9 May 2004

ในสัปดาห์นี้เรามาต่อกันด้วยกรณีศึกษาสั้นๆ กันอีกเรื่องนะครับ คราวนี้มาดูในเรื่องของกลยุทธ์การเติบโต (Growth Strategy) ของบริษัทสมมติบริษัทหนึ่งบ้างนะครับ ท่านผู้อ่านลองสมมติตัวท่านเองเป็น CEO หรือผู้บริหารสูงสุดของบริษัทที่ผลิตเครื่องมือ เครื่องจักรสำหรับใช้ในโรงงานแห่งหนึ่งนะครับ ท่านได้เข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทนี้มาห้าปี โดยตอนที่ท่านมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทนี้ บริษัท จักรกล จำกัด (ชื่อสมมตินะครับ) ยังเป็นบริษัทขนาดเล็กอยู่ เมื่อท่านเข้ามาก็ได้มีกลยุทธ์ในการเติบโตนานาประการในการที่จะทำให้บริษัท จักรกล เติบใหญ่ขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่นการตั้งราคาในเชิงรุก ที่ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาด และทำให้คู่แข่งใหม่ๆ จากต่างประเทศต้องออกจากอุตสาหกรรมไป นอกจากนี้ยังมีการขยายสายผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น การขยายฐานลูกค้า ไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยมีการปรับสินค้าหลักของบริษัทให้เข้ากับลูกค้าในอุตสาหกรรมใหม่ นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทอื่นที่มีเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสินค้าหลักของบริษัท

อย่างไรก็ดีการขยายกิจการด้วยการเติบโตเหล่านี้ก็ส่งผลต่อกำไรของบริษัทเช่นกัน นอกจากนี้บริษัทยังต้องมีการไปกู้เงินมาสนับสนุนการเข้าไปซื้อกิจการ และการซื้อเครื่องมือ เครื่องจักรใหม่ๆ แต่ท่านเองในฐานะในผู้บริหารสูงสุดก็มั่นใจว่าสิ่งที่ท่านได้ดำเนินการไปเพื่อให้บริษัทเกิดการเติบโตนั้นจะเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการได้กำไรของบริษัทในอนาคต การขยายกิจการด้วยกลยุทธ์การเติบโตของท่านก็ใช่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงทุกคน คุณวรเดช ซึ่งเป็น CFO (Chief Financial Officer) ของบริษัทก็ได้คอยตักเตือนท่านอยู่ตลอดเวลาให้ระวังในเรื่องของสถานะการเงินของบริษัทด้วย ในกรณีศึกษานี้ท่านผู้อ่านเองกับคุณวรเดชต่างเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ท่านเองเคารพและเชื่อถือในความเห็นของคุณวรเดชเสมอมา ตัวคุณวรเดชเองก็เป็นผู้ที่มีทักษะ ความรู้ สามารถที่ดีและเป็นที่ยอมรับของบรรดาผู้บริหารระดับสูงทุกท่าน เพียงแต่ในบางครั้งความคิดเห็นของคุณวรเดชกับท่านผู้อ่านก็มีขัดแย้งกันบ้าง ซึ่งท่านก็เข้าใจและมองความเห็นขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ดีต่อบริษัท

กลุ่มธุรกิจหนึ่งในบริษัทท่านคือธุรกิจด้านบริการ เป็นธุรกิจที่ประสบกับการขาดทุนและเป็นภาระทางด้านการเงินที่สำคัญของบริษัท ซึ่งคุณวรเดช ได้เสนอให้ขายธุรกิจนี้ไปเสีย เพื่อจะทำให้ผลประกอบการและสถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้น แต่ท่านกลับมองในทางตรงกันข้าม เนื่องจากธุรกิจผลิตเครื่องจักรกล กำลังเข้าสู่ระยะอิ่มตัวและมีคู่แข่งใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น ในขณะเดียวกันธุรกิจการบริการกลับเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่สดใส เนื่องจากจะทำให้บริษัทท่านสามารถนำเสนอทั้งสินค้าและบริการที่ครบวงจรให้กับลูกค้า (Total Business Solution) และในขณะนี้บริษัทท่านกำลังพัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปที่จะช่วยผสมผสานระหว่างเครื่องจักรที่ท่านผลิตและงานบริการที่ลูกค้าของท่านต้องการ ท่านผู้อ่านในฐานะผู้บริหารสูงสุดมองเห็นถึงแนวโน้มที่สดใสของธุรกิจนี้ แต่อาจจะต้องมีการลงทุนและปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานกันพอสมควร ซึ่งตอนนี้คู่แข่งหลายๆ เจ้าเริ่มมองเห็นโอกาสดังกล่าวและเริ่มที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจการให้บริการครบวงจรกันมากขึ้น

