25 January 2004

ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ทยอยนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการรักษาและจูงใจบุคลากรที่มีค่าไว้กับองค์กร รวมทั้งการจูงใจให้บุคลากรเหล่านั้นทำงานกับองค์กรอย่างเต็มที่ ซึ่งประกอบด้วยทั้งการใช้วัฒนธรรมองค์กรและการจูงใจด้วยวิธีการต่างๆ โชคดีและบังเอิญที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมไปได้หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Guts!: Companies that blow the doors off business-as-usual โดยในหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอกรณีศึกษาและตัวอย่างขององค์กรที่ใช้ทั้งวัฒนธรรมองค์และวิธีการจูงใจที่น่าสนใจ เพื่อรักษาและจูงบุคลากร เลยอยากจะขอนำตัวอย่างบางบริษัทจากหนังสือเล่มนั้นมานำเสนอในสัปดาห์นี้

ขอเริ่มต้นที่บริษัท Synovus Financial ผู้บริหารสูงสุดคือ James H. Blanchard บอกตลอดเลยว่าตัวเขาทำงานให้กับบุคลากรในองค์กรของเขา ภารกิจของเขาคือเพื่อแสวงหาและตอบสนองต่อทุกสิ่งที่บุคลากรของเขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจ การอบรม ทรัพยากร เพื่อให้บุคลากรของเขาทำงานออกมาได้ดีที่สุด ลักษณะผู้นำของ James เป็นแบบที่เขาเรียกว่า Servant Leadership หรือผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ โดยเขามองว่าหน้าที่ของผู้นำคือเป็นผู้รับใช้ให้กับบุคลากรในองค์กร ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับผู้บริหารในเมืองไทยนะครับ ที่มองว่าตัวเองเป็นนายส่วนลูกน้องคือผู้รับใช้ บางท่านอาจจะสงสัยต่อนะครับว่าลักษณะผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ (Servant Leadership) นั้นจะส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กรได้จริงหรือไม่? บริษัท Synovus Financial นั้นได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในโลก ในปี 2002 มีรายได้กว่า $1.7 พันล้าน และกำไร $365 ล้าน เพราะฉะนั้นอาจจะกล่าวได้ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างความทุ่มเทที่ผู้บริหารมีให้ต่อพนักงานและผลประกอบการด้านการเงิน

ตัวอย่างอีกบริษัทหนึ่งชื่อ Quad/Graphics ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกในเรื่องการพิมพ์ที่เป็นผู้พิมพ์นิตยสารชั้นนำของโลก เช่น National Geographic, Newsweek, Time ผู้นำสูงสุดของบริษัทนี้คือ Harry V. Quadracci มีความเชื่อในหลักของ Management by Walking Away ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะนึกว่าผมพิมพ์ผิดนะครับ ไม่ผิดครับเป็น Walking Away หรือการบริหารแบบเดินหนี หลักการของ Quadracci ก็คือมุ่งเน้นการมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเต็มที่ โดยยิ่งมอบหมายเท่าใด จะยิ่งทำให้บุคลากรขององค์กรทำงานได้ดียิ่งขึ้น การบริหารแบบเดินหนี (Management by Walking Away) เป็นความพยายามที่จะทำให้โครงสร้างองค์กรแบนที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และพนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงและเข้าหาผู้บริหารสูงสุด แต่ในขณะเดียวกันการที่จะเข้าถึงและเข้าหาได้นั้นก็ต่อเมื่อบุคลากรต้องการความช่วยเหลือจาก Quadracci จริงๆ เนื่องจาก Quadracci ต้องการให้ทุกคนสามารถคิดและทำงานได้ด้วยตนเอง วิธีหนึ่งที่บริษัทนี้ใช้ก็คือทุกๆ ปี Quadracci จะพาผู้บริหารในทุกระดับไปสัมมนาในสถานที่ที่ห่างไกลสองถึงสามวัน โดยในช่วงดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ของพนักงานที่เหลือที่จะรับผิดชอบบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแผนการทำงาน การเดินแท่นพิมพ์ การส่งสินค้า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือการต่อรองกับลูกค้า

อีกบริษัทคือ SAS Institute ซึ่งเป็นบริษัทผลิตซอฟแวร์ด้านสถิติและการวิเคราะห์ชั้นนำของโลก โดยผู้บริหาสูงสุดของบริษัทคือ Jim Goodnight จะมุ่งเน้นการให้ผลประโยชน์หรือPerks ที่น่าสนใจและดึงดูดใจให้กับพนักงานของเขา Goodnight มีความเชื่อว่ายิ่งบริษัททำให้บุคลากรในองค์กรได้มุ่งเน้นในงานเท่าใด โดยไม่ต้องสนใจหรือสบายใจเกี่ยวกับชีวิตในด้านอื่นๆ จะทำให้ผลงานของบุคลากรดียิ่งขึ้น Goodnight พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ชีวิตของพนักงานอยู่ได้ด้วยความสะดวกสบายและมีความสุขที่สุด แล้วจะส่งผลให้ทุกคนสามารถทุ่มเทพลังงานทั้งหมดให้กับงานได้อย่างเต็มที่ ที่ SAS Institute พนักงานทุกคนทำงานเพียงแค่ 35ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (หรือเจ็ดชั่วโมงต่อวัน แทนที่จะเป็นแปดในปัจจุบัน) วันลาป่วยมีได้ไม่จำกัด แถมยังสามารถนำไปใช้ในการดูแลสมาชิกครอบครัวที่เจ็บป่วยได้ พนักงานสามารถที่จะนำลูกๆ มาฝากไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็กที่บริษัทจัดตั้งขึ้นมา นอกจากนี้ในทุกชั้นของตึกที่ทำงานจะมีห้องให้พนักงานได้พักผ่อน โดยในห้องนั้นจะมีทั้งผลไม้ น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม ขนมสารพัดชนิดเพื่อให้บริการพนักงานทุกคนฟรีและตลอดเวลา บริษัทมีห้องอาหารชั้นดีไว้บริการพนักงานทุกคนในราคาที่ไม่แพง และถ้ารับทานมากเกินไปก็มีห้องออกกำลังกายขนาดกว่า 54,000 ตารางฟุต พร้อมทั้งสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก สนามฟุตบอล สนามเทนนิส หรือพัตติ้งกรีน เคยมีคนถาม Goodnight ว่าทำไมไม่มีห้องสำหรับผู้ป่วย (Sickroom) ไว้สำหรับพนักงานหรือบุตรหลายที่เจ็บป่วย Goodnight ตอบกลับมาอย่างชัดเจนเลยครับว่าถ้าลูกของพนักงานคนใดป่วย พนักงานควรที่จะกลับบ้านไปดูแลลูก ไม่ใช่มัวแต่มานั่งทำงานที่บริษัท Goodnight ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริหารที่เข้าใจถึงความต้องการของพนักงาน เขามีความเชื่อว่าพนักงานที่มีชีวิตส่วนตัวที่สงบสุขและมีความสมดุล จะทำให้พนักงานทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่

เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านแล้วอิจฉาพนักงานที่บริษัทเหล่านี้บ้างไหมครับ เคยมีผู้บริหารชาวไทยบอกผมเหมือนกันว่าถ้าเอาใจพนักงานมากเกินไป จะทำให้ทุกคนเคยตัว และหลงระเริง ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ตรงกับตัวอย่างข้างต้นนะครับที่ผู้บริหารให้ความสำคัญกับพนักงาน แต่ในขณะเดียวกันผลที่ได้รับจากพนักงานก็เต็มที่ และส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทออกมาดีเลิศ