22 August 2002

เวลาท่านผู้อ่านได้ศึกษารายงานประจำปีหรือรายงานทางธุรกิจของบริษัทต่างๆ ท่านผู้อ่านเคยนึกบ้างไหมครับว่าจะดีแค่ไหนถ้าในรายงานเหล่านั้นนอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินของบริษัทแล้ว ยังมีข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์หรือตัดสินใจของบุคคลภายนอก? แล้วท่านผู้อ่านเคยสงสัยบ้างไหมครับว่าข้อมูลหรือตัวเลขทางการเงินที่นำเสนอเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือและสามารถบอกถึงสถานะที่แท้จริงของบริษัทได้แค่ไหน? ถ้าท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยเหล่านั้นอยู่ในใจ ก็ขอแจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบว่าในปัจจุบันได้มีบุคคลหลายกลุ่มที่คิดเหมือนกับท่านผู้อ่านแล้วครับ  ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีการถกเถียงกันในแวดวงวิชาการและในสมาคมวิชาชีพต่างๆ อย่างแพร่หลายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่บริษัทได้เสนอในรายงานทางการเงินต่างๆ กับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับบุคคลภายนอกหรือนักลงทุนที่จะต้องใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับบริษัทนั้น ได้เริ่มมีคำถามต่างๆ เข้ามามากขึ้นถึงความน่าเชื่อถือและความเพียงพอของข้อมูลและตัวชี้วัดทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในปัจจุบันมีเหตุการณ์ที่สำคัญสองประการที่ยิ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงข้อสงสัยดังกล่าว

เหตุการณ์ประการแรกนั้นเป็นในเรื่องเกี่ยวกับแนวคิดขององค์กรสมัยใหม่ในปัจจุบันที่เน้นการแข่งขันกันด้วยปัจจัยที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น ในปัจจุบันสิ่งที่ทำให้องค์กรธุรกิจประสบความสำเร็จเริ่มกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ภาพลักษณ์ คุณภาพของบุคลากร หรือความสามารถในด้านนวัตกรรมเป็นต้น นักวิชาการได้มองว่าองค์กรในปัจจุบันกำลังดำเนินงานและแข่งขันอยู่ในเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) ซึ่งต่างจากองค์กรที่อยู่ในเศรษฐกิจยุคเก่า (Old Economy) ที่เน้นการแข่งขันโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ทำเลที่ตั้ง จากการเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจยุคเก่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ทำให้เริ่มมีนักวิชาการด้านบัญชีที่มองเห็นว่าระบบบัญชีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ล้าสมัย โดยศาสตราจารย์ Baruch Lev ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านบัญชีที่มหาวิทยาลัย New Yorkได้พยายามชี้ให้เห็นว่าระบบบัญชีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นระบบที่คิดค้นกันมากว่า 500 ปี โดยใน คริสศตวรรษที่ 1400 โดยนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ Luca Pacioli โดยบุคคลท่านนี้ได้เป็นผู้คิดค้นระบบการบันทึกบัญชีสองขาที่มีเดบิตและเครดิต (หรือที่รู้จักกันในชื่อของDouble Entry Book Keeping) เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับนักธุรกิจในตรวจสอบการดำเนินงานของตนเอง ศาสตราจารย์ Lev มองว่าระบบที่ถูกคิดค้นขึ้นมากว่า 500 ปีที่แล้วย่อมไม่เหมาะสำหรับสภาวะทางธุรกิจที่สลับซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายเช่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การแข่งขันส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ในปัจจุบันถึงแม้องค์กรของท่านจะมีระบบบัญชีที่ดีและนักบัญชีที่เก่งเพียงใดก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าผู้บริหารจะสามารถตรวจสอบถึงสถานะในการดำเนินงานและความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง นอกเหนือจากแนวคิดของ ศาสตราจารย์ Lev แล้ว จากผลการวิจัยของ Ernst & Young’s Center of Business Innovation พบว่านอกเหนือจากตัวชี้วัดทางด้านการเงินแล้ว นักลงทุนจากสถาบันและหน่วยลงทุนต่างๆ ได้เริ่มให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดอื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ การนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ นวัตกรรม ความสามารถในการดึงดูดบุคลากรที่มีค่า ประสบการณ์ของผู้บริหาร ความน่าเชื่อถือของผู้บริหาร เป็นต้น

สำหรับเหตุการณ์ประการที่สองนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากกระแสความปั่นป่วนในแวดวงธุรกิจในปัจจุบันที่เกิดการพังทลายขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในอเมริกาเนื่องมาจากการที่ผู้บริหารจงใจที่ปกปิดหรือบันทึกบัญชีเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของบริษัท ทำให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนโดยทั่วไปไม่สามารถที่จะทราบสถานะที่แท้จริงของบริษัท ซึ่งก็นำไปสู่การตัดสินใจทางการลงทุนที่ผิดพลาด จนในปัจจุบันภาพลักษณ์ของนักบัญชีเริ่มที่จะตกต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และความเชื่อถือของบุคคลต่างๆ ต่อระบบบัญชีของบริษัทต่างๆ ก็ลดน้อยลงจนน่าใจหาย ทำให้ในปัจจุบันได้เกิดความตื่นตัวจากสถาบันและหน่วยงานวิชาชีพต่างๆ ที่จะทำการปรับปรุงและยกระดับของมาตรฐานทางการบัญชีขึ้นมา

ในต่างประเทศการปรับเปลี่ยนนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมาหลายปีแล้วครับ โดยเริ่มจากทาง American Institute of Certified Public Accountants ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพของผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตของอเมริกาได้เสนอให้ทาง Financial Accounting Standards Board ที่ดูแลในเรื่องของมาตรฐานทางด้านบัญชีและการเงินของอเมริกาให้พิจารณาที่จะมีข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์ให้บริษัทต่างๆ ในอเมริกาได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านอื่นที่ไม่ใช่ข้อมูลทางด้านการเงินเพิ่มขึ้น โดยทาง FASB ได้เรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางด้านการเงินเพิ่มมากขึ้น รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) ขององค์กร และข้อมูลที่บอกถึงอนาคตขององค์กรมากขึ้น (Forward Looking Information) โดยข้อมูลเหล่านี้ควรจะครอบคลุมเกี่ยวกับ ข้อมูลและตัวชี้วัดในการดำเนินงานที่ผู้บริหารได้ตรวจสอบอยู่เป็นประจำ แนวโน้ม ตัวชี้วัด และเป้าหมายต่างๆ ที่องค์กรตั้งไว้ รวมถึงโอกาสและความเสี่ยงทางธุรกิจ และแผนงานในด้านต่างๆ เป็นต้น

จากข้อมูลข้างต้น ท่านผู้อ่านอาจจะมีคำถามเกิดขึ้นในใจว่ารูปแบบของรายงานทางธุรกิจควรจะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่? แทนที่จะมุ่งเน้นในการนำเสนอข้อมูลที่แสดงถึงสถานะทางการเงินของบริษัท รายงานทางธุรกิจของบริษัทต่างๆ (เช่นรายงานประจำปี) ควรจะครอบคลุมถึงปัจจัยและตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ตัวชี้วัดทางด้านการเงินหรือไม่? และท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยต่อไปว่าการขยายขอบเขตของรายงานทางธุรกิจนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อนักลงทุนหรือไม่? และคำถามที่จะต้องตามมาก็คือถ้ามีการปรับเปลี่ยนวิธีการในการรายงานทางธุรกิจจริง รูปแบบและหน้าตาควรจะเป็นอย่างไร และตัวองค์กรเองจะต้องมีการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด?