ทีนี้อยู่ดีๆ โอกาสที่ดีของบริษัทท่านก็มาถึงอีกครั้งหนึ่งครับ เมื่อบริษัทโสรัจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับเครื่องจักรกล ได้ประกาศที่จะขายกิจการ และเริ่มมีบริษัทคู่แข่งของท่านหลายๆ บริษัทเริ่มที่จะสนใจเข้าไปซื้อบริษัทนี้ ท่านเองมีความสนิทสนมกับผู้บริหารบริษัทนี้ดี และทางผู้บริหารของบริษัทโสรัจ ก็รับปากกับท่านว่าจะให้ท่านมีโอกาสเป็นบริษัทแรกในการเข้าเสนอราคาเพื่อซื้อกิจการของเขา ท่านเองทราบอยู่แล้วว่าโปรแกรมที่บริษัทโสรัจผลิตนั้นสามารถที่จะนำมาปรับใช้กับเครื่องจักรของท่าน ทำให้ท่านลดระยะเวลาในการเข้าสู่ธุรกิจการให้บริการครบวงจร และจะทำให้บริษัทท่านเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือคู่แข่งขันอื่นๆ จากการที่ได้เข้าไปในธุรกิจนี้ได้ก่อนคู่แข่งขันรายอื่นๆ

อย่างไรก็ดีเมื่อท่านนำเรื่องนี้มาปรึกษากับผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นๆ คุณวรเดช เป็นผู้ที่คัดค้านการเข้าไปซื้อบริษัทโสรัจ อย่างแข็งขัน โดยคุณวรเดช ได้ทำการวิเคราะห์ทางด้านการเงินและแย้งว่าการเข้าไปซื้อกิจการบริษัทโสรัจ จะทำให้ต้นทุนของบริษัทสูงขึ้น อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในพัฒนาโปรแกรม ต้นทุนการอบรมและพัฒนา ต้นทุนในด้านการตลาด ซึ่งต้นทุนต่างๆ เหล่านี้จะยิ่งทำให้บริษัทยังคงขาดทุนต่อไป บริษัทเองกำลังเริ่มฟื้นตัวจากการลงทุนขยายกิจการที่ได้ดำเนินการไปตอนที่ท่านเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดใหม่ๆ ถ้าขืนไปซื้อกิจการใหม่เข้ามาอีกก็จะยิ่งทำให้โอกาสที่จะทำให้บริษัทมองเห็นกำไรเป็นไปได้ช้าลงเท่านั้น และอาจจะทำให้ภาพของบริษัทในสายตาของนักลงทุนและเจ้าหนี้ต่างๆ ไม่ดีก็ได้ (ท่านกำลังวางแผนที่จะนำบริษัทท่านเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) แถมคุณวรเดช ยังย้ำอีกว่าตอนนี้กลับเป็นโอกาสที่ดีในการที่จะออกจากธุรกิจบริการด้วยซ้ำ

ท่านเองได้ลองถามผู้บริหารระดับสูงท่านอื่นๆ และพบว่าความเห็นได้แตกออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกเห็นด้วยกับการขยายกิจการด้วยการเข้าไปซื้อบริษัทโสรัจ อีกส่วนเห็นด้วยกับคุณวรเดช ที่จะไม่ซื้อกิจการใหม่ในขณะนี้ แถมยังควรที่จะขายกิจการที่มีอยู่ไปด้วย เพื่อทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแรงขึ้น 

เป็นอย่างไรบ้างครับกรณีศึกษานี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้จำนวนมากคงจะเจอสถานการณ์แบบนี้กันบ่อยๆ นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างผู้บริหารสูงสุดที่มุ่งเน้นการเติบโต กับทัศนะของผู้บริหารด้านการเงิน ที่มุ่งรักษาความเข้มแข็งทางด้านการเงินของบริษัทไว้ ไม่ทราบว่าถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทนี้ ท่านผู้อ่านจะทำอย่างไรดีครับ มุ่งเน้นกลยุทธ์การเติบโตโดยการเข้าไปซื้อบริษัทโสรัจ หรือ ทำตามคำแนะนำของคุณวรเดช ในการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของบริษัท โดยการขายธุรกิจการให้บริการออกไป หรือทางเลือกอื่นๆ อีก? ยังไงก็อีเมลมาแบ่งปันความคิดเห็นร่วมกันได้นะครับ

สุดท้ายขอฝากประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ตอนนี้วิชาที่ผมสอนในระดับ MBA ที่คณะบัญชี จุฬา (จะเปิดเทอมในเดือนมิ.ย.นี้) มีนโยบายให้นิสิตไปช่วยให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเรื่องของการจัดทำ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจก็อีเมลเข้ามาถามรายละเอียดกับผมได้ที่ pasu@acc.chula.ac.th นะครับ