30 April 2004
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอกรณีศึกษาให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาช่วยกันคิดหาคำตอบกันนะครับ เป็นกรณีศึกษาสั้นๆ เรื่องของ “จะทำอย่างไร เมื่อถูกตัดงบประมาณในการพัฒนาผู้บริหาร?” ซึ่งเป็นเรื่องของผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ได้เสนองบประมาณในการพัฒนาผู้บริหาร ในลักษณะของการจัดอบรมภายในแทนที่จะเป็นการส่งผู้บริหารไปอบรมตามสถาบันการศึกษาต่างๆ แต่เนื่องจากบริษัทกำลังประสบกับปัญหาในเรื่องของสถานะทางการเงิน และเพิ่งเข้าไปซื้อควบรวมกับบริษัทอื่น ปรากฎว่ากรรมการผู้จัดการได้ตัดงบประมาณในการพัฒนาผู้บริหารลงไปถึง 80% ซึ่งถูกตัดงบประมาณไปมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ โจทย์ของกรณีศึกษาก็คือถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวจะทำอย่างไร
ได้มีท่านผู้อ่านหลายท่านที่ได้อีเมลความคิดเห็นของท่านเข้ามา ซึ่งพบว่าเกือบทั้งหมดที่ส่งมานั้นเป็นบุคลากรและผู้บริหารในหน่วยงานทรัพยากรบุคคลขององค์กรต่างๆ และความเห็นส่วนใหญ่นั้นก็จะสนับสนุนต่อผจก.ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ให้สู้ต่อไปในการของบประมาณให้ได้ตามที่ต้องการ อย่างไรก็ดีเนื่องจากเนื้อที่อันจำกัดทำให้ไม่สามารถลงความเห็นของทุกท่านได้ ในสัปดาห์ผมเลยขออนุญาตนำเสนอความเห็นที่ผมได้รับหลังจากได้ไปสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านแล้ว ถ้าท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไรก็อีเมลมาได้ครับ แต่อย่าลืมนะครับว่ากรณีศึกษาไม่มีถูกหรือผิดนะครับ และสามารถมีความคิดที่หลากหลายได้
ผมเองก็คิดเช่นเดียวกับท่านผู้อ่านจำนวนมากที่คิดว่าทางกรรมการผู้จัดการไม่ควรที่จะตัดงบประมาณการพัฒนาผู้บริหาร แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่คิดว่าตัวกก.ผจก.เป็นฝ่ายผิดด้วยนะครับ เนื่องจากถ้าเราเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นก็อาจจะต้องทำในลักษณะเดียวกัน ก็คงจะต้องตัดงบประมาณในด้านนี้ลงไปเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าดูจากประวัติของตัวกก.ผจก. ที่มีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับการฝึกอบรม แต่ในขณะเดียวกันคนที่เป็นผจก.ฝ่ายบุคคลก็จะต้องสามารถชี้แจงถึงเหตุผลของการจัดงบประมาณด้านการพัฒนาผู้บริหารไว้อย่างสูงได้ ผมเองพอจะมองเห็นหรือแนวทางอยู่สองประเด็นครับ
ประการแรกผจก.ฝ่ายบุคคลจะต้องสามารถผูกหลักสูตรในการพัฒนาผู้บริหารให้เข้ากับกลยุทธ์ของบริษัท ผจก.ฝ่ายบุคคลจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจต่อกลยุทธ์ของบริษัท และจะต้องสามารถชี้ให้กก.ผจก.เห็นว่าหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารที่เขาคิดค้นขึ้นมานั้นจะช่วยสนับสนุนต่อกลยุทธ์ของบริษัทได้อย่างไร จริงๆ แล้วผมมองว่าถ้าจะต้องกลับไปคุยกับกก.ผจก.อีกครั้งหนึ่ง ประเด็นของงบประมาณไม่ควรที่จะเป็นประเด็นหลักในการเข้าไปคุย แต่น่าจะคุยหรือปรึกษาในประเด็นที่ว่าหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมานั้นจะสนับสนุนต่อกลยุทธ์ของบริษัทได้อย่างไร เช่น ถ้ากลยุทธ์ของบริษัทต้องการผู้บริหารที่มีมุมมองที่กว้างไกลและสามารถคิดในประเด็นทางกลยุทธ์ได้อย่างแตกฉาน ท่านเองก็จะต้องสามารถชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารของท่านจะช่วยทำให้ผู้บริหารขององค์กรมีความคิดที่กว้างไกลและมีลักษณะการคิดในเชิงกลยุทธ์ได้อย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าผู้บริหารระดับสูงเห็นความสำคัญว่าหลักสูตรที่เสนอขึ้นไปนั้นจะสนับสนุนต่อกลยุทธ์ของบริษัทได้อย่างไร เรื่องงบประมาณไม่น่าจะเป็นประเด็นหรือปัญหาใหญ่อีกต่อไป นอกจากนั้นผมเองยังคิดว่าในหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารของบริษัทนั้นควรที่จะให้ตัวกก.ผจก.ได้มีส่วนร่วมในการคิดและพัฒนาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารแล้ว ตัวผู้บริหารระดับสูงสุดควรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดคุณลักษณะ ความสามารถ และทักษะ ของผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ ด้วย ผมคิดว่าถ้าตัวกก.ผจก. ได้มีส่วนร่วมแล้ว ประเด็นเรื่องของงบประมาณไม่น่าจะลำบากเท่าไร
นอกจากนี้ตัวผจก.ฝ่ายบุคคล ยังจะต้องไปดึงผู้บริหารในหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรด้วย โดยผจก.ฝ่ายบุคคล จะต้องเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารในหน่วยงานอื่นๆ ถึงความต้องการในการพัฒนาและอบรม และนำความต้องการนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงด้วย
สำหรับเหตุผลประการที่สองนั้น เนื่องจากบริษัทเพิ่งเข้าไปซื้ออีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งการที่สองบริษัทที่มีความแตกต่างในเรื่องของวัฒนธรรม วิธีการคิด และวิธีการในการทำงานจะต้องเข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นจะต้องมีกลไกในการที่ทำให้การรวมกิจการของทั้งสองบริษัทได้มีการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน และวิธีการที่เหมาะสมวิธีหนึ่งก็คือการจัดหลักสูตรที่จะให้ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทได้มีโอกาสที่จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเด็นนี้น่าจะช่วยขจัดความกังวลและช่วยหาทางออกให้กับกก.ผจก.เกี่ยวกับการเพิ่งเข้าไปซื้อกิจการใหม่มาได้
ผมเองก็เห็นด้วยกับในกรณีศึกษานะครับที่ได้จัดให้มีหลักสูตรอบรมในลักษณะของ In-house มากกว่าการส่งไปอบรมตามสถานที่ภายนอก ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยนะครับว่าเมื่อเราส่งผู้บริหารไปอบรมตามหลักสูตรภายนอกแล้ว อาจจะไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามความต้องการของบริษัท สู้การจัดอบรมภายในและออกแบบให้ตรงกับความต้องการไม่ได้นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันแนวคิดของ Corporate University จะมีเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นในอเมริกา ยักษ์ใหญ่ในวงการรถยนต์อย่างเช่นโตโยต้า ก็ได้จัดตั้ง University of Toyota ขึ้นมาในเมือง L.A.
เป็นอย่างไรบ้างครับ กรณีศึกษานี้ ถ้าท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นหรือประสบการณ์ในเรื่องนี้ก็อีเมลมาคุยกันได้นะครับ สุดท้ายขอฝากประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ตอนนี้วิชาที่ผมสอนในระดับ MBA ที่คณะบัญชี จุฬา (จะเปิดเทอมในเดือนมิ.ย.นี้) มีนโยบายให้นิสิตไปช่วยให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเรื่องของการจัดทำ Balanced Scorecard และ Key Performance Indicators โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจก็อีเมลเข้ามาถามรายละเอียดกับผมได้ที่ pasu@acc.chula.ac.th นะครับ