จริงๆ แล้วในปัจจุบันได้เริ่มที่จะมีบริษัทหลายแห่งในต่างประเทศที่มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ปรากฎอยู่ในรายงานประจำปีของบริษัทมากขึ้น โดยผมขออนุญาตยกตัวอย่างของบริษัทที่ปรึกษาในยุโรปแห่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นบริษัทแรกๆ ที่มีการนำข้อมูลตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านการเงินมานำเสนอไว้ในรายงานประจำปี บริษัทแห่งนี้ชื่อ Celemi โดยในรายงานประจำปีของบริษัทนี้ได้มีการจัดทำ Celemi Monitor ซึ่งเป็นเครื่องมือที่แสดงสถานะของสินทรัพย์ของบริษัทที่ทั้งสามารถจับต้องได้ (Tangible Assets) และสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) ซึ่งภายใต้ Celemi Monitor นั้นจะมีตัวเลขของสินทรัพย์แต่ละตัวสามปีย้อนหลัง พร้อมทั้งไฟสัญญาณจราจร (เขียว เหลือง แดง) กำกับอยู่ด้วยเพื่อแสดงสถานะของสินทรัพย์นั้นๆ ว่าสูงกว่าเป้าหมาย (สีเขียว) อยู่บริเวณเป้า (สีเหลือง) และต่ำกว่าเป้า (สีแดง) โดยตัวอย่างของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ของ Celemi ที่ปรากฏอยู่ในรายงานปีของบริษัท ได้แก่ ดัชนีความพอใจของลูกค้า อัตราการซื้อซ้ำ รายได้จากสินค้าใหม่ อัตราการเข้าออกของพนักงาน ประสบการณ์โดยเฉลี่ยของพนักงาน ระดับความสามารถของพนักงาน (Competencies) ดัชนีความพึงพอใจของพนักงาน เป็นต้น พอดีผมไม่ได้มีโอกาสค้นรายงานประจำปีของบริษัทในประเทศไทยว่ามีบริษัทใดบ้างที่ได้มีการแสดงตัวชี้วัดอื่นที่ไม่ใช่ด้านการเงิน ถ้ามีก็ขอความกรุณาแจ้งให้ผมทราบด้วยนะครับ จะได้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้

จากแนวโน้มต่างๆ ข้างต้น สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นไปได้ในอนาคตอันไม่ไกลนี้คือหน่วยงานทางภาครัฐที่รับผิดชอบอาจจะเริ่มมองเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นสำหรับบริษัทต่างๆ (อาจจะเริ่มจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก่อน) ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือปัจจัยที่ไม่สามารถจับต้องได้ในบริษัทมากขึ้น โดยเฉพาะตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านการเงิน ซึ่งปัจจุบันแนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ ซึ่งผมคิดว่าอีกไม่นานคงจะมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่องค์กรต่างๆ กำลังขมักเขม้นกับการนำเอา Balanced Scorecard มาใช้ในองค์กร ซึ่งผลลัพธ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือทำให้ได้ตัวชี้วัดที่เหมาะสมสำหรับสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ด้านการเงินมากขึ้น ดังนั้นในอนาคตอันไม่ไกลเราอาจจะเห็นองค์กรชั้นนำบางแห่งที่มีการนำระบบ Balanced Scorecard หรือ Key Performance Indicators เข้ามาใช้ในองค์กรได้เริ่มที่จะเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนได้รับทราบในลักษณะของรายงานผลทางธุรกิจมากขึ้น

การกระทำดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อนักลงทุนและบุคคลภายนอกที่ได้มีเครื่องมือและข้อมูลในการวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัทก่อนที่เราจะเข้าไปลงทุนมากขึ้น อีกทั้งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวบริษัทเองในด้านของภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในสายตาของนักลงทุน รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีที่ตัวบริษัทเองจะได้เริ่มมีการวัดผลในสิ่งที่สำคัญและเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ผมคิดว่าอาจจะเริ่มถึงเวลาแล้วนะครับที่บริษัทต่างๆ ได้เริ่มคิดที่จะเปิดเผยข้อมูลในสินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ในรายงานประจำปีหรือรายงานต่างๆ ของบริษัท ทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุน และเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารของตัวบริษัทเอง