6 September 2002
ปีนี้อาจจะถือว่าเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองปีหนึ่งของหลักสูตร MBA ในบ้านเรา เนื่องจากหลักสูตร MBA ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ นั้นก็พึ่งฉลองครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้ง พร้อมกันนั้นทางสถาบันศศินทร์ของจุฬาฯ ก็เฉลิมฉลองการก่อตั้งครบรอบ 20 ปีเช่นกัน นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านหันไปมองไปทางไหนก็จะเจอแต่หลักสูตร MBA เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือ เอกชน หรือ สถาบันราชภัฎ หรือ วิทยาลัยต่างๆ ก็ต่างเปิดหลักสูตร MBA กันเต็มไปหมด หลักสูตร MBA ในกรุงเทพก็ไปขยายฐานลูกค้าโดยการเปิดหลักสูตรในต่างจังหวัด ในขณะเดียวกัน MBA ของสถาบันการศึกษาในต่างจังหวัดก็กลับมาเจาะตลาดเปิดวิทยาเขตในกรุงเทพ ดูเหมือนว่าไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะเจอแต่ MBA ทั้งนั้นนะครับ นี้ยังไม่นับผู้ที่จบ MBA จากต่างประเทศอีก คำถามหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านก็คือ การลงทุนของผู้เรียนทั้งในด้านทรัพยากรด้านการเงินและเวลานั้นคุ้มค่ากับผลที่ได้รับหรือไม่ และสำหรับหลักสูตรต่างๆ แล้วทิศทางในอนาคตของ MBA จะไปในทิศทางไหน?
มีบทความทางวิชาการในต่างประเทศที่จะตีพิมพ์ในวารสาร Academy of Management Learning and Education ฉบับใหม่ ที่ได้สร้างความแตกตื่นในแวดวง MBA พอสมควร โดยผู้เขียน (Jeffrey Pfeffer และ Christina Fong) ได้ทำการวิจัยมากกว่าสิบปีและพบว่านอกเหนือจากสถาบันการศึกษา MBA ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของสุดยอดแล้ว สถาบันการศึกษาหรือโรงเรียน MBA ทั่วๆ ไปไม่ได้สอนในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจจริงๆ พร้อมทั้งการได้รับ MBA นั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวต่อผู้เรียนแต่อย่างใด หรือพูดง่ายๆ ก็คือการเรียน MBA นั้นไม่ได้ทำให้เงินเดือนของผู้ที่เรียนในระยะยาวแล้วเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด นั้นก็หมายความว่าการที่ท่านเสียเวลาในการเข้าเรียนหลักสูตร MBA เป็นเวลาเกือบสองปีนั้น ท่านไม่ได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพเท่าใด อีกทั้งการเรียน MBA นั้นก็ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนแต่อย่างใด นอกจากนี้บทความนี้ยังได้ชี้ให้เห็นว่าในองค์กรที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากนั้นที่ผู้บริหารสูงสุดไม่ได้จบ MBA แต่อย่างใด และในขณะเดียวกันในองค์กรที่ล้มเหลวนั้นส่วนหนึ่งแล้วผู้บริหารสูงสุดกลับจบ MBA นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลของหลักสูตร MBA ทั่วโลก ทำให้คุณค่าของ MBA ได้หดหายไป ในปัจจุบันถ้าท่านให้คนหมู่มากที่เป็นวัยทำงานมาอยู่รวมกัน ถ้ากว้างก้อนหินลงไปซักสิบก้อน ท่านมีโอกาสถูกศีรษะของผู้ที่เรียน MBA กว่าห้าก้อน
อ่านถึงตรงนี้ คงจะมีท่านผู้อ่านบางท่านที่เห็นด้วยและท่านผู้อ่านบางท่านที่ไม่เห็นด้วย เรามาลองดูกันนะครับว่าฝ่ายคัดค้านเขาว่าอย่างไรบ้าง หลังจากที่บทความนี้ได้ออกเผยแพร่ไปก็มีกระแสของความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยออกมาเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่ Graduate Management Admission Council ที่เป็นสถาบันที่ดูแลการสอบ GMAT ทั่วโลก ได้ออกมาตอบโต้ว่าทางสถาบันเองก็ได้มีการเก็บข้อมูลในลักษณะเดียวกัน และพบว่าเงินเดือนของผู้ที่จบ MBA โดยเฉลี่ยอยู่ที่ $77,000 ต่อปี โดยก่อนเข้าศึกษานั้นอยู่ที่ $50,000 ต่อปี แสดงให้เห็นว่าเรียน MBA แล้วทำให้ค่าตัวของผู้เรียนเพิ่มขึ้นจริง ในขณะเดียวกันนักวิชาการหลายท่านก็ออกมาตอบโต้ในประเด็นที่ว่าถึงแม้ว่าผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จหลายท่านไม่ได้จบ MBA แต่ผู้คนจำนวนมากก็ใช้ MBA เป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าไม่มี MBA แล้วก็จะไม่สามารถก้าวหน้าเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
หลังจากเผชิญกับการตอบโต้เช่นนี้แล้ว ทางผู้เขียนบทความชิ้นนี้ก็ได้ออกมาตอบโต้บ้าง โดยแสดงทัศนะว่าทางพวกเขาเห็นด้วยว่าเงินเดือนที่ได้รับไม่ได้เป็นตัววัดที่เหมาะสม แต่ในขณะเดียวกันทางผู้เขียนก็มีคำถามย้อนกลับไปอีก การเรียน MBA ได้ทำให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้สิ่งใดบ้างหรือไม่ ซึ่งพอถึงตรงนี้ นักวิชาการหลายท่านก็เริ่มที่จะแสดงการเห็นด้วย เนื่องจากในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่สอน MBA เต็มไปหมด สถาบันการศึกษาทุกแห่งจะต้องมีการเปิดสอน MBA เนื่องจากต้นทุนต่ำ รายได้ดี ทำให้เกิดคำถามขึ้นเสมอว่าการเรียนการสอนในหลักสูตร MBA ที่สถาบันเหล่านั้น ได้มอบความรู้และคุณค่าใดแก่ผู้เรียนบ้างหรือไม่?
เมื่อพิจารณาถึงคุณค่าที่การเรียน MBA ให้กับผู้เรียนแล้ว สิ่งต่อไปก็ต้องหันกลับมาพิจารณาว่าอนาคตของ MBA จะไปในทิศทางไหน จริงๆ แล้ว MBA ถือกำเนิดขึ้นจากอเมริกา ถือเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญทั่วโลก ตอนนี้ใครจะเปิดหลักสูตร MBA ขึ้นมาก็จะต้องหันกลับไปศึกษาที่แม่แบบทั้งสิ้น เคยมีผู้ตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมเราไม่ออกแบบหลักสูตร MBA ให้เป็นแบบไทยๆ ที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมธุรกิจของไทย แต่ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร สุดท้ายแล้วหลักสูตร MBA ในไทยก็ยังยึดของต่างประเทศเป็นแม่แบบอยู่ดี ส่วนความเป็นไทยนั้นอยู่ที่การประยุกต์เนื้อหาวิชาและกรณีศึกษาให้เป็นของไทยมากกว่า ดังนั้นถ้าจะถามว่าอนาคตของ MBA จะไปในทิศทางไหนก็คงจะต้องหันกลับไปดูแม่แบบที่อเมริกาว่าเขามองว่าอนาคตของMBA จะไปในทิศทางใด
แนวโน้มหนึ่งในต่างประเทศที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งพอสมควรแล้วได้แก่การที่โรงเรียน MBA ชื่อดังในต่างประเทศได้ปรับตัวเองให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทั้งในด้านของความเป็นสากลมากขึ้น และพัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียน MBA ชั้นนำหลายแห่งได้มีการจัดโครงการแลกเปลี่ยนให้นักศึกษาของตนเองไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศมากขึ้น ในขณะที่อีกหลายๆ แห่งก็ได้มาเปิดวิทยาเขตหรือสาขาในต่างประเทศทั่วทุกภูมิภาคเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาของตนเองได้มีประสบการณ์ที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นการเจาะลูกค้าในต่างประเทศอีกด้วย หรือการที่โรงเรียน MBA หลายๆ แห่งจับมือกันเพื่อร่วมมือในการนำเสนอหลักสูตรของตนเองผ่านสื่ออิเลกทรอนิกส์มากขึ้น นอกจากนี้แนวโน้มที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการที่โรงเรียน MBA หลายๆ แห่งได้เสนอหลักสูตรที่มีความหลากหลายและคาบเกี่ยวกับศาสตร์อื่นๆ มากขึ้น โดยไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการบริหารธุรกิจอย่างเดียว เช่นที่ Stanford ที่ในปัจจุบันมีหลักสูตรที่ผสมผสานระหว่าง กลยุทธ์ กับสังคมศาสตร์ หรือการผสมผสานระหว่างการบริหารกับกฎหมาย พูดง่ายๆ ก็คือโรงเรียน MBA จำนวนมากพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากคณะหรือหลักสูตรอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์กับตนเองสูงสุด
อย่างไรก็ดีแนวโน้มหนึ่งที่กำลังมาแรงและทวีความสำคัญมากขึ้นในหลายๆ โรงเรียน MBA ชั้นนำได้แก่การให้ความสำคัญกับทางด้านของสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความรับผิดชอบต่อสังคม จริยธรรมของผู้บริหาร สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ปัจจุบันโรงเรียนทางด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของอเมริกาจำนวนมากได้หันมาให้ความสำคัญกับประเด็นข้างต้นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากกระแสทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือในประเด็นปัญหาความทุจริตและไม่ชอบมาพากลในองค์กรขนาดใหญ่ของอเมริกาหลายๆ แห่ง
ได้มีการสำรวจสถาบันการศึกษาชั้นนำด้าน MBA ในอเมริกาโดยวารสาร Business Week และพบว่าในหลักสูตร MBA ต่างๆ ที่มีการเปิดสอนอยู่นั้น สถาบันกาศึกษาที่มีความโดดเด่นในด้านของผลกระทบต่อสังคม (Social Impact Management) ได้แก่ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัย Loyola Marymount มหาวิทยาลัยมิชิแกน มหาวิทยาลัย North Carolina และมหาวิทยาลัย York ในแคนาดา ซึ่งในสถาบันเหล่านี้มีการนำหลักการและแนวคิดในด้านผลกระทบต่อสังคม (Social Impact Management) เข้าไปในวิชาต่างๆ รวมทั้งมีคณาจารย์ที่มีการวิจัยในด้านนี้เป็นจำนวนที่พอสมควร สำหรับสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นในด้านของการบริหารสิ่งแวดล้อม (Environmental Management) นั้นได้แก่ มหาวิทยาลัย George Washington มหาวิทยาลัย Jyvaskyla ในประเทศฟินแลนด์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน มหาวิทยาลัย North Carolina และมหาวิทยาลัย Yale อาจจะกล่าวได้ว่านวัตกรรมทางการศึกษาในด้านMBA ที่สำคัญในปัจจุบันคือการผสมผสานระหว่างการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม เข้ากับหลักการพื้นฐานทั่วๆ ไปของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน บัญชี ตลาด หรือการบริหารงานบุคคล
สำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่ติดอันดับจากการสำรวจนั้นมักจะมีการสอนวิชาทางด้านจริยธรรมธุรกิจ การบริหารองค์กรที่ไม่ได้แสวงหากำไร (Nonprofit Management) ไว้เป็นเพียงแค่วิชาเลือกในหลักสูตร MBA เท่านั้น สำหรับในประเทศไทยนั้น ผมขออนุญาตโฆษณาสถาบันที่ตัวเองอยู่หน่อยนะครับ ในปัจจุบันทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้มีการสอนในด้านจริยธรรมธุรกิจให้กับนิสิตระดับปริญญาตรีทุกคน พร้อมทั้งในระดับ MBA เองก็มีวิชาจริยธรรมธุรกิจเป็นวิชาบังคับที่นิสิตทุกคนต้องผ่าน อีกทั้งทางคณะเองก็มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย North Carolina ในการพัฒนาการวิจัยและหลักสูตรด้าน Sustainable Enterprise
อย่างไรก็ดียังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่นะครับว่าหลักสูตร MBA ควรจะมุ่งเน้นประเด็นในเรื่องของสังคมมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการผลิตผู้ที่จบ MBA ไปนั้นสุดท้ายก็ต้องดูตลาดแรงงานด้วย คงจะต้องขึ้นอยู่กับความต้องการขององค์กรธุรกิจต่างๆ ที่ว่าจ้างเด็กที่จบ MBA ไป ว่าต้องการความรู้ ความสามารถในด้านเหล่านี้จากผู้จบ MBA เพียงใด ถ้าถามผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจต่างๆ ผู้บริหารเหล่านั้นคงจะตอบว่าการที่สถาบันการศึกษานำหลักการเกี่ยวกับจริยธรรมธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เข้ามาผสมผสานในหลักสูตร MBA เป็นสิ่งที่ดีและน่าสนใจ แต่เมื่อมีการจ้างงานผู้ที่จบ MBA ไปจะมีผู้บริหารซักกี่รายที่ให้ความสนใจต่อความรู้และทักษะในด้านเหล่านี้ ผมคิดว่าคงจะต้องเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา คณาจารย์ และนิสิตเองที่จะแสดงให้ผู้บริหารองค์กรธุรกิจเห็นว่าการนำหลักการด้านสังคมเหล่านี้ไปปรับใช้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางการเงินในระยะยาวแก่องค์กรธุรกิจได้อย่างไร