างไร เพื่อที่อย่างน้อยจะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาบัณฑิตของไทยต่อไปในอนาคต สมรรถนะ คุณลักษณะ และทักษะของบัณฑิตไทยที่ผมจะนำเสนอนี้ไม่ได้นั่งเทียนเขียนขึ้นมาลอยๆ นะครับ แต่นำมาจากผลงานวิจัยของ ศ.ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน และ รศ.ดร.สุวาณี สุรเสียงสังข์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยผลงานวิจัยดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ทักษะแรงงานไทยในอนาคตที่พึงประสงค์’โดยในรายงานวิจัยดังกล่าวมีการสำรวจทักษะของแรงงานไทยในอนาคต ในช่วงต่างๆ ทั้งกลุ่มที่จบระดับปริญญาตรี จบระดับปวช./ปวส. กลุ่มพวกที่เข้าปี 1 กลุ่มที่เรียนในระดับปวช./ปวส. และกลุ่มนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับม. 3 

อาจารย์ทั้งสองท่านได้มีการสัมภาษณ์ทั้งผ่านแบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักคิด นักวิชาการ ผู้ใช้บัณฑิต รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิของเมืองไทยจำนวนมาก เพื่อให้ได้คุณลักษณะและทักษะของแรงงานไทยในอนาคต เนื้อหาในรายงานวิจัยนี้มีมาก แต่ผมขอนำเพียงแค่บางส่วนมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านกันนะครับและขอมุ่งเน้นแต่เฉพาะทักษะ และคุณลักษณะของบัณฑิตที่จบในระดับอุดมศึกษานะครับ 

ถ้าพิจารณาในภาพรวมแล้วจะพบว่าในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้าความต้องการด้านบุคลากรนั้นจะเน้นในเชิงคุณภาพ มากกว่าเชิงปริมาณ ในขณะเดียวกันบัณฑิตในอนาคตจะต้องมีความรู้ที่กว้างในลักษณะของ Multidisciplinary หรือมีความรู้ในหลากหลายศาสตร์สาขา ไม่ใช่เพียงแต่รู้ลึกในสิ่งที่ตนเองเรียนมาเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่สมดุลกัน บัณฑิตในอนาคตจะต้องมีคุณลักษณะที่สามารถคิด วิเคราะห์ วิจัย และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ในระดับที่ดีมาก อีกทั้งยังต้องสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองอีกด้วย ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับสิ่งที่เราได้ยินกันบ่อยนะครับว่าบัณฑิตในอนาคตจะต้องมีลักษณะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

ในส่วนของความสามารถนั้น บัณฑิตจะต้องมีทักษะพื้นฐานที่ดีมากในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการอ่าน เขียน พูด การแสดงออก ทางด้านภาษาอังกฤษ ด้านคอมพิวเตอร์ และการจัดการ โดยในด้านของภาษาไทยนั้นจะต้องสามารถสื่อสารได้ดีมาก สำหรับภาษาอังกฤษจะต้องสามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการชีวิตประจำวันได้ดี ส่วนคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นจะต้องสามารถใช้โปรแกรมระดับสูงในการทำงานได้ ด้านการบริหารจัดการนั้น จะต้องสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม มีวุฒิภาวะของความเป็นผู้นำและผู้บริหาร สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ อีกทั้งยังต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรมของต่างชาติได้ดี อย่างไรก็ดีนอกเหนือจากทักษะต่างๆ ข้างต้น บัณฑิตในอนาคตควรจะต้องมีความชำนาญเฉพาะทางที่สูง เพื่อการประกอบอาชีพด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นผู้นำที่ดี มีภาษาดี แต่ขาดความรู้ ความชำนาญในสิ่งที่ตนเองเรียนมา นอกจากนี้บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ยังระบุอีกนะครับว่าถ้าจะเปรียบเทียบเพื่อแข่งขันแล้ว บัณฑิตของไทยควรจะต้องมีความทัดเทียมกับบัณฑิตจากประเทศสิงค์โปร์อีกด้วย

สำหรับในเรื่องของทัศนคติของบัณฑิตในอนาคตนั้น บัณฑิตจะต้องมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน มีความพร้อมที่จะทำงาน มีความอดทน มีแรงจูงใจ รวมทั้งมีความเป็นผู้นำในการทำงานได้ อาจจะกล่าวได้ว่าประเภทที่ไม่อดทน หรือที่เราเรียกว่าเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ หรือประเภทเจองานหนักก็ท้อ คงจะไม่ใช่ลักษณะของบัณฑิตที่ดีในอนาคตนะครับ

เป็นอย่างไรครับข้อมูลข้างต้น ไม่ทราบตรงใจท่านผู้อ่านบ้างไหม ผมเชื่อว่าข้อมูลจากงานวิจัยนี้น่าจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับสถาบันการศึกษาต่างๆ ในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร และแนวทางในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ได้บัณฑิตที่ดีในอนาคต จริงๆ แล้วในเอกสารวิจัยดังกล่าวยังมีซีดีแถมอีกแผ่นหนึ่งนะครับ เป็นซีดีที่ใช้ในการพยากรณ์ทางด้านประชากร (Population Projection) ทั้งในส่วนของโครงสร้างเพศ อายุ ระดับการศึกษา ช่วงอายุ ตามภูมิภาค ฯลฯ ซึ่งเท่าที่ดูแล้วเป็นซีดีที่ดีมากเลยครับ เหมาะกับพวกที่ต้องการทราบข้อมูลทางด้านประชากรในอนาคต เพื่อใช้ในการตัดสินใจในด้านต่างๆ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจงานวิจัยชิ้นนี้ก็หาดูได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ นะครับ

สุดท้ายขอฝากประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ตอนนี้วิชาที่ผมสอนในระดับ MBA ที่คณะบัญชี จุฬา (จะเปิดเทอมในเดือนมิ.ย.นี้) มีนโยบายให้นิสิตไปช่วยให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเรื่องของการจัดทำ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจก็อีเมลเข้ามาถามรายละเอียดกับผมได้ที่ pasu@acc.chula.ac.th นะครับ