27 March 2004

ในทุกๆ ปีวารสาร Fortune จะมีการจัดลำดับต่างๆ ออกมามากมาย ล่าสุดที่เพิ่งออกมาก็คือบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา (หรือ Fortune 500) ซึ่งมักจะได้รับการอ้างอิงกันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดีมีการจัดลำดับอีกประการของวารสาร Fortune ที่เริ่มจะเป็นที่กล่าวขวัญและอ้างอิงกันมากขึ้น นั้นคือบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในอเมริกา (100 Best Companies to Work for in America) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเริ่มที่จะมีการศึกษากันมากขึ้นว่าบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกว่าบริษัทเหล่านั้นมีแนวทางหรือวิธีการอย่างไรในการทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานด้วยและอยากที่จะทุ่มเทและทำงานให้กับบริษัทเหล่านั้นอย่างเต็มที่

ผมจำได้ว่าเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของหนึ่งในผู้ที่ศึกษาและสำรวจหาบริษัทที่น่าทำงานที่สุดในอเมริกา (ชื่อ Robert Levering) ซึ่งเขาระบุไว้อย่างชัดเจนเลยครับว่าปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทเกือบทุกแห่งได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อ 100 บริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดนั้นเกิดขึ้นจากพนักงานจะรู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับ และผู้บริหารได้เห็นถึงความสำคัญของพนักงานต่อความสำเร็จของบริษัท ในบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่มีบรรยากาศในการทำงานที่ดีมากๆ และบรรยากาศเหล่านี้ก็เป็นผลพวงมาจากทัศนคติและการกระทำของผู้บริหาร ผู้บริหารจะมีความเชื่อว่าบุคลากรของเขาคือผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบหลักต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของบริษัท และผลพวงจากความเชื่อดังกล่าวทำให้ผู้บริหารให้ความสำคัญต่อคุณค่าและความสำคัญของพนักงานของเขา (Positive Employee Recognition) 

การให้ความสำคัญกับพนักงาน (Employee Recognition) ดูเหมือนจะเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน แต่ก็มักจะเป็นประเด็นที่ถูกละเลยกันนะครับ ผู้บริหารหลายๆ ท่านคิดว่าการให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นเพียงแค่การมอบรางวัลพนักงานดีเด่นให้กับพนักงานในแต่ละเดือน หรือพอสิ้นปีทีก็จัดฉลองให้กับพนักงานที แต่จริงๆ แล้วผมมองว่าการให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นสิ่งที่ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามธรรมชาติ การให้ความสำคัญบางประการนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้และคุ้นเคยกันอยู่ เช่น พวกรางวัลหรือการยกย่องต่างๆ แต่การให้ความสำคัญกับพนักงานนั้นบางครั้งก็ไม่สามารถที่จะจับต้องได้และสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้นี่แหละครับที่อาจจะมีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่จับต้องได้ด้วยซ้ำ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือการจำชื่อ รวมทั้งประวัติพื้นฐานของพนักงานแต่ละคน ถ้าคนที่เป็นผู้จัดการหรือหัวหน้าสามารถทำได้ ผมก็เชื่อว่าก็จะทำให้พนักงานในหน่วยงานรู้สึกมีความสำคัญมากขึ้น และย่อมนำไปสู่ความทุ่มเทในการทำงานมากขึ้น (พอเขียนถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงโฆษณาเครื่องดื่มจากรังนกยี่ห้อหนึ่งที่เจ้านายสามารถจำชื่อและประวัติของพนักงานทุกคนได้ตั้งแต่ยามหน้าประตู แต่โฆษณานั้นก็ดูเกินจริงไปหน่อยนะครับ)

เมื่อผู้บริหารสามารถให้ความสำคัญกับพนักงานในบริษัทได้อย่างถูกวิธีแล้ว เราจะพบว่าพนักงานเหล่านั้นจะมีความยินดีและกระตือรือร้นในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมในการเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตนเองมากขึ้น แทนที่จะนำปัญหานั้นย้อนกลับไปที่ผู้บริหารอยู่ตลอดเวลา เมื่อพนักงานรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญแล้วก็ย่อมที่จะให้ความสำคัญกับคุณภาพของงานที่ตนเองทำ รวมถึงชื่อเสียงของตนเองด้วย เพราะฉะนั้น ท่านผู้อ่านก็สามารถมั่นใจได้ว่าเมื่อมอบหมายงานอะไรให้พนักงานนั้นทำแล้ว งานที่ออกมาจะต้องมีคุณภาพและไม่ทำให้พนักงานคนนั้นเสื่อมเสียชื่อเสียง มีงานวิจัยที่พบว่าถ้าผู้บริหารสามารถให้ความสำคัญกับพนักงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ขวัญและกำลังใจของพนักงานก็จะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอัตราการขาดงานก็จะลดน้อยลง

ปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นตัวอย่างของเทคนิคหรือแนวทางในการให้ความสำคัญกับพนักงานในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่อยากจะเตือนไว้ก็คือเมื่อเราเห็นหรืออ่านตัวอย่างขององค์กรอื่นเยอะๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถนำเอาเทคนิคหรือเคล็ดลับของบริษัทอื่นมาใช้ได้กับบริษัทของท่านเอง ผมเจอตัวอย่างของหลายองค์กรที่ประสบความล้มเหลวในการให้ความสำคัญกับพนักงานเนื่องจากไปลอกเลียนวิธีการที่องค์กรอื่นใช้โดยไม่ได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมหรือเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรตนเอง ท่านผู้อ่านต้องอย่าลืมนะครับว่าองค์กรแต่ละแห่งย่อมที่จะมีความแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นประวัติ หรือวัฒนธรรมองค์กร ดังนั้นสิ่งที่ประสบความสำเร็จหรือใช้ได้ในองค์กรหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ในองค์กรอื่น แถมในบางกรณีไม่ใช่เพียงแค่ใช้ไม่ได้เพียงอย่างเดียวแต่กลับก่อให้เกิดผลร้ายเสียอีก พอเขียนถึงตรงนี้ก็ทำให้ผมนึกถึงกรณีตัวอย่างหนึ่งที่เคยเจอเข้ากับตัวเอง นั้นคือในบางองค์กรเขาจะมีการจัดงานในลักษณะของ Employee Appreciation Day ที่ผู้บริหารระดับสูงยอมลดตัวเพื่อมาให้บริการพนักงานโดยเฉพาะ (จริงๆ เดี๋ยวนี้เราจะเริ่มเห็นกันมากขึ้นนะครับ เราเริ่มเห็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทชั้นนำบางแห่งที่มีการเสริฟน้ำ เสริฟอาหารให้กับพนักงานในบางโอกาสเพื่อแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับพนักงานของเขา) โดยการจัดวันดังก็เพื่อแสดงให้พนักงานเห็นว่าผู้บริหารได้ให้ความสำคัญกับพนักงานของตนเองเพียงใด อย่างไรก็ดีพอบริษัทอื่นนำลักษณะของ Employee Appreciation Day ไปใช้ พนักงานกลับมองว่าเป็นงานที่ตลก น่าเบื่อ และไร้สาระ ซึ่งก็อย่างที่เรียนให้ทราบในเบื้องต้นแล้วครับว่าไม่ได้หมายความว่าองค์กรแต่ละแห่งจะสามารถลอกเลียนแบบหรือวิธีการขององค์กรอื่นไปใช้ได้ผลเสมอไปนะครับ

สัปดาห์นี้คงจะเป็นแค่การเริ่มต้นเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับพนักงานก่อนนะครับ ในสัปดาห์หน้าเราจะมาต่อกันในรายละเอียดมากขึ้นนะครับ ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์นะครับ ตอนนี้ที่คณะบัญชี จุฬา กำลังเปิดหลักสูตรปริญญาเอกทางด้าน IT in Business ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดสนใจอยากจะต่อเอกในด้านนี้ดูก็ลองโทร.ไปสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์ 02-218-5715-6 นะครับ